หน้าแรก รายงาน

10 ขั้นตอนสู่การฟื้นฟูภาษามลายูปาตานี เพื่อการคงอยู่ของภาษามลายูในปาตานี

ขอบคุณภาพจาก โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

เขียนโดย ชินทาโร่ ฮาร่า
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เป็นคำกล่าวโดยผู้เขียน เนื่องในพิธีปิดเวทีเสวนาภาษามลายู ในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับการสื่อสารภาษามลายู” (Generasi Baru dengan Komunikasi Bahasa Melayu) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมปาร์ควิว ปัตตานี
แปลและเรียบเรียง อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด


ประมาณเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (1997) ครั้นที่ข้าพเจ้าได้เหยียบผืนดินปาตานีเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าพบว่าสถานการณ์ภาษามลายูในปาตานีเปรียบเสมือนผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวิกฤติ ที่กำลังได้รับการบำบัดอยู่ในห้องฉุกเฉิน แต่น่าอดสู่ยิ่งนัก เมื่อปี 2016 ภาษามลายูในปาตานี ยังคงอยู่ในสภาพวิกฤติในห้องฉุกเฉินเช่นเดิม ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าอาการป่วยเหล่านั้นจะมีความทุเลาลงแต่อย่างใด

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ใช่ความภาคภูมินัก แต่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง อย่างน้อยภาษามลายูในปาตานียังคงมี “ลมหายใจ” อยู่ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติมลายหายเหมือนในบางจังหวัดของประเทศไทย อย่างเช่นจังหวัดสตูลที่เป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่

เมื่อราวๆ ร้อยปีที่แล้ว ทุกหมู่บ้านในจังหวัดดังกล่าว (ที่มีประมาณ 300 กว่าหมู่บ้าน) สื่อสารด้วยภาษามลายู แต่ในปัจจุบัน ตามข้อมูลบันทึกที่ทำการศึกษาโดยนักวิจัยทางด้านภาษามลายูในท้องถิ่น เหลือเพียง 13 หมู่บ้านเท่านั้น ที่ยังคงใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนมาเลเซีย

นักประวัติศาสตร์ชื่อดังจากรัฐกลัน ท่านอัฮหมัดฟัตฮีย์ อัลฟาฏอนีย์ ครั้นที่ผู้เขียนมีโอกาสได้พบกับท่าน ท่านเคยแสดงบทบันทึกของชาวฮอลแลนด์ท่านหนึ่ง ที่มีชีวิตราวศตวรรษที่ 19 ที่ได้เลือกพื้นที่หนึ่งในเขตจังหวัดสงขลา ในการศึกษาภาษามลายู ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะการสื่อสารภาษามลายู ของคนที่นี่ถือว่าดีมาก ทว่าปัจจุบันในเมืองดังกล่าวแทบไม่เหลือคนที่สื่อสารด้วยภาษามลายูในชีวิตประจำวันอีกแล้ว ถึงแม้นว่าประชากรในเมืองดังกล่าว ส่วนใหญ่จะยังคงนับถือศาสนาอิสลามอยู่ก็ตาม

ส่วนในพื้นที่อื่น สถานการณ์ภาษามลายูยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะบางจังหวัดทางภาคใต้ของไทยมีชื่อเดิมมาจากรากศัพท์ภาษามลายู เช่น ภูเก็ต (bukit) พังงา (bunga) ตรัง (terang) เป็นต้น ซึ่งในจังหวัดดังกล่าวและจังหวัดใกล้เคียง จะพบว่ายังคงมีชุมชนมุสลิมอาศัยอยู่ แต่สามารถที่จะกล่าวได้ว่าเกือบทุกชุมชนมุสลิมเหล่านั้น กลับไม่มีพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูอีกแล้ว ภาษาสื่อสารในชีวิตประจำวันของพวกเขาคือภาษาไทยสำเนียงใต้ ซึ่งร่องรอยของภาษามลายูยังคงหลงเหลือเพียงแค่ชื่อสถานที่เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ภาษามลายูในพื้นที่อื่นๆ ที่ได้สาบสูญไปแล้วนั้น สถานการณ์ของภาษามลายูในปาตานีถือว่ายังอยู่ในขั้นดีกว่า เพระถึงอย่างไรสังคมปาตานียังคงใช้ภาษามลายูในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน (ภาษามลายูสำเนียงถิ่นปาตานี)

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าภาษามลายูที่ปาตานีสามารถที่จะยืนหยัดด้วยตัวเอง ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายแห่งยุคสมัยเช่นนี้ได้หรือไม่ เราเองก็มิอาจให้คำตอบในเชิงบวกได้ อีกทั้งหากเราย้อนดูในเรื่องการพัฒนายกระดับภาษามลายูให้เทียบเคียงเท่ากับภาษามลายูในมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ซึ่งภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ความปรารถนาดังกล่าวคงมิง่ายนักที่จะเป็นจริงได้ ด้วยเหตุนี้สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือเพื่อให้ภาษามลายูปาตานีนั้นสามารถรอดพ้นไปได้ อันดับสองเพื่อการยกระดับและการแพร่หลายของภาษามลายูปาตานี และเราเองต้องเป็นนักคิดและนักปฏิบัติในคราวเดียวกัน(realistik)

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีอีกหลายเรื่องราวที่ยังอยู่เหนือความสามารถของคนในพื้นที่ เพราะประเด็นดังกล่าวล้วนมีความเกี่ยงโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในแง่ช่วงเวลาและการปกครอง ถึงแม้นว่าความจริงจะเป็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่เราสามารถที่จะกระทำได้ในรูปแบบปัจเจกนั้นยังมีอีกมาก สำหรับผู้ที่มีความปรารถนาที่จะยกระดับหนุนเสริมภาษามลายูปาตานี

ต่อไปนี้เป็น 10 ขั้นตอน ที่จำเป็นต้องมีสำหรับแต่ละภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษามลายูปาตานี เพื่อให้สามารถคงอยู่ในวันข้างหน้าต่อไป และสามารถที่จะเผยแพร่เพื่อให้เป็นภาษาที่มีสถานะในอนาคต ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดล้วนเป็นคำขึ้นต้นด้วยคำกิริยาทั้งสิ้น ที่เริ่มด้วยการประสบพบเห็น (mengalami/melalui) และสุดท้ายเป็นการปลูกฝังให้เป็นดั่งจิตวิญญาณ (menjiwai) ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนั้น สามารถที่จะทดแทนซึ่งกันและกันได้

1.การประสบพบเห็น (mengalami/melalui)

สิ่งที่หมายถึงการประสบพบเห็น (mengalami/melalui) นั้น ในที่นี่หมายถึงในฐานะคนที่เป็นมลายูปาตานีโดยกำเนิดกระทั่งเติบใหญ่ โดยปกติเขาจะใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมของภาษามลายูสำเนียงถิ่นปาตานี ด้วยเหตุนี้เขาจะปฏิสัมพันธ์กับภาษามลายูในวิถีชีวิตในแต่ละวันโดยปริยาย นี่คือถือเป็นขั้นตอนแรก ซึ่งขั้นตอนนี้จะได้มาโดยไม่ต้องพยายามใดๆ ในการเข้าถึง เพียงแค่เป็นคนที่ถือกำเนิดหรืออาศัยท่ามกลางสภาพแวดล้อมและบริบทของภาษามลายูเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่าเริ่มมีครอบครัวมลายูบางครอบครัวแล้วที่ไม่ได้ใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ในเขตตัวเมือง ซึ่งกลุ่มนี้เปรียบเสมือนกำลังรอวันแห่งการสูญสลายของภาษาปูย่าตายายของตนในอนาคต

2. การรับรู้ (Mengenali)

ขั้นต่อไปคือการรับรู้ คือการเรียนรู้ (รู้จัก) ภาษามลายู ซึ่งขั้นตอนนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดเริ่มแรกที่จะสัมผัสถึงคุณค่าของภาษามลายู ดุจคำคมที่ว่า “หากไม่รู้จักคงไม่ห่วง”( tak kenal maka tak cinta’) ถึงกระนั้นการรับรู้ในขั้นนี้ยังไม่อาจถือได้ว่า เป็นการห่วงแหนยังแท้จริง ตรงกันข้ามอาจเข้าข่ายเป็นเพียงการห่วงแหนแบบหน้ามืดตามัวเท่านั้น หรือ ความรักที่เกิดจากชาติตระกูล คนมลายูปาตานีหลายคนที่มีแรงปรารถนาอันแรงกล้า ในการที่จะดำเนินการอะไรสักอย่างให้กับภาษามลายู ทว่าส่วนใหญ่อาจไม่ประสบผลมากนัก อันเนื่องมาจากการขาดทักษะความรู้ในด้านนั้นๆ สุดท้ายแล้วความรักความห่วงแหนของพวกเขาเหล่านั้น มิอาจส่งผลใดๆ ในที่สุด เพื่อที่ว่าความปรารถนาอันแรงกล้าเหล่านั้นจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อภาษามลายูต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้ภาษามลายูจะต้องผ่านในขั้นตอนต่อไป

3. การตระหนักรู้ (Menyedari)

ขั้นตอนที่สามคือ การตระหนักรู้ นั่นก็คือ การตระหนักว่าภาษามลายูนั้น จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ซึ่งคนมลายูปาตานีส่วนใหญ่ยังคงไม่เข้าใจในส่วนนี้ ตรงกันข้ามกันในฐานะที่ข้าพเจ้าเองที่ได้สอนภาษามลายูมีความรู้สึกสงสัยอยู่มิน้อย ที่ได้สร้างความคลางแคลงใจ ยกตัวอย่างเช่น

“ทำไมท่าน(อาจารย์)ถึงได้สอนภาษามลายู? ถ้าสอนภาษาญี่ปุ่นให้กับคนมลายูปาตานีมิดีกว่าหรือ? ซึ่งจะเป็นการดียิ่งสำหรับพวกเขา” หรือ “ภาษามลายูเราก็ใช้แล้วที่บ้านในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเรียนภาษามลายู เรียนภาษาอื่นยังดีกว่าอีก”

โดยส่วนใหญ่ลูกศิษย์ข้าพเจ้าที่เคยศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็เคยตั้งคำถามประมาณนี้ นั่นก็คือ “เรียนภาษามลายูไปเพื่ออะไร?”

สภาพการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ในสังคมมลายูปาตานียังมีอีกจำนวนมากที่ยังคงจมปลักอยู่กับความไม่รู้ เพราะพวกเขาไม่มีความตระหนักรู้อย่างแท้จริงที่ว่า ทุกๆ ภาษานั้นจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้อย่างจริงจัง เรามิอาจสื่อสารภาษาใดภาษาหนึ่งได้หากปราศจากการเรียนรู้

ยกตัวอย่าง เช่น คนมาเลเซีย มีหรือคนมาเลเซียที่สามารถสื่อสารภาษามาเลเซียโดยปราศจากการเรียนรู้อย่างมีระบบและต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน? มีหรือคนอินโดนีเซียที่สามารถพูดภาษาอินโดได้ เพียงแค่พวกเขาเกิดมาเป็นคนอินโดนีเซีย? คำตอบก็คือ ไม่ใช่ จะมีก็แต่คนมลายูปาตานีเท่านั้นที่คิดว่า คนมลายูไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาภาษามลายู และแม้กระทั่งคนไทยเอง ที่ปรารถนาจะเป็นผู้ใช้ภาษาไทยที่ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ภาษามลายูอย่างจริงจัง ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะนำไปสู่ขั้นตอนที่สี่ต่อไป นั่นก็คือ การศึกษา (Mempelajari)

4. การศึกษา (Mempelajari)

การศึกษาในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า การเรียนรู้แบบเล่นๆ เท่านั้น แต่ตรงกันข้ามการเรียนรู้ภาษามลายูจะต้องศึกษาเรียนรู้เฉกเช่นการเรียนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และอื่นๆ หรือการเรียนภาษามลายูเฉกเช่นการเรียนวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศาสนา และอื่นๆ ในการเรียนแบบเข้มข้นนั้น กระบวนการเรียนการสอนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่จะต้องศึกษาอย่างมีแบบแผนและมีระบบเช่นกัน นักศึกษาเองควรที่จะเรียนรู้ภาษามลายูอย่างขยันขันแข่งและจริงจัง ตราบใดที่ภาษามลายูยังไม่ได้บรรจุเป็นวิชาเฉพาะหรือเป็นหลักสูตรหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ คนมลายูเองก็มิอาจศึกษาอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ในขั้นตอนนี้มีความสำคัญยิ่งในการที่จะยกระดับความสามารถในการใช้ภาษามลายูในปาตานี

สิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในขั้นตอนนี้ก็คือ ทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาจะต้องเริ่มด้วยเรื่องศัพท์ ไวยากรณ์  เช่น การเขียนประโยค การเติมคำกริยา เป็นต้น

5. การเข้าใจ (Memahami)

หลังจากที่ได้ศึกษาเรียนรู้ภาษามลายูอย่างมีระบบแล้ว เราคงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาษามลายูไปบ้างแล้ว ซึ่งความเข้าใจที่เกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ ถือว่ามีความเข้าใจที่ยังคงไม่ชัดเจนเท่าไหร่ เพราะความเข้าใจในขั้นนี้วางอยู่บนหลักการของความรู้ด้านภาษา เราสามารถที่จะวิเคราะห์โครงสร้างหรือการวางประโยค สามารถที่จะแยกแยะกลุ่มคำได้อย่างถูกต้อง และสามารถสังเกตเรื่องการใช้คำ ในขั้นตอนนี้เองผู้เรียนภาษาสามารถที่จะอ่าน และฟังภาษาได้เป็นอย่างดี

6. การทำความเข้าใจ/เก็บรายละเอียด (Mendalami/Menghalusi)

กระบวนการทำความเข้าใจและการเก็บรายละเอียดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยในการเพิ่มทักษะทางด้านภาษาของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาอีกด้วย การทำความเข้าใจ(Mendalami) หมายถึง การมีความเข้าใจสิ่งๆ หนึ่งอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของรากศัพท์ ประโยคบอกเล่าและรวมถึงขั้นตอนโดยรวมต่างๆ  ส่วนการเก็บรายละเอียด(Menghalusi)นั้น ได้ครอบคลุมถึงรายละเอียดต่างๆ อย่างถี่ถ้วนคำต่อคำ หลักไวยากรณ์และทุกรากศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษามลายู ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความเข้าใจและมีความรู้ในด้านภาษามลายูนั้น จะสามารถแยกแยะความหมายของกลุ่มคำได้เป็นอย่างดี เช่น ‘cantik, indah, ayu, elok’ หรือ ‘aman, damai, sejahtera, sempurna’ เป็นต้น ไม่เพียงแค่นี้ แต่ยังสามารถเข้าถึงความหมายของแต่ละคำได้เป็นอย่างดีอีกด้วย วัตถุประสงค์ของกระบวนการ (ขั้นตอน)การทำความเข้าใจและการเก็บรายละเอียดนั้น ก็เพื่อให้เราได้มีความเข้าใจและสามารถสร้างประโยคที่สลับซับซ้อนได้อย่างสวยงามและสมบูรณ์

7. การมีความสามารถ (Menguasai)

การมีความสามารถหมายถึง สามารถใช้ภาษามลายูในการที่จะสื่อสารความคิดของตนได้เป็นอย่างดี เพราะว่าความรู้เบื้องต้นที่จำเป็นเกี่ยวกับภาษามลายูนั้นได้เรียนมาแล้ว ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผู้ที่มีความเสียสละในการยกระดับภาษามลายูสามารถขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดี หรืออาจกล่าวได้ว่า หากไม่ผ่านขั้นตอนนี้ อย่าได้หากินกับภาษามลายูเลย ไม่ว่าจะเป็นในฐานะครู อาจารย์ นักภาษาศาสตร์ นักแปล นักข่าว นักเขียน นักจัดรายการ และอื่นๆ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของภาษามลายูปาตานีที่พบคือ คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านภาษามลายูนั้น เริ่มหากินกับภาษามลายูในขณะที่ตัวเองยังคงอ่อนแอ ซึ่งส่งผลให้ภาษามลายูที่ผิดเพี้ยน ไม่สมบูรณ์ และผิดไวยากรณ์นั้น ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนอย่างแพร่หลาย ถึงแม้นว่าเจตนาของพวกเขานั้นเพื่อต้องการที่จะหนุนเสริมภาษามลายูก็ตาม ทว่าความสามารถของเขายังอ่อนด้อย ซึ่งทรงผลให้เจตนาอันดีของเขาก็คงไปไม่ถึงที่หมายเช่นกัน สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นผู้สอนภาษามลายู เขียนมลายู หรือที่ใช้ภาษามลายูในการทำงานนั้น อย่างน้อยจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ หากไม่เช่นนั้นคงจะไม่ประสบผลสำเร็จ ได้โปรดอย่าได้กระทำเช่นนี้ เพราะว่าการกระทำดังกล่าว อาจสงผลกระทบต่อภาษามลายูที่ปาตานี

8. การเก็บเกี่ยวแห่งอรรถรส (Menikmati)

หลังจากที่มีความสามารถแล้ว เราเองจะได้พบกับการลิ้มลองอรรถรสของภาษามลายู ไม่ว่าจะเป็นความสุนทรีย์ ความวิเศษ และแม้กระทั่งความยิ่งใหญ่ของมัน ซึ่งในขั้นตอนนี้เราไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะต้องบังคับหรือหว่านล้อมให้เรียนอีกต่อไป เพราะว่าการใช้ภาษามลายูนั้นได้กลายเป็นความบันเทิงสำหรับพวกเขาไปแล้ว เราอาจเกิดความสนุกในยามที่ได้อ่าน ฟัง พูด หรือเขียนในภาษามลายู ประสบการณ์ในการใช้ภาษามลายูได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งอรรถรสของชีวิตเขาแล้ว ผู้ที่อยู่ในขั้นนี้เขาจะเรียนรู้ศึกษาภาษามลายูด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีการบังคับใดๆ และอาจเพิ่มพูนความรู้ของเขาโดยไม่จำเป็นต้องสั่งใช้อีกต่อไป ในที่สุดภาษามลายูของเขานับวันจะยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ

9. การห่วงแหน (Mencintai)

หลังจากที่เราได้รู้จักกับการสัมผัสได้ถึงอรรถรสของภาษามลายูไปแล้ว อาจมีความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นในมโนสำนึกของเรา นั่นก็คือ ความห่วงใหญ่ที่มีต่อภาษามลายู นั่นก็คือความรักที่แสนจะบริสุทธิ์และนิรันดร์ ในขั้นตอนนี้ ภาษามลายูได้กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่มิอาจเทียบค่าได้ และเราเองมิอาจที่จะพลัดพรากจากภาษามลายูได้อีกต่อไป ความปรารถนาและเจตนาที่จะดำเนินการอะไรสักอย่างเพื่อภาษามลายู คงจะปะทุขึ้นหลังจากที่เรามีความห่วงใยต่อภาษามลายูอย่างแท้จริง

ความสำนึกห่วงแหนตรงนี้เปรียบเสมือนความรู้สึกแห่งปัจเจก เราห่วงแหนภาษามลายูเฉกเช่นความปรารถนาอันบริสุทธิ์ ดั่งเช่น ห่วงแหนธรรมชาติ มาตุภูมิ ชาติพันธุ์ และศาสนาของเรา มิเพียงแค่ความรู้สึกรักเพียงชั่ววุบภายหลังจากความปวดไข้ทุเลาลงไม่เท่านั้น ความรักความห่วงแหนต่อภาษามลายูอันนี้ได้ลงลึกสู่ใต้สำนึกของเราแล้ว เพราะว่าเราได้สัมผัสถึงอรรถรสของภาษามลายูเสียแล้ว และความรักในส่วนนี้เช่นกัน ที่อาจนำพาเราไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย นั่นก็คือ ความเป็นจิตวิญญาณและการธำรงไว้ (menjiwai/menghayati) ในที่สุด

10.ความเป็นจิตวิญญาณและการธำรงไว้ (Menjiwai/Menghayati)

ผู้ที่มีจิตวิญญาณแห่งภาษามลายูนั้นคือ ผู้ที่มีจิตใจที่เปี่ยมล้นด้วยความห่วงแหนต่อภาษามลายู หรืออาจกล่าวได้ว่า ภาษามลายูนั้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์แห่งตัวตนไปแล้ว ที่มิอาจแยกรพรากจากตัวเขาได้อีกต่อไป ในขั้นตอนนี้เอง ความสำนึกและความเชื่อมั่นที่มีต่อภาษามลายูจึงเกิดขึ้นเสมือนว่า หากภาษามลายูสูญสิ้นไป ชาติพันธุ์ของเราก็สิ้นลง ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีจิตวิญญาณแห่งภาษามลายูนั้น มักจะถูกชักนำโดยความรู้สึกหนึ่งที่สมควรที่จะดำเนินการอะไรบางอย่างไว้ให้กับภาษามลายู ซึ่งอะไรก็ตามที่ผู้ที่อยู่ในขั้นนี้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะบรรลุผล เพราะว่าเขาได้มีความรู้ทักษะในด้านภาษามลายูได้อย่างดีแล้ว และมีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นในด้านการเรียนการสอนภาษามลายู การเขียนภาษามลายู หรือทุกกิจการงานที่เกี่ยวข้องกับภาษามลายู ผู้ที่มีความเป็นมลายูหรือผู้ที่ธำรงไว้ซึ่งภาษามลายูเท่านั้น ที่จะสามารถเข้าใจแห่งความหมายของคมปราชญ์ที่ว่า ภาษาคือวิญญาณแห่งชาติพันธุ์ (bahasa jiwa bangsa) เพราะว่าภาษามลายูได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของเขาไปแล้ว

บทสรุป

เพื่อเป็นการสรุปก็คือ สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในระหว่างขั้นที่ 1-5 ภาษามลายูของเขา จะเป็นเพียงภาษาแห่งการพูดคุย (ภาษาริมฝีปาก / bahasa mulut) เท่านั้น แต่หากอยู่ในขั้นที่ 6 และ 7 ภาษามลายูจึงเป็นภาษาแห่งมันสมอง(ในมโนสำนึก) และส่วนในขั้นที่ 8 และ 9 ภาษามลายูจึงเป็นภาษาแห่งใจ และสุดท้ายจึงจะกลายเป็นภาษาแห่งจิตวิญญาณอย่างแท้จริง

จากการอธิบายข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาที่เกี่ยวกับภาษามลายูที่ปาตานี ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากสังคมปาตานีเสียเอง ที่ภาษามลายูมักจะเป็นเพียงภาษาปาก(คุย)เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นภาษาแห่งหัวใจไม่แต่อย่างใด และยังคงห่างไกลทีเดียวที่จะเป็นดั่งภาษาแห่งจิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีภาษาอื่นที่มีความเด่นกว่า ภาษามลายูมักจะถูกแทนที่จากภาษาอื่นโดยง่าย ด้วยเหตุนี้เองจะเห็นได้ว่าภาษาอังกฤษในมาเลเซียสามารถที่จะแพร่หลายได้อย่างเสรี และเช่นภาษาไทยเองที่นับวันยิ่งได้รับความนิยมสำหรับสังคมปาตานี

เพื่อการคงไว้ซึ่งภาษามลายูในศตวรรษที่ 21 นี้ ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เราจำเป็นที่จะต้องยกระดับความสามารถในด้านภาษามลายูเป็นรายปัจเจก อย่างน้อยเราต้องพยามให้อยู่ในระดับของภาษาแห่งสมองให้ได้ เพราะตราบใดที่ภาษาไม่ได้ผูกโยงเกี่ยวเนื่องกับความคิด(มโนสำนึก)ของเรา (หมายถึง ผู้ที่สามารถคิดด้วยสมองได้) เรามิอาจที่จะสร้างความเป็นจิตวิญญาณและการธำรงรักษาไว้ซึ่งภาษาได้อย่างสมบูรณ์พร้อมได้

ลิงต้นฉบับ http://www.deepsouthwatch.org/dsj/8087