หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

นักศึกษาม.อ.ปัตตานีรวมพลังต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

วานนี้ (22 ม.ค.) เครือข่าย PERMATAMAS และนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) กว่า 1 พันคน รวมพลังรณรงค์ต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พร้อมแถลงการณ์ขอนายกรัฐมนตรีทบทวนและหยุดสร้าง

นางสาวอิห์ซาน นิปิ จากมหาวิทยาฟาฎอนี กล่าวว่า นักศึกษาม.ฟาฎอนีได้ไปทำค่ายที่อำเภอเทพา ในพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ค้นพบว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อลงไปในคลองสามารถจับปลาได้ด้วยมือเปล่า มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ มีสวนยาง มีทะเลที่สวยงาม แต่ กฟผ.และฝ่ายสนับสนุนกลับบิดเบือนให้ข้อมูลต่อสังคมว่าอ.เทพาเหมือนทะลทราย แห้งแล้งและยากจน ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จอย่างน่ารังเกียจ หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรม ดังนั้นการปกป้องชุมชนจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องออกมาปกป้องสังคมไม่ให้ถูกทำลายจากถ่านหินสกปรก

นายมูฮัยมิง อาลี อุปนายกองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าว่า ดีใจมากที่เห็นนักศึกษามารวมลังกันเต็มห้อง มาร่วมกันค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างหายนะต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นักศึกษาม.วลัยลักษณ์ได้ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทเชฟรอนให้ออกจากพื้นที่ไปแล้ว วันนี้นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ก็จะทำเช่นนั้น เนื่องจากหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่แล้วต้องย้าย กุโบร์ มัสยิด ปอเนาะ โรงเรียน ซึ่งเป็นที่ดินวากัฟ(บริจาค) ย่อมเป็นสิ่งที่พี่น้องมุสลิมรับไม่ได้

ด้าน นายตูแวดานียา ตูแวแมแง แกนนำภาคประชาชนบอกว่า วิถีชุมชนและวิถีวัฒนธรรมจะถูกทำลายจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะมีผลต่อกระบวนการสร้างสันติภาพได้

“เหตุการณ์ความไม่สงบสร้างความเครียดให้กับชาวบ้านมากพออยู่แล้ว ยังพยายามให้เกิดมลพิษ น้ำเสียจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาให้คนปัตตานีอีก โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะปล่อยมลพิษออกมาจำนวนมากแบบไม่เลือกฝ่าย กระทบกับคนเป็นแสน ซึ่งถือว่าจะเป็นปัญหาที่สาหัสกว่าปัญหาความไม่สงบมาก เพราะแม้จะใช้เทคโนโลยีก็กรองมลพิษได้ไม่เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ มลพิษที่รอดออกมาอาจทำให้เป็นมะเร็งในระยะยาว อีกทั้งการที่รัฐใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาควบคุมสถานการณ์ ประชาชนจะออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้น เชื่อว่าในที่สุดอาจมีการนำ พ.ร.บ.ฉุกเฉินกลับมาใช้ รวมถึงกรณีการเกิดระเบิดที่อำเภอเทพาเมื่อไม่กี่วันนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณไปยังระดับนโยบายของฝ่ายความมั่นคงก็เป็นได้ เชื่อว่าไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพ”

จากนั้น ตัวแทนนักศึกษาได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าเทพา และขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิจารณาให้ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ได้มีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจต่อโครงการนี้และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

เมื่อเสร็จการอ่านแถลงการณ์ นักศึกษา ม.อ.ปัตตานีกว่า 1 พันคน ได้ตั้งขบวน พร้อมถือธงและป้ายผ้าสีเขียวที่เขียนข้อความคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เดินออกจากประตูมหาวิทยาลัยไปตามถนนเจริญประดิษฐ์ ผ่านวงเวียนหอนาฬิกา ถนนหนองจิก ไปยังลานศิลปวัฒนธรรม หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นการแสดงออกอย่างสันติ ต่อการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

จากนั้นตัวแทนเครือข่ายประชาชนจชต.ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม (PERMATAMAS) อ่านแถลงการณ์ถึงจุดยืนของประชาชนในพื้นที่ 4 ข้อ คือ 1.เวทีแสดงความคิดเห็น ค.1 ค.2 และ ค.3 ที่จัดขึ้นไม่มีความชอบธรรม เพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่แค่รัศมี 5 กิโลเมตร รวมถึงปัตตานี นราธิวาส และสตูล ได้นำเสนอความคิดเห็น 2.ลำพังสถานการณ์ความขัดแย้งถึงตายด้วยอาวุธตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก็หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว และถ้ามีโรงไฟฟ้าเชื่อว่าจะยิ่งเป็นการโหมไฟใต้มากกว่าการพัฒนาอย่างแน่นอน 3.เครือข่ายฯ จะพยายามถึงที่สุดตามแนวทางสันติวิธี เพื่อเป็นการหยุดโครงการโรงไฟฟ้าเทพา 4.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) จะต้องนำปัญหาโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือบรรจุเป็นวาระ เพื่อคลี่คลายป้องกันความไม่พอใจของประชาชนต่อกลไกอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ปัญหากลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวทำลายบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ ผลกระทบจากโครงการพร้อมกับเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องว่าให้รับฟังเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ก่อนจะทำโครงการนี้ ตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชนอำเภอสะบ้าย้อย กล่าวว่า ผลกระทบของมลภาวะหรือมลพิษจะส่งผลไปทั่วทั้ง จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ฉะนั้นคนในพื้นที่ใกล้เคียงจะอยู่นิ่งเฉยได้อย่างไร ต้องร่วมกันออกมาต่อต้านในสิ่งที่จะทำลายคุณภาพชีวิตมากกว่าการสร้างปัจจัย ที่ภาครัฐมักจะอ้างว่าหากไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วจะใช้ไฟฟ้ากันจากไหน

ส่วนตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชนอำเภอจะนะ กล่าวว่า อย่าไปกลัวการออกมาเดินขบวนร่วมต่อต้าน ต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพื้นที่ที่อาศัย ที่ตรงนี้มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ไม่จำเป็นต้องนำสิ่งที่พร้อมจะทำลายมายัดเยียดเพราะ “เราไม่ต้องการ เราไม่เอา ถ่านหินออกไป”

สำหรับเครือข่าย PERMATAMAS ประกอบด้วย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย องค์กรทางศาสนา ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา และชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะเดา จ.สงขลา และ อ.หนองจิก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยเป็นความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

photo 2 photo 3 photo 4