โดย เล ลิกอร์
แม่ทัพภาคที่ 4 พบปะสื่อมวลชนทุกแขนงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ต้องการ ให้สื่อสะท้อนสภาวะความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนว่ามีความสุขขึ้น ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงอย่างชัดเจน และออกมาให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการนำสันติสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้การพูดคุยสันติสุขต้องดำเนินการต่อไป เพราะทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสามารถจบลงได้ด้วยการพูดคุย
เมื่อ วันที่ 22 เมษายน 2558 ณ ห้องน้ำพราว 2 โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี พลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 พบปะสื่อมวลชนทุกแขนงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ตามกิจกรรมพบปะพัฒนาสัมพันธ์สื่อมวลชนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค 4 สน.) โดยมีผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร ผู้แทนหน่วยกำลัง และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรม
พล โทปราการ ได้กล่าวถึงการดำเนินการในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาว่า กำลัง 3 ฝ่ายได้มีการบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวทั้งในส่วนของหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานด้านการพัฒนาและกลไกราชการปกติ ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่และตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชน มีการปฏิบัติเชิงรุกทั้งมิติด้านการเมือง ด้วยการสร้างความเข้าใจในนโยบายของรัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่ยึดหลักกฎหมายและแนวทางสันติวิธี เคารพสิทธิมนุษยชน มีความโปร่งใส รวมทั้งเน้นย้ำการปฏิบัติของกำลังพลต้องไม่สร้างเงื่อนไข ต้องรุกเข้าทางประชาชนเพื่อสร้างความสงบในหมู่บ้านภายใต้หลักคิดที่สำคัญ คือ ปรับทุกข์ ผูกมิตร ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมพัฒนาให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ตามแนวทาง ชนะจิตใจ เพื่อนำไปสู่การชนะทางความคิด อันเป็นปัจจัยสำคัญในการคืนความสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้
“ส่วนการ ปฏิบัติการทางทหาร จะเร่งรัดการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ ลดระดับการใช้กฎหมายพิเศษเท่าที่จำเป็น เน้นการใช้งานนิติวิทยาศาสตร์เพื่อป้องกันการใส่ร้ายและบิดเบือนโดยฝ่ายตรง ข้าม ที่สำคัญ คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ฝ่ายพลเรือนและกำลังภาคประชาชน ภายใต้แนวคิด ทุ่งยางแดงโมเดล การเสริมศักยภาพกำลังภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง ให้สามารถดูแลพื้นที่ เส้นทาง แทนกำลังทหารได้ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้พี่น้องประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวและว่า
“ขณะ นี้กำลังภาคประชาชน ใน 37 อำเภอ วันละ 25,000 คนได้พร้อมใจกันลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประชาชนได้ปฏิเสธที่จะสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และหันมายืนเคียงข้างกับภาครัฐมากขึ้น ซึ่งจะมีการซักซ้อมการปฏิบัติ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการดูแลพื้นที่ ดูแลชุมชน และแจ้งเตือนภัย ไม่ใช่ ให้มาต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง”
แม่ทัพ ภาคที่ 4 ยังได้กล่าวถึงกิจกรรมในวันนี้ว่า เป็นการชี้แจง นำความก้าวหน้าของการทำงาน รายงานต่อประชาชน ทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่และต่างประเทศว่า มีความก้าวหน้าอย่างไร
“อยาก ให้สื่อมวลชนได้สะท้อนสภาวะความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนว่ามีความสุขขึ้น อย่างชัดเจน ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงอย่างชัดเจน ออกมาให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการนำสันติสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมมือกันพัฒนา ส่วนความก้าวหน้าการสืบสวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทางตำรวจก็ได้มีการดำเนินการอยู่ หากมีการประสานขอความร่วมมือมาก็จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
แม่ทัพ ภาคที่ 4 ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ลดลงถึง 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีการสูญเสียลดลงถึง 40%
“เรา ทำตามลำพังไม่ได้ ต้องได้ความเข้าใจใน 3 ระดับ คือ 1) ต่อพี่น้อง 1.8 ล้านคนในชายแดนใต้ ให้มีความเข้าใจต่อกัน รักกัน ทำงานในหน้าที่ของตนเองแล้วสังคมจะสันติสุข 2) ต่อพี่น้อง 60 กว่าล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญให้รัฐถ่ายเทงบประมาณลงมาดูแลให้เกิดสันติสุข ซึ่งสื่อสามารถสะท้อนไปสู่ความเข้าใจให้แก่สังคม 3)ในโลกสากล ในยุคของการสื่อสาร ต้องได้ความเข้าใจที่แท้จริงจากสื่อไปสู่สากล เป็นเรื่องที่ต้องพึ่งพาสื่อมวลชน เมื่อมีเหตุด่วน ร้ายแรง เราพร้อมเสนอให้ข้อมูลและความเป็นจริง”
“การ เข้าถึงพื้นที่นั้น พยายามที่จะเข้าถึงตัว ถึงใจและถึงความคิดของคนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถคลี่คลายข้อคับข้องใจ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่า ความคับข้องนี้มาจากเรื่องประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ความเชื่อ และความไม่เป็นธรรม การทำงานของกอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลวางพื้นฐานไว้ให้ นโยบายที่ชัดเจนทำให้การทำงานเป็นหนึ่งเดียว สร้างผลที่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐในชายแดนใต้”
แม่ทัพ ภาคที่ 4 กล่าวถึงการเข้าใจเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดของสามจังหวัดได้ลงไปนอนในแต่พื้นที่เพื่อสร้างความ เข้าใจ ลดช่องว่าง และเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ การเข้าถึงคือการเข้าพื้นที่บ่อยๆ ทำให้เข้าไปถึงใจ เมื่อได้ใจ ทำให้ถึงระดับความคิด เข้าไปช่วยเหลือ ดูแล และมีโครงการ 1 หมวด 1 โครงการ จาก 290 กว่าฐานในชายแดนใต้ ลงไปผูกมิตรกับชาวบ้าน
มี มาตรการการลดระดับความรุนแรง(Down Size) ใน 4 ขั้น คือ 1.ยุทธศาสตร์คนดี 2.ความขัดแย้งของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 41 กลุ่ม สามารถไกล่เกลี่ยได้แล้ว 36 กลุ่ม 3.ลดการใช้กฏหมายพิเศษ และ 4.ลดระดับการเผยแพร่ภาพความรุนแรงไปสู่การรับรู้สาธารณะ
แม่ทัพ ภาคที่ 4 กล่าวว่า ในส่วนของกรณีเหตุการณ์บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้แถลงไปแล้วนั้น หลังจากนี้ก็เป็นการดำเนินการในส่วนของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตาม กระบวนการยุติธรรม ซึ่งทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการทางวินัยในกรณีนี้แล้ว ส่วนกรณีเหตุการณ์บ้านน้อมเกล้า อ.สุคิริน จ.นราธิวาส มีแนวโน้มว่ามีผู้ฉวยโอกาสใช้ความรุนแรงเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นภัยแทรกซ้อน เมื่อเกิดเหตุได้ไปพบปะให้กำลังใจแก่ญาติเพื่อป้องกันการลุกลามของพี่น้อง สองศาสนา และต้องรอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ และเรื่องของเหตุการณ์คาร์บอมบ์เกาะสมุยและสุราษฎร์ธานีนั้นอย่าเพิ่งไป เชื่อมโยงประเด็นในพื้นที่ ต้องรอให้การตรวจสอบหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ก่อน
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงการพูดคุยสันติสุขว่าต้องดำเนินการต่อไป เพราะทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสามารถจบลงได้ด้วยการพูดคุย
“ความขัดแย้งและความรุนแรงที่นี่มีตัวแสดงชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2556 ที่มีการพูดคุยอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก ดังนั้นมีความประชาชนสามารถอยู่อย่างมีความสุขแล้ว แต่ปัญหารากเหง้าของความรุนแรงยังมีอยู่ ต้องคลี่คลายปัญหานี้ด้วยการสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มคนที่ต่อสู้อยู่ให้ อยู่ในแนวทางสันติวิธีให้ได้ ขณะนี้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระดับนโยบาย แต่ไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ ส่วนการพูดคุยในระดับพื้นที่ ทางกอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ดำเนินการไปแล้วมากกว่า 100 เวที ซึ่งได้รวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอต่อระดับนโยบาย ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถต่อช่องทางไปยังกลุ่มผู้เห็นต่างผ่านญาติพี่น้อง เช่น ในโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งนายอำเภอทั้ง 37 อำเภอในพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้เป็นหลัก” แม่ทัภาคที่ 4 กล่าว