โฆษก กอ.รมน.ตอบโต้เอ็นจีโอ “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” เปิดรายงานทรมานผู้ต้องหาชายแดนใต้ 54 ราย ชี้แค่เขียนโครงการไปขอสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศ แต่พบเหตุรุนแรงลดลงเลยเอาของเก่ามายำ ห่วงทำต่างชาติเข้าใจผิด อีกทั้งเอาเรื่องไฟใต้มาผสมเป็นภัยคุกคามก่อการร้ายทั้งประเทศ ย้ำ 12 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มคลี่คลาย กังขาเอาข้อมูลฝ่ายเดียวไม่ตรวจสอบใช่หรือไม่ อ้างกฎหมายระหว่างประเทศสุ่มเสี่ยงหมิ่นประมาท
เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรเครือข่าย เปิดเผยรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2557-2558 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. โดยอ้างการใช้กฎหมายพิเศษ ทำให้เกิดอุปสรรคในการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกที่เป็นอิสระ และนำข้อมูลจากคำบอกเล่าฝ่ายเดียวของผู้ร้องเรียนระหว่างปี 2547 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวน 54 ราย ประกอบด้วยการกระทำทรมานทางจิตใจและทางร่างกาย พร้อมนำนิยามศัพท์ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จำกัดเฉพาะเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐมาอ้างอิงในรายงานนั้น ขอชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ อันเป็นผลทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันมีแนวโน้มคลี่คลาย ไปสู่การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันตามแนวทางสันติวิธี โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน สังเกตได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มบรรเทาเบาบางลงไปอย่างเห็นได้ชัด จนอาจกล่าวได้ว่าสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ทุกภาคส่วนได้ตระหนักรู้ถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเครือข่ายภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ตื่นตัวจัดการระดมความคิดเห็นเตรียมการรองรับในหลากหลายรูปแบบ
“แต่ขณะเดียวกัน องค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กร ยังคงใช้ลักษณะการขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิธีการแบบเดิมๆ โดยไม่มีท่าทีในการปรับบทบาทตามเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ แม้แต่การกำหนดชื่อองค์กรหรือวัตถุประสงค์ที่ยังขัดแย้งกันในตัวเอง ในรายงานข้างต้นนี้อาจเข้าใจได้ว่าองค์กรฯ เขียนโครงการไปขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศ แต่เมื่อเหตุรุนแรงลดลง จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเก่านำมารายงานใหม่ให้สมกับเงินทุนที่ได้รับมา และที่น่ากังวลคือ รายงานฉบับดังกล่าวเมื่อถูกเผยแพร่ออกไปต่างประเทศอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงได้ สอดคล้องกับข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผอ.รมน. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 59 ถึงรายงานข้อมูลเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่องค์กรระหว่างประเทศได้รับ ไม่ตรงตามสถานการณ์ที่เป็นจริง และขอให้ช่วยกันชี้แจงแก้ไข โดยเฉพาะการจัดอันดับประเทศที่มีภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ด้วยการนำสถิติเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเหมารวมเป็นความเสี่ยงของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในภาพรวมของประเทศ” พล.ต.บรรพตกล่าว
พล.ต.บรรพตกล่าวอีกว่า การปฏิบัติงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงได้จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจ รวมทั้งความพยายามทั้งปวงในการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนเสมอมา ทั้งนี้ ได้อาศัยความร่วมมือของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เครือญาติ และหน่วยงานภายนอกต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับ มาร่วมกันเป็นสักขีพยานในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมาย หรือในภายหลังหากมีข้อสงสัยประการใดหน่วยงานในพื้นที่ก็พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน ในโอกาสนี้ กอ.รมน.มีข้อสังเกต 4 ประการ ประการแรกคือ บรรดาองค์กรที่จัดทำรายงานฉบับนี้มีสถานะเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ และถ้าหากมีอำนาจหน้าที่แล้ว องค์กรมีสถานะตามข้อกฎหมายภายในประเทศฉบับใด ประการที่ 2 คือ การจัดทำรายงานห้วงระหว่างปี 2557-2558 ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือไม่
ประการที่ 3 คือ ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยเป็นเรื่องเก่าจากคำบอกเล่าเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงใช่หรือไม่ ประการที่ 4 คือ เหตุใดจึงอ้างข้อกฎหมายระหว่างประเทศโดยละเลยต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยกลไกตามกฎหมายพื้นฐานภายในประเทศ จึงอาจสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทต่อหน่วยงานของรัฐได้
ขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.manager.co.th