Washington to Whomever: Please Fight the Islamic State for Us
Why the Gulf States, the Kurds, the Turks, the Sunnis, and the Shia Won’t Fight America’s War
By Peter Van Buren โดย ปีเตอร์ แวน บูเรน 10/12/2015
ที่มา MGR online
ทั้งพวกผู้ต้องการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ, ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย, และบัณฑิตผู้รู้ของฝ่ายสื่อมวลชน ในตลอดทั่วทุกภาคส่วนทุกซอกมุมทางการเมืองของอเมริกา ต่างพากันระดมเสนอยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) กันอย่างมากมาย โดยที่มักมีองค์ประกอบร่วมสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคืออเมริกาจะต้องหาใครสักคนในภูมิภาคนั้นมาทำหน้าที่สู้รบทางภาคพื้นดิน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงของกลุ่มต่างๆ ซึ่งอเมริกันจินตนาการว่าน่าจะเรียกระดมมาใช้งานได้ เราก็จะค้นพบว่า ไม่ว่ารัฐอาหรับ, ชาวเคิร์ด, ชาวเติร์ก, ชาวสุหนี่, หรือชาวชีอะห์ ล้วนแล้วแต่จะไม่มาต่อสู้รบราในสงครามของอเมริกาเพื่อบรรลุจุดประสงค์ทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาหรอก
ในบรรดายุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) จำนวนมากมาย ซึ่งทั้งพวกผู้ต้องการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ, ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย, และบัณฑิตผู้รู้ของฝ่ายสื่อมวลชน ในตลอดทั่วทุกภาคส่วนทุกซอกมุมทางการเมืองของอเมริกา ต่างพากันระดมเสนอออกมานั้น มีองค์ประกอบอยู่ประการหนึ่งซึ่งดูจะปรากฏอยู่ในข้อเสนอทุกๆ อันจนดูโดดเด่นเตะตามาก องค์ประกอบร่วมที่ว่านี้ได้แก่ ควรต้องหาใครสักคนหนึ่งมาเป็นผู้ลงมือทำศึกสงครามกับไอเอสอย่างจริงจัง สหรัฐฯนั้นจะส่งให้ทั้งเครื่องบิน, ที่ปรึกษา, และคนในสังกัดหน่วยรบพิเศษ แต่ถ้าให้ดีที่สุดแล้ว (ตรงนี้อาจจะมีระดับที่แตกต่างผิดแผกกันอยู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะหยิบยกเอาข้อเสนอของนักยุทธศาสตร์จอมปลอมคนไหนขึ้นมาพิจารณา) ก็ขอให้ชาวอาหรับ, ชาวเคิร์ด, ชาวเติร์ก, ชาวสุหนี่, และ/หรือชาวชีอะห์ ได้โปรดกรุณาก้าวเข้ามาโดยเร็ว และช่วยเหลือให้อเมริกาหลุดออกจากความลำบากยุ่งยากเสียทีเถอะ
แนวความคิดที่จะหาใครคนอื่นเข้ามารับหน้าที่สู้รบภาคพื้นดินให้ชาวอเมริกัน ซึ่งก็อยู่ในทำนองเดียวกันกับแผนการของวอชิงตันที่จะสร้างกลุ่มกบฎชาวซีเรีย “สายกลาง” ขึ้นมาแบบนึกๆ ฝันๆ และในที่สุดก็ต้องยอมโยนทิ้งไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ [1] นั้น ดูมีเสน่ห์ดึงดูดใจทีเดียวเมื่อมันปรากฏอยู่บนแผ่นกระดาษ หาใครอื่นสักคนมาทำการสู้รบในสงครามของอเมริกาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ของฝ่ายอเมริกันกันเถอะ หยิบเอาพวกคนหน้าตาเป็นอาหรับโยนเข้าไปในสงครามคราวนี้ หรือไม่เช่นนั้นอย่างน้อยชาวเคิร์ดสักคนก็ยังดี (เนื่องจากถึงแม้พวกเขาอาจจะไม่ใช่คนอาหรับ แต่ในการคิดคำนวณแบบอเมริกัน พวกเขาก็ใกล้เคียงเพียงพอแล้วล่ะ) สำหรับสหรัฐฯนั้นควรมุ่งโฟกัสไปที่การใช้แสนยานุภาพทางอากาศที่ไม่ทำให้ตนเองต้องเลือดตกยางออก หรือไม่ก็เน้นที่การส่งทีมหน่วยรบพิเศษออกปฏิบัติการอย่างลับๆ ก็พอแล้ว คนอื่นๆ นั่นแหละ ควรที่จะสาวเท้าก้าวเข้ามาในภาคพื้นดินของซีเรียและอิรักซึ่งกำลังเกิดการทำศึกยื้อแย่งกันอยู่ พวกมันสมองระดับท็อปของวอชิงตันต่างพูดกันอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมคนอื่นๆ เหล่านั้นควรต้องก้าวเขามานะหรือ? อ้าว สหรัฐฯยังอาจจะมอบของขวัญที่เป็นรองเท้าบู๊ตใหม่ๆ งามๆ ให้ด้วยนะเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ
อย่างไรก็ตาม นี่คือยุทธศาสตร์อันสอดคล้องกับความเป็นจริง สำหรับการเอาชนะสงครามของอเมริกาในตะวันออกกลางจริงๆ หรือ?
เหล่าแชมเปี้ยนผู้ยิ่งใหญ่ของมหายุทธศาสตร์หาคนอื่นมารบแทน
เมื่อเร็วๆ นี้ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) [2]ซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นผู้ต้องการสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนหนึ่งของทางพรรคเดโมแครต ได้ออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผย [3] ให้สหรัฐฯไล่ต้อนรวบรวมพันธมิตรอาหรับบางราย, ชาวเคิร์ด, และชาวสุหนี่อิรัก เพื่อช่วยกันผลักดันขับไสเหล่านักรบของกลุ่มรัฐอิสลามให้ออกไปจากอิรักและซีเรีย ในวันเดียวกับที่คลินตันประกาศข้อเสนอของเธอนั้นเอง เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) [4] แคนดิเดตอีกคนหนึ่งก็เรียกร้องให้ “ทำลายล้าง” กลุ่มรัฐอิสลาม แต่เขาเสนอแนะว่าเรื่องนี้ “ที่สำคัญแล้วต้องดำเนินการโดยบรรดาชาติมุสลิม” ออกจะน่าสงสัยอยู่ว่าเขาหมายถึงชาติมุสลิมอย่างอินโดนีเซียหรือมาเลเซียหรือเปล่านะ
ทางด้านพวกที่ประกาศตัวต้องการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝั่งพรรครีพับลิกัน มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) [5] เสนอว่า สหรัฐฯ “ควรจัดหาอาวุธส่งให้แก่กองกำลังของชนเผ่าชาวสุหนี่และกองกำลังชาวเคิร์ดโดยตรงเลย” สำหรับ เท็ด ครูซ (Ted Cruz)[6] ประกาศให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่การติดอาวุธให้ชาวเคิร์ด ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)[7] ดูเหมือนพอใจที่จะให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว โดยใครก็ตามทีที่มีความปรารถนาจะกระโจนเข้าไปร่วมวง
เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) นั้นมีความปรารถนามานานแล้วที่จะติดอาวุธ [8] ให้แก่ทั้งชาวเคิร์ด และกลุ่มชนเผ่าชาวสุหนี่ในอิรักหรือซีเรีย ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตามที่สามารถไล่ต้อนรวบรวมมาได้ ในส่วนของบัณฑิตผู้รู้หลากหลาย [9][10]ตลอดทั่วทุกภาคส่วนทุกซอกมุมทางการเมืองของอเมริกา ส่วนมากก็พูดจาแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันนี้
พวกเขาอาจจะล้วนแล้วแต่มีเจตนาดี แต่รับรองได้เลยว่าแผนการของพวกเขามีแต่จะประสบความล้มเหลว ทำไมนะหรือ ผมขออธิบายแจกแจงไล่เรียงกันไปทีละกลุ่มเลย
ชาวอาหรับ
เสียงเรียกร้องของผู้ที่ต้องการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งหลาย ส่วนใหญ่แล้วอิงอยู่กับสมมุติฐานข้อหนึ่ง ที่ว่า “ชาวอาหรับ” นั้นมองกลุ่มรัฐอิสลามเป็นภัยคุกคามในลักษณะเดียวกับที่วอชิงตันมอง
มันเป็นจุดยืนซึ่งในแวบแรกที่เหลือบมอง ดูเหมือนจะมีเหตุมีผลอย่างชัดเจนทีเดียว ก็ในเมื่อพวกนักการเมืองชาวอเมริกันยังกำลังรู้สึกกลัดกลุ้มว่าประดาทีมก่อการโจมตีของไอเอสอาจจะมีความอดทนอย่างเพียงพอในการอำพรางฝังตัว จนกระทั่งสามารถผ่านกระบวนการกลั่นกรองผู้ลี้ภัยที่กินระยะเวลา 2 ปี [11]ของประเทศนี้ได้ แล้วพวกประเทศอย่างซาอุดีอาระเบียซึ่งมีพวกไอเอสปฏิบัติการอยู่ตรงธรณีประตูของพวกเขาอยู่แล้วจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรเชียวหรือ ทำไมพวกเขาจะไม่รีบกระโจนเข้ามาคว้าโอกาสที่จะได้มีส่วนในการช่วยเหลือ อย่างเช่น ส่งเครื่องบินและทหารสักจำนวนหนึ่งมาเข้าร่วมภารกิจทำลายล้างองค์การร้ายแห่งนี้? “ชาวอาหรับ” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสหรัฐฯหมายความถึงพวกรัฐริมอ่าวเปอร์เซียจำนวนหยิบมือหนึ่ง บวกกับจอร์แดน ตามหลักเหตุผลแล้วสมควรที่จะเรียกร้องโอกาสในการเข้าร่วมการสู้รบนี้อย่างเต็มไม้เต็มมือด้วยซ้ำไป
แน่นอนทีเดียว นี่เป็นธีม (theme) แรกๆ ธีมหนึ่งซึ่งคณะบริหารโอบามาพยายามป่าวร้องโปรโมต[12] หลังจากเริ่มต้นการรณรงค์ทิ้งระเบิดในซีเรียและอิรักในช่วงปี 2014 อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วการเข้ามีส่วนร่วมของชาวอาหรับในการปฏิบัติการถล่มโจมตีของ “กลุ่มพันธมิตร” ดังกล่าว จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ยังคงอยู่ในระดับที่จำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่งชนิดชวนให้ตะลึงงันกันทีเดียว ตัวเลขที่แน่นอนนั้นดูจะยังติดตามตรวจสอบกันให้ชัดเจนได้ลำบาก แต่เท่าที่เราทราบก็คือ เครื่องบินรบของอเมริกันเป็นผู้ที่แบกภาระราวๆ 90% [13]ของการโจมตีทางอากาศทั้งหมดที่กลุ่มพันธมิตรปฏิบัติการเล่นงานพวกไอเอส แล้วในการโจมตีทั้งหมดซึ่งมิได้ดำเนินการโดยฝ่ายอเมริกัน การวิเคราะห์จำแนกให้ทราบว่าที่เป็นฝีมือของเหล่าชาติอาหรับมีจำนวนเท่าใดกันแน่นั้น กลายเป็นสิ่งที่เกินความสามารถแม้กระทั่งการสืบค้นของกูเกิล กระนั้นก็ตามที ด้วยสภาวการณ์ที่บรรยายมา ก็ดูจะบรรลุสู่ข้อสรุปว่า คำตอบน่าจะออกมาว่าไม่ได้เป็นจำนวนมากมายอะไร
ขอให้เราตระหนักเอาไว้ด้วยว่า ความเป็นจริงของภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่แทบไม่มีบทบาทอะไรนักในการขบคิดพิจารณาของวอชิงตัน ขณะที่สำหรับชาวอาหรับริมอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งทุกๆ รัฐต่างมีพลเมืองเป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่เกินกว่าครึ่งไปอย่างมากมาย ไม่ว่ากลุ่มรัฐอิสลาม หรือว่ากลุ่มเชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์ ซึ่งต่างเป็นกลุ่มในฝ่ายสุหนี่ ก็แทบไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเรื่องกวนใจ ให้พวกเขาต้องหันเหบ่ายเบนออกมาจากสิ่งที่พวกเขาหวาดกลัวมากที่สุด อันได้แก่การก้าวผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจฝ่ายชีอะห์ในสถานที่อย่างอิรัก และอย่างอิหร่าน ซึ่งกำลังมีความเข้มแข็งในระดับภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ[14]
ในบริบทเช่นนี้ การจินตนาการว่าชาติอาหรับเหล่านี้จะเป็นพลังต่อต้านไอเอสในอนาคตที่มีความสำคัญมาก จึงเป็นความฝันอันไร้สาระ ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มก่อการร้ายที่เป็นสุหนี่อย่างเช่น ไอเอส และ อัลกออิดะห์ ต่างได้รับความสนับสนุนทางการเงินส่วนหนึ่งจากพวกรัฐอย่างซาอุดีอาระเบีย หรืออย่างน้อยที่สุดก็จากพวกผู้สนับสนุนฐานะมั่งคั่งซึ่งกำลังพำนักอาศัยอยู่ในรัฐเหล่านี้ การหาความเชื่อมโยงโดยตรงในเรื่องเงินทุนสนับสนุนนี้มักเป็นเรื่องยากลำบากที่จะพิสูจน์ออกมาให้ได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสหรัฐฯเลือกที่จะไม่ทำการพิสูจน์กันต่อหน้าสาธารณชน เรื่องนี้ยิ่งเป็นจริงมากขึ้นไปอีกในเมื่อเงินทองที่ไหลเข้าไปยังกระเป๋าของพวกองค์การก่อการร้ายแบบนี้ มักมาจากผู้บริจาครายปัจเจกบุคคล ไม่ได้โอนย้ายถ่ายเทออกมาจากท้องพระคลังแผ่นดิน หรือกระทั่งว่าการบริจาคจะอยู่ในรูปการใช้เส้นทางเคลื่อนย้ายผ่านองค์การกุศลถูกกฎหมายต่างๆ ตลอดจนผ่านพวกบริษัทบังหน้าทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม บุคคลหนึ่งที่ให้ความสนใจ[15] ในวิธีการแบบปิดลับซึ่งทำให้เงินทุนจากสถานที่อย่างซาอุดีอาระเบีย สามารถไหลออกไปจนถึงกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ได้ ก็คือ ฮิลลารี คลินตัน ในตอนที่เธอยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ย้อนหลังกลับไปถึงเมื่อปี 2009 นั้น ในข้อความเตือนภัยที่ประทับตราจัดชั้นเป็นเอกสารลับชิ้นหนึ่ง (เวลานี้ถูกโพสต์เอาไว้บนเว็บไซต์จอมแฉ “วิกิลีกส์” WikiLeaks แล้ว) เธอบอกด้วยภาษาอันโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาว่า พวกผู้บริจาคในซาอุดีอาระเบียคือ “แหล่งที่มาสำคัญที่สุดของเงินทุนซึ่งไหลไปสู่กลุ่มก่อการร้ายสุหนี่กลุ่มต่างๆ ในตลอดทั่วโลก”[16]
บุคคลคนหนึ่งซึ่งคิดว่าชาวซาอุดีและประเทศอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียรายอื่นๆ น่าที่จะกำลังให้เงินทุนสนับสนุนแก่ไอเอส แทนที่จะกำลังต่อสู้กับไอเอส อีกทั้งพูดเรื่องนี้ออกมาดังๆ ด้วย ได้แก่ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยในการประชุมซัมมิตของกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี20) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศตุรกีเมื่อเร็วๆ นี้ เขาประกาศ [17]ว่าเขาได้รับข้อมูลทางด้านข่าวกรองที่มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันมา ซึ่งเปิดเผยให้ทราบว่ามี 40 ประเทศ บางรายก็อยู่ในกลุ่ม จี20 นี่แหละ เป็นผู้ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมส่วนใหญ่ของพวกรัฐอิสลาม ถึงแม้ไม่ได้มีการเปิดเผยบัญชีรายชื่อของปูตินว่าด้วยชาติซึ่งถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาจากรายชื่อสมาชิกของ จี20 แล้ว ซาอุดีอาระเบีย และตุรกี ก็ดูน่าจะเป็นตัวเก็งมากกว่าประเทศอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
ไม่เพียงเท่านั้น เพียงไม่กี่วันที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ได้ออกมากล่าวหา [18] ชาวซาอุดีอย่างไม่มีอ้อมค้อมว่า กำลังให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มหัวรุนแรงชาวสุหนี่
การคาดหมายว่าพวกรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียจะเข้าสู้รบทำศึกกับไอเอสนั้น ยังเป็นการละเลยเพิกเฉยต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองอันสลับซับซ้อนระหว่างชาติเหล่านี้กับลัทธิเคร่งจารีตแบบอิสลาม (Islamic fundamentalism) โดยรวมอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวมีความชัดเจนที่สุดในซาอุดีอาระเบีย โดยที่พระราชวงศ์ที่มีอำนาจปกครองแผ่นดิน สามารถที่จะครองอำนาจเอาไว้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมพร้อมใจเป็นนัยๆ จากพวกผู้นำศาสนาที่ยึดถือในลัทธิวาห์ฮาบี (Wahhabism)[19] พวกผู้นำศาสนาซึ่งนับถือลัทธิวาห์ฮาบีเหล่านี้ เป็นผู้ที่ให้ความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองแก่ทางพระราชวงศ์ซาอุดี โดยราคาที่ต้องชำระตอบแทนคือการส่งเสริมเผยแพร่ลัทธิเคร่งจารีตแบบอิสลามไปสู่ต่างแดน ทั้งนี้จากทัศนะมุมมองของพระราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียแล้ว ต่างแดนนั่นแหละเป็นสถานที่อันเหมาะสมที่สุดแล้ว เนื่องจากพวกเขากลัวว่าการเผยแพร่ลัทธินี้ภายในประเทศจะนำไปสู่การปฏิวัติอิสลามในราชอาณาจักรแห่งนี้ เมื่อพิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้ว ซาอุดีอาระเบียจึงกำลังสนับสนุนอุดมการณ์ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของตนเอง
ชาวเคิร์ด
ในบัญชีกลุ่มต่างๆ ที่ถูกบรรจุเอาไว้ในความฝันของชาวอเมริกันว่า สามารถจะเป็น “คนอื่นๆ” ที่ไปต่อสู้ทำศึกกับไอเอสให้แก่อเมริกานั้น รายชื่อซึ่งอยู่บนสุดได้แก่ ชาวเคิร์ด อันที่จริงแล้วกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ด ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “เปชเมอร์กา” (Peshmerga) ก็กำลังสู้รบอยู่แล้วจริงๆ ในสมรภูมิทางภาคเหนือของอิรักและซีเรีย โดยใช้อาวุธที่แจกจ่ายให้โดยฝ่ายอเมริกัน อีกทั้งได้รับความสนับสนุนจากแสนยานุภาพทางอากาศและที่ปรึกษาชาวอเมริกัน เพื่อเป็นการเพิ่มสมรรถนะสู้รบของพวกเขาในการเข่นฆ่าสังหารเหล่านักรบของกลุ่มรัฐอิสลาม
ทว่ารูปลักษณ์ภายนอกนั้นอาจจะเป็นของหลอกลวงก็ได้ หากนำเอาหลักคณิตศาสตร์มาประยุกต์ เมื่อเราใช้แผนภาพของเวนน์ (Venn diagram) มันจะแสดงให้เห็นว่ามีการทับซ้อนกันในระหว่างจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯกับจุดมุ่งหมายของชาวเคิร์ดบางข้อบางประการ ทว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องไม่ละเลยเพิกเฉยส่วนอื่นๆ ที่เหลือของภาพด้วย ทั้งนี้การต่อสู้ของชาวเคิร์ดนั้น เบื้องต้นที่สุดเลยเป็นการสู้รบเพื่อบ้านเกิดมาตุภูมิของตนเอง ซึ่งเวลานี้ปรากฏว่าหลายๆ พื้นที่ทีเดียวเต็มไปด้วยนักรบไอเอส และมีความจำเป็นที่จะต้องสังหารขับไล่คนเหล่านี้ให้ออกไป ชาวเคิร์ดอาจจะกำลังเข้าทำลายล้างคนเหล่านี้กันอย่างเอาจริงเอาจัง ทว่าก็เพียงแค่ภายในขอบเขตพรมแดนซึ่งพวกเขาจินตนาการว่าจะเป็นเส้นเขตแดนของเคอร์ดิสถาน (Kurdistan ดินแดนของชาวเคิร์ด) ต่อไปในอนาคต ไม่ใช่ในดินแดนที่ถือเป็นหัวใจของภูมิภาคในซีเรียและในอิรัก ซึ่งเวลานี้ถูกไอเอสควบคุมยึดครองเอาไว้
ไม่เพียงแต่ชาวเคิร์ดจะไม่สู้รบทำสงครามของอเมริกาในส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคแถบนี้ ไม่ว่าเราจะติดอาวุธพวกเขากันอย่างไร ไม่ว่าเราจะให้คำแนะนำแก่พวกเขาอย่างไร มันยังดูเป็นไปไม่ได้อีกด้วยที่จะนึกฝันคาดหวังว่า ในทันทีซึ่งชาวเคิร์ดสามารถเข้าควบคุมหลายๆ บริเวณที่แผ่ขยายออกไปในภาคเหนือของอิรักตลอดจนในส่วนต่างๆ ของซีเรียแล้ว พวกเขาก็จะยินยอมโดยดีที่จะสละทอดทิ้งแผนการต่างๆ ที่พวกเขาวาดวางไว้บนดินแดนซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของตุรกี นี่เป็นมายาภาพแบบอเมริกันที่มีอันตรายมาก ในการนึกฝันจินตนาการขึ้นเอาเองว่า วอชิงตันสามารถที่จะเปิดหรือปิดลัทธิชาตินิยมชาวเคิร์ดได้ตามแต่ที่ตนเองต้องการ[20]
ชาวเคิร์ด ซึ่งเวลานี้ทั้งติดอาวุธชั้นดีและมีประสบการณ์การทำศึก เป็นเพียง “ยักษ์จินี่” ตนหนึ่งในหลายๆ ตน ซึ่งวอชิงตันได้ปล่อยออกมาจากขวดตะวันออกกลางในปี 2003 เมื่อตอนที่ทำการรุกรานยึดครองอิรัก ในขณะนี้ไม่ว่าสหรัฐฯจะมีความหวังเอาไว้อย่างไรในเรื่องเกี่ยวกับเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ในอนาคตข้างหน้า ก็ต้องขอเตือนว่าอย่าได้คาดหมายยึดมั่นอะไรจริงจังนัก การใช้ชาวเคิร์ดมาต่อสู้กับไอเอสนั้น เท่ากับการเล่นเกมต่อรองกับปีศาจร้ายนั่นแหละ
ชาวเติร์ก
แล้วเมื่อพูดถึงเรื่องเกมการต่อรองกับปีศาจร้าย ก็อย่าลืมเรื่องของตุรกีด้วย คณะบริหารโอบามาได้บรรลุข้อตกลงฉบับหนึ่งซึ่งทำให้อเมริกาสามารถใช้ฐานทัพ 2 แห่งในตุรกีเพื่อส่งเครื่องบินสู้รบเข้าปฏิบัติการในสงครามทางอากาศต่อสู้ปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลามที่กำลังทวีความเข้มข้น[21] สำหรับสิ่งที่สหรัฐฯจะต้องตอบแทนความเอื้ออาทรนี้ โดยสาระสำคัญแล้วได้แก่การที่วอชิงตันต้องทำเป็นมองเมินไปทางอื่น ขณะที่ประธานาธิบดีเรเซป เออร์โดกัน (Recep Erdogan) เปิดสงครามปราบปรามพวกกบฏเคิร์ดภายในประเทศขึ้นมาใหม่อีกรอบหนึ่ง ด้วยวัตถุประสงค์อย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเรียกคะแนนจากผู้สนับสนุนที่มีแนวความคิดชาตินิยมและคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ในทำนองเดียวกัน สหรัฐฯยังได้ออกมาแสดงการสนับสนุนตุรกีในกรณีที่ตุรกียิงเครื่องบินรัสเซียตกเมื่อเร็วๆ นี้อีกด้วย[22]
แต่เมื่อมาถึงเรื่องกลุ่มรัฐอิสลามแล้ว อย่าได้คิดกลั้นลมหายใจเฝ้ารอคอยชาวเติร์กให้เข้ามาช่วยเหลือในทางการทหารอย่างจริงจังเป็นอันขาด รัฐบาลของประเทศนั้นอย่างน้อยนิดที่สุด ก็น่าจะกำลังทำตัวเป็นคนตาบอดมองไม่เห็นว่ามีการลักลอบขนอาวุธผ่านดินแดนของตนเข้าไปยังซีเรียเพื่อส่งให้พวกไอเอส[23] รวมทั้งยังมีความชัดเจนว่ากำลังทำตัวเองเป็นช่องทางลำเลียงสำหรับการลักลอบขนน้ำมันจากดินแดนยึดครองของไอเอส [24]ออกมาขายในตลาดโลก[25] พวกนักการเมืองอเมริกันดูเหมือนมีความรู้สึกกันว่า สำหรับในตอนนี้แล้วหนทางดีที่สุดคือปล่อยชาวเติร์กเอาไว้ข้างๆ และเพียงแค่แสดงความขอบคุณพวกเขาก็พอแล้วสำหรับการตบหน้าใส่พวกรัสเซียฉาดใหญ่ และสำหรับการเปิดน่านฟ้าของตนให้แก่เครื่องบินอเมริกัน
อย่างไรก็ดี การแสดงความรู้คุณเช่นนั้นน่าจะเป็นความผิดพลาด มีรายงานว่ากองทหารตุรกีที่มีกำลังพลราว 150 คนและสนับสนุนด้วยรถถัง 20-25 คัน ได้เคลื่อนเข้าไปใกล้ๆ ดินแดนยึดครองของไอเอสในภาคเหนือของอิรักเมื่อเร็วๆ นี้[26] ทำให้สมาชิกรัฐสภาอิรักผู้หนึ่งถึงกับออกมาติดฉลากให้แก่การกระทำดังกล่าวว่า คือ “การเปลี่ยนจากการปกครองของพวกมนุษย์ต่างดาวรายหนึ่ง (คือจากไอเอส) มาสู่การปกครองของพวกมนุษย์ต่างดาวอีกรายหนึ่ง” ฝ่ายเติร์กนั้นอ้างว่าพวกเขามีหน่วยฝึกอบรมทางทหารประจำอยู่ในบริเวณนั้นมาระยะหนึ่งแล้ว และพวกเขากำลังทำงานร่วมกับชาวเคิร์ดในท้องถิ่นเพื่อทำการต่อสู้กับไอเอส แต่มันน่าจะเป็นไปได้เช่นกันว่า ตุรกีเพียงแต่พยายามขอฉวยโอกาสกัดกร้วมสวาปามสักคำหนึ่ง จากสภาพที่กำลังเกิดความแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ในอิรักเวลานี้ เนื่องจากในภูมิภาคนั้นมีสถานการณ์มากมายหลายด้านหลายแง่หลายมุมเหลือเกิน รายละเอียดที่ปรากฏออกมาจึงสับสนเคลือบคลุม กระนั้นก็ตามที เมื่อดูที่ผลประกอบการบรรทัดสุดท้ายแล้ว มันก็ยังคงเป็นอันเดิม กล่าวคือ ชาวเติร์กนั้นมีจุดมุ่งหมายของพวกเขาเอง และพวกเขาไม่น่าที่จะเข้าร่วมส่วนสร้างคุณูปการอะไร ไม่ว่าต่อเสถียรภาพของภูมิภาค หรือเพื่อสนองจุดมุ่งหมายในสงครามของอเมริกัน
ชาวสุหนี่
ในบรรดายุทธศาสตร์ย่อยมากมายที่เสนอกันออกมา เพื่อใช้จัดการกับกลุ่มรัฐอิสลามนั้น แนวความคิดว่าด้วยการเรียกระดมและการติดอาวุธให้แก่ “ชาวสุหนี่” จัดอยู่ในหมู่แนวความคิดที่แสนมหัศจรรย์ที่สุด มันเป็นการสะท้อนให้เรามองเห็นภาพอันน่าตื่นตะลึง ว่าด้วยความคิดจิตใจที่แปลกประหลาดและออกอาการหลงผิดระดับหนึ่งของพวกผู้กำหนดนโยบายในวอชิงตัน และไม่ต้องสงสัยเลยว่าต้องรวมไปถึงความคิดจิตใจของผู้ที่จะเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไปด้วย[27]
เริ่มต้นทีเดียว ความคิดที่ว่าสหรัฐฯสามารถเติมเต็มเป้าหมายต่างๆ ของตนเองได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ด้วยการเรียกระดมชาวสุหนี่ท้องถิ่นให้จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับไอเอสนั้น เป็นความคิดที่อิงอยู่กับความเชื่อที่เป็นการโกหกหลอกลวงประการหนึ่ง ความเชื่อหรือภาพมายาดังกล่าวก็คือ “the surge” ซึ่งหมายถึงการที่ในระหว่างปีหลังๆ ที่อเมริกายังยึดครองอิรักอยู่นั้น อเมริกาได้เร่งเพิ่มกำลังทหารของตนในอิรักขึ้นมาอย่างมากมาย รวมทั้งโน้มน้าวเรียกระดมชนเผ่าชาวสุหนี่ในอิรักให้เข้ามาจับอาวุธช่วยเหลืออเมริกาด้วย และนี่เองเป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯประสบชัยชนะ ทว่าในเวลาต่อมาได้ถูกชาวอิรักเองกระทำความผิดพลาดจนกระทั่งเสียหายไป ภาพมายาเช่นนี้ยังติดตามมากับความเชื่ออีกประการหนึ่งซึ่งถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นความเชื่อผิดๆ ที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาวอิรักและชาวซีเรียซึ่งนับถือนิกายสุหนี่จำนวนมาก กับกลุ่มรัฐอิสลามนั้น เป็นเพียงความสัมพันธ์อันผิวเผินตื้นเขิน
ตามตำนานของวอชิงตันว่าด้วยภาพมายาเรื่อง “the surge” ช่วงปี 2007-2008 ซึ่งมีการป่าวร้องเล่าขานกันไปทั่วนั้นระบุว่า กองทัพสหรัฐฯได้ใช้ทั้งเงินทอง, อาวุธ, และการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมอย่างชาญฉลาด จนสามารถทำให้ชนเผ่าชาวสุหนี่จำนวนมากในอิรักมีความมั่นอกมั่นใจที่จะสะบั้นสัมพันธ์กับองค์กรอัลกออิดะห์สาขาท้องถิ่นอิรัก ต่อจากนั้นชาวสุหนี่เหล่านี้ก็ได้รับการกระตุ้นปลุกพลังเพื่อให้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลพันธมิตรหลายนิกายศาสนาหลายแนวคิดความเชื่อ ซึ่งสหรัฐฯพยายามสร้างขึ้นมา ตำนานนี้เล่าขานต่อไปว่า จากการปฏิบัติการเช่นนี้เอง สหรัฐฯก็ได้มาถึงชั่วขณะแห่ง “ภารกิจสำเร็จเสร็จสิ้น” (mission accomplished) อย่างแท้จริงในอิรัก นักการเมืองในวอชิงตันไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเดโมแครตหรือฝ่ายรีพับลิกันยังคงเชื่อว่า “the surge” ซึ่งนำโดย พล.อ.เดวิด เพทริอัส (General David Petraeus) ผู้บัญชาการทหารอเมริกันในอิรักเวลานั้น สามารถประสบความสำเร็จ ด้วยการโปรโมตส่งเสริมและการติดอาวุธให้แก่ชาวสุหนี่ ซึ่งเรียกขานกันว่าเป็น “ขบวนการชาวสุหนี่ผู้ตื่นตัว” (Sunni Awakening Movement) ก่อนที่จะต้องเห็นแผนการต่างๆ ของฝ่ายอเมริกันเหล่านี้ต้องประสบความเสียหายไป เนื่องจากการถอนตัวออกจากอิรักอย่างรวดเร็วเกินไปของคณะบริหารโอบามา และเนื่องจากการทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่ชาวอิรักซึ่งติดตามมา ดังนั้น คำถามในขณะนี้จึงอยู่ที่ว่า ทำไมจึงไม่ปลุกชาวสุหนี่ “ให้ตื่นตัว” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง?
ในความเป็นจริงแล้ว “the surge” มีทหารอเมริกันเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันด้วยเป็นจำนวนร่วมๆ 200,000 คน พวกเขาต้องแทรกเข้ากั้นกลางชั่วคราวระหว่างกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของชาวสุหนี่และกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของชาวชีอะห์ นอกจากนั้น “the surge” ยังเกี่ยวข้องพัวพันกับเงินทองล้านๆ ดอลลาร์ซึ่งไม่ค่อยได้มีการบอกกล่าวกัน เงินทองเหล่านี้เป็น “ค่าใช้จ่าย” (ซึ่งในสถานการณ์อีกอย่างหนึ่งจะต้องถูกเรียกว่าเป็น “เงินสินบน”[28]) เพื่อนำมาซึ่งความเป็นพันธมิตรชั่วคราวระหว่างสหรัฐฯกับชาวสุหนี่ รัฐบาลกลางของอิรักที่ครอบงำโดยชาวชีอะห์นั้นไม่เคยเห็นพ้องยอมรับข้อตกลงนี้เลย และข้อตกลงนี้ก็เริ่มแตกสลายแล้ว[29]ตั้งแต่ก่อนที่การยึดครองอิรักของอเมริกันจะสิ้นสุดลงแล้ว แน่นอนทีเดียว การที่ขบวนการรัฐอิสลามซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ ก้าวผงาดขึ้นมาและเข้าแทนที่กลุ่มอัลกออิดะห์ในอิรัก ก็คือส่วนสำคัญของกระบวนการแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ดังกล่าวนี่เอง[30]
หลังจากรัฐบาลอิรักยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มชนเผ่าชาวสุหนี่ ตามวิธีปฏิบัติซึ่งฝ่ายอเมริกันเป็นผู้กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ทีแรก ชนเผ่าเหล่านี้ก็เกิดความรู้สึกว่าถูกทรยศหักหลัง และถึงแม้ในเวลานั้นฝ่ายอเมริกันยังยึดครองอิรักอยู่ แต่อเมริกันเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือชาวสุหนี่ ประวัติศาสตร์บ่งชี้ให้เห็นว่า ความคิดของชาวสุหนี่จำนวนมากในภูมิภาคแถบนี้นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เป็นความคิดที่วนเวียนอยู่รอบๆ คำขวัญที่ว่า “อย่าโง่ถูกเขาหลอกซ้ำอีก”
ดังนั้น มันจึงเป็นไปไม่ได้อย่างที่สุดที่ชาวสุหนี่ท้องถิ่นจะยอมซื้อข้อตกลงใหม่ ซึ่งโดยพื้นฐานก็เป็นข้อตกลงอันเดียวกับของเดิม ที่แทบไม่ได้ให้คุณค่าอันคงทนถาวรใดๆ แก่พวกเขาในรอบก่อน มันยังยิ่งไม่น่าเป็นไปได้เข้าไปใหญ่ ในเมื่อคราวนี้จะไม่มีกองทหารสหรัฐฯจำนวนมากมายมหาศาลเข้ามาทำหน้าที่เป็นกันชนคอยระวังป้องกันกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชีอะห์ซึ่งฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นกว่าเก่าอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่จะต้องเติมเข้าไปในส่วนผสมนี้อีกก็คือ การที่ชาวสุหนี่บังเกิดความแน่ใจขึ้นมาเสียแล้วว่าคำมั่นสัญญาของอเมริกันนั้นไม่เคยเป็นเรื่องระยะยาว อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเช่นนี้เมื่อเป็นการให้คำมั่นสัญญาแก่พวกเขา นอกจากนั้นยังมีคำถามที่ว่า ชาวสุหนี่จะได้อะไรถ้าพวกเขายินยอมเข้าร่วมหัวจมท้ายกับฝ่ายอเมริกันอีกคำรบหนึ่ง? โอกาสอีกครั้งหนึ่งที่จะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐบาลในกรุงแบกแดดซึ่งครอบงำโดยชาวชีอะห์ และมุ่งมั่นคอยแต่จะหาทางทำให้พวกเขาด้อยค่าด้อยสิทธิลงไปเรื่อยๆ หรือกระทั่งทำลายพวกเขาเสียเลยกระนั้นหรือ[31] , หรือว่าจะให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งเวลานี้เข้มแข็งขึ้นมาได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากอิหร่าน , หรือว่าจะให้พวกเขาเข้าไปในซีเรีย ซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่นั่น ย่อมก่อให้เกิดคณะผู้นำที่มีจุดมุ่งหมายทำนองเดียวกับในอิรักขึ้นมาอย่างง่ายดาย?
ยิ่งกว่านั้น โครงการจำพวกที่มุ่งจะเรียกระดมชาวสุหนี่ให้จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม เป็นโครงการซึ่งวางอยู่บนสมมุติฐานที่ทึกทักเอาเองว่าชาวสุหนี่จำนวนมากมายพอดูเป็นพวกที่ไม่สนับสนุนขบวนการไอเอส ถึงแม้มองเห็นกันอยู่อย่างชัดเจนว่าพวกเขาย่อมรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองไม่ให้ถูกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชีอะห์เข้ามาแย่งชิงปล้นสะดม แล้วยิ่งหากลองเพิ่มเรื่องอารมณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์, ความรู้สึกต่อต้านตะวันตก, ความผูกพันทางชนเผ่า, ตลอดจนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (เชื่อกันว่ากลุ่มไอเอสได้แบ่งปันรายรับจากน้ำมันของพวกเขาออกมา เพื่อใช้เป็นสินบนมอบกำนัลแด่พวกผู้นำชนเผ่าชาวสุหนี่[32]) แล้วมันจะมีอะไรจริงๆ ที่สามารถใช้เป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้ชาวสุหนี่จำนวนมากๆ แปรเปลี่ยนกลายมาเป็นกองกำลังอาวุธภาคพื้นดินซึ่งเข้าต่อสู้รบรากับกลุ่มรัฐอิสลามอย่างทรงประสิทธิภาพ?
ชาวชีอะห์
ถึงแม้ไม่ได้ถูกกล่าวขานอ้างอิงบ่อยครั้งนัก เนื่องจากถูกโยงใยผูกพันใกล้ชิดกับพฤติการณ์โหดร้ายป่าเถื่อนที่กระทำกับชาวสุหนี่ ตลอดจนเนื่องจากพวกเขาได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มเพียบจากอิหร่าน แต่กระนั้นกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชีอะห์ก็ถูกจับตามองอย่างเงียบๆ จากคนบางส่วนในวอชิงตัน ว่ามีศักยภาพที่จะเป็นกองกำลังสู้รบปราบปรามไอเอสได้ ในความคิดของวอชิงตันแล้ว กองกำลังนี้เองที่เข้าสวมบทบาทแทนที่กองทัพอิรักซึ่งได้โยนทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ของพวกตนและหลบหนีแพ้พ่ายขบวนนักรบของกลุ่มรัฐอิสลามในภาคเหนือของอิรักเมื่อเดือนมิถุนายน 2014[33] แล้วกองกำลังนี้เองยังทำแบบเดียวกันอีกครั้งในเมืองรามาดี (Ramadi) ที่เป็นเมืองสำคัญของชาวสุหนี่ในภาคตะวันตกของอิรัก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2015[34]
ทว่าแม้กระทั่งยุทธศาสตร์ซึ่งกำหนดให้นำเอากองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชีอะห์นี้มาใช้งาน ก็ยังคงทำท่าจะประสบความล้มเหลวเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้เอง กองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชีอะห์ที่ทรงอิทธิพลหลายๆ กองทีเดียว พากันออกมาประกาศว่าพวกเขาคัดค้านการส่งกำลังทหารสหรัฐฯเข้ามาประจำการเพิ่มเติมขึ้นอีกในประเทศของพวกเขา การแสดงท่าทีเช่นนี้บังเกิดขึ้นภายหลังที่รัฐมนตรีกลาโหม แอชตัน คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ ประกาศเพียงข้างเดียว [35]ว่า อเมริกาจะส่งหน่วยทหารปฏิบัติการพิเศษชั้นนำเข้าสู่อิรักเพิ่มเติมเพื่อทำการสู้รบกับพวกรัฐอิสลาม กองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชีอะห์เหล่านี้ยังไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจวอชิงตัน [36]ว่า คำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวของพวกเขา (ในเรื่องนี้ พวกเขาหาเพื่อนได้เยอะแยะทีเดียวในภูมิภาคนี้) “เราจะไล่ล่าและสู้รบกับกองกำลังอเมริกันใดๆ ก็ตามที ที่เข้ามาประจำการอยู่ในอิรัก” โฆษกของกองกำลังอาวุธท้องถิ่นกองหนึ่งประกาศ “เราเคยสู้รบกับพวกเขามาก่อนแล้ว และเราก็พร้อมแล้วที่จะเข้าสู้รบครั้งใหม่”[37]
ปฏิเสธไม่ยอมรับความเป็นจริง
หนทางแก้ไขที่เสนอโดย โอบามา/คลินตัน/แซนเดอร์ส/ครูซ/รูบิโอ/เพนตากอน/และอื่นๆ (ซึ่งก็คือ ต้องหาใครคนอื่นเข้ามาสู้รบทำสงครามภาคพื้นดินกับพวกไอเอส) เป็นแนวความคิดที่วางพื้นฐานอยู่บนสิ่งที่จะต้องเรียกว่า เป็นอาการหลงผิด โดยมีความเข้าใจหลงเลอะไปว่า กองกำลังอาวุธในภูมิภาคนั้นต่างก็มีความเชื่อมั่นในเป้าหมายต่างๆ ของฝ่ายอเมริกัน (ต้องมีการปกครองแบบรัฐฆราวาสไม่ยุ่งเกี่ยวข้องศาสนาในระดับใดระดับหนึ่ง, ต้องปลดจอมเผด็จการชั่วร้ายทั้งหลาย, และบางทีอาจจะต้องยอมให้ทหารสหรัฐฯเข้ามาประจำการกันเป็นระยะยาวบ้าง) จนเพียงพอที่จะยอมเพิกเฉยปล่อยวางผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขาเอง โดยที่ผลประโยชน์ของพวกเขาเองเหล่านี้ ทั้งมีความแตกต่างหลากหลาย, มีความขัดแย้งกัน, มีการคุยโวทับถมกัน, และบ่อยครั้งมักเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างไม่แน่ไม่นอน การที่วอชิงตันยังคงปลุกปลอบให้ตนเองเชื่อมั่น [38]อยู่ได้ว่า เป้าหมายต่างๆ ในทางการเมืองของกลุ่มท้องถิ่น ไม่ได้มีความขัดแย้งกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของอเมริกานั้น มันจึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากอาการหลงผิด
ในทางเป็นจริงแล้ว เป้าหมายต่างๆ ของวอชิงตันในกระบวนการทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ห่างไกลความเป็นจริงอย่างน่าตื่นตระหนก ยิ่งเมื่อมีการโหมกระพือความหวาดกลัวที่ว่า สิ่งซึ่งทึกทักเอาว่าเป็นภัยคุกคามอันเลวร้ายของกลุ่มรัฐอิสลามนั้น กำลังคุกคามมาจนถึง “มาตุภูมิ” แล้ว มันก็ยิ่งทำให้หนทางแก้ไขของฝ่ายอเมริกันในเรื่องอิสลามแนวคิดรุนแรง กลายเป็นความวิบัติหายนะมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นหนทางแก้ไขซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนความพยายามที่จะฟื้นฟูชุบชีวิตระบบรัฐชาติ ณ บริเวณใจกลางของภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งๆ ที่ระบบรัฐชาติในพื้นที่ดังกล่าวได้พังครืนลงแล้วหรือไม่ก็กำลังอยู่ระหว่างการพังครืนลงมา ความเป็นจริงอันโจ่งแจ้งแดงแจ๋ก็คือ ไม่มีใครที่ไหนสักฝ่ายหนึ่งในที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซีย, ไม่ว่าจะเป็นชาวเคิร์ด, ไม่ว่าจะเป็นชาวเติร์ก, ไม่ว่าจะเป็นชาวสุหนี่, ไม่แม้กระทั่งชาวชีอะห์ กำลังต่อสู้รบราเพื่อรักษารัฐอิรักและรัฐซีเรียให้ยืนยงคงอยู่ตามรูปแบบที่สหรัฐฯยังทรงจำไว้ได้
พรมแดนของชาติต่างๆ ในตะวันออกกลางซึ่งกำลังกลายเป็นเส้นพรมแดนที่ใช้การไม่ได้เสียแล้ว ได้ถูกลากขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยที่มิได้มีการคำนึงถึงความเป็นจริงทางชาติพันธุ์, ทางนิกายศาสนา, หรือทางด้านชนเผ่า แล้วจากนั้นเหล่าผู้เผด็จการรวบอำนาจก็จัดแจงบังคับใช้หรือให้การสนับสนุนเส้นพรมแดนดังกล่าวนี้เรื่อยมา จวบจนกระทั่งมันผ่านพ้นอายุขัยของมันไปแล้ว คำตอบของฝ่ายตะวันตก[39]ที่ว่าพวกเขายอมรับได้แต่รัฐบาลแบบรัฐฆราวาสซึ่งแยกขาดระหว่างรัฐกับศาสนาเท่านั้น ทำให้แสงสว่างแห่งพลังอำนาจของอิสลามต้องประสบความหมองหม่น ในภูมิภาคซึ่งบ่อยครั้งทีเดียวแทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับรัฐเลย
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี สามารถที่จะเข้าร่วมในการเรียกร้อง[40]ให้ใช้ “กองกำลังพื้นบ้าน” ให้บ่อยครั้งที่สุดเท่าที่เขาต้องการ ทว่าความเป็นจริงนั้นกระจ่างชัดเจนมาก นั่นคือ นโยบายของวอชิงตันในซีเรียและอิรักมีแต่จะเดินไปสู่ความล้มเหลว ไม่ว่าใครจะเป็นผู้เข้าทำการสู้รบก็ตามที
ปีเตอร์ แวน บูเรน เป็น “ผู้เป่านกหวีด” (whistleblower) เปิดโปงความสิ้นเปลืองสุรุ่ยสุร่ายและการบริหารอันผิดพลาดของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯในช่วงการฟื้นฟูบูรณะอิรัก เอาไว้ในหนังสือของเขาที่ใช้ชื่อเรื่องว่า We Meant Well: How I Helped Lose the Battle for the Hearts and Minds of the Iraqi People. (http://www.amazon.com/dp/0805096817/ref=nosim/?tag=tomdispatch-20) เขาเขียนเรื่องให้ TomDispatch (http://www.tomdispatch.com/post/176059/tomgram%3A_peter_van_buren,_the_great_war_in_the_middle_east/) เป็นประจำ รวมทั้งเขียนเกี่ยวกับกระแสเหตุการณ์ปัจจุบันที่ We Meant Well (http://www.wemeantwell.com/) ผลงานหนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือ Ghosts of Tom Joad: A Story of the #99 Percent (http://www.amazon.com/dp/1935462911/ref=nosim/?tag=tomdispatch-20) ส่วนผลงานถัดไปของเขาจะเป็นนวนิยาย ใช้ชื่อเรื่องว่า Hooper’s War (http://www.hooperswar.com/)
หมายเหตุ
[1]http://www.nytimes.com/2015/10/10/world/middleeast/pentagon-program-islamic-state-syria.html
[2] http://www.huffingtonpost.com/ivan-eland/hillarys-plan-to-combat-i_b_8628996.html?ncid=txtlnkusaolp00000592
[3] http://www.cfr.org/radicalization-and-extremism/hillary-clinton-national-security-islamic-state/p37266
[4] http://feelthebern.org/bernie-sanders-on-isis/
[5] https://marcorubio.com/issues-2/isis-plan-policy-proposal-defeat/
[6]http://rudaw.net/english/kurdistan/090220151
[7] http://www.rawstory.com/2015/12/donald-trump-to-defeat-isis-you-have-to-take-out-their-families/
[8] http://thehill.com/policy/defense/243271-pentagon-has-plans-to-provide-weapons-to-sunni-fighters
[9]http://www.nytimes.com/2015/11/18/world/middleeast/how-to-beat-isis-use-arab-armies-to-fight-the-group.html?mabReward=CTM&_r=0
[10] http://www.cfr.org/iraq/defeating-isis/p33773
[11] http://www.bbc.com/news/world-us-canada-34848248
[12]http://www.cnn.com/2014/10/06/world/meast/isis-coalition-nations/
[13]http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2014/10/07/U-S-Air-Force-dominates-campaign-against-ISIS.html
[14]http://www.tomdispatch.com/post/175980/tomgram%3A_peter_van_buren,_in_the_middle_east,_bet_on_a_winner_(iran!)/
[15] http://www.bbc.com/news/world-middle-east-11923176
[16] http://www.mintpressnews.com/wikileaks-cables-portray-saudi-arabia-as-a-cash-machine-for-terrorists/210038/?ref=yfp
[17] http://thefreethoughtproject.com/putin-shares-intel-g20-exposing-isis-financed-40-countries/
[18] http://news.yahoo.com/german-vice-chancellor-warns-saudi-arabia-over-islamist-135521960.html
[19]http://www.vox.com/2015/12/1/9821466/saudi-problem-isis
[20]http://www.nytimes.com/2015/10/21/opinion/kurds-need-more-than-arms.html?_r=0
[21]http://www.tomdispatch.com/post/176059/tomgram:_peter_van_buren,_the_great_war_in_the_middle_east/
[22]http://conservativebase.com/7110095/russian-airstrikes-hit-turkish-convoy-delivering-weapons-to-isis-in-syria/
[23]http://mobile.reuters.com/article/idUSKBN0OH1V220150601
[24]http://www.theguardian.com/world/2015/jul/26/isis-syria-turkey-us?CMP=share_btn_tw
[25] http://ig.ft.com/sites/2015/isis-oil/
[26]http://www.juancole.com/2015/12/politicians-denounce-bombardment.html
[27]http://www.nytimes.com/2015/11/20/opinion/hillary-clinton-takes-on-isis.html?mabReward=CTM&ac
[28]http://www.tomdispatch.com/blog/176068/tomgram%3A_engelhardt,_roads_to_nowhere,_ghost_soldiers,_and_a_$43_million_gas_station_in_afghanistan/
[29]http://www.internationalpolicydigest.org/2015/05/25/why-the-united-states-cannot-defeat-isis/
[30]http://www.rawstory.com/2015/11/former-head-of-us-special-forces-admits-islamic-state-would-not-exist-if-bush-didnt-invade-iraq/
[31]http://www.huffingtonpost.com/entry/the-key-to-defeating-isis-is-reconciling-sunnis-and-shiites-in-iraq_55fc6495e4b00310edf6f7d1
[32]http://www.internationalpolicydigest.org/2015/05/25/why-the-united-states-cannot-defeat-isis/
[33]http://www.theguardian.com/world/2014/jun/11/mosul-isis-gunmen-middle-east-states
[34] http://www.cnn.com/2015/05/17/asia/isis-ramadi/
[35]http://www.usatoday.com/story/news/world/2015/12/01/pentagon-isil-ash-carter-special-operations-troops-syria/76604048/
[36] https://www.intellihub.com/us-cahoots-isis-iraqis-swear-not-doubt/
[37] http://news.yahoo.com/iraqi-shiite-militias-pledge-fight-u-forces-deployed-191053767.html
[38]http://www.politico.com/magazine/story/2015/11/obama-isis-strategy-afghanistan-war-213380
[39] http://www.huffingtonpost.com/ivan-eland/hillarys-plan-to-combat-i_b_8628996.html?ncid=txtlnkusaolp00000592
[40]http://www.nytimes.com/2015/12/04/world/middleeast/to-crush-isis-john-kerry-urges-deft-removal-of-syrias-assad.html?_r=0