เสวนาในหัวข้อ ความสำคัญของภาษามลายูด้วยอักขระยาวีในพื้นที่ปาตานี ในงานมหกรรมภาษาและวัฒนธรรมมลายู วิทยากรชี้ คนรุ่นใหม่ควรสืบทอดอักษรยาวี เพราะมีส่วนสำคัญต่อสันติภาพปาตานี
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 21.00-22.30 น. ในงานมหกรรมภาษาและวัฒนธรรมมลายู ชมรมภาษามลายู ม.อ. หาดใหญ่ wfhดเสวนาในหัวข้อ ความสำคัญของภาษามลายูด้วยอักขระยาวีในพื้นที่ปาตานี โดยมีนายซอลาฮุดดีน กริยา ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ Awanbook และ นายทวีศักดิ์ ปิ บรรณาธิการข่าวสำนักสื่อวาร์ตานี (WARTANI) มาเป็นวิทยากรบรรยาย ดำเนินรายการโดย นาย ฮากีม เจะโด ประธานชมรมสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่
นายซอลาฮุดดีน กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ ตัวเขียนหรือระบบการเขียนด้วยอักษรยาวีนั้น เข้ามาสู่โลกมลายูพร้อมๆกับศาสนาอิสลาม ผ่านการค้าขายโดยชาวอาหรับ เปอร์เซียและอินเดีย ซึ่งนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นกาอธิบายหลักคำสอนอัลกุรอ่าน และได้รับการยอมรับในโลกมลายู จึงมีการนำมาใช้สำหรับการเขียน ในด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก อัลกุรอ่าน เช่น ในการทำสารราชสำนัก และหนังสือในการค้าขายในโลกมลายู
“คำว่า ยาวี นั้น มาจากที่คนอาหรับใช้เรียกคนมลายูว่า Jawah หรือ jawa ซึ่งหมายถึงคนชวา ทำให้ต่างชาติเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า ดินแดนชวา ซึ่งหมายถึงมลายูนั่นเอง”
“เยาวชนรุ่นใหม่ต้องเห็นความสำคัญการมีอยู่ของนักเขียนยาวี เพราะเป็นการทำหน้าที่ที่จะสืบทอดดมรดกจากบรรพบุรุษให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้และยังคงอยู่กับสังคมปาตานีต่อไป” นายซอลาฮุดดีน กล่าว
ด้าน นายทวีศักดิ์ ปิ กล่าวว่า หากมองภาษามลายูอักขระยาวีในฐานะคนทำงานสื่อ จะเห็นได้ว่าในประวัติศาสตร์ สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ ของอักษรยาวี คือที่เขียนตามฝาผนังมัสยิด เขียนตามอิฐสุสาน (แนแซกุโบร์) สามารถที่จะมองและวิเคราะห์ออกมาว่า ภาษามลายูอักขระยาวี กับพื้นที่ปาตานีนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากศาสนาได้ ถือได้ว่า อักขวะยาวี เป็นตัวอักษรที่มีความสำคัญต่อศาสนาเป็นอย่างมาก
“สิ่งที่สังคมปาตานีได้ภาคภูมิใจเป็นอย่างมากคือ อักขระยาวี ถูกนำมาเขียนโดยอุลามะฮ์ปาตานีในอดีตเพื่อเขียนกีตาบ (ตำรา/หนังสือสอนศาสนา)ให้คนปาตานีได้เรียนรู้ศาสนาผ่านกีตาบที่เขียนโดยอักขระยาวี และได้มีการยอมรับว่าเป็นตำราทางศาสนาอิสลามที่สามารถนำมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย”
“ความสำคัญของภาษามลายูด้วยอักขระยาวีในพื้นที่ปาตานี นั้น ได้มีการนำมาใช้เรียนในโรงเรียนตาดีกาตั้งแต่เด็ก และตาดีกาใช้หนังสือที่เขียนด้วยอักขระยาวี เป็นหนังสือเรียนของตาดีกา”
“หากจะมองในโลกของการสื่อสารจะเห็นได้ว่า ข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี นั้นเป็นข่าวที่สังคมมลายูในแถบนี้ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ส่วนมากเราจะใช้ภาษาไทยในการเขียน จึงทำให้ผู้คนที่อยู่นอกประเทศเข้าใจยาก ฉะนั้นเราต้องมีการเขียนข่าวที่เป็นภาษามลายูหรือให้มีการแปลให้เป็นภาษามลายูด้วย” นายทวีศักดิ์ กล่าว
นายทวีศักดิ์ เน้นย้ำว่า “อักขระยาวี สำคัญต่อพื้นที่ปาตานีอย่างไรนั้น ขอตอบว่า อักขระยาวี เป็นตัวแปรสำคัญในกระบวนการสร้างสันติภาพด้วย เนื่องจาก หลักการของกระบวนการสันติภาพที่สำคัญคือความเข้าใจ สื่อที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจนั้น ต้องเป็นสิ่งที่ ผู้ที่รับสาร สามารถเข้าใจอย่างลึกซึ่ง ฉะนั้นหากเขียนด้วยภาษามลายู อักขระยาวี จะสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกร่วมได้ในระดับหนึ่งด้วย”