อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 พร้อมสำนักยุติธรรม ศอ.บต และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ร่วมชี้แจงกรณีศาลแพ่งพิพากษาริบที่ดินปอเนาะญิฮาดวิทยาเป็นไปตามกฎหมาย พร้อมหาทางออกเล็งฟื้นฟูเป็นสถานศึกษาให้กับชุมชนอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ชั้น 2 นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 รองอัยการจังหวัดปัตตานี นายกิติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักยุติธรรม ศอ.บต. และผอ.สำนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเยียวยา กอ.รมน.ภาค 4 สน.ร่วมกันชี้แจงข้อกฎหมายกรณีศาลแพ่งมีคำพิพากษาริบทรัพย์สินที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนญิฮาดวิทยาหรือปอเนาะบ้านท่าด่าน ม.3 บ้านท่าด่าน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ในเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่ง คดีแพ่งในคดีแดงที่ ฟ.160/2558 ซึ่งมีความผิดฐานก่อการร้าย ตามนิยามบทบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (8) แก่สื่อมวลชนปัตตานี เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายว่าด้วยคดีแพ่งและกฎหมายการฟอกเงินของ ปปง. ทั้งนี้เพื่อให้มีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการริบที่ดินดังกล่าวไว้สาธารณะชนทราบต่อไป
นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 กล่าวว่า ที่ดินแปลงนี้ดูตามหลักฐานที่ศาลยึดเนื่องจากว่า ได้ใช้เป็นที่ฝึกของกลุ่มคนร้ายในขบวนการ ศาลแพ่งเชื่อที่ ปปง.ไต่สวน ที่ ปปง.รวบรวมพยานมาและให้อัยการยืนคำร้องไต่สวน เนื่องจากที่แปลงนี้จากการนำสืบของผู้ร้องดูจากคำพิพากษา คือ คนร้ายใช้ในการฝึกเพื่อที่จะไปกระทำการก่อการร้าย ศาลเชื่อโดยอาศัยพยานหลักฐานในคดีอาญา ที่มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหลายคน
“ที่ดินผืนนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งไม่ได้มีความหมายแค่มีไว้หรือได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น แต่ให้หมายรวมถึง ทรัพย์ที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงินด้วย และความผิดฐานก่อการร้ายก็เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน ส่วนทรัพย์นั้นเป็นของใคร เป็นสาระสำคัญน้อยกว่าการที่ทรัพย์นั้นได้ถูกใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ฉะนั้นคดีนี้จึงไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลทุกประการ
ผู้ต้องหาในนี้บางคนหลบหนี บางคนได้ตัวมาแล้ว ฟ้องศาลแล้ว ศาลยกฟ้อง บางคนได้ตัวมาทีหลัง แล้วคดีนี้อยู่ในอำนาจของผม มีหลายคนก็ได้สั่งยกฟ้องไปแล้ว อยากชี้แจงว่า ยังมีผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอยู่ ยังมีหลายคนที่เราไม่ได้ตัวมาฟ้อง ในการพิจารณาคดีอาญากับคดีแพ่งต่างกัน หลักการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญาต่างกับคดีแพ่ง ในคดีอาญาการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยคนหนึ่ง ศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย หากมีข้อสงสัยนิดเดียวศาลยกประโยชน์ในความสงสัยให้จำเลย ส่วนคดีแพ่งฟังพยานหลักฐานไม่ต้องสิ้นสงสัยหลักในการรับฟังพยานคดีแพ่งคือใครกล่าวอ้างคนนั้นเป็นคนพิสูจน์ ภาระหน้าที่นำสืบตกอยู่กับคนกล่าวอ้าง ถึงแม้ที่ดินจะถูกริบเป็นของแผ่นดินแต่ทุกคนก็ยังสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิมทุกอย่างรวมทั้งเจ้าของที่เดิม”
ด้าน นายกิตติ สุระกำแหง ผอ.สำนักยุติธรรม ศอ.บต.กล่าวว่าในส่วนของโรงเรียนญิฮาดวิทยา ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของญาติหรือเจ้าของที่ดินว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ หลังจากที่ทางฝ่ายทนายได้ขอยืดระยะเวลาต่อจากสามวันจนถึงวันที่ 14 ก.พ. 2559 หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามาแล้ว คงต้องรอกระบวนการของศาลสิ้นสุดลงเสียก่อน เราถึงจะร่วมกันหาทางออกของปัญหาเพื่อไม่นำสู่การเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งของพื้นที่ต่อไป
ซึ่งเบื้องต้นฝ่ายความมั่นคงกำลังมองหาทางออกว่าอาจจะมีการปรับปรุงเป็นสถานศึกษาให้กับชุมชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค โดยให้ทางเจ้าของที่ดเดิมเป็นผู้บริหารต่อถึงแม้ที่ดินดังกล่าวจะไม่สามารถถ่ายโอนเป็นกรรมสิทธิ์ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นสถานศึกษาให้กับชุมชนกลับมาได้อีกเช่นเดิม และเจ้าของเดิมยังสามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม อาจเป็นทางออกของปัญหาได้อีกทางหนึ่ง
ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้าน
ที่ดินเป็นของนายบาราเฮ็ง บิดา ตกทอดมทางมรดก ถือกรรมสิทธิ์รวมทั้ง 5 คน / เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนศาสนาละสายสามัญ/ ผู้คัดค้านประกอบอาชีพสุจริต ไม่ได้ใช้ที่ดินทำผิด/ โรงเรียนอยู่ติดถนน ย่านชุมชน /ผู้ร้องกลั่นแกล้ง/ ผู้คัดค้านไม่รู้จักและไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกดำเนินคดี/ ที่ดินไม่ใช่ของนายดูนเลาะ แวมะนอ
คำวินิจฉัยของศาล
ผู้ร้องมีพยานบุคคลหลายปาก ให้การสอดคล้องกันเกี่ยวกับการฝึก ขั้นตอนการฝึก ยุทธวิธีในการฝึก ผูควบคุมการฝึก และสถานที่ที่ใช้ในการฝึก
พยานฝ่ายผู้ร้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่สิสืบสวน สอบสวนและหาข่าว หากไม่มีข้อมูลเพียงพอ ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะเข้าตรวจค้น
วัตถุพยานที่ได้จากการตรวจค้น รอยกระสุน สายไฟและอุปกรณ์ประกอบระเบิด แผนปฏิวัติ 7 ขั้นตอน ฯลฯ
บันทึกการตรวจค้นและการนำชี้ที่เกิดเหตุของนายมะยุรี
สำนวนการสอบสวนและการดำเนินคดีกับนายดูนเลาะและพวก ผู้คัดค้านทั้งห้ามิได้นำพยานเข้าสืบโต้แย้งหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น
ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โรงเรียนญิฮาดวิทยาถูกกลุ่มขบวนการก่อการร้ายหรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้เป็นสถานที่สนับสนุนการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย โรงเรียนญิฮาดวิทยา จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพรบ.ป้องกันและปรายปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน โดยมิต้องพิจารณาว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่
นายตูแวตานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR (Lembaga Patani Raya untuk kedamaian dan pembangunan) ซึ่งติดตามในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นและเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการชี้แจงด้วยกล่าวว่า การออกมาให้ข้อมูลทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับคดีปอเนาะญีฮาดของทางอัยการพิเศษเขต 9 ร่วมกับกอ.รมน.และศอบต.แก่สื่อมวลชนในครั้งนี้ เป็นไปในช่วงจังหวะเวลาที่สังคมในพื้นที่เริ่มมีกระแสสูงตั้งคำถามกับเหตุผลของศาลแพ่งในการริบทรัพย์สินโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยาตกเป็นของแผ่นดินนั้น การชี้แจงของอัยการไปยังสื่อมวลชนเพื่อให้สังคมในพื้นที่ได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรมของศาลแพ่งสั่งว่ามีความผิดตามพรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 อาจจะเป็นความประสงค์ของทางกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ต้องการทำความเข้าใจกับสังคมในพื้นที่ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับปัจจัยเหตุผลในด้านอื่นๆ ที่สังคมมีความรู้สึกคลางแคลงใจใดๆ ทั้งสิ้น
“ซึ่งเรื่องคดีของปอเนาะญิฮาดเป็นเรื่องที่ทับซ้อนระหว่างเรื่องส่วนตัวของครอบครัวนายดูนเลาะ แวมะนอ ในฐานะผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งปอเนาะญิฮาด กับเรื่องส่วนรวมของสังคมมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีวิถีชีวิตสัมพันธ์แนบแน่นกับหลักคำสอนจากสถาบันปอเนาะแบบดั้งเดิมตามต้นฉบับของปอเนาะปาตานี ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งปอเนาะญิฮาดนั้นทางครอบครัวก็ยืนยันอย่างชัดเจนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของทางครอบครัวซึ่งเป็นภรรยานายดูนเลาะ แวมะนอ กับพี่นัองร่วมกัน 5 คนเป็นเจ้าของ แต่ในส่วนของทรัพย์สินซึ่งอยู่บนผืนดินที่ตั้งปอเนาะญิฮาดนั้นไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวนายดูนเลาะ แวมะนอ แต่อย่างใด ในทางกลับกันทรัพย์สินดังกล่าวเช่น อาคารเรียนทั้งหมด อาคารสุเหร่าและตัวบ้านที่อยู่อาศัยของครอบครัวนายดูนเลาะ แวมะนอ ในฐานะครูใหญ่(บาบอ)ปอเนาะญิฮาดนั้น ล้วนแต่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของชาวบ้านและอดีตศิษย์เก่าทั้งสิ้น เมื่อมีเวทีชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อกฎหมายกรณีทรัพย์สินปอเนาะญิฮาดถูกศาลแพ่งสั่งริบเป็นของแผ่นดินโดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ทำให้ชาวบ้านและบรรดาศิษย์เก่าย่อมเกิดคำถามต่อทรัพย์สินต่างๆ บนที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของปอเนาะญิฮาดในฐานะตนก็เป็นเจ้าของร่วมด้วยนั้น เป็นธรรมดาของความรู้สึกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางตรงด้วยอยู่แล้ว
สิ่งที่ท้าทายรัฐมากในตอนนี้ก็คือเมื่อทรัพย์สินของปอะนาะญิฮาดที่ไม่ใช่ที่ดินนั้น ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของครอบครัวนายดูนเลาะ แวมะนอ เท่านั้น แต่ชาวบ้านและบรรดาศิษย์เก่าก็เป็นเจ้าของร่วมด้วย รัฐพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงซึ่งคาบเกี่ยวกับปอเนาะ เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ต้องหาคดีความมั่นคง แต่ผลข้างเคียงของการจัดการแบบครอบจักรวาลนั้น กลายเป็นการขยายความขัดแย้งไปยังสังคมในวงกว้างโดยปริยาย เพราะประเด็นสำคัญของสังคมไม่ได้อยู่ที่สถานะของนายดูนเลาะ แวมะนอ จะเป็นโจรหรือไม่เป็นโจรในสายตาของรัฐหรือไม่ แต่ประเด็นสำคัญของสังคมในพื้นที่คือความเป็นปอเนาะดั้งเดิมตามฉบับของปาตานีในสายตาของรัฐนั้นจะเป็นแหล่งซ่องสุมโจรจริงหรือไม่ ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับการอธิบายของรัฐว่าสามารถทำให้สังคมในพื้นที่เชื่อถือได้หรือไม่เป็นสำคัญ อีกทั้งสังคมมลายูมุสลิมในพื้นที่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าเปรียบเสมือนมัสยิดคือหัวใจของมุสลิม ปอเนาะก็เหมือนกับมันสมอง การที่สังคมมลายูมุสลิมมีมัสยิดเยอะแยะและหรูหรา แต่ระบบปอเนาะดั้งเดิมกลับถูกทำลาย ก็ไม่ต่างอะไรกับสภาพของคนที่หัวใจเข้มแข็งแต่พิการทางสมอง”
สำหรับประเด็นของปอเนาะญิฮาดที่ไม่มีองค์กรภาคประชาสังคมใดออกมาเคลื่อนไหวหรือช่วยเหลือและเรื่องนี้จะกระทบต่อการพูดคุยสันติภาพหรือไม่นั้น ตูแวตานียาบบอกว่า ไม่ใช่ว่าเอ็นจีโอไม่เคลื่อนไหว เพราะสถานะของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมก็เป็นเอ็นจีโอ LEMPAR ในฐานะเอ็นจีโอที่ทำงานรณรงค์เรื่องสันติภาพและการพัฒนาก็ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด หากเป็นห่วงว่าจะเป็นหยดน้ำผึ้งอีกหยดหนึ่งที่จะบั่นทอนต่อกระบวนการสันติภาพได้ หากภาครัฐจัดการไม่ดีอย่างเป็นธรรมในมิติที่สังคมในพื้นที่ยอมรับได้โดยไม่คลางแคลงใจได้ เชื่อว่าจะกระทบต่อบรรยากาศการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของกระบวนการพูดคุยสันติสุขอย่างแน่นอน
ด้าน นางซูไฮลา แวมะนอ ลูกสาวนายดูนเลาะ แวมะนอ กล่าวว่าหลังจากมีการแถลงที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี คิดว่าเป็นเรื่องที่ทางครอบครัวจะต้องร่วมกันหารือกันภายในอีกครั้ง เพราะมีเรื่องใหม่เข้ามาเพิ่มอีกเรื่อง ที่ต้องร่วมกันหารือถึงอนาคตของครอบครัว โดยเฉพาะการใช้ชีวิตหลังจากที่สู้คดีในชั้นศาลอีก 2 ศาล
“บอกตรงๆ ว่ายังรู้สึกว่า คือความฝัน แต่เมื่อหยิกตัวเองเราเจ็บ ก็พูดกับตัวเองว่า มันไม่ใช่ความฝัน ที่สำคัญตอนนี้พยายามหาคำตอบ ที่ลูกตั้งคำถามมาว่า ทำไมเราต้อง ไจากที่นี้เพราะที่นี่คือบ้านเรา ได้แต่ตอบลูกไปว่า ทุกคนพูดเรื่องนี้ เป็นแค่สมมุติ แต่ก็เป็นคำตอบชั่วคราวเท่านั้น ถ้าถึงเวลาจริงๆเราจะบอกเขายังไงที่จะไม่ให้เขารู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่ เกิดที่นี่ โตมาที่นี่ ยังคิดว่าคือความฝัน ยังเจ็บปวด ตอนนี้พยายามใช้ชีวิตให้เป็นปกติ พรุ่งนี้จะเกิดอะไรค่อยว่ากันใหม่
“ เรื่องที่เราสามารถอยู่อาศัยได้ต่อ หากถูกยึดไปแล้วถ้ารัฐยังไม่นำไปใช้ประโยชน์ ก็รู้สึกไม่สบายใจอยู่ดี ถ้าต้องอยู่โดยที่รัฐเป็นเจ้าของ กลัวว่าไปทำผิด เขาจะเอายังไง ก็เป็นปัญหาอีก”