วันที่ 12 มีนาคม 2547 เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย กลายเป็นคดีบังคับบุคคลให้สูญหายอันลือลั่นของสังคมไทย และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยถูกจับตามองในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน บวกกับช่วงนั้นเป็นห้วงเวลาของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ปะทุขึ้นใหม่ หลังจากมีการปล้นปืนที่ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4ในวันที่ 4 มกราคม 2547 และเป็นช่วงที่ทนายสมชายกำลังทำคดีให้กับผู้ต้องหาในคดีความมั่งคงที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวข้องปล้นปืน ก่อนถูกลักพาตัวพียง 1 วัน ทนายสมชายได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหา 5 คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในคดีปล้นปืน อีกด้วย
เหตุการณ์ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ในช่วงเวลา 20.30 น. บริเวณถนน รามคำแหง 65 หน้าร้านแม่ลาปลาเผาว่า เห็นรถของทนายสมชายขับมาจอดและมีรถเก๋งสีดำอีกคันมาจอดต่อท้าย จากนั้นได้พบรถของทนายสมชายถูกจอดทิ้งไว้บริเวณใกล้สถานีขนส่งหมอชิต
ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียงแค่ 2 สัปดาห์ มีรายงานว่าทนายสมชายวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และไม่ถึงเดือนที่ทนายสมชายได้ขึ้นเวทีร่วมอภิปรายปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อีกด้วย ทั้งนี้ทนายสมชายยังได้ล่ารายชื่อประชาชนจำนวน 50,000 คนเพื่อให้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้อีกด้วย
หลังถูกอุ้มหายเมื่อ 12 มี.ค.47 ปรากฏว่าในเดือน เม.ย.47 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายถูกจับกุมฐานเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย แต่เนื่องจากกฎหมายไทยไม่มีฐานความผิดกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงไม่มีการตั้งข้อหาดังกล่าว และเนื่องจากไม่สามารถหาศพของทนายสมชายได้ จึงทำให้ไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อตำรวจทั้ง 5 นาย คงตั้งข้อหาเพียงปล้นทรัพย์ ใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย และกักขังหน่วงเหนี่ยว
และสำหรับคดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาพิเศษ 6 ได้เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจรวม 5 นาย ได้แก่ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์, จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1952/2547 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะและร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 และ 391 เพราะเหตุประเทศไทยยังไม่มีความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหายโดยตรง จึงต้องฟ้องในฐานความผิดอาญาทั่วไป และศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ครอบครัวผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการได้
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ภรรยาของนายสมชายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลฎีกาพิพากษายืน โดยทั้งสองศาลให้เหตุผลว่าคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5 (2)
กล่าวคือ ภรรยาและบุตรไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่านายสมชายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ แม้ว่าศาลแพ่งจะได้มีคำสั่งให้นายสมชายเป็นบุคคลสาบสูญแล้ว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 61 เมื่อบุคคลใดถูกสั่งให้เป็นคนสาบสูญ กฎหมายให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายทางกฎหมายแล้ว และคำสั่งของศาลแพ่งที่ให้นายสมชายเป็นคนสาบสูญนั้นยังคงอยู่และไม่มีการขอเพิกถอนแต่อย่างใด
และครั้งสุดท้ายเมื่อ วันนี้ 29 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้หายตัวไป โดยศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องพนักงานสอบสวน และยกคำร้องของครอบครัว ทำให้ไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วมได้ เพราะพิสูจน์ไม่ได้ว่า ทนายสมชายบาดเจ็บหรือตายจนไม่สามารถจัดการเองได้
ผลของคำตัดสินวันนั้น คดีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปไม่มีคนผิด และครอบครัวของทนายสมชายไม่มีสิทธิในการยื่นฎีกาซึ่งในคดีนี้ อัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้ต้องหาคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 ราย ได้แก่ พ.ต.ต.เงิน ทองสุข, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์, จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวนเป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในข้อหาฐานความผิดร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และข่มขืนใจผู้อื่น ซึ่งศาลชั้นต้นยกฟ้อง จำเลยที่ 2-5 ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นศาลเห็นว่ากระทำผิด ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นและข่มขืนใจผู้อื่น ต่อมาในชั้นอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้าด้วยเหตุผลว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งทางอัยการมีความเห็นจะไม่ยืนฎีกาต่อ ครอบครัวจึงยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เพื่อยื่นฎีกาในคดีดังกล่าว
ภายหลังจากมีผลการตัดสินของศาลฎีกาเมื่อปลายปีที่แล้วนั้นได้มีการวิพากษ์ถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้โดยส่วนสำคัญคือการขาดกฎหมายอาญาที่กำหนดว่าการอุ้มหายเป็นความผิด เป็นต้น
ออกแคมเปญ ครบ 12 ปี การหายตัว
12 มีนาคม 2559 เนื่องในวันครบรอบ 12 ปี การอุ้มหาย ทนายสมชาย นางอังคณา นีละไพจิตร ร่วมกับ แอมเนสตี้ ทำแคมเปญ เรียกร้อง 6 ข้อให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยระบุว่า 12 ปีแล้วที่ดิฉัน และลูกๆ อีก 5 คนไม่ได้พบหน้าทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมและรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ และที่สำคัญกว่านั้นคือ “สามี” ของดิฉันและ “พ่อ” ของลูกๆ สิ่งที่เหลือมีเพียงความโศกเศร้า คำถาม และคดีความที่จบลงด้วยการพ่ายแพ้
ก่อนหายตัวไป “ทนายสมชาย” ว่าความให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่อ้างว่าถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้รับสารภาพ จนกระทั่งคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลยหลังจากที่เขาแยกตัวกับเพื่อนทนายย่านรามคำแหง ดิฉันและครอบครัวยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นตำรวจ 5 นาย 1 ใน นั้นคือตำรวจที่ลูกความของทนายสมชายกล่าวหาว่าทรมานผู้ต้องสงสัยด้วยในขณะ ที่ความหวังที่ครอบครัวนีละไพจิตรจะได้อยู่พร้อมหน้าอีกครั้งริบหรี่ลง เรื่อยๆ โอกาสครั้งสำคัญที่ดิฉันและลูกๆ จะได้รับรู้รสชาติความยุติธรรมก็จบลงเช่นกัน ศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ยกฟ้องตำรวจทั้ง 5 นาย โดยไม่พิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งฝ่ายดิฉันยื่นไป สิ่งที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ทรมานทางจิตใจตลอด 12 ปีของพวกเราให้เพิ่มขึ้นทวีคูณ
วันนี้ ดิฉันในฐานะภรรยาของทนายสมชายและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งช่วยจัดทำแคมเปญนี้ขึ้นมา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องสอบสวนการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหายทุกคนในประเทศไทย อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ มีการสั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหาย ตลอดจนนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
ผ่าน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …. โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย) เป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจนตามนิยามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย
ให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบทของอนุสัญญาดังกล่าว
ระบุที่อยู่และชะตากรรมของผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหาย ตลอดจนนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
รับประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ แม้ดิฉันจะได้รับข้อมูลว่าทนายสมชายถูกทรมานจนเสียชีวิต แต่ก็ไม่มีหน่วยงานรัฐไหนที่รายงานอย่างเป็นทางการได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับ ทนายคนสำคัญของไทยและสมาชิกคนสำคัญของครอบครัวนีละไพจิตรคนนี้กันแน่
“ความจริง” ยังคงหลบซ่อนอยู่ในมุมมืดที่ใดสักแห่งในสังคมไทย ดิฉันขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมกันใช้โอกาสครบรอบ 12 ปีการหายตัวไปของทนายสมชายเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องนำความยุติธรรมมาสู่ทนายสมชาย ครอบครัวนีละไพจิตร ตลอดจนผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหายคนอื่นๆ ในประเทศต่อไปด้วย
“การบังคับสูญหายไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ อาจเป็นคนในครอบครัวคุณหรือคนที่คุณรัก ร่วมรณรงค์กับเราเพื่อยุติการบังคับสูญหายในประเทศไทย”