คงต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่ามีไม่กี่โครงการจากหน่วยงานของภาครัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการตอบรับอย่างจริงๆ จากภาคประชาชนในพื้นที่ เมื่อไม่นานมานี้ท่ามกลางงานพัฒนาชายแดนใต้ที่ถูกโฆษณาว่ากำลังมุ่งไปสู่มีทิศทางแห่งสันติสุข แต่ก็ยังไม่การันตีความเชื่อมั่นจากประชาชนในพื้นที่มากนัก แต่กระนั้นก็ยังมีบางโครงการที่นับว่าได้รับการตอบรับภาคประชาชนอย่างดี นั่นก็คือ “โครงการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องครอบครัวและมรดกตาม พ.ร.บ.แห่งศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
โครงการนี้มีการริเริ่มและต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จากรัฐบาลพลเรือนจนมาถึงรัฐบาลรัฐบาลทหาร ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ ปัตตานี และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโครงการนี้ได้มีการเปิดเวทีนำเสนอความคืบหน้าโครงการพร้อมเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลามประจำสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เมื่อปลายเดือนมกราคม (2559) ที่ผ่านมา ณ หอประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ทั้งนี้ได้รับเกียรติเปิดพิธีโดย ฯพณฯ จุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล
ขอย้อนทำความเข้าใจกรอบความคิดโครงการนี้ด้วยการทำความรู้จักกับกระบวนการยุติธรรมทางเลือกซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญอีกกลไกหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก เท่ากระบวนการยุติธรรมกระแสหลักอย่างศาลยุติธรรมประจำจังหวัดต่างๆ ทั้งนี้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายเพื่อคอยให้บริการประชาชนที่ต้องการเข้าถึงกลไกที่อำนวยความเป็นธรรมโดยง่าย อีกทั้งย่นระยะเวลาในการหาข้อสรุปของปัญหา หรือข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า “กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท”
โครงการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องครอบครัวและมรกดกตาม พรบ.แห่งศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรมและศาลเมื่อปี 2538 ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างแนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยกระทรวงยุติธรรมกำหนดและพัฒนารูปแบบให้เป็นระบบแนวทางเดียวกันทั่วประเทศจวบจนปี 2554 ก็ได้มีการนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทใช้ในศาลทั่วประเทศ
ปัจจุบันกฎหมายได้เปิดช่องทางให้คู่พิพาทสามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกรณีที่เป็นข้อพิพาททางแพ่งและข้อพิพาททางอาญาในความผิดต่อส่วนตัวโดยสามารถเข้าสู่กระบวนการได้ทั้งในช่วงก่อนหรือหลังมีการนำข้อพิพาทมาฟ้องร้องต่อศาล และหากตกลงกันได้ กฎหมายก็ได้เปิดช่องทางให้คู่พิพาทสามารถทำให้ผลลัพธ์ข้อตกลงที่เกิดขึ้นมีผลผูกพันทางกฎหมาย
อย่างไรก็ดีในสังคมมุสลิมประเทศไทยแล้วนอกจากจะต้องผูกพันกับกฎหมายไทยแล้วในหลายๆกรณียังต้องผูกพันกับกฎเกณฑ์ทางศาสนบัญญัติไปพร้อมๆกันด้วยโดยเฉพาะกฎเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มีตื่นตัวในกลุ่มผู้นำ นักวิชาการมุสลิมชายแดนใต้ ขับเคลื่อนออกแบบกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสังคมมุสลิมชายแดนใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรอิสลาม ปี 2540 จนกลายเป็นโครงการ “พัฒนาประสิทธิภาพระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องครอบครัวและมรดกตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ 2558
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นความพยายามเริ่มต้นนำร่องระหว่างวิทยาลัยอิสลาม ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรงยุติธรรม
ดร.มะรอนิง สาแลมิง หัวหน้าโครงการวิจัย เคยกล่าวในเวที สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการว่า โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปี 57 เมื่อครั้งที่ได้คุยกับท่าน ชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ซึ่งดำรงเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น และท่านก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมากเพราะมองว่าเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เป็นเรื่องที่ประชาชนมีเสรีในการเลือกโดยการใช้กระบวนการและกลไกที่เป็นของชุมชนเอง ซึ่งในชุมชนมุสลิมก็จะมีกรรมการมัสยิดเป็นผู้รับผิดชอบหลักแต่คนในชุมชนไม่ค่อยรู้ และคณะกรรมการมัสยิดเองก็ไม่ค่อยเข้าใจบทบาทตรงนี้
ดร.มะรอนิง เล่าให้ฟังว่าได้เริ่มต้นโครงการนี้ด้วยการศึกษาหลักการอิสลามซึ่งทำให้ค้นพบระบบไกล่เกลี่ยในประวัติศาสตร์ของสังคมมุสลิมในอดีต และเมื่อศึกษาหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็พบว่าในระดับจังหวัดจะมีคู่กรณี 100-1,000 คนในแต่ละปี ซึ่งอันที่จริงเรื่องไม่จำเป็นต้องไปถึงศาลแต่สามารถจบลงได้ที่ชุมชน นอกจากนี้แต่ละมัสยิดก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดแต่ละชุมชนจึงจำเป็นต้องคิดค้นระบบที่เป็นมาตรฐาน เช่นที่มาเลเซียก็จะใช้ระบบศาลชารีอะฮ์ แต่ประเทศไทยยังไม่เกิดเป็นจริงเป็นจัง ท่านชาญเชาว์ จึงสนใจที่จะให้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบ พัฒนาคู่มือที่มีหลักการและมีข้อบัญญัติในศาสนาอิสลามรองรับ
ดร.มะรอนิง ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าภายใต้การขับเคลื่อนโครงการนี้ได้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมกับอีหม่าม กรรมการมัสยิด และคณะกรรมการมัจลิสประจำจังหวัด มาร่วมกำหนดนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีระบบ นอกจากนี้ทางโครงการก็พยายามในการพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆในสังคม ทั้งกลุ่มผู้หญิงและเยาวชน ดังนั้นโครงการนี้จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาแบบต่อเนื่อง อีกทั้งได้ไปสร้างความเข้าใจมัสยิดอื่นๆทั่วประเทศด้วย ทำให้มีการตอบรับเป็นอย่างดีจากสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดูแลมุสลิมทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันปัญหาที่สำคัญโดยความเข้าใจจากสาธารณะชนคือ ภายใต้ระบบการไกล่เกลี่ยในศาสนาอิสลามจะไม่อนุญาติให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาท ซึ่งทำให้ผู้หญิงเองเลยไม่กล้าสะท้อนปัญหาเมื่อมีกรณีพิพาทขึ้นมา ซึ่งภายใต้โครงการนี้ที่ประชุมก็ชี้แจงว่า กำลังถกเถียงเรื่องนี้เพื่อให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในระบบด้วย เพราะในกฎหมายไทยตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการอิสลาม 2540 ไม่ได้ห้ามให้ผู้หญิงเป็นบุคลากรของคณะกรรมการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น สังคมมุสลิมในประเทศไทย ยึดตามวัฒนธรรม จารีต ประเพณีในสังคมที่เข้าใจกันเอง
นอกจากนี้ที่ประชุมครั้งนั้นก็มีความข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะเป็นการผลักดันให้เป็นเหมือนศาลชารีอะห์ในประเทศมาเลเซียที่สามารถไกล่เกลี่ยและดำเนินความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง แต่โครงก็อธิบายว่า ไม่ได้เป็นเหมือนระบบศาลชารีอะห์มาเลเซียโดยตรง แต่จะปรับให้สอดคล้องกับบริบท ปัญหา ของมุสลิมในสังคมไทย ซึ่งระบบที่มาเลเซียมีกฎหมายเอาผิด แต่ระบบที่โครงการวางไว้ อาจเป็นเพียงเพื่อการตรวจสอบและให้ครอบครัวจัดการกันเอง ทั้งนี้เพราะทางโครงการยังคงต้องคำนึงกรอบของกฎหมายไทยอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งศูนย์ไกล่เกลี่ยฯจะมีพัฒนาการเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง
แต่บทสรุปทิ้งท้ายจากการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องบอกว่า โครงการจะดีได้รับการตอบรับจากประชาชน ก็เพราะเข้าใจในความต้องการและการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน ทำโดยประชาชน และเพียงพอแล้วสำหรับภาครัฐด้วยบทบาทของการเป็นผู้สนับสนุน