โดย เล ลิกอร์
ใน วาระครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 กลุ่มผู้หญิงทำงานชายแดนใต้จำนวน 16 องค์กร ร่วมเปิดตัว “คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้”และอ่านแถลงการณ์ เรื่อง “ข้อห่วงใยของผู้หญิงต่อวงจรความรุนแรงชายแดนใต้” เมื่อเช้าวันนี้ (28 เมษายน 2558) ณ โรงแรมปาร์ควิว จ.ปัตตานี
คณะ ทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานด้านการ เยียวยา การพัฒนา การสื่อสาร สิทธิมนุษยชนและการสร้างสันติภาพ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องทุกฝ่ายยุติความรุนแรง ให้รัฐรับผิดชอบในการค้นหาและนำเสนอความจริงต่อสาธารณะ และเรียกร้องประชาชนทุกศาสนิกใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา มีข้อเรียกร้อง 4 ประการ เพื่อยุติวงจรความรุนแรงและสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยมีการอ่านแถลงการณ์คือ
ทุก ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนมายาวนานกว่า 11 ปีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อาจไม่คิดว่ากำลังสร้างวงจรแห่งความรุนแรงขึ้น อย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น ทำให้ประชาชนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องเจ็บปวดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็น ที่รัก สูญเสียเสาหลักของครอบครัวและประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต บั่นทอนสายสัมพันธ์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันมายาวนานทำให้จังหวัดชายแดน ภาคใต้ห่างไกลจากความมั่นคงและสันติภาพออกไปทุกขณะ
คณะ ทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงทั้งชาวพุทธและมุสลิม ซึ่งทำงานสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมทั้งด้านการเยียวยา การพัฒนา การสื่อสารและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ องค์กรริเริ่ม 16 องค์กร ได้จัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558 ในจังหวัดปัตตานี โดยมีวาระสำคัญประการหนึ่ง คือการประเมินและวิเคราะห์วงจรความรุนแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติภาพ ในพื้นที่
ผลจากการ ประชุมดังกล่าว คณะทำงานฯ มีความเห็นว่า เมื่อมีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเริ่มโดยฝ่ายใดก็ตาม จะเกิดการตอบโต้จนกลายเป็นวงจรความรุนแรงเสมอมา ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่นเด็กและผู้หญิง ดังกรณีการวิสามัญฆาตกรรมเยาวชน 4 ศพโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ได้ทำให้เกิดความรุนแรงตามมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนมีการวางระเบิด 7ครั้งในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสรวมถึงการลอบยิงราษฎรและเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ30 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต13 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กและผู้หญิง 9 คน และบาดเจ็บรวมอีกทั้งหมด20คน
เนื่องในวาระครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 อันนับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งของวงจรความรุนแรงในพื้นที่ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อยุติวงจรความรุนแรงดังกล่าว และสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพ ดังนี้
1. “ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนโดยเฉพาะเด็ก และผู้หญิง และยุติการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะ เช่น ตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน เป็นต้น
2. “รัฐต้องรับผิดชอบในการค้นหาและนำเสนอความจริงต่อสาธารณะโดยเร็วในกรณีเกิด เหตุสะเทือนขวัญ ได้แก่ การเสียชีวิตของเด็กและผู้หญิง การเสียชีวิตของนักต่อสู้เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การฆ่าด้วยวิธีการทารุณโหดร้าย การฆ่าล้างครอบครัว การเสียชีวิตที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจนลุกลามเป็นวงจรความรุนแรงต่อไป
3. รัฐต้องมุ่งมั่นที่จะขจัดวัฒนธรรมคนทำผิดลอยนวล (impunity)โดยคุ้มครองทั้งสิทธิของผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาอย่างเท่า เทียมกัน รวมถึงให้การดูแลเยียวยาโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา หรือสถานะทางสังคม
4. “พี่น้องประชาชนทุกศาสนิกต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อแรงยั่วยุจากการก่อเหตุ ความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม เพื่อไม่ให้วงจรความรุนแรงขยายตัว ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกรูปแบบต้องเป็นไปโดยยึดหลักสันติวิธี เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และใช้การพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน
ราย นามคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ 21 องค์กร คือ กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้, กลุ่มเซากูน่า, กลุ่มด้วยใจ, กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดปัตตานี, เครือข่ายการช่วยเหลือเด็กกำพร้า, เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ, เครือข่ายชุมชนศรัทธา, เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้, เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้, เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี, เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ, ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส, ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส, มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า, ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้, สภาประชาสังคมชายแดนใต้, สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ(WePeace) , สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี และสมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา
ตัวแทน คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้กล่าวว่า คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้มีความชอบธรรม ในฐานะภาคประชาสังคมซึ่งไม่ใช่ผู้ก่อความรุนแรง ที่จะเรียกร้องต่อผู้ใช้ความรุนแรงให้หยุดความรุนแรงและขอพื้นที่ปลอดภัย พร้อมต้องการสื่อสารทุกรูปแบบไปยังในและนอกพื้นที่ ให้ผู้คนจากทุกภูมิภาคได้ร่วมกันสนับสนุนข้อเรียกร้องของคณะทำงานฯ ด้วยเพราะเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ หลังจากนี้คณะทำงานจะเริ่มรณรงค์ขอพื้นที่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เช่น ตลาด โรงเรียน สถานพยาบาล สถานที่ทางศาสนาทุกศาสนา เพื่อให้ประชาชนที่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคู่ขัดแย้งได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน
ตัวแทน คณะทำงานฯ ยังกล่าวต่อว่า มีความยินดีหากมีองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ต้องการเข้าร่วมรณรงค์และมีจุดยืนเหมือนกัน สามารถเข้าร่วมขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ไปด้วยกันได้ พร้อมทิ้งท้ายว่า
“ผู้ หญิงมีเพียงสองมือเปล่า อาวุธคือความรู้ การเสริมทักษะความรู้ความสามารถของคณะทำงานฯ ให้สามารถทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งนี้เพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นเป็น สิ่งที่จำเป็นเช่น ความยุติธรรมที่เปลี่ยนผ่าน กาติดตามกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ความรู้เรื่องกฎหมายในพื้นที่ เพื่อให้ผู้หญิงมีพื้นที่ยืนในสังคมและมีพลังมากขึ้น ไม่ได้เป็นการต่อสู่ที่โดดเดี่ยว ต้องผนึกกำลังกันทั่วประเทศ ในทุกกลไกควรมีผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน ค้นหาความจริง และบทบาทผู้หญิงมีมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม”
ใน วันเดียวกัน กลุ่มผู้หญิงจากคณะทำงานวาระชายแดนใต้ได้เดินทางไปรณรงค์เรียกร้องขอพื้นที่ ปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น มัสยิดกรือเซะ วัดตานีสโมสร ตลาดเทศบาลเมืองปัตตานี และโรงพยาบาลปัตตานี เป็นต้น.