ฮัสซัน อับดุลเราะห์มาน ที่ใช้นามปากกาว่า อัสโตรา ญาบัต (Astora Jabat) ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันดีในวงการสื่อของมาเลเซีย เนื่องจากผลงานเขียนที่ชอบถกเถียงของเขา ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มิงฆูวัน (Mingguan) ของมาเลเซีย หนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับวันอาทิตย์
งานเขียนของเขาค่อนข้างมีลักษณะโต้เถียง จนทำให้สถาบันพัฒนาอิสลามแห่งมาเลเซีย Jabatan Kemajuan Islam Malaysia (Jakim) ได้ออกประกาศว่าอดีตผู้สื่อข่าวอูตูซันดังกล่าว เป็นผู้ที่สนับสนุนของแนวคิด “เสรีนิยมและพหุนิยม” เมื่อปี 2013
หนึ่งในงานเขียนของเขาที่สร้างความขัดแย้งมากที่สุดคืองานเขียนเรื่อง “ท่านศาสดาสั่งให้เราปฏิเสธกฎหมายฮูดุด” ที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2002 ซึ่งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้น มาทางผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาเห็นว่างานเขียนของเขานั้นหลงทาง (ออกนอกลู่)
เขายังได้เขียนเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของไทยอีกด้วย ซึ่งเขาเป็นคนพื้นเพจากจังหวัดนราธิวาส
การจัดรายการทางวิทยุ
อัสโตรากล่าวว่าสำหรับในคอลัมน์มิงฆูวันของมาเลเซียของเขา เคยได้รับจดหมายทางอีเมลล์อย่างน้อย 8,000 ฉบับ และจดหมายพร้อมกระสุนสองนัดจากนักวิจารณ์ (ผู้ต่อต้าน) เขาอีกด้วย
เมื่อปี 2013 อัสโตราได้นำผลงานเขียนของเขา ไปออกอากาศผ่านสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ซึ่งเป็นรายการวิทยุประเภทการเมือง ที่ส่งเสริมให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเขายังมีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนทั่วเอเชีย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาได้พักจากการเขียนและปิดเครื่องโทรศัพท์ เพื่อให้ความสนใจกับการปั่นจักรยาน การที่ผู้ชายในวัย 62 ปีได้กระทำการเช่นนี้ ก็เพื่อภารกิจปั่นจักรยานไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อต้องการเผยแพร่ “สาร” ผ่านการ ‘ปั่นจักรยานเพื่อสันติภาพ’ (Bike for Peace) สืบเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนเหตุการณ์เพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 คน นับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเนื่องในวันครบรอบการสถาปนาของขบวนการการปฏิวัติแห่งมลายูปาตานีในวาระครบรอบ 56 ปี ซึ่งเป็นขบวนการติดอาวุธเพื่อปลดแอกที่ใหญ่และที่มีอิทธิพลที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม
และเมื่อวันอาทิตที่ผ่านมา ทางขบวนการต่อสู้ได้กระทำการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อปฏิบัติการเข้ายึดโรงพยาบาล และได้ทำการโจมตีฐานทหารพรานในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งสหประชาชาติ (UN) และสิทธิมนุษยชนได้ออกมาประณาม
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OCHCR) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่กลุ่มติดอาวุธไม่ต่ำกว่า 50 คน ได้ทำการยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ในจังหวัดนราธิวาสประมาณ 30 นาที ในขณะที่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ยังคงอยู่ในโรงพยาบาล
ทางทีมข่าวเบอร์นัรนิวส์ ได้พบกับอัสโตรา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในช่วงที่เขาได้บันทึกการปั่นจักรยานด้วยระยะทาง 1,400 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มเดินทางจากประเทศไทย
เขาได้พบกับผู้คนมากมายตลอดการเดินทางในครั้งนี้และเขาได้ถือโอกาสนี้ในการ “อธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งให้กับคนในที่ต่างๆ”
ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้เขาได้ใช้งบส่วนตัว ที่เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของเขาเอง เพื่อให้บ้านเกิดตนเองมีความสงบสุขกลับคืนมาอีกครั้ง แม้ว่ามันจะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ และเขาเชื่อว่าทุกคนควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้
“เพื่อให้ความพยายามในการแสวงหาความสงบได้บรรลุผล เราต้องมีวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของเรา และสิ่งที่ผมได้ปฏิบัตินี้คือ โดยการปั่นจักรยานไปใน 10 ประเทศอาเซียน”
“ขณะนี้เราได้มีหมุดหมายเพื่อไปยังเป้าหมายในการประกาศสันติภาพ และผมได้ปฏิบัติในส่วนของผม เพื่อเป็นการช่วยขับเคลื่อนอีกแรงหนึ่งไปพร้อมๆ กับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ ที่ปรารถนาอยากให้มีการประกาศสันติภาพในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย” อัสโตรากล่าวกับทีมข่าวเบอร์นัรนิวส์ ในช่วงการให้สัมภาษณ์พิเศษ
อัสโตรามีแผนที่จะแบ่งปันงานเขียนและวิดีโอสารคดีเกี่ยวกับการผจญภัยของเขาในครั้งนี้อีกด้วย
“หวังว่ามันจะถูกเผยแพร่ในประเทศไทย ผมหวังว่าผู้คนจะได้ชมมันและร่วมกันสนับสนุนความพยายามของผมในครั้งนี้ ที่อยากให้เกิดสันติสุข” เขากล่าว
การเดินทางที่มีความเสี่ยง
อัสโตราได้เผชิญกับความท้าทายตลอดช่วงการเดินทางในช่วงแรก
“ต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ภาคใต้ และที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการประกาศสันติภาพ เพราะเขาคิดว่าพวกเขายังไม่มีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา” เขากล่าว
การผจญภัยครั้งนี้ อัสโตราเริ่มต้นด้วยการปั่นจักรยานหกวัน จากปัตตานีถึงนราธิวาส ร่วมกับนักปั่นจักรยานคนอื่นๆ กว่า 30 คน จากมหาวิทยาลัยมหิดลในกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี และนักปั่นจากภาคใต้
ในช่วงแรกอัสโตรามีความลำบากมากในการปั่นจักรยาน และมักจะถูกทิ้งห่าง เพราะเขาไม่ได้เป็นนักปั่นจักรยานทางไกล
“มันเป็นการเดินทางที่มีความเสี่ยงมาก เพราะผมมักจะตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคง เพราะพวกเขารู้ว่าผมเป็นใครและเป้าหมายของผมคืออะไร” เขากล่าวและว่า “ในที่สุด ในวันสุดท้ายของการเดินทางในภาคใต้ครั้งนี้ ผมสามารถปั่นจักรยานได้ดีขึ้น ได้ขับนำขบวนทั้งหมดตลอดทั้งวันดังกล่าว”
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อัสโตรา ได้แยกจากขบวนนักปั่นดังกล่าว และทำการบินเดี่ยวจากประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซีย 17 วันของการเดินทาง ได้ผ่านเส้นทางมากกว่า 800 กิโลเมตร เพื่อไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์
“ซึ่งตรงกันข้ามกับการเดินทางครั้งแรกของผมในประเทศไทย ผมไม่ได้ประสบกับการคุกคามใด ๆ จากฝ่ายความมั่นคง ในมาเลเซีย แต่ผมต้องทนกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและจำเป็นต้องดูแลตัวเองในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น” เขากล่าว
ความท้าทายตลอดช่วงการเดินทาง
ต่อมาเขาได้พบกับนักปั่นจักรยานอีกหลายคนที่มาเลเซีย อัสโตราได้เล่าถึงความสนุกสนานเกี่ยวกับการปั่นจักรยานตระเวนไปยังรัฐต่างๆ ในมาเลเซีย และเขากล่าวอีกว่า เขาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวบ้านและโดยเฉพาะจากบรรดานักอ่านของเขา
“ผมไม่คาดคิดว่าชาวบ้านที่นี่จะให้การต้อนรับได้ดีเช่นนี้ พวกเขาเตรียมสถานที่พักเพื่อค้างแรมให้ รวมไปถึงอาหารและผมขอขอบคุณ(ชูโกร) ที่อยู่ท่ามกลางผู้คนที่มีน้ำใจ” เขากล่าว
นอกเหนือไปจากสารแห่งสันติภาพ อัสโตรา ตั้งใจที่จะเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี
หนึ่งปีเพื่อสันติภาพ
อัสโตรายังเดินทางต่อไปทางตอนใต้ของมาเลเซียด้วยจักรยานไปยังประเทศสิงคโปร์ และได้เดินทางกลับไปยังประเทศไทยอีกครั้ง ผ่านรัฐต่างๆ ในประเทศมาเลเซีย เช่น ปาหัง ตรังกานู และกลันตัน
อัสโตราคาดว่าการเดินทางของเขา คงจะใช้เวลาหนึ่งปี โดยผ่านประเทศกัมพูชา เวียดนาม ลาว พม่า อินโดนีเซีย บรูไนฟิลิปปินส์ และติมอร์เลสเต
ในระหว่างที่อัสโตราดำเนินการปั่นจักรยานเพื่อสันติภาพ ทางผู้นำรัฐบาลทหารไทยยังคงพยายามที่จะชักชวนให้กลุ่มต่อสู้ได้ดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อเดือนธันวาคมปี 2013 ในสมัยรัฐบาลพลเรือน
รัฐบาลได้มีการกำหนดในเดือนมิถุนายน 2016 เพื่อเป็นช่วงสุดท้ายสำหรับการลงนามในข้อตกลงเพื่อสันติภาพ แต่พลโท นักรบ บุญบัวทอง หัวหน้าทีมพูดคุยฝ่ายไทย ไม่ได้ระบุสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้
ความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน และได้คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 6,000 คน นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา
แปลจาก http://www.benarnews.org/malay/berita/my-astora-160317-03172016122518.html