ภาพเจ๊ะฆู(ครูตาดีกา) กำลังสอนนักเรียนตัวน้อยด้วยน้ำเสียงและท่าทางสนุกสนาน เด็กๆ ตื่นตัว ตั้งอกตั้งใจฟังสิ่งที่เจ๊ะฆูถ่ายทอด พร้อมเปล่งเสียงตามที่เจ๊ะฆูชี้แนะ ช่างเป็นบรรยากาศการเรียนการสอนที่น่าสนใจ
บรรยากาศเช่นนี้มีใน ตาดีกาดารุลอามาน ม.3 ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และตาดีกานำร่องอีกสิบกว่าแห่งในชายแดนใต้ เป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เยาวชนตัวน้อยสนใจและทำความเข้าใจในความรู้และเรื่องราวจากเจ๊ะฆูวิทยากรผู้มาแบ่งปันความรู้ในหลักสูตรตาดีกานำร่องในโครงการเมล็ดพันธุ์สันติภาพแห่งโรงเรียนต้นแบบชายแดนใต้ หลักสูตร KSPI (Kurikulum Standard Pendidikkan Islam) โครงการตาดีกาเบสตารี (TADIKA BESTARI) ของกลุ่มบุหงารายา สนับสนุนโดย โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ระหว่างเดือนธันวาคม 2558 – มีนาคม 2559 โดยมีวิทยากรครูจากอาเจะห์และมาเลเซียเข้าร่วมโครงการจำนวน 7 คน
4 เดือน ที่อิรซัมมาช่วยสอนเด็ก ชาวบ้านและครูตาดีกา ทำให้พวกเราได้ความรู้และใช้ภาษาโดยเฉพาะภาษามลายูอักษรรูมีได้ดีขึ้น ถ้ามีโครงการต่อเนื่องก็จะดีมาก เพราะจะได้เรียนรู้ภาษามลายูอักษรรูมีเพิ่มขึ้นและคล่องขึ้น ส่วนหลักสูตรของ KSPI เด็กก็เข้าใจและเรียนรู้กันไปตามขั้นตอน เป็นหลักสูตรที่ดีมาก”
การีมะห์อาแวอะสิ ครูตาดีกาดารุสสลาม บ้านฮูแตยือลอ ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส บอกถึงผลที่ได้รับจากการที่ อิรซัม อิบนู เมาลานา จากอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย มาเป็นวิทยากรครูสนับสนุนหลักสูตรตาดีกานำร่อง
อิรซัม ชายหนุ่มวัย 27 ปี จบด้านวรรณคดีอังกฤษจาก Syiah Kuala University จังหวัดอาเจะห์ เคยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมในบังโซโมโร ประเทศฟิลิปปินส์มาก่อน และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี เมื่อเขาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้และได้รับการคัดเลือกมา นับเป็นการมายังพื้นที่ชายแดนใต้เป็นครั้งแรกในชีวิต เขาบอกว่า ได้รับการต้อนรับและดูแลอย่างดีจากชาวบ้านและบ้านที่มาพักด้วย
“เมื่อมาอยู่จริงในพื้นที่ที่มีบริบทเหมือนในอาเจะห์ ชาวบ้าน เด็กๆ ที่นี่ให้การต้อนรับและดูแลดี โดยพักที่บ้านโต๊ะอิหม่ามซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนตาดีกาตลอด 4 เดือนที่มาสอน ภาระงานที่รับผิดชอบคือ วันอาทิตย์สอนเด็กตาดีกา วันจันทร์สอนภาษาครูตาดีกาในพื้นที่ ต.บาเระใต้ทั้งหมด และวันอังคารสอนภาษาให้ชาวบ้าน วันพุธเป็นวันหยุดที่ต้องเดินทางไปเตรียมสอนที่ อ.ระแงะ โดยสอนในวันพฤหัสบดี-วันเสาร์ ตารางสอนเช่นเดียวกับสอนที่นี่”
อิรซัม บอกว่า เขาใช้ภาษาบาฮาซาร์ในการสื่อสาร แต่ในพื้นที่ใช้ภาษามลายูยาวี ส่วนชาวบ้านใช้อีกภาษา จึงต้องใช้ภาษากลางคือภาษามาเลเซีย ในการสื่อสารที่เข้าใจร่วมกัน สำหรับการสอนในสองพื้นที่ที่ต่างกัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทาง หากเป็นพื้นที่ใกล้กันจะทำให้ประหยัดเวลาในการเดินทางได้มาก
“ภาษาที่ใช้สอนคือภาษามลายูกลาง มีการเปรียบเทียบภาษากับภาษาในอินโดนีเซีย หนังสือที่ใช้ที่นี่เหมือนกับทางมาเลเซียเพราะพื้นที่ใกล้กัน ส่วนหลักสูตรส่งเสริมสันติภาพที่ปรับปรุงมาจากอาเจะห์ สอนและอธิบายให้เด็กที่นี่เข้าใจได้ง่ายกว่า”
อิรซัมแนะนำให้มีการสนับสนุนให้เด็กรักการอ่านเพื่อความเข้าใจ รู้จักปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและคงอัตลักษณ์ของอิสลามไว้
“ควรสนับสนุนให้เด็กรักการอ่านทุกอย่าง ทุกสื่อ ถ้าเด็กรักการอ่าน เขาจะมีความรู้และค้นคว้าเพิ่มเติม โดยให้มีความนอบน้อมตามแบบอิสลาม มีอิหม่าน(ความศรัทธา) จริยธรรมของมุสลิม ถ้าเด็กมี อิหม่านในใจจะสามารถอยู่ในสถานที่ไหนก็ได้ และครูก็ต้องอ่านและค้นคว้าด้วยเพื่อให้มีความรู้และขัดเกลาเด็ก รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องช่วยดูแลเอาใจใส่เป็นหลัก
นายอาหามะ แวกูนิง โต๊ะอิหม่าม ที่ดูแลเรื่องที่พักของอิรซัมบอกว่า อิรซัมเป็นผู้ให้และรับวัฒนธรรมที่นี่ หากมีโครงการเช่นนี้ก็จะรับครูในโครงการมาพักอีก จะอยู่เป็นปีก็ได้ และขอให้อยู่ที่ฮูแตยือลอที่เดียวเพื่อจะได้ถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่องและเต็มที่
อิรซัมบอกย้ำว่า หากมีโครงการเช่นนี้ก็จะสมัครมาอีก……
เจ๊ะฆูมูซอ บิน อาวัง วิทยากรครูจากมาเลเซียคือหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ เจ๊ะฆูมูซอจบปริญญาตรีด้านการศึกษา เป็นอาจารย์มาตั้งแต่ปีค.ศ.1945 และเป็นที่ปรึกษานักศึกษาฝึกสอนเมื่อปีค.ศ.1997 เขาเลือกเกษียณตัวเองตอนอายุ 53 เมื่อปีค.ศ.2015 เพื่อมาช่วยเหลือแบ่งปันความรู้ที่มีอยู่แก่สังคม เนื่องจากเขากลัวว่าถ้ารอถึงอายุ 60 จะไม่มีกำลังไปช่วยคนอื่น
“เมื่อทราบข่าวว่าที่ปัตตานีต้องการครูแบ่งปัน จึงอยากเข้ามาแบ่งปันด้วย ได้ไปพบกับหน่วยงานที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในมาเลเซียที่ทำสัญญากับทางกลุ่มบุหงารายาว่าจะมาช่วยสอนในปัตตานี ขณะนั้นบุหงรายากำลังหาอาสาสมัครมาสอนตาดีกาในโครงการอยู่พอดี จึงเป็นจังหวะลงตัวและได้มาสอนที่ปัตตานี”
เขาบอกว่า โดยส่วนตัวไม่ได้กลัวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพราะเคยไปมาหาสู่กับญาติ แต่ก่อนที่จะมาปัตตานีครั้งนี้ เพื่อนๆ และคนรอบตัวต่างบอกว่าอย่ามาเลย ที่นี่มีแต่เสียงปืนและระเบิด ยิงและฆ่ากัน แต่ด้วยใจอาสาสมัคร เขาบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร อัลลอฮฺอยู่ อัลลอฮฺมี ส่วนครอบครัวเขายินดีที่จะให้มา
“ส่วนตัวเองก็ไม่กลัวแม้จะมีเหตุการณ์ที่เขากลัวกัน เพราะไม่ได้มีทุกที่และทุกวัน ขณะที่ในมาเลเซียก็มีเหตุการณ์ที่มีการตายด้วยสาเหตุต่างๆ มากกว่าที่นี่เสียอีก แม้จะไม่มาที่นี่ อยู่ที่มาเลเซียหรือไปช่วยที่ปาเลสไตน์ก็ตายหากถึงเวลาต้องตาย แต่ถ้าอัลลอฮฺให้ตายที่นี่ก็ต้องตายที่นี่”
เด็กๆ ตาดีกาดารุลอามาน ชาวบ้านและชุมชนที่ปะนาเระให้การต้อนรับที่เจ๊ะฆูมูซอประทับใจมาก เขาบอกว่าสังคมที่ปะนาเระตอนนี้เหมือนสังคมในมาเลเซียเมื่อปีค.ศ.1980 ทั้งสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ เหมือนเขามาเจอเครือญาติที่เคร่งครัดทางศาสนา ในขณะที่สังคมมาเลเซียเปลี่ยนแปลงไปมากกลายเป็นสังคมเห็นแก่ตัว ไม่สนใจคนอื่นและไม่ปรองดอง เขาพยายามพูดภาษาที่คนที่นี่พูดกัน จนสามารถพูดได้ เข้าใจว่าเด็กและชาวบ้านต้องการอะไร
สำหรับการปรับตัวในการสอนตาดีกา จากการที่เขาเคยสอนเด็กชั้นประถมศึกษา เป็นรองผู้อำนวยการ สอนเด็กมัธยม สอนมาทุกระดับ จึงมีเทคนิคการสอนคือสอนให้เข้าใจง่าย เข้าใจนักเรียน มีจิตวิทยาในการสอน
“เด็กเล็กต้องมีเทคนิคและจิตวิทยาในการสอน ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจจริงๆ ถ้าไม่เข้าใจต้องหาของจริง ทำท่าทาง แสดงละคร และอีกหลายวิธีการให้เข้าใจ จากการสังเกต เด็กที่นี่จะขี้อาย กลัวในการตอบคำถาม ไม่รู้เรื่องราวภายนอกและโลกกว้าง หลักสูตร KSPI เป็นหลักสูตรที่ดี แนะนำว่าควรใช้ภาษาที่เด็กเข้าใจง่าย เน้นภาษามลายูกลางเพื่อให้เด็กคุ้นเคย”
“การมาที่นี่ทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ในการทุ่มเทถ่ายทอดความรู้ ทั้งเป็นวิทยากร บรรยายการศึกษา สอนภาษา ให้ความรู้แก่เด็ก ชาวบ้านและครูตาดีกา สมความคาดหวัง” เจ๊ะฆูมูซอกล่าวฝาก พร้อมย้ำว่า หากมีโครงการเช่นนี้จะเข้าร่วมอีก