สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงคุกรุ่น อย่างต่อเนื่องนับจากปี 47 เป็นต้นมา อาจมีลดบ้าง เพิ่มบ้าง เป็นระยะๆ ซึ่งส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมอย่างฝังราก ทั้งนี้ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นคือมีความขัดแย้งร้าวลึกซ่อนอยู่ เป็นความขัดแย้งในมิติความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม หนึ่งในความขัดแย้งดังกล่าวก็สร้างภาพเกลียดกลัวต่อคนมุสลิมในสังคมไทยโดยปริยาย
สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความแตกต่างหลากหลายในความเชื่อ ศรัทธา และชาติพันธุ์ แต่คลอดระยะเวลาการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ สังคมมุสลิมในประเทศไทยก็ถูกเข้าใจในแง่มุมที่หลากหลาย ท่ามกลางปรากฏการณ์ทางสังคมที่โน้มเอียงให้คนในสังคมไทยเข้าใจเฉพะแง่มุมความรุนแรง ความขัดแย้ง เพียงเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีการอธิบาย แง่มุมดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
อย่างก็ดีมีความพยายามจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือ ภาคเอกชนที่มุ่งสร้างการเรียนรู้และการสื่อสารภาคพลเมืองเพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ ปาตานี ฟอรั่ม โดยล่าสุดก็มีการจัดเวทีเพื่อสำรวจความคิดเห็น ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับมุสลิมในสังคมไทยและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภูมิภาคต่าง ๆ คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ภายใต้โครงการ “สำรวจทัศนคติพลเมืองเกี่ยวกับมุสลิมไทยและมุสลิมมลายูชายแดนใต้ เพื่อสร้างการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม” ณ ศูนย์อัลกุรอ่านและภาษา (QLCC) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
อับดุลเลาะ หมัดอาด้ำ คณะทำงานปาตานี ฟอรั่ม กล่าวว่า ปาตานี ฟอรั่ม มีความตั้งใจทำโครงการ “สำรวจทัศนคติพลเมืองเกี่ยวกับมุสลิมไทยและมุสลิมมลายูชายแดนใต้ เพื่อสร้างการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม” โดยวางแผนกันไว้ว่าจะนำเนื้อหาและข้อมูลที่ได้จากการจัดเวทีไปเขียนเป็นรายงานเชิงวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอแก่สังคมไทยให้รับทราบ โดยเฉพาะสังคมที่เป็นประชาชนและนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะได้ทราบถึงความคิดเห็นและมุมมองต่างๆเกี่ยวกับมุสลิมในสังคมไทยและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาจากมุมมองของกลุ่มประชาชนต่างภูมิภาค แต่หมายได้หมายถึงประชาชนทั้งหมด เป็นแค่บางแง่มุม บางกลุ่มคน ซึ่งเป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยหวังว่าการจัดเวทีในภูมิภาคต่างๆและเนื้อหาจากรายงานดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและตื่นรู้ อันเป็นแนวทางหนึ่งในการเดินไปสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ
“สำหรับรูปแบบกิจกรรมและกระบวนการนำไปสู่การเขียนรายงาน คือ การจัดเวที ลักษณะ กรุ๊ปเซอร์เวย์ จังหวัดละ 1 ครั้ง ผู้เข้าร่วม 40 คน แยกคนที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม เพื่อได้มุมมองจากผู้เข้าร่วมที่ตรงไปตรงมา โดยมีกระบวนจะเป็นผู้เปิดประเด็นสร้างความรู้และความเข้าตลอดจนตั้งคำถามแก่ผู้เข้าร่วมให้เกิดการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ก่อนจะไปสู่จัดเวทีวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวล ข้อมูล เพื่อจัดทำเป็นรายงานเชิงวิจัย และนำเสนอรายงานเชิงวิจัยจากข้อมูลที่ได้ ณ จังหวัดปัตตานี”
“ทางปาตานี ฟอรั่ม ก็คาดหวังว่า ผู้สนใจ และผู้ศึกษารายงานจะมีความเข้าใจมุสลิมในสังคมไทย และปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ในแง่มุมที่หลากหลายยิ่งขึ้นและที่สำคัญคือ เราอยากเห็นรายงานเชิงวิจัย ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการอ้างอิง และการถกเถียง เพื่อทำความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย และปาตานี/ชายแดนใต้” อับดุลเลาะ กล่าวชี้แจง
ขณะที่ ณายิบ อาแวบือซา นักวิจัยชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้ หนึ่งในผู้ให้คำปรึกษาโครงการได้ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการนี้สำหรับผมแล้ว น่าจะเป็นโครงการที่เป็นแนวคิดใหม่ เพราะโดยปกติเท่าที่เห็น วงการภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดระยะ 11 ปีที่ผ่านมา มักเป็นการเรียกร้องขอความเป็นธรรม เรียกร้องสิทธิ เรียกร้องอัตลักษณ์ท้องถิ่น หรือไม่ก็เป็นการโต้เถียงกับสังคมภายนอก ทั้งในเรื่องสังคม ศาสนาและประวัติศาสตร์ ซึ่งโครงการนี้ น่าจะเป็นโครงการที่รับฟังความเห็นหรือรับการวิพากษ์จากกลุ่มที่ต่างจากตน และที่สำคัญก็มีการวิพากษ์ตนเองอีกด้วย ซึ่งการวิพากษ์ตนเองนี่ ผมว่ามีความจำเป็นต่อการมีวุฒิภาวะของคนในสังคม
ทั้งนี้กิจกรรมล่าสุด เป็นหนึ่งในกระบวนการจัดทำรายงานเชิงวิจัย คือ การจัดทำเวทีสำรวจความคิดเห็นของคนมุสลิม และไม่ใช่มุสลิม ในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างมีความสัมพันธ์อย่างสมานฉันทร์ระหว่างคนไทยพุทธและไทยมุสลิม โดยบรรยากาศภาพรวมนั้นมีผู้เข้าร่วมรวม 40 คน แยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นไทยพุทธ กลุ่มหนึ่งเป็นมุสลิม ภายใต้โจทย์การแลกเปลี่ยน คือ เมื่อนึกถึงมุสลิมในสังคมไทย เรามักจะนึกถึงความรู้สึกหรือภาพอะไร ซึ่งการแลกเปลี่ยนในช่วงแรกค่อนข้างเป็นไปอย่างอึดอัด ก่อนจะมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมายิ่งขึ้น
มาลิณี บินหม้าหลี จากสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หนึ่งในผู้เข้าร่วม กล่าวภายหลังร่วมกิจกรรมว่ากิจกรรมในวันนี้ เป็นการแลกเปลี่ยน เป็นการจุดประกายสังคมในการมองมุสลิมในประเทศไทย
“ประเด็นในเวทีครั้งนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมไทยไม่เข้าใจมุสลิมและมุสลิมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจสังคมไทย โดยเฉพาะการไม่เข้าใจต่อมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากให้มีการศึกษามุสลิมใน 3 จังหวัดมากยิ่งขึ้น เพราะในสังคมไทยไม่ได้กลัวมุสลิมที่อื่นๆ แต่พอพูดคำว่ากลัวมุสลิมก็จะนึกถึงมุสลิมใน 3 จังหวัด แต่เสียดายยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทันได้แลกเปลี่ยนมากนัก”
มาลีณี มองว่า การจัดการความสัมพันธ์ของคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะ 3 จังหวัด ซึ่งเข้าใจว่าอารมณ์ของคนพุทธใน 3 จังหวัด ก็คงไม่ต่างจากคนมุสลิมในสังคมไทย คือมีความรู้สึกเป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งคนพุทธใน 3 จังหวัดก็ต้องปรับตัวให้เข้าใจพื้นที่ ขณะเดียวกันคนมุสลิมที่อื่นๆก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย ภายต้องการยอมรับความแตกต่างกันจริงๆ
“ดังนั้นการจัดการให้มีกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจความแตกต่าง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคมไทย และรัฐควรตระหนักเรื่องนี้ให้มากและที่สำคัญคือควรเป็นไปแบบต่อเนื่องและมีการติดตามอย่างจริงจัง” มาลิณีเสนอแนะ
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ในฐานะกระบวนกรชวนคุยครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมครั้งนี้ จัด 2 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นเวทีชาวมุสลิมใต้ล้วนๆ จากตัวแทนมุสลิม18 คน ใน 4 พื้นที่หลัก คือ จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช ในตัวแทนข้าราชการหน่วยความมั่นคง การศึกษา ทั้งอดีต ปัจจุบัน นักการศึกษาเอกชน ตัวแทนข้าราชการ นักการการเมืองท้องถิ่น สตรี เยาวชน ผู้นำศาสนา แม่บ้านและเยาวชน ในสามคำถามหลักคือ 1. เมื่อพูดถึงมุสลิมท่านจะเห็นภาพใด และทำไม ท่านคิดว่าจะก้าวข้ามกำแพงวัฒนธรรมในสังคมไทยได้หรือไม่ อย่างไรทั้งนี้ประเด็นการพูดคุย ผู้เข้าร่วมประชุม สนใจแลกเปลี่ยนใน 2 ประเด็นด้วยกัน คือ
- ภาพมุสลิมที่ถูกสื่อให้ภาพความรุนแรงทั้งในและต่างประเทศ สาเหตุเพราะ ทุกกิจกรรมความรุนแรงมักจะมีมุสลิมปฏิบัติการทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ
- วิถีชีวิต ที่แตกต่างด้านสังคม วัฒนธรรมโดยเฉพาะพิธีกรรมทางศาสนาที่มุสลิมปฏิบัติไม่ได้ด้วยเพราะหลักการศาสนาที่จะทำให้มุสลิมสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมหากปฏิบัติแต่ก็มีมุสลิมจำนวนมากเช่นกันปฏิบัติโดยเฉพาะข้าราชการทั้งๆมีคำตอบ คำแนะนำจากอดีตจุฬาราชมนตรี 23 ข้อ
(โปรดดู http://www.oknation.net/blog/kt/2007/04/03/entry-2)
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ อธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุหลักในข้อสองเช่น มุสลิมไม่เข้าใจหลักการอิสลามอย่างแท้จริงทั้งต่อตนเอง และการอยู่ร่วมกับต่างศสนานิก ต่างวัฒนธรรม หน่วยงานของรัฐและมุสลิมเองไม่นำคำตอบ คำแนะนำจากอดีตจุฬาราชมนตรี 23 ข้อมาปฏิบัติ
“หน่วยงานของรัฐมีอคติต่อมุสลิมและเหมารวม ขาดหลักปฏิบัติพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ผู้นำด้านศาสนาไม่กล้าชี้แจงหลักการศาสนาที่ถูกต้องต่อรัฐ ขาดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนร่วมกันในสังคมที่กว้าง มีทำบ้างแต่น้อยโดยเฉพาะการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมและทักษะวัฒนธรรม ที่สำคัญ มุสลิมอวดรู้ทั้งๆที่ไม่รู้ทำให้ต่างศษสนนิกเข้าใจผิด และสุดท้ายสังคมมุสลิมโดยเฉพาะมุสลิมเริ่มเหินห่างจากต่างศาสนิกโดยเฉพาะวงการศึกษาทำให้มุสลิมไม่ทราบหลักปฏิบัตตนที่ได้และไม่ได้กับต่างศาสนิก”
สำหรับข้อเสนอแนะในการก้าวข้ามปัญหาต่างๆพบว่า
- การอยู่ร่วมกันกับต่างศาสนิกตามหลักการอิสลามที่ปฏิบัติได้และไม่ได้ผ่านกิจกรรมทักษะวัฒนธรรม ศาสนิกสัมพันธ์
- นำคำแนะนำจากอดีตจุฬาราชมนตรี 23 ข้อมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
- มุสลิมต้องศึกษาหลักการอิสลามกับการอยู่ร่วมกับต่างศาสนิก
- หน่วยงานรัฐต้องเข้าใจและผ่านการอบรมในยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึงพัฒนา
- ไม่เหมารวมมุสลิมที่ดีกับไม่ดี และให้ความยุติธรรมตามกรอบกฎหมาย
ขณะเวทีชาวพุทธในคำถามแรกจะได้รับสองคำตอบหลักเช่นกันแต่มีคำอธิบายเพิ่มเช่นการแต่งกาย การดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร แต่เมื่อสัมผัสพวกเขาก็ทราบเหตุผลและรับได้ ส่วนเหตุการณ์สามจังหวัดนั้นรู้สึกว่าความก้าวร้าวของเยาวชนมุสลิมมีมากขึ้น การแก้ปัญหาของรัฐ จะไม่ให้ความยุติธรรมต่อชาวพุทธ แต่กลับไปให้มุสลิมได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าชาวไทยพุทธ ส่วนข้อเสนอแนะ ก็เหมือนกันแต่มีข้อเพิ่มเติมคือการได้ศึกษากระบวนการสันติภาพโดยเฉพาะการพูดคุยสันติสุข การเคารพกติกาซึ่งกันและกัน
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ คิดเห็นเพิ่มเติมว่าสังคมไทยยังมีทางออกเพราะถึงแม้สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความแตกต่างหลากหลายในความเชื่อ ศรัทธา และชาติพันธุ์แต่สังคมยังให้โอกาสกับทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาการจัดเวทีทำนองนี้ควรจัดให้มากและทุกภาคเพราะจะทำให้ปัญหา ความเข้าใจผิดจะเริ่มถูกแก้อย่างถูกจุดผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนรู้และที่สำคัญมุสลิมเองต้องเป็นแบบอย่างต่อผู้อื่นและเข้าใจผู้อื่นด้วยเช่นกัน”
“คาดหวังว่าเนื้อหาและข้อมูลที่ได้จากการจัดเวทีไปเขียนเป็นรายงานเชิงวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอแก่สังคมไทยให้รับทราบ โดยเฉพาะสังคมที่เป็นประชาชนและนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะได้ทราบถึงความคิดเห็นและมุมมองต่างๆเกี่ยวกับมุสลิมในสังคมไทยและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาจากมุมมองของประชาชนต่างภูมิภาค โดยหวังว่าการจัดเวทีในภูมิภาคต่างๆและเนื้อหาจากรายงานดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและตื่นรู้ อันเป็นแนวทางหนึ่งในการเดินไปสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ” อุสตาซอับดุชชะกูรฺ ระบุ
ทั้งนี้บทสรุปภาพรวมในเวทีภาคใต้ ผู้เข้าร่วมทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม มองวิพากษ์สังคมมุสลิมว่าไม่ค่อยอธิบายในสิ่งที่คนที่คนต่างศาสนิกอื่นๆเข้าใจผิด หรือสงสัย และภาพของสังคมมุสลิมเองก็มักถูกมองว่า เป็นพวกนิยมความรุนแรง ชอบอยู่เป็นกลุ่ม ไม่ค่อยปฎิสัมพันธ์กับคนต่างศาสนิกอื่นๆ ทำให้หลายๆครั้งมักจะนำมาซึ่งความหวาดระแวง อคติซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันสังคมไทยก็มีปัญหาของการเข้าใจเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม มักจะกีดกันคนที่ไม่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทยเป็นคนอื่น เป็นคนที่แปลกแยกจากสังคม ทั้งนี้ทางออกของการแก้ปัญหา ผู้เข้าร่วมเสนอตรงกันว่า ต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้มากขึ้นและมีลักษณะต่อเนื่อง ตั้งแต่ในระดับครอบครัว สถาบันการศึกษา โดยมีหน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้ามาขับเคลื่อนอย่างเป็นจริงเป็นจัง