เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ผู้ชายที่เดินทางตามหาแรงบันดาลใจ เขาจึงค้นพบว่า บ้านเกิด ณ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี อันเป็นรากเหง้า คือแรงบันดาลใจที่แท้จริง
จากถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ก่อนถึงตลาดปาลัส อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ห่างจากถนนใหญ่ราว 50 เมตร คือที่ตั้งของโรงงานเซรามิคเบญจเมธา ที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติอันสงบ ทุ่งนาเขียวขจี ในเนื้อที่ 5 ไร่ แบ่งสัดส่วนและออกแบบได้อย่างลงตัว
เอ็มโซเฟียน เรียนจบทางด้านสถาปัตย์ ทำงานด้านการออกแบบกราฟิกในกรุงเทพฯ ประมาณ 2 ปี ไปศึกษาต่อสาขางานออกแบบผลิตภัณฑ์และงานเซรามิค จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แล้วกลับมาเป็นดีไซเนอร์อีก 2 ปี ด้วยความรักในสังคมและชุมชนบ้านเกิด ณ ปัตตานี จึงคิดกลับบ้าน
“การที่มีความรู้ด้านเซรามิคจากประเทศฝรั่งเศส ทำให้หลงรักในงานปั้นที่สามารถต่อยอดเป็นชิ้นงานได้หลากหลาย จึงเกิดแรงบันดาลใจที่ตามหามานาน เริ่มคิดถึงรากเหง้าถิ่นฐานของตัวเอง คิดถึงบ้าน อยากให้คนรู้จักบ้านเรามากขึ้น เป็นคำตอบที่ทำให้ค้นพบว่า แรงบันดาลใจของผมอยู่ที่บ้านเกิด บ้านคือความผูกพัน คือวิถีชุมชน โดยมีศาสนาเป็นตัวประคองให้โลกใบนี้อยู่ได้อย่างสันติ เมื่อครอบครัวสนับสนุนแนวคิดจึงก่อเกิดเป็นโรงงานเบญจเมธาขึ้นมา”
เอ็มโซเฟียนบอกว่า เบญจเมธาเริ่มต้นจากสิ่งที่รักและชอบ ไม่ได้คำนึงถึงตลาดจะเป็นอย่างไร คำนึงถึงสิ่งที่ชุมชนได้รับ ครอบครัวและชุมชนจะได้รับประโยชน์ร่วมกันรวมถึงแรงผลักดันจากครอบครัวในการก่อตั้งโรงงานผลิตเซรามิก หวังสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างสรรค์ผลงานต่อยอดธุรกิจให้แก่ชุมชนและครอบครัว รวมถึงสร้างความรู้ให้คนในชุมชนได้รู้จักธุรกิจเซรามิคจากโรงงานที่มีอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมอย่างชัดเจน ในการสร้างสรรค์ดินเหนียวให้ท้องถิ่นให้เกิดมูลค่า ก่อเกิดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนให้คนในชุมชน เป็นเซรามิคปั้นมือที่มีแนวคิดในการออกแบบลวดลายสะท้อนอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและความศรัทธาในปรัชญาศาสนาอิสลาม เกิดวิถียั่งยืนและงานศิลปหัตถกรรมในพื้นที่ที่ไม่ผิดหลักการศาสนา และศิลปะมลายูที่ต้องกรอง สร้างให้เป็นวิชาชีพที่สามารถตอบโจทย์และอยู่กับวิถีชีวิตของชุมชนได้
“งานของผมเป็นสิ่งที่ใช้ในความเป็นจริงได้ ตอบโจทย์การใช้งานโดยมีอัตลักษณ์ เป็นการประยุกต์ศิลปะไทยมลายูท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในรูปแบบใหม่ โดยนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า คือ ดินขาวนรา ดินดำปัตตานี และดินปั้นต่างถิ่นที่ทนความร้อนในอุณหภูมิ 1,235 องศาเซลเซียส ทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิคของเรามีความแข็งแกร่งทนทาน ส่วนวัตถุดิบในการเคลือบผลิตภัณฑ์ มีความปลอดภัยสูงสามารถนำมาบรรจุอาหารได้ หรืออย่างกรงนก ผสมยอดกรงนกเขากับงานศิลปะเข้าด้วยกัน วิถีของที่นี่แฝงด้วยปรัชญามากมาย มีความหมายในชิ้นงานว่าทำไมต้องแตก ทั้งที่ในกระบวนการงานเซรามิกถ้าแตกคืองานเสีย แต่เราคิดว่าเป็นเอกลักษณ์ของงานดินที่สามารถแตกได้ เหมือนอัลลอฮฺออกแบบ เป็นการเดินอย่างช้าๆ แต่มั่นใจ”
“การทำงานศิลปะเชิงปรัชญาควบคู่กับหลักคำสอนของอัลอิสลามที่กล่าวว่า มนุษย์คนแรก “อดัม” มีต้นกำเนิดมาจากดิน สิ่งมีชีวิต พืชผักผลไม้ น้ำฝนก็มาจากดิน ตอนสิ้นชีวิตทุกอย่างก็จะกลับคืนย่อยสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินทั้งหมด จึงก่อเกิดเป็นสโลแกนในการทำงานของครอบครัวเบญจเมธาว่า “มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน”
“ธรรมชาติและสันติ” (Nature and Peace) คือ เอกลักษณ์ของ “เบญจเมธา” แสดงถึงศักยภาพของคนในครอบครัวที่ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันผลิต ร่วมกันขาย เปิดโอกาสให้คนในชุมชน เพื่อนบ้าน ที่ประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมที่ดีมาร่วมด้วยช่วยกัน โดยมีทั้งงานเซรามิกและงานไม้ อย่างเช่น
Crack เป็นชามเนื้อเซรามิคที่มีลายแตกทั่วพื้นผิวเป็นสีทอง ต้องการสื่อให้เห็นว่า การตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ผิด เพราะเมื่อความจริงปรากฏ (สีทองที่อยู่ภายใน) เปลือกที่อยู่ด้านนอกก็จะมลายหายไป คือคุณค่าของความงามที่ถูกถ่ายทอดผ่านสัจธรรมธรรมชาติของดิน
ลูกข่างไม้ เป็นงานกลึงไม้ที่แสดงให้เห็นถึงความประณีตควบคู่ไปกับความอ่อนโยนตั้งแต่ กระบวนการผลิตโดยช่างผู้เชี่ยวชาญผนวกกับรูปแบบการเล่นลูกข่างที่ไม่ใช้ความรุนแรงต่อสู้ เป็นมิติที่ต้องการให้คนทั่วไปหันกลับมาเล่นลูกข่างอีกครั้ง
หม้ออาหรับฝาด้ามไม้ เป็นองค์ประกอบแห่งความผูกพัน สีสัน วัฒนธรรม วิถีชีวิต
ทุกชิ้นงานที่ถูกออกแบบ เอ็มโซเฟียนบอกว่าเป็นการหยิบเอาอัตลักษณ์ของวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างรูปแบบใหม่ออกไป เช่น งานไม้กลึง เป็นงานช่างฝีมือที่โดดเด่นของท้องถิ่นภาคใต้ โดยเฉพาะหัวไม้ ยอดไม้ของกรงนกในส่วนด้านบนที่มีลักษณะสมดุลย์ ส่วนงานเซรามิคก็เป็นกระบวนการผลิตที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน เข้ามาผสมผสานเป็นหนึ่งชิ้นงาน เพราะต้องการสื่อให้เห็นว่า สิ่งของสองอย่างที่แตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทั้งงานไม้กลึงและงานเซรามิคต่างขึ้นรูปทรงจากจุดหมุนที่เป็นแกนกลางเหมือนกัน เปรียบได้กับคนต่างชาติต่างศาสนาก็สามารถมีจุดร่วมของการทำความดีร่วมกันได้คือหัวใจหลักที่สำคัญของแนวคิดธรรมชาติและสันติ (Nature and Peace)
“งานของผมพยายามสื่อสารว่าเป็นผลงานของคนไทยและมุสลิมเข้าไว้ด้วยกัน เป็นการประยุกต์ศิลปะไทยมลายูท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในรูปแบบใหม่ โดยเป็นการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า คือ ดินขาวนรา ดินดำปัตตานี และดินปั้นต่างถิ่นที่ทนความร้อนในอุณหภูมิ 1,270 องศาเซลเซียส ทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิคของเรามีความแข็งแกร่งทนทาน ส่วนวัตถุดิบในการเคลือบผลิตภัณฑ์ มีความปลอดภัยสูงสามารถนำมาบรรจุอาหารได้”
“เบญจเมธา มีแนวคิดในการทำงานอย่างไร ครอบครัวผมเป็นมุสลิม ในช่วงต้นผมก็ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าความหมายของอิสลามเป็นอย่างไร จนกระทั่งได้มีโอกาสศึกษาอย่างจริงจังจึงได้พบว่า หลักคำสอนที่แท้จริงที่มีหนึ่งเดียว รายงานคำสอนที่มีข้อพิสูจน์ที่มาของหลักฐานความรู้ทั้งหมด ที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากความต้องการกิเลสของมนุษย์มากมาย ผนวกกับการทำงานศิลปะเชิงปรัชญาควบคู่กับหลักคำสอนของอัลอิสลามที่กล่าวว่า มนุษย์คนแรก “อดัม” มีต้นกำเนิดมาจากดิน สิ่งมีชีวิตต่างๆพืชผักผลไม้น้ำฝนก็มาจากดิน ตอนสิ้นชีวิตทุกอย่างก็จะกลับคืนย่อยสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินทั้งหมด ทั้งหมดจึงก่อเกิดเป็นสโลแกนของการทำงานของครอบครัวเบญจเมธาว่า “มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน”
เป้าหมายหลักของเอ็มโซเฟียนคือ การขับเคลื่อนครอบครัวและชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อทุกอย่างที่อยู่รายล้อมรอบตัวมีชีวิตที่ดีขึ้นควบคู่ไปกัน โดยใช้อัตลักษณ์จากบ้านเกิดที่มีคุณค่าสื่อสารออกไป
งานเซรามิกของเบญจเมธา มีหลากหลายประเภท ได้แก่ จาน แจกันดอกไม้ แจกันลายแตก และหม้ออาหรับฝาด้าม การันตีด้วยสุดยอดธุรกิจสร้างสรรค์ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลไทยสร้างสรรค์ ประจำปี 2553 ในสาขางานฝีมือและหัตถกรรม ที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์พื้นถิ่นได้เป็นอย่างดีโดยสามารถผสมผสานวัตถุดิบที่แตกต่างได้อย่างลงตัว และสามารถสร้างสรรค์ผลงานเซรามิกรูปแบบใหม่ที่มีจุดเด่นทางด้านพื้นผิวลวดลายน้ำหนัก และแสดงคุณค่าผลงานเชิงศิลปะอย่างมีพลังและศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจสูง
“เบญจเมธาได้รับรางวัลระดับชาติที่เป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ รางวัลที่ได้มาเป็นรางวัลเกี่ยวกับนวัตศิลป์ ปรัชญาชุมชน ความงดงามของอิสลามิค การถูกยอมรับในสิ่งที่นำเสนอชุมชน ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก เป็นความพอใจแล้ว และรางวัลดีไซน์เนอร์ ออฟ เดอะเยียร์ เหมือนกับการยอมรับของต่างศาสนิกในมุมมองใหม่ เขาเข้าใจในงาน จุดนั้นมุสลิมจงอย่าดูถูกตัวเอง จงภาคภูมิใจในการนำเสนอตัวตนของเรา เป็นการยืนยันว่าเขายอมรับเรา ทำให้รู้สึกว่า เรามาถูกทาง อย่าไปคิดเองว่าธุรกิจเราไม่มีที่ยืน เราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำกับรากเหง้าจริงๆ จึงออกมาอย่างแข็งแรง”
“เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้ฝึกฝีมือ โดยคัดเลือกเยาวชนที่สนใจงานและเยาวชนที่ใส่ใจ “ศีลธรรม” เพราะคนที่มีศีลธรรมจะเป็นคนที่สะอาด เชื่อฟัง ห่างไกลยาเสพติดและปลอดภัยที่สุด โรงงานผมถือได้ว่าปราศจากอบายมุขทั้งหมด คนที่มาทำงานด้วยไม่ได้จบงานออกแบบเซรามิคมาเลย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ข้อดีคือ ทุกคนจะมีอิสระในการขึ้นรูปทรงโดยปราศจากกรอบแนวคิด โดยมีผมคอยดูอยู่ห่างๆ ทุกอย่างเราตอบได้ ไม่โกหก ไม่กังวลเรื่องการเลียนแบบ เพราะถ้าเลียนแบบคือต้องเลียนแบบวิถีเราไปด้วย เป็นสิ่งที่ยินดี เราจะต้องวางตนเป็นผู้ไม่รู้ เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้ให้เป็นผู้รู้มากขึ้น การเริ่มคิดถึงผู้อื่นจะทำให้ความรู้ต่างๆ ไหลมาเอง ผมมุ่งมั่นที่จะปั้นคนเหล่านี้ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดี เพื่อให้เขาสามารถนำองค์ความรู้ไปส่งต่อสืบสานให้กับลูกๆ หลานๆ และคนใกล้เคียงได้ อันจะเป็นการถ่ายทอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่สำคัญศาสนาสอนให้เราเป็นผู้ให้ โดยเราต้องรู้จักการให้ก่อนที่จะมี”
เอ็มโซเฟียนบอกว่า สัญชาตญาณที่อยากกลับสู่ที่แห่งสันติ ยุติธรรม โลกใบนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้สมอง เหตุที่ไม่มีความสันติเพราะอัลลอฮฺสร้างเมืองแห่งความสันติไว้ที่สรวงสวรรค์ คือที่แห่งความยุติธรรม การเรียกร้องสันติภาพจะเอามุมไหน เมื่อยังถล่มกัน อะไรคือสันติภาพ การทำงานที่พิถีพิถันเช่นนี้จะมาจากวิถีแห่งความรุนแรงได้อย่างไร ความอ่อนโยนที่ใช้แค่สองมือในการขึ้นชิ้นงาน เป็นความหมายที่อยากสื่อสาร
“ใครมาที่นี่ก็ประทับใจ เราทำการเกษตร มีวิถีของเรา น้องๆ ในชุมชนมาช่วยกันทำ ต่างศาสนิกมาแล้วเขาเข้าใจ เขาทิ้งทุกอย่างที่รับรู้รับฟังมา โดยเราไม่ต้องประกาศว่าอิสลามเป็นอย่างไร อิสลามคือความเข้าใจ สิ่งที่สัมผัสได้คือได้พี่น้องต่างศาสนิกมาก ให้เขามีมุมบวกก็พอแล้ว แล้วข่าวลวงโลกที่กล่าวหาว่ามุสลิมเป็นผู้ร้ายก็จะหมดไป และคนต่างศาสนิกเห็นคุณค่าในงานของเรา ทำให้มีงานออกมาสม่ำเสมอ”
เอ็มโซเฟียนบอกถึงแนวคิดในการทำธุรกิจของเขาว่า การทำธุรกิจที่มีความสุขในทุกวันนี้ เกิดจากสิ่งที่ตนเองชอบและถนัด โดยครอบครัวและชุมชนได้ในสิ่งที่เราทำด้วย ที่สำคัญควรใช้ชีวิตในวิถีที่ประณีต ตั้งแต่กระบวนการทำงาน การใช้ชีวิต และการให้ความสำคัญกับครอบครัว อย่ามองว่าเป็นเรื่องที่เคร่งครัด เพราะการก้าวเดินอย่างสมถะมากที่สุดจะทำให้ผิดพลาดน้อยลง
เขาตั้งเป้าว่าจะนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของดินแดนปัตตานีมาสร้างสรรค์เป็นงานทอผ้าให้ได้ โดยดึงชุมชนเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบมัสยิดสำหรับพี่น้องชาวมุสลิม รวมทั้งหนังสือการ์ตูนภาพสะท้อนแนวคิดธรรมชาติและสันติ (Nature and Peace) เพื่อสื่อให้เห็นว่า แรงบันดาลใจไม่ได้อยู่ไกลตัวเรา เพียงก้มมองดูตัวเองก็จะค้นพบเอกลักษณ์ที่มีอยู่ในตัวเอง
เอ็มโซเฟียนกำลังจะทำหนังสั้นบอกกล่าวถึงการกลับบ้าน ค้นหาแรงบันดาลใจจากบ้านเกิด ดังคำ “เกิดจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน” ที่เขายึดปฏิบัติ