กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จัดกิจกรรมพบปะพัฒนาสัมพันธ์สื่อชายแดนใต้ หนุนโครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุขหรือ แผนปฏิบัติการ 4591นำร่อง 5 อำเภอ พร้อมรุกทุกอำเภอชายแดนใต้ในปี 2559
ในงานพบปะพัฒนาสัมพันธ์สื่อชายแดนใต้ ของกอ.รมน.ภาค 4 สน. เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 ณ โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี โดยมี พลโทมณี จันทร์ทิพย์ รองผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นประธานในงาน มีการเสวนา “บทบาทสื่อกับโครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข” จากฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และผู้เห็นต่าง
โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข ดำเนินการจัดตั้ง 5 อำเภอสันติสุขนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย อ.บาเจาะ และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส, อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.ยะหา จ.ยะลา และ อ.นาทวี จ.สงขลา ก่อนที่จะขยายพื้นที่เป้าหมายให้ครบทั้ง 37 อำเภอใน 4 จังหวัด ในระยะต่อไป โดยใช้พลัง “ประชารัฐ” หรือ รัฐจับมือกับประชาชนเป็นธงนำ
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติโดยผนึกกำลังร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ ภาครัฐซึ่งมีตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง, ภาคประชาชน มีผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น, และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมเป็น 3 ฝ่าย มา “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผล” ตามยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยกำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ(ศปก.) ที่มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าศูนย์ เป็นศูนย์กลางการทำงานในระดับพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงาน รวมทั้งมีหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน และสถานีตำรวจภูธรประจำพื้นที่ร่วมปฏิบัติงานในลักษณะบูรณาการ โดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายการทำงาน 4 ข้อคือ 1. ยุติความรุนแรง 2. ลดความขัดแย้ง และเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรง 3.ประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้ความแตกต่างและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 4.ขจัดภัยแทรกซ้อน โดยเฉพาะยาเสพติดให้ลดลง เน้นการสร้างชุมชน หมู่บ้านเข้มแข็ง ปลอดเหตุร้าย ปลอดยาเสพติดและมุ่งหมายเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ช่วยเหลือจุนเจือ เชิญชวนมาแก้ปัญหาร่วมกัน
ส่วนในการพัฒนามุ่งหมายเพื่อพัฒนาโดยโครงการของรัฐถึงระดับครอบครัว ถึงตัว ถึงความคิด ให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐดูแลและไม่ทอดทิ้ง โดยมีงานสำคัญที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ประชาชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการการที่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยผ่านพลังประชารัฐโดยประชาชน กลุ่มผู้เห็นต่าง และภาครัฐ ร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ลดความรุนแรง เสริมสร้างความสงบสุข และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
ในปีงบประมาณ 2559 พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้มอบหมายนโยบายและได้เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 ได้มีการร่วมกันแถลงแผนและมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 4591 “ประชารัฐร่วมใจ สร้างอำเภอสันติสุข” และร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อแสดงเจตนารมณ์เสริมสร้างพลัง “ประชารัฐร่วมใจ สร้างอำเภอยะหาสันติสุข” ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอยะหา จังหวัดยะลา
นายเอก ยังอภัย นายอำเภอหนองจิก 1 ใน 5 อำเภอนำร่องของโครงการนี้ กล่าวว่า เห็นแสงสว่างในการแก้ปัญหาแจ่มชัดขึ้น โดยปัจจัยความสำเร็จคือการมีส่วนร่วมของประชาชน
“ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศเท่ากัน ต้องออกมาแสดงพลังปกป้องประเทศ สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนคือความเข้าใจ ตระหนักรู้ ถ้าฟันเฟืองทุกตัวหมุนไปด้วยกันคือพลัง วางสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตลง เปิดพื้นที่ เปิดโอกาส มีสัญญาณชัดคือการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติสุขให้ได้ หนึ่งความคิดหนึ่งการกระทำ ร่วมกันรับประโยชน์ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ข้าราชการต้องเป็นหลักให้กับประชาชน บูรณาการการทำงาน งบประมาณ ระบบ คนให้เคลื่อนไปด้วยกัน ในเชิงพื้นที่ต้องบูรณาการกันเพื่อให้ประชาชนมั่นใจในนโยบายของรัฐ การจะขับเคลื่อนงานการเมืองและงานพัฒนา พื้นที่ต้องปลอดเหตุ ผู้คนต้องปลอดภัย ซึ่งมีทุกภาคส่วนร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันขัดเจนเป็นปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายสำหรับ อ.หนองจิก
ใน อ.หนองจิกมีผู้ติดหมายพ.ร.ก.จำนวน 180 คน มารายงานตัวแล้ว 112 คน เมื่อปลดหมายแล้วเท่ากับปลดพันธนาการทางกฎหมาย ปลดเปลื้องพันธนาการทางจิตใจด้วย เป็นสัญญาณว่าพื้นที่มีการรับรู้ สร้างความมั่นใจและไว้วางใจแก่ชาวบ้าน เขารู้ว่ารัฐทำได้อย่างที่พูดและเป็นคำตอบสุดท้ายว่า จะยุติความรุนแรงได้ด้วยการพูดคุยและไว้วางใจกันและกัน”
ด้าน พ.อ.อภิชัย เรืองฤทธิ์ ผบ.ฉก.ปัตตานี 24 กล่าวว่า งานด้านความมั่นคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนงานนี้ ได้มีการูดคุยกับฝ่ายปกครอง ฉก. และ สภ.อ.หนองจิก ในเรื่องการลดเหตุร้ายซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า เหตุที่เกิดส่วนใหญ่ของอ.หนองจิกคือ การลอบยิงบนถนนสายหลักคือ สาย 42 สาย 48 และสาย 418 แบ่งกำลังกันรับผิดชอบ มีทหารพรานมาเสริม 3 กองร้อย สามารถควบคุมเหตุได้ในระดับหนึ่ง ในส่วนของกลุ่มที่มีความเห็นต่าง มีทหารพราน 1 กองร้อยเข้าไปกดดันและเคลื่อนไหวทำให้สถิติลดลง
นายนิฮาซัน เจ๊ะปอ อิหม่ามมัสยิดบ้านยาบี ต.ยาบี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า อิหม่ามเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความไว้วางใจสูง จึงอธิบายโครงการฯ นี้ให้ชาวบ้านได้เข้าใจและยอมรับ อิหม่ามเป็นตัวเชื่อมประสาน นำเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมาร่วมดะวะห์ประจำเดือน ให้ความรู้ด้านจิตวิญญาณและต้านยาเสพติด ซึ่งผู้ปกครองให้ความร่วมมือและรับฟังด้วยเป็นอย่างดี โครงการอย่างนี้ควรเกิดนานแล้ว อยากให้ทำอย่างต่อเนื่อง จริงใจ และนำประชาชนเข้ามาร่วมพัฒนาสังคมได้
ส่วน นายอับดุลเลาะ บือราเฮง หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านบอกว่า ได้เข้าร่วมขบวนการเมื่อปี 2547 อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ จนปี 2550 ถูกจับ ก่อนหน้านั้นมีคนไปกล่อมให้ออกมาแต่ไม่มั่นใจว่ามาทำดีแต่ไม่รู้ชะตากรรม จนมีโครงการพาคนกลับบ้านเป็นโครงการที่ดีที่สามารถทำให้ชาวบ้านและคนที่เข้าใจ มั่นใจเข้าร่วมโครงการฯ พอใจที่ได้คุยกันอย่างมีความเข้าใจ สามารถใช้ชีวิตปกติกับครอบครัว ทำงาน อยู่ในพื้นที่ได้อย่างสบายใจ
“สิ่งที่ไม่ดีในพื้นที่นี้คือสื่อมวลชน ที่นำเสนอไปอีแบบในขณะที่ความจริงเป็นอีกแบบ แล้วประเทศจะเดินหน้าไปได้อย่างไรถ้าคนมีปากกาเขียนไปอีกแบบ สื่อจึงต้องปรับทัศนคติ เขียนข่าวให้เดินหน้า เปิดโลกทัศน์รับรู้ความจริง” เป็นข้อฝากจาก คอลีเยาะ หะหลี ภาคประชาสังคมในพื้นที่
ต้องติดตามกันว่า ภายในปี 2559 โครงการนี้จะสำเร็จตามความคาดหวังของกอ.รมน.หรือไม่