โดย เล ลิกอร์
เมื่อ วันที่ 4 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับเครือข่ายพัฒนานักศึกษาจากคณะต่างๆ จัดกิจกรรมเกี่ยวข้าวในโครงการ “บือแน กีตอ ทุ่งข้าว นาเรา” ณ บริเวณแปลงนาด้านหน้าคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี โดยมีคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักเรียนจากภายนอกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน ท่ามกลางบรรยากาศที่สนุกสนานแฝงความรู้ภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้ผู้เข้าร่วมได้ เรียนรู้ และสานความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ในฐานะผู้ริเริ่มผลักดันโครงการในครั้งนี้ให้สำเร็จ เปิดใจว่า
“ส่วน หนึ่งที่เราจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะนำพานักศึกษาลงไปสู้รากเหง้าของ ความเป็นมนุษย์และความเป็นชุมชน และเรื่องของวัฒนธรรมข้าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาจิตวิญญาณและพลังในการพัฒนาของนักศึกษาที่ทำ กิจกรรมเพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์ และคิดว่ากิจกรรมที่ทำอย่างครบวงจรแบบนี้ตั้งแต่เริ่มดำนา ดูแล จนมาเป็นรวงข้าวในวันนี้จะทำให้เรียนรู้อย่างครบวงจรถึงกระบวนการที่มาของ ข้าวและวัฒนธรรมของข้าวต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่นักศึกษาได้เรียนรู้ สำหรับวันนี้รู้สึกภาคภูมิใจกับความสำเร็จของกิจกรรมนี้ เพราะส่วนตัวไม่คิดว่าต้นข้าวจะงอกงามออกมาได้ขนาดนี้ เพราะพื้นที่ดินตรงนี้ค่อนข้างเสื่อมโทรมเป็นดินไม่ค่อยมีคุณภาพ แต่คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และเครือข่ายพัฒนานักศึกษาของคณะวิทยาการสื่อสารและคณะอื่นๆ ได้ร่วมด้วยช่วยกันตั้งแต่การเตรียมดิน เอาน้ำเข้านา ดำนา จนถึงการเกี่ยวข้าวในวันนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนทำงานเครือข่ายพัฒนานักศึกษา ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างครบวงจร”
ผศ.พัช รียา ไชยลังกา คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า “ได้รับเชิญจากท่านคณบดีคณะวิทยาการสื่อสารให้มาร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้าวใน ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกให้นักศึกษารู้กระบวนการปลูกข้าวตั้งแต่เริ่มต้น จนเสร็จสิ้นกระบวนการ เพราะนักศึกษาในปัจจุบันไม่มีความรู้ในเรื่องข้าวซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจของ ประเทศไทย ตัวเองเป็นคนภาคเหนือที่บ้านก็มีนาข้าวเห็นวัฒนธรรมนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่มาทางภาคใต้เห็นเพียงทุ่งนาร้างไม่ค่อยมีการปลูกข้าว การที่คณะวิทยาการสื่อสาร ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ถือเป็นโอกาสดีของนักศึกษาในคณะที่ได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องข้าวที่เรากิน อยู่ทุกวัน เห็นคุณค่าของข้าวมากขึ้น ไม่กินทิ้งขว้าง ซึ่งวันนี้มีนักเรียนจากโรงเรียนเจริญศรีศึกษา ได้มาร่วมกิจกรรมกับเราด้วย ได้พูดคุยกับซิสเตอร์ ซึ่งท่านสนใจกิจกรรมนี้อย่างมากและบอกว่าถ้ามีโอกาสจะขอความอนุเคราะห์ทาง คณะวิทยาการสื่อสารนำนักเรียนมาทดลองปลูกข้าวด้วย”
“กิจกรรม บือแน กีตอ ทุ่งข้าว นาเรา ครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบสะท้อนการอยู่ร่วมกันในสังคม การเกื้อกูลกัน และการมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน นอกจากนักศึกษารุ่นใหม่ยังได้เรียนรู้วิธีการปลูกข้าวอย่างครบวงจรแล้ว ยังได้เห็นถึงภาพสะท้อนความรัก ความสามัคคี การเอื้ออาทรกันและกันของคนในสมัยโบราณ ที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้าวลงแขก ถือเป็นกิจกรรมที่ดีที่คณะวิทยาการสื่อสารได้จัดขึ้น เพราะในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นนี้ เรายังสามารถนำกิจกรรมดีๆ มาเชื่อมความสัมพันธ์ให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ” รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าว
อาจารย์ จารียา อรรถอนุชิต อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร 1 ใน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่แรกเริ่ม เปิดใจถึงความประทับใจในครั้งนี้ ว่า “ ประทับใจที่คณะริเริ่มโครงการดีๆ แบบนี้ ที่ทำให้เราได้เห็นคุณค่าของข้าว โดยส่วนตัวเป็นคนชอบและมีความฝันอยากเป็นชาวนา อยากมีที่นา และอยากปลูกข้าวอินทรีย์ไว้กินเอง การที่คณะมีโครงการนี้เกิดขึ้นก็เท่ากับช่วยทำความฝันส่วนหนึ่งให้เป็นจริง ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชาวนาตั้งแต่แรก ได้มีโอกาสเข้าร่วมตอนไถนา ปรับสภาพดิน รู้เลยว่า ไม่ง่าย เพราะต้องใช้พลังกายพลังใจเยอะมาก การที่ชาวคณะวิทยาการสื่อสารผ่านจุดนั้นมาได้ ถือเป็นความท้าทายที่ทำให้เราได้เห็นและเรียนรู้วิถี เรียนรู้เรื่องความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์พื้นที่ดีๆ ให้เกิดขึ้น กิจกรรมนี้ยังทำให้เราได้เพื่อนและเครือข่ายทั้งจากภายในมหาวิทยาลัยและ ภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย ยังเชื่อว่าก้าวต่อไป เมื่อเราเรียนรู้จากภายในแล้ว ในอนาคตอาจเกิดกลุ่มชาวนาจิตอาสา ที่จะไปร่วมด้วยช่วยชาวบ้านดำนา หรือเกี่ยวข้าวกัน อันนี้เป็นอีกภาพฝันที่ยังอยากเห็นในอนาคต”
นาย อิทธิเดช รัตนะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานีกล่าวถึงวัตถุประสงค์ โครงการ ฯ ครั้งนี้ ว่า บือแนกีตอ ทุ่งข้าวนาเรา เป็นกิจกรรมที่คณะวิทยาการสื่อสาร มุ่งหวังที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมในการถือประโยชน์เพื่อนมนุษย์ ผ่านการเรียนรู้คุณค่าของข้าว โดยออกแบบกิจกรรมในลักษณะ project based learning หรือการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน เริ่มตั้งแต่ให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์ วางแผนการดำเนินงาน ลงมือทำเองทุกกระบวนการ ตั้งแต่ การทำคันนา เตรียมดิน นำดินไปตรวจความเป็นกรด/ด่าง เตรียมปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ไถนาคราดทำเทือก ดำนา ดูแลต้นข้าว (การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช) เกี่ยวข้าว นวดข้าว ตากข้าว นำข้าวเปลือกที่ได้ไปสีเป็นข้าวสาร และนำข้าวสารมาใช้ประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ในโอกาสต่อไป กิจกรรม บือแนกีตอฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงรับนักศึกษาใหม่ สโมสรนักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร ได้สอดแทรกขั้นตอนการทำนาเข้าไปในกิจกรรมรับน้องใหม่ โดยได้รับความสนใจจากทั้งนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร จากหลากหลายคณะหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนเจริญศรีศึกษา เมื่อทราบข่าวการจัดกิจกรรมจึงได้ขอนำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 30 คน เข้าร่วมดำนา ในวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา และเกี่ยวข้าวในวันที่ 4 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการสาธิตวิธีการเกี่ยวข้าว ทั้งแบบภาคใต้ซึ่งใช้แกระ และเกี่ยวด้วยเคียวแบบภาคกลางด้วย
นายสัตยา ยุคุนธราภิรักษ์ นักศึกษาสาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ ชั้นปีที่ 1 เปิดใจว่า
“การ ทำนาข้าวเป็นสิ่งสำคัญที่คนไทยควรรู้จักว่ามีขั้นตอนในการทำยังไง ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่มีความรู้และไม่เคยทำนามาก่อน เมื่อผมได้มาอยู่ที่นี่ คณะวิทยาการสื่อสารได้จัดกิจกรรมทำนาข้าวขึ้นมาในชื่อ บือแนกีตอ ทุ่งข้าวนาเรา พี่อิทธิเดช เป็นคนเปิดโอกาสให้ผมและเพื่อนๆ ได้มีโอกาสสัมผัสกับการทำนา การไถ และได้ให้ความรู้ในการไถตลอดจนวิธีการทำนา ปลูกข้าว ผมและเพื่อนได้ลงมือทำการปรับหน้าดิน ไถนา เพื่อใช้ในการปลูกข้าว และยังได้ลงมือทำปุ๋ยชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อลดต้นทุนในการทำนา สุดท้ายคือการได้ลงมือปลูกข้าว หรือดำนาด้วยตัวเราเอง เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำอย่างมาก ได้เห็นความสุขจากใบหน้าของเพื่อนๆ ที่ได้ทำนาร่วมกัน กิจกรรมนี้ทำให้เกิดความสามัคคีกันในการทำงาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งได้รู้จักวิธีการปลูกข้าว ทำนา ทำปุ๋ย และต้องมีความอดทนสูงเพื่อที่จะได้ข้าวมาแต่ละเม็ด เป็นการฝึกฝนตัวเองไปด้วย และสิ่งสำคัญทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้าวและชาวนาที่ปลูกข้าวให้ เราได้ทาน ตลอดจนการทำวิชาความที่ได้จากการทำนาปลูกข้าว นำไปใช้ในอนาคตข้างหน้า หรือนำความรู้ไปสอนผู้ที่สนใจในการทำนาข้าว สุดท้ายขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่ให้ความรู้กับผมในการทำนาข้าว ตลอดถึงคณะวิทยาการสื่อสารที่ได้ให้โอกาสแก่ผมและเพื่อนได้รับประสบการณ์ ใหม่ในครั้งนี้และผมหวังว่าจะได้เข้าร่วมกิจกรรมทำนาข้าวอีกในครั้งต่อ เพื่อที่จะให้น้องๆ รุ่นต่อได้สัมผัสกับประสบการณ์เช่นกัน ”
นาย ธาดาพงษ์ สำเภาศรี บุคลากรคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เปิดใจว่า “ผมเคยแต่กินข้าว ไม่เคยปลูกข้าวมาก่อน เข้าใกล้มากที่สุดก็ตอนออกค่ายอาสาที่ไปลงชุมชน เดินผ่านนาข้าว ตอนที่พี่ต้มบอกผมว่าปีนี้จะทำนาข้าว ผมรู้สึกกังวลว่ามันจะไปรอดหรือ เพราะทานตะวันที่เคยไปช่วยปลูกก็เหนื่อยเอาการอยู่ รอบนี้จะเล่นทำนากันเลยหรือนี่ ผมคิดในใจ หวั่นใจและดีใจที่จะได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ หลังจากนั้นก็เข้ามาช่วย ให้กำลังใจ ไถนา ใส่ปุ๋ย ถ่ายรูปเล่น ดำนา และเกี่ยวข้าว เห็นพัฒนาการจากแปลงดินโล่ง เป็นคันนา และต้นข้าวเล็กๆ ที่ค่อยๆ เติบโต จนออกรวงเขียวขจี ตอนที่เห็นเป็นเม็ดข้าวสุกนี่ผมไม่รู้ว่าตอนนั้นจะกล้ากินหรือเปล่า สิ่งที่ผมได้จากการมาช่วยทำนาปลูกข้าว นอกจาก มิตรภาพ เสียงหัวเราะ คือ ความรู้ใหม่ๆ จากการพูดคุยระหว่างการทำนากับทุกคน ขอบคุณคณะวิทยาการสื่อสาร ที่สร้างสรรค์กิจกรรมดีๆแบบนี้ ”