สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จัดงาน“วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016” ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี จุดสนใจของงาน อยู่ที่การปาฐกถาของบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายขบวนการฯ ที่ส่งเทปวิดีโอมา ประเด็นคือ นายอาวัง ญาบัติ ประธานมาราปาตานื กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ที่เป็นการบันทึกเทปส่งมาเป็นภาษามลายูและมีซับไตเติ้ลภาษาไทยแล้วมี “ปกหนังสือ ชื่อ “Fiqh Jihad” (ฟิกห์ญิฮาด) แปลว่า “ศาสนาบัญญัติว่าด้วยการญิฮาด วางอยู่บนชั้นเหนือศีรษะ จนกล่าวเป็นประเด็นที่ถกเถียงวิพากษวิจารณ์ อย่างหนัก เมื่อ มีเว็บไซต์ได้ ออกมาเขียนว่า มีการแปลเจตนาของขบวนการฯ ได้ว่าต้องการส่งสารถึงผู้เกี่ยวข้องว่า แนวทางการต่อสู้ของขบวนการฯ นั้นจะยึดแนวทางของอัลกุรอานและหนังสือ “ศาสนาบัญญัติว่าด้วยการญิฮาด” เล่มนี้ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักของสังคมโดยปริยาย
โดยขณะนี้ในเว็บไซต์ต่างๆ ก็ได้เผยแพร่บทวิพากษ์วิจารณ์เพื่อทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับการญิฮาดนั้นถือเป็นแนวคิดหนึ่งในความคิดอิสลามร่วมสมัย นั่นคือการญิฮาดซึ่งมีตำแหน่งสำคัญ ในโครงสร้างของศาสนาอิสลาม ญิฮาดตามที่กล่าวไว้ในหะดีษ เป็น “จุดสูงสุดของอิสลาม หรือยอดของศาสนา” โดยปรากฏมุมมอง และท่าทีที่แตกออกไป อย่างกว้างขวาง ทั้งจากสายตาข้างในและภายนอกอิสลาม เป็นมุมมองที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในแง่ของบทบาทที่เพิ่มขึ้นของอิสลามในระดับสากล
ยิ่งไปกว่านั้น มุมมองต่างๆ เหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมเอง กับรัฐบาลของพวกเขา และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม, รวมทั้งในมุมมองของการตื่นตัวทั่วโลกมุสลิม ทั้งในระดับของความเชื่อและการปฏิบัติ อันนำไปสู่การปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ระหว่างอิสลาม ในฐานะที่เป็นศาสนาหนึ่ง (ความเชื่อ, พิธีกรรม, ศีลธรรม) และเป็นอุดมการณ์หนึ่ง ที่มีอิทธิพลสูง ต่อความคิดและการประพฤติปฏิบัติ ทั้งในทางสังคม และการเมือง หรือที่เรียกว่า ”การเมืองอิสลาม” อันมีญิฮาดเป็นแกนกลาง ในฐานนะที่เป็นแนวทางหนึ่ง
โดยสรุปแล้วผู้เขียน ชัยคฺเกาะเราะเฎาะวีย์ ท่านได้กล่าวถึงการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ว่า “ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และสาละวนอยู่กับแนวคิดของท่าน เป็นเวลานับทศวรรษ” ผลจากความพยายามของท่าน ทำให้เกิดหนังสือที่สำคัญขนาดสองเล่ม ซึ่งท่านได้วางแนวคิดผ่านมุมมองวะสิฏิยะฮฺ มุมมองของท่านต่อประเด็นที่สำคัญเรื่องนี้ ทำให้ทฤษฏีญิฮาดของท่านมีความรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งท่านหวังว่า จะเป็นการอุทิศสู่การวินิจฉัย ต่อประเด็นที่เผ็ดร้อนนี้ หนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นจากความเข้าใจที่กล่าวว่า “เป็นสิ่งที่อันตราย และเสียหายอย่างยิ่ง ในเข้าใจญิฮาดผิดพลาด การละเมิด ด้วยการหลั่งเลือดในนามของญิฮาด การละเมิด ทรัพย์สินและชีวิต อีกทั้งสร้างมลทิน มีการกล่าวหาอิสลาม ว่า มีความรุนแรงและการก่อการร้าย ขณะที่อิสลามบริสุทธิ์จากสิ่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของพวกเราในประเด็นเผ็ดร้อนดังกล่าว คือการที่ความจริงได้สูญหายไป ระหว่างความเลยเถิดสองด้าน คือความสุดโต่งและความหย่อนยาน”
แก่นของญิฮาดและรูปแบบของมัน
คงจะไม่มีแนวความคิดใดในอิสลาม จะตกเป็นเป้าของการโจมตีอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การกล่าวหาคำสอนอิสลามและมุสลิม ได้อย่างมากมาย เท่ากับแนวคิดญิฮาด ซึ่งนำไปสู่ความเลยเถิดสองด้าน คือการสุดโต่งจนเกินจริง กับหย่อนยานจนเกินเหตุ
ความเลยเถิดในรูปแบบที่สอง ได้รับการสนับสนุน จนถึงกับต้องการจะลบล้างญิฮาดออกจากวิถีของอุมมะฮฺ เผยแพร่แนวคิดการเชื่อฟังและการยอมจำนน ภายใต้การเรียกร้องที่เสแสร้งต่างๆ เช่น อดทนและสันติภาพ ซึ่งชัยคฺยูซุฟ อัลเกาะเราะเฏาะวีย์ เรียกกลุ่มเหล่านี้ว่า “เป็นตัวแทนของพวกล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นปรปักษ์กับญิฮาด จนกระทั่งได้สร้างกลุ่มใหม่ ซึ่งได้กุอิสลามขึ้นมาใหม่ เป็นอิสลามที่ปราศจาก ญิฮาด และอุทิศตนเองเพื่อส่งเสริมแนวคิดนี้ ตัวอย่างเช่น พวกบาไฮและกอดยานีย์”
กลุ่มสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง เป็นกลุ่มที่สร้างแนวคิดญิฮาด ว่าเป็นการสงครามอันเดือดดาลเพื่อต่อสู่กับโลก ทั้งใบ โดยเห็นว่าผู้คนทั้งหมด ล้วนเป็นศัตรูของมุสลิม ตราบใดที่พวกเขายังไม่ได้เป็นมุสลิม กลุ่มหลังนี้ ดูเหมือนจะสอดคล้องกับนิยามของพวกตะวันออกศึกษา (Orientalists) อย่างยิ่ง ซึ่งนิยามญิฮาดเอาเองว่า เป็นการเผยแพร่ด้วยคมดาบและญิฮาด เป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ราวกับว่านั่น เป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานข้อที่หก (Encyclopaedia of Islam, ฉบับแปลเป็นภาษา อาหรับ, หน้า 2778)”
ชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอรอฏอวียฺ ได้สรุปในการศึกษาเรื่องฟิกฮฺแห่งญิฮาดในอิสลามว่า :ญิฮาดมีสองประเภท คือญิฮาดพลเรือนกับญิฮาดกองทัพ โดยญิฮาดกองทัพหมาย ถึงการต่อสู้กับศัตรูที่รุกรานมุสลิม ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้ เมื่อมีความจำเป็นญิฮาดนี้เป็นเรื่องของรัฐ ส่วนการญิฮาดด้วยจิตวิญญาณนั้น “ครอบคลุมทั้งสถาบันการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม เศรษฐศาสตร์ การศึกษา สุขภาพ การแพทย์ สิ่งแวดล้อมและการสร้างความเจริญก้าวหน้า จุดประสงค์ของญิฮาดพลเรือน เป็นความมุมานะของคนหนึ่ง โดยมีความบริสุทธิ์ใจ เพื่ออัลลอฮฺ ทั้งนี้เพื่อให้การศึกษาแก่ผู้ขาดความรู้ สร้างงานแก่ผู้ว่างงาน อบรมคนงาน ให้อาหารและเสื้อผ้าแก่ผู้ขัดสน จัดที่อยู่ให้คนไร้บ้าน ช่วยเหลือคนป่วย พัฒนาตัวเองในส่วนที่สังคมต้องการ สร้างโรงเรียนให้แก่นักเรียน สร้างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษา สร้างมัสญิดให้คนได้อิบาดะฮฺ สร้างสโมสรกีฬา ให้กับคนรักกีฬาได้ฝึกฝน” (หน้า 215)
วัตถุประสงค์ของการทำญิฮาด
อิสลามนั้นเรียกร้องไปสู่สันติภาพ นั่นหมายความว่าอิสลามรังเกียจการทำสงคราม แต่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งสงครามไม่ให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อจะรับมือกับสิ่งนี้ แต่จะไม่มีการร่วมสงคราม เว้นแต่จะถูกบีบบังคับ ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นจริง ของหลักการของอิสลาม และอิสลามตระหนักในเรื่อง “ซุนนะฮฺ อัต ตะดาฟุอฺ” (ร่วมกันต่อต้าน)
แต่อย่างไรก็ตาม อิสลามแสวงหาหนทาง ที่จะจำกัดขอบเขตของผลที่เกิดขึ้น โดยการล้อมกรอบด้วยกฎระเบียบ และจริยธรรมต่างๆ อิสลามไม่ได้ยกเว้นจากการสงคราม เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้นท่ามกลางศาสนาอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงศาสนาคริสต์ ซึ่งผู้นับถือศาสนานี้ มีส่วนในการขัดแย้ง และการทำสงครามมากที่สุด ทั้งกับคริสเตียนด้วยกันเอง และกับศาสนาอื่น คัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับของลูกา (Luke’s Gospel ) กล่าวว่า “ฉันมาเพื่อที่จะนำมาซึ่งไฟบนโลกนี้ พวกท่านคิดว่าฉันมา เพื่อจะนำมาซึ่งความสันติภาพบนโลกนี้ กระนั้นหรือ?” พันธะสัญญาเก่า ได้มีการเรียกร้อง จนไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้จำนวนมาก ซึ่งกระทำกับ 7 ชนชาติที่อาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ จนถูกถอนรากถอนโคนอย่างสิ้นเชิง เรียกกันในศัพท์สมัยใหม่ว่า “การขนย้าย (transfer)” และมีการสังหารหมู่ ที่กระทำโดยไซออนิสต์ยุคปัจจุบัน แต่นั่นก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
ญิฮาดในอิสลาม มีเป้าหมายอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะ ดังที่ ชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอรอฎอวียฺ ได้สรุปว่า เป็นการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง การยับยั้งความเสื่อมเสียที่แพร่กระจาย การรับประกันถึงความอิสรภาพ ของความศรัทธาสำหรับมุสลิมและคนอื่นๆ การช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง นั่นหมายถึงการลงโทษบรรดาผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืน และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นภายในอุมมะฮฺ ด้วยเหตุนี้ การขยายอาณาเขต และการยึดครองดินแดนนั้น ไม่ใช่เป้าหมายของการทำญิฮาด ไม่ได้เป็นการขจัดการปฏิเสธศรัทธา ออกไปจากโลกนี้ เพราะมันขัดกับกฎหมายของพระเจ้า และต้องทำการต่อต้านร่วมกัน ญิฮาดไม่ได้มีเป้าหมายที่จะยัดเหยียดอิสลาม ต่อบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา เพราะนั่นเป็นการฝ่าฝืนกฎของพระเจ้า ว่าด้วยความหลากหลายและการเป็นพหุสังคม (หน้า 423 จากหนังสือ ฟิกฮฺ อัล ญิฮาด)
ชัยคฺ อัลเกาะเราะเฏาะวีย์ ก็ยังได้เน้นย้ำทั้งจากนักวิชาการในอดีต และนักวิชาการร่วมสมัย ต่อฟัตวาที่ว่า ญิฮาดจะตกเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน หากดินแดนมุสลิมถูกรุกราน หรือมุสลิมต้องเผชิญกับฟิตนะฮฺ (การกีดกันด้านศรัทธา) และถือว่ามุสลิมทุกคน จะต้องทำญิฮาดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น การต่อสู่กับกิเลส ความชั่วร้าย ตลอดจนใช้ความพยายาม ในการส่งเสริมความดี และค้ำจุนศาสนา อย่างสุดความสามารถ อย่างไรก็ตาม ตลอดการศึกษา และการวิเคราะห์วิจัย ของอัลเกาะเราะเฏาวีย์ จากตำราอันหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับญิฮาด ตลอดจนมุมมองของนักวิชาการในอดีต และนักวิชาการร่วมสมัย ท่านได้ให้ข้อสรุปดังนี้
1. อัลลออฮฺกล่าวไว้ในอัล กุรอาน ความว่า
“พวกเจ้าจะไม่ต่อสู้กระนั้นหรือ ซึ่งกลุ่มชนที่ทำลายคำมั่นสัญญาของพวกเขา และมุ่งขับไล่ร่อซูลให้ออกไป ทั้งๆ ที่พวกเขาได้เริ่มปฏิบัติ แก่พวกเจ้าก่อนเป็นครั้งแรก” (อัต-เตาบะฮฺ 9:13). อายะฮฺอัลกุรอาน โดยเฉพาะซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ ที่สั่งใช้ให้ต่อสู่กับผู้ตั้งภาคี นั้น เป็นที่เข้าใจได้ว่า นั่นเป็นปฏิกิริยา และการตอบสนองอย่างเท่าเทียมกัน และมิใช่คำสั่งทั่วไป และหลักการพื้นฐานในการปฏิสัมพันธ์ กับผู้ที่มิใช่มุสลิม แต่เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับชาวอาหรับ ที่ตั้งภาคี ซึ่งประกาศสงครามกับอิสลาม นับจากที่อิสลามปรากฏตั้งแต่เริ่มแรก เป็นการขับไล่มุสลิมออกไป แล้วไล่ล่าไปยังทีพำนักแห่งใหม่ ทำลายสิ่งครอบครอง และยังได้ระดมกำลังเพื่อกวาดล้างมุสลิม
“พวกเจ้าจะไม่ต่อสู้กระนั้นหรือ ซึ่งกลุ่มชนที่ทำลายคำมั่นสัญญาของพวกเขา และมุ่งขับไล่เราะซูลให้ออกไป ทั้งๆ ที่พวกเขาได้เริ่มปฏิบัติ แก่พวกเจ้าก่อนเป็นครั้งแรก…” (อัต-เตาบะฮฺ 9:13) ซึ่งเป็นซูเราะฮฺเดียวกัน เช่นเดียวกับในซูเราะฮฺอื่น ได้มีการจำกัดและมีเงื่อนไข ที่เข้มงวด ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นคำสั่งโดยทั่วไป
“และหากพวกเขาโอนอ่อนมา เพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตาม เพื่อการนั้นด้วย” (อัลอันฟาล 8:61) จะไม่มีการขัดแย้งของอายะฮฺหนึ่ง กับอีกอายะฮฺอื่น ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องมีการพิจารณาอายะฮฺอัลกุรอาน และหะดีษอย่างครอบคลุม ซึ่งจะเห็นว่าทั้งหมดนั้น ยืนยันกฎเกณฑ์ที่ถือว่าอิสลาม มุ่งแสวงหาสันติภาพ กับผู้ที่ต้องการสันติภาพ และต่อสู้กับผู้ที่ต้องการต่อสู้
2. การญิฮาดด้วยกองทัพ มิได้เป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคน ในระดับเดียวกับหน้าที่ของการกล่าวปฏิญาณชะฮาดะฮฺ (ปฏิญาณความศรัทธา) การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาตและการทำฮัจญ์ แม้ว่าญิฮาดจะมีความสำคัญมากก็ตาม แต่ไม่ถูกนับเป็นบุคลิก หรือลักษณะประจำตัว ของผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ดังปรากฏในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ และไม่ใช่ลักษณะประจำตัว ของผู้ศรัทธาดังที่แจกแจงไว้ในซูเราะฮฺอัลอันฟาล และ ซูเราะฮฺอัลมุอฺมินูน และไม่ใช่ลักษณะของผู้ที่มีความเข้าใจ ดังที่อธิบายไว้ในซูเราะฮฺอัรเราะดฺ ไม่ใช่ลักษณะของบ่าวของผู้ทรงเมตตา ดังแจกแจงไว้ในซูเราะฮฺอัลฟุรกอน ไม่ใช่ลักษณะของผู้ที่เคร่งครัด ดังในซูเราะฮฺอัซซาริยาต และไม่ใช่ผู้ทรงคุณธรรม ดังอธิบายไว้ในซูเราะฮฺอัลอินซาน ดังนั้น หน้าที่ญิฮาดในกองทัพ จะกลายเป็นหน้าที่บังคับเหนือมุสลิม ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขเกิดขึ้น เช่น มุสลิมถูกรุกรานดินแดนของพวกเขา หรือศาสนาของพวกเขา ในด้านหนึ่งการเตรียมพร้อม สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นหน้าที่เหนือพวกเขา ตามกำลังความสามารถ ทั้งนี้ เพื่อขัดขวางศัตรูและควบคุมสันติภาพ
3. ไม่ใช่หน้าที่ของมุสลิม ที่จะไปรุกรานดินแดน ของผู้มิใช่มุสลิม หากมุสลิมปลอดภัยจากการรุกราน พอเพียงแล้วสำหรับมุสลิม กับการมีกองทัพที่อานุภาพซึ่งติดอาวุธสมัยใหม่ และฝึกฝนพวกทหารในการป้องกันชายแดน และขับไล่ศัตรู เพื่อศัตรูจะได้ไม่คิดรุกรานอีก ซึ่งถือเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺ (ดูหน้า 91) เป็นที่น่าสนใจว่า ชัยคฺกอรอฎอวีย์จะใช้คำว่า ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม มากกว่าที่จะใช้คำว่า กุฟฟารฺ หรือผู้ปฏิเสธศรัทธา เพราะจะเห็นได้กุรอานจะใช้คำว่า “โอ้ชาวคัมภีร์” “โอ้ประชาชนทั้งหลาย” “โอ้มนุษยชาติเอ๋ย” “โอ้บุตรอิสราเอล” “ประชาชาติของฉัน” “โอ้ลูกหลานของอดัม” จะไม่ใช้ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมว่า “ผู้ปฏิเสธศรัทธา” ยกเว้นในกรณีที่มีการปฏิเสธ ในเรื่องของความเชื่อ
4. อิสลามตระหนักในเสรีภาพของความเชื่อ และความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล สำหรับความเชื่อของพวกเขาต่อหน้าอัลลอฮฺ จากหลักพื้นฐานข้อนี้ สังคมอิสลามโดยรวม จึงไม่ต้องเผชิญกับสงครามศาสนา ภายใต้หลักการดังกล่าว ความเชื่อหลากหลายต่างอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ภายใต้ระบบซิมมะฮฺ ได้ยอมรับความเป็นพลเมือง ของผู้ที่มิใช่มุสลิม ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม สิ่งที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับสิทธิดังกล่าว และการปกป้อง จากรัฐมุสลิม เช่นเดียวกับมุสลิม ที่ได้รับการปกป้อง คือการจ่ายญิซยะฮฺ โดยที่พวกเขามีความสามารถพอที่จะจ่าย ซึ่งเที่ยบเท่าได้กับภาษีบริการกองทัพ เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสมัยใหม่ ตามความเห็นของอัลกอรอฎอวีย์ การกระทำดังกล่าว มักทำให้เกิดความเข้าใจผิด และนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องโดยไม่จำเป็น
5. สิ่งที่ทำให้นักวิชาการบางส่วน เชื่อว่าการญิฮาด โดยรุกเข้าไปในดินแดนของผู้ไมใช่มุสลิม ก่อนที่เขาจะรุกรานนั้น เป็นวาญิบ เกิดจากเงื่อนทางประวัติศาสตร์ มากกว่าตัวบทของอิสลาม เนื่องจากประชาชาติมุสลิม ถูกข่มขู่จากสองมหาอำนาจ คือเปอร์เซียและโรมัน อย่างต่อเนื่อง (ดูหน้า 82) ตลอดจนขณะนั้น ยังไม่มีกฏหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ และการห้ามรุกรานระหว่างกันเหมือนในทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีการละเมิดจากมหาอำนาจอยู่บ่อยครั้งก็ตาม
6. กิจการระหว่างรัฐมุสลิม กับรัฐอื่น วางอยู่บนสันติภาพ และร่วมมือกันในเรื่องความดี อิสลามรังเกียจสงคราม เป็นการเข้าร่วมโดยไม่ใช่เพราะความชอบ แต่เฉพาะเมื่อจำเป็นอย่างแท้จริง
“การสู้รบนั้นได้ถูกกำหนด แก่พวกเจ้าแล้ว ทั้งๆ ที่มันเป็นที่รังเกียจ แก่พวกเจ้า…(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:216) สันติภาพคือแก่นลักษณะของอิสลาม เป็นคำอวยพรระหว่างมุสลิม เป็นคำอวยพรของชาวสวรรค์ เป็นพระนามหนึ่งของอัลลอฮฺ นามที่อัลลอฮฺทรงรังเกียจที่สุด คือ ฮัรบฺ ซึ่งหมายถึงสงคราม อันเป็นชื่อหนึ่งของบรรพบุรุษอาหรับ ในฐานะที่เป็นอาหรับนักรบ นบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้รับทราบจากบุตรเขยของท่านว่า ลูกสาวของท่านคือฟาฏิมะฮฺคลอดลูกเป็นชาย แล้วบุตรเขยของท่านตั้งชื่อว่า ฮัรบฺ ท่านได้สั่งให้เปลี่ยนชื่อ เป็นฮะซัน (หมายถึงดี)
7. อิสลามยินดีต้อนรับการพูดคุยระดับนานาชาติ เพื่อป้องกันการรุกราน และเพื่อส่งเสริมสันติภาพระหว่างชาติ พร้อมทั้งยินดีต้อนรับองค์กรระหว่างประเทศ ที่ปกป้องหลักการดังกล่าว เช่น องค์กรสหประชาชาติ ยูเนสโก ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ตะวันตกยังคงเชื่อในหลักการของอำนาจ ในความสัมพันธ์กับรัฐอื่นหรือประชาชาติอื่น ตัวอย่างในเรื่องนี้ได้แก่สิทธิวีโต้ของบางประเทศ อันเป็นความฉาวโฉ่ของหลักการพื้นฐาน ในเรื่องความเสมอภาพ ซึ่งเป็นการประกันผลประโยชน์ของพวกเขา และเพื่อเป็นการหลบเลี่ยงการละเมิดของพวกเขา ดังที่อเมริกาและอังกฤษได้กระทำไว้ในการรุกรานอิรัก โดยไม่มีกฏหมายใดๆ มารองรับ และโดยที่พวกเขาไม่ต้องรับโทษใดๆ จากการประณาม เช่นเดียวกับที่พวกเขาปกป้องการข่มเหงทุกรูปแบบ ของไซออนิสต์ที่มีต่อปาเลสไตน์ มาโดยตลอด
8. ภายใต้การตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน ในระดับนานาชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงเสรีภาพในความเชื่อและการเผยแพร่ เช่นเดียวกับเสรีภาพในการจัดตั้งสถาบัน หรือองค์กรและปกป้องชนกลุ่มน้อย การใช้ญิฮาด อัลเฏาะลับ ถือว่ามีความเหมาะสม และมีเหตุผลอย่างเหลือเฟือแล้ว อันเป็นการรุก เพื่อให้การเรียกร้องอิสลามเกิดขึ้นได้อย่างเสรี โดยการรื้อถอนการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งเคยกีดกันผู้คนมิให้มีความคิดอิสระ และเลือกนับถือศาสนา ได้อย่างเสรี อันเป็นศาสนาที่แตกต่างจากผู้ปกครอง ดังที่ฟิรฺเอาน์ประณามบุตรอิสราเอล ที่เลือกศรัทธา โดยไม่ขออนุญาตจากเขาเสียก่อน
“เขากล่าวว่าพวกท่านศรัทธาต่อเขา ก่อนที่ฉันจะขออนุญาตให้แก่พวกท่าน กระนั้นหรือ” (ฏอฮา 20:71) ตรงข้ามกับทุกวันนี้ ซึ่งไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนที่มัสญิด และมุสลิมชนกลุ่มน้อย จะปรากฎอยู่ทุกมุมโลก ทำให้ความจำเป็นด้านต่างๆของเรามีมากขึ้นสำหรับ “กองกำลังขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยนักเผยแพร่ ครูผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อต่างๆ การฝึกอบรม และความสามารถในการสื่อสาร กับโลกนี้ด้วยภาษาที่แตกต่างกัน และใช้วิธีการสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งเรามีสิ่งนี้น้อยไม่พอเพียงกับความต้องการที่มีมากกว่าถึงหลายร้อยพันเท่า” (ดูหน้า 16) อัลกอรอฎอวีย์รู้สึกอาลัยอย่างยิ่ง ดังที่เราได้พบเห็นว่า ผู้คนจำนวนมากยอมตายเพื่ออัลลอฮฺ แต่น้อยนิดเหลือเกินที่มุ่งมั่นจะมีชีวิตเพื่อพระองค์
9. ตามหลักการพื้นฐาน อิสลามได้แบ่งแผ่นดิน ออกเป็นสามประเภท ดารฺอัลอิสลาม (ดินแดนสันติ) แผ่นดินอิสลามซึ่งกฏหมายการบริหารปกครอง ธรรมเนียมการปฏิบัติ ตลอดจนผู้ยึดมั่นในหลักการอิสลาม และนักเผยแพร่อยู่ในความปลอดภัย ดารฺอัลอะห์ดฺ (ดินแดนสัญญาพันธไมตรี) เป็นดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่ ไม่ใช่มุสลิมแต่สนธิสัญญาที่จะอยู่ร่วมกัน อย่างสันติ และสุดท้ายดารฺอัลหัรบฺ (แดนสงคราม) อัลเกาะเราะเฎาะวีย์ ถือว่ามุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของระบบสหประชาชาติ ในฐานะรัฐที่มีกติกากับรัฐอื่น ยกเว้นกับรัฐไซออนิสต์ เนื่องจากพวกเขา ได้เข้ายึดครองดินแดนของปาเลสไตน์ และปล้นชิงทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์ และนับเป็นเรื่องที่โชคร้าย ที่เหตุการณ์นี้ได้รับการหนุนหลังโดยรัฐมหาอำนาจ ดังนั้น อัลเกาะเราะเฎาะวีย์ จึงมองว่าปัญหาสำคัญระหว่างความสัมพันธ์ของเรา กับตะวันตก คือการสนับสนุนอิสราเอลอย่างต่อเนื่องและอย่างไม่จำกัด รวมทั้งกดขี่ชาวปาเลสไตน์มาโดยตลอด
10. อัล กอรอฎอวีย์ ได้ทำการแยกแยะระหว่างญิฮาดกับอิรฺฮาบ (ก่อการร้าย) หรือระหว่างอิรฺฮาบที่ถูกต้อง (การข่มขู่ศัตรูมิให้รุกราน) กับอิรฺฮาบที่ละเมิดซึ่ง เป็นการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ดังที่ก่อขึ้นโดยกลุ่มต่างๆ โดยใช้นามอิสลาม ซึ่งประกาศสงครามกับทั้งโลก ใช้ญิฮาดในทางที่ผิดพลาด ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ก่อการร้ายผู้บริสุทธิ์ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม โดยหวังที่จะบรรลุผลสำเร็จทางการเมือง ทั้งในดินแดนและนอกดินแดนมุสลิม ดังนั้น อัลกอรอฎอวีย์ จึงประณามความรุนแรง ที่กระทำโดยกลุ่มสุดโต่ง ที่มีต่อผู้บริสุทธิ์ ทั้งในและนอกประเทศมุสลิม ท่านยังได้ปอกลอกการฆ่าที่ไม่รู้จักแยกแยะ และหลั่งเลือดผู้บริสุทธิ์ ที่กระทำโดยละเมิดบทบัญญัติ โดยกลุ่มเหล่านี้
11. อัล กอรอฎอวีย์ มีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ในการแยกแยะกลุ่มแรกซึ่งสุดโต่ง (ที่ประกาศสงครามทั่วทุกมุมโลก การฆ่าโดยไม่มีการแยะแยะ และสร้างมลทินให้กับอิสลาม ในทางหนึ่ง พวกเขาได้ทำให้ศัตรู หันมาใช้อาวุธที่ร้ายแรงกว่า กับกลุ่มสอง ซึ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ที่ปกป้องดินแดนตัวเอง ท่านได้ประณามกลุ่มแรก และรื้อล้างความชอบธรรม (delegitimizes) ต่อรากฐานของกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันท่านได้ปกป้องกลุ่มต่อมา และเรียกร้องอุมมะฮฺให้สนับสนุนพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปาเลสไตน์ ตราบใดที่ปฏิบัติการของพวกเขา ยังคงมุ่งเน้นต่อกำลังทหาร ท่านไม่ลังเลที่จะกล่าวว่า นั่นเป็นปฏิบัติการชะฮีด ที่กระทำต่อศัตรู เป็นการปฏิบัติที่พวกเขาไม่มีทางเลือกเนื่องจากถูกปลดอาวุธ เป็นการปกป้องดินแดนและบ้านเกิด ความยุติธรรมของพระเจ้า ย่อมจะไม่ยินยอมให้ฝ่ายที่อ่อนแอกว่า ถูกคร่าอาวุธไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ฝ่ายหลังจึงใช้ร่างกายของตนเองเป็นอาวุธขัดขวาง แต่ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม จริยธรรมในการญิฮาด จะต้องได้รับการเคารพ และจะต้องมีเป้าหมายไปที่หน่วยรบ หรือกองกำลังทหารเท่านั้น
12. ดังที่ท่านได้เน้นไว้ว่า ญิฮาดแรกที่เป็นสิ่งจำเป็นเหนืออุมมะฮฺในยุคนี้ คือ การปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปาเลสไตน์ อัลกอรอฎอวีย์ เตือนถึงความกดดัน และเหตุผลผิดๆ ของผู้ที่เชื่ออย่างผิดๆ ว่า ความขัดแย้งระหว่างพวกเรา กับอิสราเอล เกิดจากเรื่องของเผ่าพันธุ์เซเมติก เพราะทั้งสองล้วนแล้วมาจากเซเมติก นั่นคือล้วนเป็นลูกหลานของนบีอิบรอฮีม หรือเป็นความขัดแย้งประเด็นศาสนา เนื่องมุสลิมถือว่าชาวยิวเป็นชาวคัมภีร์ ซึ่งอนุญาตให้ทานอาหารได้ การแต่งงานระหว่างกันโดยพื้นฐานแล้ว เป็นที่อนุญาต และ อาศัยอยู่ท่ามกลางมุสลิม ด้วยความปลอดภัย อีกทั้งเมื่อสเปนและยุโรป ได้ขับไล่พวกยิวในอดีตพวกเขาก็ไม่ได้หันไปพึ่งใคร ที่ไหนนอกจากดินแดนมุสลิม ที่ให้การคุ้มครองพวกเขา ในความเป็นจริงความขัดแย้ง ระหว่างเรากับไซออนิสต์ เริ่มต้นด้วยสาเหตุเดียว นั่นคือการที่พวกเขาได้เฉือนดินแดนปาเลสไตน์ และแย่งชิงจากชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งยังได้ยัดเยียดความรุนแรง ความขัดแย้งนี้จะยังมีตลอดไป ตราบใดที่สาเหตุยังคงอยู่ ไม่มีใครยอมยกดินแดนมุสลิมไปได้ แต่มีความเป็นไปได้ ที่จะพักรบกับอิสราเอลในช่วงเวลาที่ตกลงกัน อย่างไรก็ตาม หลักการ “ดินแดนแห่งสันติภาพ” แท้จริงแล้ว เป็นหลักการที่แปลกประหลาด ซึ่งศัตรูที่ชอบใช้กำลังข่มเหงได้นำเสนอ แต่เนื่องจากดินแดนนี้ เป็นดินแดนของเรา ไม่ใช่ของศัตรู ดังนั้นจึงสามารถต่อรองเพื่อให้สันติภาพกลับคืนมา (ดูหน้า 1090)
13. อัลเกาะเราะเฏาะวีย์ และที่ปรึกษาของท่าน มุฮัมมัด อัลเฆาะซาลีย์ มีบทบาทระดับแนวหน้า ในการเผชิญกับกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่ง และป้องกันพวกเขา จากการใช้อิสลามเป็นตัวประกัน และเบี่ยงเบนอิสลาม ออกจากอิสลาม กระแสหลัก ด้วยการปอกเปลือกการปฏิบัติของพวกเขา จากความถูกต้องตามกฏหมายว่าด้วยเรื่องญิฮาด ทั้งในและนอกดินแดนมุสลิม อัลกอรอฎอวีย์ได้ยกย่องการเปลี่ยนมุมมองใหม่ของแกนนำสำคัญจากกลุ่มดังกล่าว ซึ่งท่านให้การสนับสนุนเป็นอย่างสูง ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองของพวกเขา ซึ่งท่านกล่าวว่าเป็นความกล้าหาญและความกระจ่างชัด โดยก่อนหน้านี้พวกเขาได้โจมตี และปฏิเสธมุมมองต่างๆ ของท่าน (ดูหน้า 1168)
สรุป การศึกษาของชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอรอฎวียฺ ในเรื่อง “ฟิกฮฺ ญิฮาด” นับได้ว่าเป็นการอิจญติฮาดที่เชื่อถือได้ เป็นการยืนยันหลักการญิฮาด ว่า เป็นวิธีการหนึ่งของอิสลาม ในการป้องกันอันมีความหมายที่กว้าง ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่ง ที่ได้รับการเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การทำให้ภาพพจน์ของอิสลาม มีความด่างพร้อย
ชัยคฺ ยูสุฟ อัล กอรอฎอวียฺ ได้ดึงเอาความมีประสิทธิภาพ และความเป็นสายกลางของวิธีการนี้ กลับคืนมา ท่านดึงมันออกมาจากเงื้อมมือของกลุ่มหัวรุนแรง ชัยคฺ กล้าเผชิญหน้าอย่างอาจหาญ ต่อยุทธการการเข้าร่วมสงคราม ที่ขัดกับแนวคิดอิสลาม เป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่ ชัยคฺกล้าในการปฏิเสธเหตุผลของกลุ่มหัวรุนแรง ที่ประกาศสงครามกับโลกทั้งหมด
ชัยคฺกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่จำนวนมาก ที่สนับสนุนหลักการของการญิฮาดในเชิงรุก (ญิฮาด อัล ฏอลับ) และท่านไม่เคอะเขิน ที่จะแสดงตนว่า เห็นด้วยกับกลุ่มที่เชื่อมั่น ในการญิฮาดในเชิงรับ (ญิฮาด อัล ดะฟะอฺ) ท่านยังคงทำการคัดค้าน กับเหตุผลของกลุ่มแรก โดยปราศจากความกลัวและความลังเล ไม่มีความลำเอียงหรืออยุติธรรม และการทำลายชื่อเสียง หรือการบิดเบือนทัศนะของบรรดาผู้ที่ท่านไม่เห็นด้วย มิหนำซ้ำท่านกลับแสวงหาการให้อภัยจากพวกเขา
ท่านยังคงกระทำสิ่งนั้น จนกระทั่งเหมือนเกือบจะลบล้างกับสิ่งที่รู้จักกันว่า “ญิฮาด อัล ฏอลับ” ที่จะสถาปนาการญิฮาดในเชิงรับ ขึ้นมาแทน ญิฮาดมิได้มีความเกี่ยวพัน กับการก่อการร้าย ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจน กับขบวนการที่ต่อต้านการถูกยึดครอง ญิฮาดนั้นมีหลักจริยธรรม ที่สอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และกฎเกณฑ์ คุณค่าต่างๆ และกฎหมายที่ห้ามการละเมิด ห้ามการยึดครอง การใช้อาวุธที่ทำลายล้างมนุษย์ และการทรมานเชลย เป็นญิฮาดที่เปิดรับกับโลกที่เปิดกว้าง ให้กับแนวความคิดและบุคคลต่างๆ ได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ โดยดำเนินการผ่านข้อพิสูจน์ และเหตุผล มากกว่าความรุนแรง และการใช้กำลัง จนกระทั่งมีชัยชนะที่ถูกต้อง
การนำเสนอหลักการญิฮาดนี้ ชัยคฺ ยูสุฟ อัลกอรอฎอวียฺ ได้เปิดพื้นที่กว้างสำหรับการสานเสวนา ความอดทนอดกลั้น ข้อตกลง และการอยู่ร่วมกันระหว่างอิสลาม กับศาสนาอื่นๆ, คุณค่าของความเป็นมนุษย์ และความสามัคคี ปรองดองระหว่างชาติ เป็นการตอบสนองการเรียกร้องของอัลกุรอานที่กล่าวว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้า จากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้า แยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้ อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (อัล หุญุร๊อต 49:13)
—-
อ้างอิงจาก คำปราศรัยของรอชีด อัลฆ็อนนุสซีย์ ให้ไว้ ณ มหาวิทยาลัยอีเดนเบิร์ก สก็อตแลนด์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 (บรรณาธิการ)www.fityah.com