หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

ม.อ.ปัตตานีร่วมกับเครือข่ายศิลปินไทยและนานาชาติ 12 ประเทศ จัด workshop ผลงานด้านทัศนศิลป์ระดับโลก

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) ร่วมมือกับเครือข่ายศิลปินไทยและศิลปินนานาชาติ 12 ประเทศ จัดกิจกรรม การปฏิบัติงานด้านทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติ(PSU Internationnal Art Workshop 2016) ระหว่างวันที่ 29 – 31 มกราคม 2559 สร้างสรรค์ผลงานด้านทัศนศิลป์กว่า 100 ชิ้น เพื่อจัดแสดงไว้ในหอศิลป์ภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี

ผศ.กมล คงทอง ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี เปิดเผยว่า สถาบัน ฯ กำหนดจัดโครงการ การปฏิบัติงานด้านทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติซึ่งเป็นโครงการใหม่ล่าสุดและเป็นการปฏิบัติงานด้านทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา เคยจัดมา โดยได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากโครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดภาคใต้ จำนวน 1,830,000 บาท โครงการฯ นี้ เป็นการรวบรวมศิลปินที่มีชื่อเสียงด้านงานทัศนศิลป์ของทั้ง 12 ประเทศ จาก อเมริกา อิตาลี เยอรมัน ญี่ปุ่น อินเดีย จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า และไท ย มาร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะระดับโลก

“ซึ่งความเป็นมาของโครงการ ฯ เกิดจากการที่ม.อ.ปัตตานีมีหอศิลป์ภาคใต้ จึงมีความคิดว่าทำอย่างไรให้มีผลงานศิลปะไว้จัดแสดงในหอศิลป์ภาคใต้ ม .อ .ปัตตานีแบบถาวร ซึ่งหากพิจารณาจากงบประมาณที่สถาบันฯ มีอยู่นั้นไม่สามารถดำเนินการได้ จึงมีความคิดที่จะเชิญศิลปินมาร่วมกันปฏิบัติงานทัศนศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม งานภาพพิมพ์หรืองานประติมากรรม เพื่อที่จะผลิตผลงานนี้ให้กับสถาบันวัฒนธรรมศึกษา กัลยาณิวัฒนา ไว้จัดแสดงในหอศิลป์ภาคใต้ ซึ่งโครงการ ฯ นี้ใช้งบประมาณไม่ถึง 2 ล้าน แต่จากมูลค่าผลงานของศิลปินระดับโลก จำนวนประมาณ 100 ชิ้น ที่ได้มา นับได้ว่ามีความคุ้มค่าอย่างมาก และความร่วมมือทั้งหมดที่ได้รับการตอบรับจากศิลปิน 12 ประเทศครั้งนี้มาจากการที่สถาบัน ฯ ได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับศิลปินมาโดยตลอด”

“ผมเองในฐานะเป็นนักเขียนรูปคนหนึ่ง ได้รับการเชิญให้เข้าร่วม workshop งานด้านศิลปะกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ความร่วมมือตรงนี้ทำให้เกิดความคิดที่จะขยายงานมายังชายแดนภาคใต้บ้านเรา ได้ขอคำปรึกษาจาก ศาสตราจารย์กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ประธานสภาศิลปกรรมไทยในอเมริกา ศาสตราจารย์เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ และเพื่อน ๆ เครือข่ายศิลปินอีกหลายท่าน ถึงวิธีการดำเนินงาน อีกส่วนหนึ่งได้ประมวลข้อมูลจากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานในหลายๆ แห่ง และนำมาเขียนโครงการ ฯ และได้ประสานไปที่สภาศิลปกรรมไทยในอเมริกา เรื่องวันเวลาที่เหมาะสมที่จะจัดโครงการฯ โดยสุดท้ายได้กำ หนดจัดโครงการ ฯ ในวันที่ 29 – 31 มกราคม 2559 เพราะจะสอดรับกับ โครงการของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ที่ได้เชิญศิลปินมาร่วมจัดศิลปะการท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม จึงได้ประสานให้นำกลุ่มศิลปินเหล่านั้นร่วมโครงการของม.อ.ปัตตานี ซึ่งค่าใช้จ่ายค่าเดินทางจากอเมริกา อิตาลี ทางสภาศิลปกรรมไทยอเมริกา รับผิดชอบทั้งหมด ส่วนทางม.อ.ปัตตานี ดูแลเฉพาะการเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดปัตตานี นอกจากนี้เพื่อนในกลุ่มที่มีเครือข่ายก็ได้ช่วยติดต่อเชิญศิลปินจากอินเดียและเยอรมัน ศิลปินหลายๆ ท่านยินดีที่จะมาร่วมโครงการโดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตัวเอง ซึ่งในระยะแรกสถาบันฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะเชิญศิลปินจาก 12 ประเทศ ไม่เกิน 22 ท่าน แต่สุดท้าย มีศิลปินตอบรับเข้าโครงการจำนวน 30 ท่าน ทั้งนี้ ในวันที่ 26 มกราคม 2559 จะมีศิลปิน 3 ท่านเดินทางมาก่อนล่วงหน้า คือ ศิลปินแกะไม้มะหาด ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลามากกว่าท่านอื่นๆ ในส่วนของศิลปินไทยได้ตอบรับมา 4-5 ท่าน นอกจากนี้ได้เชิญศิลปินที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย กลุ่มคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีเข้าร่วมโครงการด้วย”

“การปฏิบัติงานด้านทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติครั้งนี้ จะเป็นรูปแบบการ workshop 3 วัน เป็นการสร้างผลงานของศิลปินจากเฟรมสีขาวธรรมดา จนกลายมาเป็นผลงานตามบุคลิกของศิลปินแต่ละท่าน ซึ่งผู้เข้าชมที่สนใจสามารถพบปะพูดคุยถามถึงเทคนิค ความหมายที่มาที่ไป ทุกขั้นตอนของผลงานได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้มีทีมงานนักศึกษาจากวิชาเอกภาษาต่างประเทศมาช่วยในการประสานงาน ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่นักศึกษาจะได้ฝึกฝนการใช้ภาษา ” ผู้อ านวยการสถาบันฯ กล่าว

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงขอเชิญชวนผู้สนใจงานศิลปกรรมทุกท่านร่วมเป็นเจ้าภาพในการปฏิบัติงานด้านทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติร่วมต้อนรับศิลปินนานาชาติ และร่วมชมงานศิลปะร่วม 100 ชิ้น ในระหว่างวันที่ วันที่ 29 – 31 มกราคม2559 นี้ที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.