เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ร่วมกับศูนย์ทรัพยากรสันติภาพและเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 10 องค์กร จัดงาน“วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 3rd Peace Media Day and Peace Assembly 2016” มีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์กรระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐ เอกอัครราชทูตประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย แคนาดา และภาคประชาชนเข้าร่วม ประมาณ 600 คน ณ ห้องประชุมใหญ่ (ห้อง 900) ชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
ในงานมี 3 ดุลยปาฐก : เวทีรายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพ คือ ปาฐกถา “ความท้าทายและก้าวต่อไปของการอำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” โดย ดาโต๊ะ ซัมซามิน บิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาฐกถา 2 “ความท้าทายและก้าวต่อไปของการพูดคุยเพื่อสันติสุข” โดย พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ และปาฐกถา 3 “ความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” โดย นายอาวัง ญาบัต ประธานสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI)
จากนั้นเป็นการนำเสนอวาระสันติภาพจากประชาชน: เวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพและข้อเสนอ (AGENDA DAMAI DARI RAKYAT) โดยตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 22 องค์กรเวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพและข้อเสนอ มีแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาสังคมและกลุ่มองค์กร อาทิ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ , สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ , เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ , สมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ , กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี , มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก , คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ , สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ เครือข่ายสาธารณสุขยะรัง , สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ , กลุ่มช่างภาพเพื่อสันติชายแดนใต้ , กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ , เครือข่ายชุมชนศรัทธา “กัมปงตักวา” , มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม , องค์การบริหารองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี , เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ , ศูนย์ฟ้าใส เครือข่ายเยาวชน จังหวัดยะลา , สถาบันสันติศึกษา ม.อ. , กลุ่มนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่นที่ 3 , เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดยะลา , สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ , มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ , ชมรมสื่อมวลชน (เพื่อสื่อมวลชน) จังหวัดชายแดนใต้ , เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม , เครือข่ายโฆษกภาษามลายูชายแดนใต้ และเครือข่ายประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เป็นต้น
พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลกล่าวว่า ขณะนี้เรื่องของการพูดคุยได้รับการบรรจุเข้าเป็นวาระแห่งชาติแล้ว รอให้นโยบายนี้ผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น ปัจจัยสำคัญของกระบวนการสันติภาพคือความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ที่ผ่านมาเกือบ 12 ปีไทยมี 7 รัฐบาล เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญ
“ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มประเทศอื่นทั่วโลก แต่ประเทศอื่นๆ สามารถแก้ปัญหาได้เนื่องจากความมีเสถียรภาพของรัฐบาล การที่ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มาจากปัญหาหลักคือเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่ลงตัว ทำให้การแก้ปัญหาภาคใต้หลุดไปจากเวทีสันติภาพ ไม่ต่อเนื่อง และความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ความท้าทายในเวลานี้คือทำอย่างไรให้การพูดคุยเดินหน้าต่อโดยไม่ล่มกลางคัน ขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายใดยื่นข้อเรียกร้องที่ทำไม่ได้ แต่ในขั้นต่อไปของการพบปะจะต้องมีการทดสอบความไว้ใจซึ่งกันและกันด้วยการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วม ส่วนในเรื่องของการยอมรับกลุ่มมารา ปาตานีนั้น รัฐบาลยังทำไม่ได้เพราะเห็นได้ชัดว่ามีปัญหา ขณะที่มีตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นร่วมโต๊ะพูดคุย มีผู้อ้างเป็นตัวแทนออกยูทูปและให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง แล้วหาทางออกร่วมกันว่ากลุ่มผู้เห็นต่างที่ทางการพูดคุยด้วยในเวลานี้คือมารา ปาตานี”
พลโทนักรบกล่าวต่อว่า รัฐบาลมองว่าการยอมรับของคนในพื้นที่ต่อมารา ปาตานีเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ได้รับการยอมรับก็ยากจะพูดคุยกันได้ เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รู้จักสมาชิกมารามากนัก กระบวนการสันติภาพทำให้เกิดการพัฒนามากขึ้น เหตุการณ์ในพื้นที่เริ่มลดลง แต่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาจากสาเหตุการเกิดช่องว่างของเจ้าหน้าที่รัฐและเจตนารมณ์ของผู้กระทำมากกว่า การหาทางออกให้กับความขัดแย้งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับการยอมรับ ภาคประชาสังคมต้องมีภาพในใจว่าควรจะมีทางออกอย่างไร หากสิ่งสำคัญอีกอย่างคือจะทำอย่างไรให้สังคมภาพรวมยอมรับด้วยว่า สันติภาพคือทางออกที่ดีที่สุด
นายอาวัง ยาบัต ประธานสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI) เปิดเผยผ่านวิดีโอว่า ในบริบทของกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานี ยังจะต้องเผชิญกับปัญหาอีกมาก อุปสรรคที่สำคัญคือทัศนคติเชิงลบซึ่งกันและกัน ที่รัฐบาลยังมีข้อสงสัยและข้อกังวลกับมาราปาตานีว่าจะมีความสามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้หรือไม่ และรัฐบาลเองก็ยังมองว่าสถานะของความขัดแย้งเป็นปัญหาภายในประเทศ ขณะที่ฝ่ายมาราปาตานีเองก็ยังไม่มั่นใจในความจริงใจของรัฐบาลที่จะหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่มีความยุติธรรม การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและมีความยั่งยืน
“ได้รับทราบว่าประชาชนในพื้นที่ได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัย ความพยายามของกองทัพภาคที่ 4 ในการกำหนดให้ อ.บาเจาะและอ.เจาะไอร้อง เป็นเขตพื้นที่ปลอดภัย การจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่สามารถประกาศได้โดยฝ่ายเดียว ไม่เคยมีใครสามารถกระทำได้อย่างนั้น ถ้าหากว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ ย่อมแสดงให้เห็นว่ายังมีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการสันติภาพปาตานีอยู่ และนี่คือความท้าทายภายในที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไข
เขตพื้นที่ปลอดภัย(Safety Zone) สามารถจัดตั้งขึ้นได้ภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายตตกลงกันในเชิงแนวคิดแล้วเท่านั้น เป็นประเด็นที่ควรจะมีการปรึกษาหาหรือกันเป็นการล่วงหน้า ก่อนที่จะประกาศการจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวต่อสาธารณชน การสถาปนาสันติภาพที่ปาตานีนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สันติภาพสามารถเกิดขึ้นได้โดยการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและความเสียสละจากทั้งสองฝ่าย โดยยอมรับความล้มเหลวและความผิดพลาดจากการพูดคุยและเจรจาเพื่อสันติภาพในอดีต ทุกฝ่ายจำเป็นต้องยอมรับว่าผลสำเร็จของการเจรจาสันติภาพนั้น สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนปาตานีได้และในขณะเดียวกัน แนวทางดังกล่าวก็สามารถเป็นปราการอันแข็งแกร่งเพื่อรักษาความมั่นคงและการป้องกันประเทศของไทยได้ด้วยเช่นกัน”
ภาพบรรยากาศในงาน