ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวหลายคนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จ.ยะลา ก้าวข้ามสิ่งที่เกิดขึ้น เยียวยาตัวเอง เดินหน้าสร้างบทบาทและพัฒนาให้ผู้หญิงในพื้นที่ พร้อมขับเคลื่อนช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้หญิงมาจนทุกวันนี้
เธอคือผู้ก่อตั้งสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ (We Peace) สมาคมฯ ทำในเรื่องส่งเสริมสันติภาพ เสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง ให้คำปรึกษาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และเธอได้รับมอบหมายแต่งตั้งจากครม.เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีกองทุนเยียวยาเมื่อมีการฟ้องร้องเรื่องการไม่ได้รับความเท่าเทียมระหว่างเพศหรือถูกเลือกปฏิบัติ มีคณะกรรมการวินิจฉัย ซึ่งมีอำนาจเท่ากับผู้พิพากษาที่ตัดสินปัญหา ซ฿งยังอยู่ในการร่างขออนุมัติ เป็นบทบาทสำคัญ เพิ่งมีครั้งแรกจึงยังไม่มีโครงสร้าง เป็นพ.ร.บ.ใหม่ ต้องวางโครงสร้างใหม่
“ในพื้นที่มีกิจกรรมต่อเนื่อง ลงไปคุยกับผู้หญิงในพื้นที่ว่าอยากเห็นสันติภาพและมีข้อเสนอต่อแนวทางสันติภาพอย่างไร เราหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพโดยผู้หญิง คนที่นี่อยากเห็นเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราเป็นสิ่งที่กระทบต่อชีวิตของทุกคนและนำไปสู่การใช้ความรุนแรง เมื่อสามีเครียด ไปติดยาเสพติด ทุบตีร่างกายภรรยาก็นำไปสู่การหย่าร้าง เศรษฐกิจไม่ดี ราคายางตกต่ำ คนกรีดยางมากขนาดไหนรายได้ก็ไม่เพิ่ม ภาระที่หนัก และปัญหาในพื้นที่ ไม่กล้าออกไปหารายได้ ยิ่งทับซ้อนปัญหา สันติภาพที่ชาวบ้านอยากเห็นคือ ชีวิตที่มีคุณภาพดีขึ้น ไม่มีการก่อเหตุรุนแรง คือสันติภาพที่ยั่งยืน เป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิต ไม่ได้มองเรื่องต้องปรับเปลี่ยนอะไรหรือซื้ออาวุธเพิ่มขึ้น”
ปาตีเมาะบอกว่า ชาวบ้านอยากให้รัฐและฝ่ายเห็นต่างฟังเสียงของชาวบ้าน ทั้งสองฝ่ายบอกว่าชาวบ้านเป็นผู้สำคัญ ต้องฟังเสียงชาวบ้าน แต่สุดท้ายหลายอย่างก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชาวบ้าน การเมืองบอกว่าต้องฟังเสียงและแก้ปัญหาที่ชุมชน ชาวบ้านจึงกลายเป็นตัวละครที่ทั้งสองฝ่ายชูโรง ให้เห็นว่ามีมวลชน แต่ผลประโยชน์ตกอยู่ทีทั้งสองฝ่าย ชาวบ้านกลายเป็นผู้รับกรรม คือความจริงในพื้นที่
“ถ้าให้ความสำคัญและจริงจังกับการแก้ไขปัญหา เรื่องทุกอย่างจบลงไปแล้ว เพราะคู่ขัดแย้งไม่ใช่ชาวบ้าน คือทั้งสองฝ่ายที่ออกมาจัดการคู่ขัดแย้ง แต่ใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือ ไม่ได้ไปตกลงกับคู่ขัดแย้งโดยตรง”
“มีบาดแผลในใจ เมื่อเห็นคนอื่นสูญเสีย เหมือนบาดแผลนั้นปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เปิดแผลใหม่ในแผลเก่า รักษาไม่หาย เจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นคนอื่นเจ็บปวด รู้ว่าการสูญเสียเจ็บปวดอย่างไร เวลาไปทำงานกับคนอื่นจะเจ็บปวดกว่าคนอื่นสองเท่า คนทำงานเองต้องเยียวยาสภาพจิตใจตัวเองด้วยเพราะรับรู้เรื่องคนอื่นมาจนเป็นความเครียดสะสม กดทับ เก็บไว้ทุกเรื่อง บางทีนั่งอยู่แล้วร้องไห้ มนุษย์เราไม่มีใครเข้มแข็งได้ตลอดเวลา ต้องมีวิธีการเอาเรื่องเหล่านี้ออกจากชีวิตให้ได้ เวลาเครียดมากๆ จะเขียนระบาย บางเรื่องเป็นเรื่องในลิ้นชัก เขียนเสร็จก็ทิ้ง เหมือนได้ระบายออกไปแล้ว เมื่อแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ต้องแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ด้วย เมื่อเหตุการณ์ในพื้นที่สงบสุข ครอบครัวเราก็จะสงบสุขด้วย เพราะที่นี่เป็นบ้านของเรา”
สำนักงานของสมาคมฯ ตั้งอยู่ในอ.เมือง จ.ยะลา มีทีมงานในสามจังหวัดที่ทำงานในนามอาสาสมัคร อยู่ในอำเภอต่างๆ มีประธานจังหวัด ประธานอำเภอ ประธานตำบล เมื่อลงไปในพื้นที่ไหนก็ประสานงานกับในพื้นที่นั้นตามลำดับ ปาตีเมาะบอกว่า การแก้ปัญหามี 2 รูปแบบคือให้อาสาสมัครที่อยู่ในชุมชนแก้ปัญหาด้วยคนในชุมชนเอง เช่น การไม่ได้รับความเป็นธรรม อาสาสมัครจะเข้าไปให้คำแนะนำ ใช้กลไกหน่วยงานรัฐในพื้นที่ หากปัญหานั้นหนักเกินกว่าอาสาสมัครจะแก้ไขได้ ก็จะเป็นตัวกลางเชื่อมในระดับที่สูงขึ้น ต้องการให้ชุมชนได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง ดูแลกันเองก่อน เมื่อเข้าไม่ถึงตรงไหนก็จะเข้าไปช่วยประสาน
“บางชุมชนที่ไม่มีอาสาสมัครจะเข้าไปทำงานยากมากเพราะมีม่านของความไม่ไว้วางใจ แม้เราบอกว่าเราไม่ใช่รัฐแต่ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าเราคือใคร เป็นสายของรัฐหรือเปล่า ไว้ใจได้มากน้อยแค่ไหน ต้องอาศัยอาสาสมัครและคนในชุมชนรับรองว่าเราเป็นภาคประชาสังคมจริงๆ ทำงานช่วยเหลือคนในพื้นที่ ช่วยเหลือได้จริงๆ ผิดคือผิด ถูกคือถูก ต้องสร้างความไว้วางใจ เชื่อมงานได้ดี หนุนเสริมกลไกให้พึ่งพากันและกัน ช่วงแรกๆ ชุมชนค่อนข้างไม่ไว้ใจบางพื้นที่เราเข้าไปหาอาสาสมัคร ไม่ได้เข้าไปหาผู้นำชุมชนตั้งแต่ต้น เขามองว่าเป็นการหักหน้า ถ้าได้รับการไว้วางใจจากอาสาสมัคร ก็ไม่ยากที่จะได้รับความไว้วางใจจากผู้นำในชุมชน การทำงานกับชุมชนเราต้องแสดงความจริงใจให้เขาเห็น และมีความต่อเนื่อง เป็นต้นทุนของเรา เมื่อมีปัญหาสามารถเชื่อมกันได้ และให้ชุมชนเดินได้ด้วยตัวเอง
คนข้างนอกเข้าไปแต่ไม่รู้ว่า เข้าไปสร้างปัญหาให้มากขึ้น เมื่อเราอออกมาเขาต้องมีชีวิตอยู่ในชุมชนต่อไป จะถูกเพิ่งเล็งหรือข่มขู่หรือๆไม่ เมื่ออาศัยกลไกชุมชนเท่ากับชุมชนเห็นด้วยกับการเขาไปของเรา ช่วยหนุนสนเสริม ผลักดันและปกป้องเขาได้ด้วย
ปัญหาที่ผู้หญิงในพื้นที่ประสบคือเรื่องความรุนแรงในครอบครัว รองลงมาคือการไม่ได้รับสิทธิ์ การเยียวยาที่ไม่ได้รับ ตามด้วยความไม่รู้ ไม่ไว้วางใจผู้นำชุมชน เพราะไม่ได้คุยกัน เราเข้าไปเป็นตัวกลางเชื่อมการพูดคุยให้ตรงกัน หรือต้องอาศัยคนนอก มีกลไกในการทำงานแต่ละพื้นที่ที่มีบริบทต่างกัน
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่พูดยาก ไม่มีใครรับและไม่พูด เป็นประเด็นที่ถูกปิด เราต้องยอมรับความจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ไม่ใช่พยายามกลบไม่ให้ถูกนำเสนอ การเปิดเพื่อให้เห็นว่าปัญหามีอยู่จริง จะแก้กันยังไงเพื่อช่วยคนเหล่านี้ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ก็ไม่ค่อยพูด บอกว่าเป็นเรื่องผัวเมียอย่าไปยุ่ง แต่เมื่อผู้หญิงไม่มีที่พึ่ง ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม หลักการพูดถึงเรื่องนี้มาก แต่ในทางปฏิบัติไม่มีช่องทางที่จะช่วยได้ก็ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม ประเด็นที่หลายฝ่ายหลายคนพยามเรียกร้องคือ การให้มีผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่ผู้หญิงมาร้องเรียนและขอความช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมามีคณะกรรมการฯ เป็นผู้ชายทั้งหมด สถิติของผู้หญิงที่ประสบปัญหาออกมาร้องเรียนน้อยมากเพราะอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อต้องออกมาต้องมีค่าใช้จ่าย เมื่อต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง มาครั้งนึงก็ไม่จบบางรายเป็นปีสองปีกว่าจะจบเรื่อง แล้วยังถูกทัศนคติถูกมองในชุมชนว่าไปร้องเรียนเรื่องผัวตัวเอง ถูกบอยคอตจากคนในชุมชนอีก ทำให้กลไกเหล่านี้ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง ถ้ากลไกและช่องทางเปิดทำให้ทั้งสองฝ่ายใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่ได้เอื้อแค่ผู้หญิง แต่เอื้อผู้ชายด้วย
ส่วนผู้หญิงที่เข้าไปนั่งอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการฯ คือคนสกรีนก่อน ต้องเข้าใจมิติหญิงชาย รับฟังปัญหาของผู้หญิงด้วยกัน มีความเป็นกลาง ไม่ทำร้ายผู้หญิงด้วยกันเอง อยากให้ผู้หญิงเดินเข้าไปหาคณะกรรมการฯ ที่เป็นที่พึ่งได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัว ไปแล้วเหมือนถูกกระทำซ้ำ ยังไม่มีพื้นที่กลางเปิดให้ได้คุยอย่างปลอดภัยในชุมชน เป็นเรื่องที่ต้องกระซิบคุย และผู้หญิงถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก”
ปาตีเมาะบอกอีกว่า ในยะลามีชุมชนใกล้เมืองที่มีหญิงหม้ายจากการหย่าร้างนับร้อยคน สาเหตุมาจากเมื่อมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น มีการเชิญผู้นำและคนในชุมชนมาประชุมข้างบอกบ่อยๆ พากันไปเที่ยว ผู้ชายเจอคนมากขึ้น หลงผู้หญิง กลับมาขอเงินและทุบตีภรรยา หย่าร้าง มีอายุน้อย 15-16 ปีที่เป็นหม้าย ทุกคนอยากเล่าเรื่องของตัวเอง จึงควรมีพื้นที่ที่สามรถระบายได้อย่างสบายใจ
“ปัญหาสามจังหวัดต่างมุ่งไปที่ปัญหาความไม่สงบ แต่ปัญหาใต้พรมที่ต้องแก้ไปพร้อมกันคือปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เมื่อพูดเรื่องความมั่นคงทีไรก็มีปัจจัยหนุนเสริม แต่พูดเรื่องปัญหาในครอบครัว คุณภาพชีวิตไม่มีอะไรมาหนุนเสริม แต่อย่าลืมว่า คือชีวิตของคนที่นี่จริงๆ เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเป็นอันดับต้น เพราะความสงบสุขในครอบครัวต้องมาเป็นอันดับแรก มิฉะนั้นสันติภาพก็ไม่เกิด จากครอบครัวไปสู่สังคมวงกว้าง พูดกันแต่ในเรื่องการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม แต่เรื่องนี้เป็นเชื้อไฟที่รอปะทุ เด็กที่มีปัญหาครอบครัวง่ายต่อการชักจูงไปสู่การใช้ความรุนแรงมาก อาจมีคนบอกว่าพ่อแม่เขาไม่ได้ตายจากเหตุการณ์จะไปช่วยทำไม สังคมมองผ่านไป ไม่มีใครพูดถึงและลงมาช่วย จริงๆ เด็กเหล่านี้มีบาดแผลในใจที่เห็นการทุบตี ทำร้ายรางกาย ซึมซับในใจการใช้ความรุนแรงมาแต่ต้น พัฒนาการมาจนอายุมากขึ้น นำไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เป็นวงจรกลับ เขาเลือกใช้ความรุนแรงกับคนอื่นโดยมองเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่แก้ยากเพราะเป็นความทรงจำที่ฝังใจ”
สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้หญิงชายแดนใต้มีบทบาทหน้าที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นในสังคม ซึ่งปาตีเมาะบอกว่า
“ขอบคุณสถานการณ์เป็นตัวเปิดให้ผู้หญิงสามารถออกมาสู่สังคมภายนอกได้ เป็นโอกาสให้ผู้หญิงได้สร้างพื้นที่แสดงศักยภาพให้สังคมได้รับทราบ ที่ผ่านมาผู้หญิงไม่มีพื้นที่แสดงศีกยภาพเหมือนกับผู้ชาย ด้วยความเป็นผู้หญิงที่มีความนุ่มนวล กลไกทั้งชุมชนและทั้งสองฝ่ายพยายามอาศัยผู้หญิงมาผลักดันแทน มีพัฒนาการไปมาก รับรู้เรื่องราวต่างๆ มากขึ้น สามารถเป็นตัวเชื่อมได้ดีมากได้ทุกระดับ ทุกหน่วยงาน งานอาสาส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ผู้ชายหายาก มองว่าสถานการณ์เป็นส่วนหนึ่ง สำคัญคือผู้หญิงมีความอดทนในทุกเรื่อง ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ สื่อสารเรื่องราวของชุมชน
แต่ 11 ปีผ่านไป ทำไมเรายังทำงานย่ำอยู่กับที่ ทำงานได้ผลเท่าเดิม ทำงานกับคนเดิมๆ เรื่องเดิมๆ ขยายไปได้ไม่เท่าไหร่ ทุกหน่วยงานใช้คนเดิมๆ ซึ่งเมื่อรับรู้ไปหลายเรื่องแต่ไม่มีเวลาไปพัฒนาชุมชนตนเองหรือขยายกระจายความรู้ต่อ ปิดโอกาสคนใหม่ ศักยภาพของคนจะได้พัฒนาเมื่อได้รับโอกาส ส่วนภาคประชาสังคมต้องปรับกลยุทธ์ ทบทวนแกนนำ คนที่ทำงาน พื้นที่ให้มีความหลากหลาย อาจจะพัฒนาแบบก้าวกระโดด กระจายข้อมูลและรับคนใหม่เพิ่ม ลองฟังเสียงคนใหม่แล้วจะได้รับรู้ประเด็นใหม่
การรวมตัวกันเป็นคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จากการทำงานหลากลหายแต่รวมตัวกันได้โดยมีจุดร่วมกัน ไม่ขัดกับบทบาทหลัก เป็นเรื่องท้าทายว่าจะทำได้ยาวนานแค่ไหน เป็นจุดเปลี่ยนที่คนทำงานมารวมตัวกัน เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการมาขับเคลื่อนด้วยกัน คิดด้วยกัน มีต้นทุนของตัวเอง พัฒนาศักยภาพกัน ได้มิตร ได้พี่ได้น้องและประสบการณ์มากขึ้น”
คณะทำงานวาระฯ ทำใน 3 ประเด็นคือ 1.รับฟังเสียงผู้หญิงในพื้นที่ที่ต้องการเรื่องความปลอดภัยมากที่สุด รับฟังเสียงชาวบ้านในชุมชนว่าอยากเห็นสิ่งไหน ผลักดันทั้งสองฝ่ายไปสู่การเจรจา ประเมินสถานการณ์ว่าความรุนแรง ภาครัฐ กลุ่มความเห็นต่างไปกันถึงไหน 2.ผู้หญิงเป็นนักประสานได้ดี ในพื้นที่นี่มีความหลากหลายที่ต้องมีการเยียวยามิติใหม่ เป็นการผสานบาดแผลของทุกคนร่วมกันทั้งพุทธ จีน คริสต์ มุสลิมสร้างความรู้สึกร่วมในพื้นที่ร่วมกัน และ 3.การพัฒนาศักยภาพของสมาชิก
“ขอสื่อสารกับทั้งสองฝ่ายในเชิงนโยบายว่า อยากเห็นความจริงใจ และขอถามว่าไม่เหนื่อยกันบ้างเหรอ” ปาตีเมาะฝากทิ้งท้าย