หน้าแรก รายงาน

“9 ทศวรรษ” การล่มสลายของอาณาจักรสุดท้ายแห่งอิสลาม !!

แฟ้มภาพ

อาณาจักรอิสลามที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต ที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์คงหนีไม่พ้นอาณาจักรแห่งออตโตมันหรืออาณาจักรอุษมานียะฮ์ ที่เคยครอบครองดินแดนและแผ่อิทธิพลอย่างแผ่ไพศาล ครอบคลุมทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอุษมานียะฮ์ ล้วนเป็นที่น่าเกรงขามของชาติอื่นๆ โดยเฉพาะทางยุโรป ที่เปรียบเสมือนเขี้ยวเล็บแห่งยุคสมัย ที่มีความแข็งแกร่ง ทั้งในด้านการทหาร เศรษฐกิจ และการปกครอง หนำซ้ำนโยบายด้านการต่างประเทศได้ส่งผลให้อิทธิพลของอาณาจักรอิสลามแห่งนี้ ยิ่งแผ่ไกลอย่างน่าอัศจรรย์

ซึ่งหากเราไปดูประวัติศาสตร์ก่อนที่อาณาจักรแห่งนี้ จะล่มสลายลงที่ละเล็กทีละน้อย สังคมโลกค่อนข้างมีความมั่นคง ไร้ซึ่งการแทรกแซงจากภายนอกเช่นทุกวันนี้ และยิ่งไปกว่านั้น อิทธิพลการปกครองของอาณาจักรอิสลามอันรุ่งเรืองนี้ แผ่คลุมไปถึงดินแดนตะวันออกไกล เช่น ปาเลสไตน์ อิสราเอล คูเวต ไปจนถึงอิหร่าน

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรออตโตมัน ที่นับวันยิ่งมีดินแดนกว้างไกล และนับวันยิ่งสร้างความเกรงขามไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะดินแดนในโซนยุโรป และตะวันตก ที่เปรียบเสมือนมีความวิตกกังวลต่อการผงาดขึ้นของอาณาจักรอิสลามแห่งนี้

หนำซ้ำอาณาจักรออตโตมันยังคงมีการขยายดินแดนและเพิ่มดินแดนยึดครองมาอย่างต่อเนื่องจนไปถึงแถบยุโรปและรวมไปถึงดินแดนแว่นแคว้นของแอฟริกาเหนืออีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วยหลายๆ ประเทศ เช่น กรีก เซอร์เบีย ลิเบีย อิยิปต์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง อิทธิพลของอาณาจักรออตโตมัน ยิ่งมีความโดดเด่นและยิ่งมีความน่าเกรงขามในสายตาชาวโลก ที่สามารถยึดครองประเทศต่างๆ อย่างกว้างไกล

อย่างไรก็ตามความยิ่งใหญ่ที่เคยมีเคยอยู่มิอาจยืนยงได้นานเท่าที่ควร จนมาถึงกาลสมัยที่ต้องพบเจอกับความท้าทายแห่งยุคสมัย ที่บรรดาประเทศต่างๆ คิดการณ์ไกลในการที่จะแสวงหาทางออกจากอาณัติของอิทธิพลแห่งอาณาจักรอิสลาม ด้วยวิธีการต่างๆ ที่พวกเขาต่างสะสมระดมความคิด เพื่อบั่นทอนความแข็งแกร่งของประเทศส่วนกลาง ที่มีศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่ที่ประเทศตุรกี จนในที่สุดด้วยระยะเวลาที่ผ่านเข้ามาทั้งอุปสรรคและมรสุมจากภายในและภายนอก ทำให้อำนาจของอาณาจักรที่เคยแข็งแกร่ง ที่มีเสถียรภาพทั้งในด้านเศรษฐกิจและการทหาร ค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดอาณาจักรออตโตมันที่เคยหว่านอำนาจอิทธิพลของตนตลอดระยะเวลาหกศตวรรษ ก็ถึงคราอวสานลงในที่สุด

ด้วยปัจจัยต่างๆ หลายอย่าง ทั้งภายในและภายนอกแทรกซึมเข้ามาได้อย่างง่ายดายอันเนื่องมาจากเสถียรภาพภายในไม่มีความมั่นคงมากพอ ที่ได้ทำลายความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอิสลามดังกล่าวให้ต้องพังราบลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป นับตั้งแต่การถูกแทรกแซงโดยกลุ่มปัญญาชน ที่มีแนวคิดเสรีนิยม ที่พยายามวางรากฐานในสังคมอย่างเงียบๆ โดยการตั้งองค์กร และเผยแพร่แนวคิดสมัยใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่ จนในที่สุดอำนาจของกษัตริย์ที่เคยมีอยู่ ต้องสิ้นไปโดยดุษฎี อันเนื่องมาจากการเข้ามาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับราชวังและราชสำนัก ทำให้อำนาจของกษัตริย์พลอยสิ้นไป เหลือไว้เป็นเพียงอนุสาวรีย์ หนำซ้ำพระบรมวงศานุวงศ์จำต้องลี้ภัยออกจากประเทศ อันเป็นจุดต่ำสุดของมวลสมัยของการล่มสลายทั้งมวล

อาณาจักรออตโตมันถือได้ว่าเป็นประเทศมหาอำนาจอิสลามแห่งยุคสุดท้าย ที่ปกครองโดยระบบคอลีฟะฮ์ถัดจากราชวงศ์อูมัยยะฮ์ (ค.ศ.611 – ค.ศ. 750) และราชวงศ์อับบาซียะฮ์ (ค.ศ.752 – ค.ศ. 1258) ซึ่งหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรดังกล่าว มหาอำนาจที่จะผงาดเช่นอาณาจักรออตโตมันคงไม่มีให้เห็นอีกเลย นอกจากว่าการผงาดขึ้นด้วยความแข็งกร้าว ด้วยท่าทีท้าทายกับโลกตะวันตก ที่ได้แย่งชิงความเป็นมหาอำนาจของโลกอยู่ในกำมือ หลังจากก่อนหน้านี้ โลกยุโรปและตะวันตก ต่างอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรอิสลามอย่างออตโตมัน

อาณาจักรออตโตมันถูกสถาปนาขึ้นโดยท่านอุษมาน เออร์โตริล (Uthman Ertugrul) หรือที่รู้จักกันในนาม อุษมาน ฆอซี และอุษมานที่หนึ่ง เมื่อปี 1299 ซึ่งอาณาจักรดังกล่าวได้ผ่านพ้นวิกฤติมาหลายยุคหลายสมัยด้วยกัน นั่นก็คือ ยุคของการสถาปนา ยุคของการแผ่อิทธิพล และยุคของการล่มสลาย ซึ่งระหว่างช่วง ค.ศ. 1683 จนถึง ค.ศ. 1908 จวบกระทั่งสมัยการปกครองของท่านคอลีฟะฮ์องค์สุดท้ายของอับดุลมายิดที่สอง ที่สิ้นสุดลงเมื่อปี 1924

อาณาจักรออตโตมันถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ในด้านการปกครองที่ได้ผนวกเอาดินแดนต่างๆ เข้าอยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจได้อย่างราบรื่น ปราศจากการต่อต้านอย่างแข็งแกร่งแต่อย่างใด

และสิ่งที่เป็นที่สุดของความสำเร็จแห่งราชวงศ์อุษมานียะฮ์คือการได้ยึดครองเมืองคอนสแตนติโนเปิลหรือเมืองอิสตันบูล ภายใต้การนำของสุลต่านมูฮัมหมัด ที่สอง หรือสุลต่านอัลฟาติฮ ที่ต่อมาได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และอื่นๆ

อย่างไรก็ตามเมื่อปี 1683 อาณาจักรออตโตมันกลับต้องประสบกับความอ่อนแอลง ความแข็งแกร่งของอาณาจักรแห่งนี้ที่นับวันยิ่งมีความลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด และในขณะเดียวกันเมืองที่เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพล ก็ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิของชาติยุโรปที่ละเมืองสองเมืองรวมไปถึงสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และรัสเซีย ที่ต่างหลุดออกจากพันธนาการของอิทธิพลออตโตมันในที่สุด

ในขณะที่เมืองอื่นๆ ต่างลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของออตโตมัน ในนามชาติพันธุ์ ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิอิสรภาพจากอาณาจักรออตโตมัน รวมไปถึงบางประเทศในโลกอาหรับ ที่ได้ลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยเหตุผลเรื่องของความเป็นเจ้าของแห่งตำแน่งของคอลีฟะฮ์ที่มาจากคนตุรกี
image
ส่วนปัจจัยภายในนั้นคือการแย่งชิงอำนาจระหว่างกัน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง การฉ้อฉล และการใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่ายของบรรดาผู้นำ ที่ล้วนเอื้อต่อการล่มสลายของอาณาจักรดังกล่าวอย่างน่าใจหาย จนในที่สุดเมืองต่างๆ ที่พยายามจะโค่นล้มอำนาจของพวกเขามีอยู่ตลอดช่วงเวลา

ส่วนปัจจัยอื่นๆ นั้นคือ การเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามรัสเซียของตุรกี จนเป็นเหตุให้ผู้นำของอาณาจักรอิสลามออตโตมัน ณ ขณะนั้น ถูกขนานนามว่า ผู้ป่วยแห่งยุโรป

ซึ่งต่อขบวนการเคลื่อนไหวลูกใหม่ได้เกิดขึ้นในตุรกี ที่ได้มีความพยายามเผยแพร่แนวคิดปฏิรูปสมัยใหม่ในสังคมตุรกี ที่นำโดยบรรดาแกนนำหัวก้าวหน้าต่างๆ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของออตโตมันเอง ในฐานะเป็นผู้วางรากฐานของตุรกีสมัยใหม่ในปัจจุบันอีกด้วย นั่นก็คือ มุสตาฟา กามาล อตาเติร์ก

มุสตาฟา กามาล ในฐานะเป็นหัวหน้าขบวนการเคลื่อนไหวที่รู้จักกันดีในชื่อ The Young Turks (ปัญญาชนแห่งเติร์ก) ที่กล่าวกันว่าเป็นความพยายามหนึ่งที่จะลดถอนอำนาจของกษัตริย์ลง ด้วยกันก่อตั้งระบบรัฐสภาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตุรกีเป็นประเทศเสรีนิยม ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของประเทศอย่างขนานใหญ่ตามการชี้นำของชาติตะวันตก

ในขณะเดียวกัน คงไม่แปลกนักหากว่าประเทศตุรกีนั้นจะยังคงถือว่าพวกเขายังเป็นประเทศมหาอำนาจ ถึงแม้นว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีอำนาจแต่อย่างใด ซึ่งความปรารถนาอันแน่วแน่ของพวกเขาที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป(EU) ยังไม่ได้รับการยอมรับจนถึงวันนี้

สำหรับในสถานการณ์วันนี้ พอจะกล่าวได้ว่า เมืองที่เคยตกอยู่ภายใต้อาณาจักรออตโตมันในแถบเอเชียตะวันตกปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ได้ยืดเยื้อจนคร่าชีวิตไปแล้วหลายแสนคน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น อิรัค ลิเบีย และอิยิปต์ ก็ยังคงเผชิญกับการลุกหือต่อต้านของประชาชนของตน จนเอื้อต่อการการเข้ามาแทรกแซงของชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเสาะหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา

ประเทศกรีกเช่นกัน ที่ต้องเผชิญกับความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจที่สาหัส จนต้องเป็นหนี้มูลค่าจำนวนมหาศาล ในขณะที่ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างประปรายในตุรกียังคงเป็นสิ่งที่ยังคงมีอยู่ และสงครามระหว่างพี่น้องที่ปะทุขึ้นที่ซีเรียจนทำให้พลเรือนเสียชีวิตนับแสนคน

การล่มสลายของอาณาจัดรออตโตมัน ได้เปิดทางให้กับอำนาจใหม่ในแถบเอเชียตะวันตก อย่างเช่น อิรัค ภายใต้การนำของซัดดัม ฮุซเซ็น และ ลิเบีย ภายใต้การนำของมูฮัมหมัด กัดดาร์ฟี และอิยิปต์ ภายใต้การนำของฮอสนีย์ มูบารัค และรวมไปถึงซีเรีย อย่างไรก็ตามการขึ้นสู่อำนาจของประเทศอาหรับดังกล่าวได้ถึงกาลสิ้นสุดลง ภายหลังการเข้าไปของสหรัฐอเมริกาในประเทศอิรัค ที่ทำให้ซัดดัม ฮุซเซ็น ถูกโค่นอำนาจลง และการเสียชีวิตของมูฮัมหมัด กัดดาร์ฟี ภายหลังการแทรกแซงของชาติตะวันตกในลิเบีย และสงครามระหว่างนิกายในซีเรีย

มาวันนี้ในเอเชียตะวันตก ได้เกิดสุญญากาศและตุรกีก็เริ่มที่จะสำแดงอิทธิพลอีกครั้ง ในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของเอเชียตะวันตก และเช่นเดียวกันกับประเทศซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน

กว่า 9 ทศวรรษที่อาณาจักรออตโตมันได้ล่มสลายลง ทำให้โลกมุสลิมต้องตกอยู่ภายใต้ของอิทธิพลอื่น โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจจากตะวันตก ที่กลับกดขี่เมืองมุสลิมต่างๆ ที่พยายามจะแสดงอำนาจปฏิปักษ์ต่อแนวคิดแห่งเสรีและวัตถุนิยม ที่สุดท้ายต่างลงเอยด้วยการแทรกแซงด้วยนานาวิธี อย่างที่ว่า ‘ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล’ ซึ่งหลังจากอิสลามไร้ซึ่งผู้นำประเทศมุสลิมต่างๆ ล้วนต้องอยู่อย่างขลาดกลัวต่ออำนาจที่ไม่เคยปรานีใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมุสลิมแล้ว มีอันต้องพบกับจุดจบที่น่าอนาถยิ่ง ถึงแม้หน่วยงานสหประชาชาติจะมีอยู่ ถึงกระนั้นก็เป็นได้แค่เสือกระดาษหรือดอกไม้พลาสติกเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง http://www.utusan.com.my/berita/luar-negara/genap-92-tahun-empayar-uthmaniyyah-runtuh-1.193073