หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

เครือข่ายภาคประชาสังคมปัตตานีร่วมต้าน ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ

วันนี้ (9 ธ.ค.) เครือข่ายประชาชนผู้ห่วงใยประเทศชาติและทรัพยากรชีวภาพ(จังหวัดปัตตานี) ยื่นจดหมายชะลอและแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ติดตามปัญหาเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) แก่ นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานีรับไปดำเนินงานต่อ ณ อาคารศาลากลางปัตตานีหลังเก่า

สำหรับองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดปัตตานีที่เข้าร่วม ได้แก่ เครือข่ายชุมชนศรัทธา-กัมปงตักวา สมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี กลุ่มนักศึกษาม.อ.ปัตตานี กลุ่มบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายเยาวชนฟ้าใส เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ สมาคมเสริมสร้างสิทธิชุมชน สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี และหน่วยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น

photo 1ในจดหมายฉบับนี้นำเสนอต่อหน่วยเหนือและนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1.ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่างกฏหมายก่อนเสนอสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยให้มีตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากจีเอ็มโอ ตัวแทนเกษตรกรและปูประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์กรคุ้มครองบริโภค องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรอินทรีย์ และนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ติดตามประเด็นความปลอดภัยทางชีวภาพ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมาย

2.พิจารณานำข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งาติ และกระทรวงพาณิชย์ไปใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างกฏหมายนี้

3.นำหนักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และข้อเสนออื่นๆ ที่สำคัญตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ในข้อ 1 เพื่อปรับปรุงร่างกกหมายให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

ซึ่งความเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … ในวันนี้มีการนัดรวมพลกันทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ รวมพลบริเวณวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ก่อนจะเคลื่อนขบวนเชิงสัญลักษณ์ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อปราศรัยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และยื่นหนังสือต่อรัฐบาล โดยมีตัวแทนจาก 15 เครือข่าย ทั่วประเทศ ร่วมกิจกรรม ในส่วนของจังหวัดต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวดังนี้ ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้เเก่ จังหวัดเชียงใหม่, น่าน, พะเยา, ลำพูน, นครสวรรค์, ลำปาง, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน เเละอุตรดิตถ์ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้เเก่ จังหวัดกระบี่, สงขลา, พัทลุง, สตูล, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี, ตรัง, พังงา, ภูเก็ต เเละนครศรีธรรมราช ภาคอีสาน 7 จังหวัด ได้เเก่ จังหวัดสุรินทร์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, ยโสธร, ขอนแก่น, อุบลราชธานี เเละอุดรธานี ภาคกลาง/ภาคตะวันออก/ภาคตะวันตก 19 จังหวัด ได้เเก่ จังหวัดสุพรรณบุรี, นครปฐม, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, กาญจนบุรี, ชลบุรี, ระยอง,จันทบุรี, ตราด,สระแก้ว, นครนายก, อ่างทอง, ปทุมธานี, อุทัยธานี, สิงห์บุรี, สระบุรี, สมุทรสงคราม เเละกรุงเทพมหานคร

photo 3นางสาวลม้าย มานะการ ตัวแทนจากเครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้กล่าวว่า เป็นโครงการที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอย่างรอบด้าน

“โครงการนี้กระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบเหล่านี้ มีแต่การสนับสนุนให้กลุ่มทุนได้รับผลประโยชน์ ตัวทรัพยากรชีวภาพจีเอ็มโอที่ปนเปื้อนอยู่แล้ว เมื่อปล่อยลงแหล่งน้ำหรือแหล่งดินธรรมชาติ คนที่มาใช้น้ำใช้ดินนั้นก็ต้องรับผลกระทบไปด้วย ไม่มีการคุ้มครองใดๆ เลย และไม่มีใครต้องรับผิดชอบในการทำผิด ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคก็ไม่มีใครรับผิดชอบ สิ่งสำคัญคือการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพ เมล็ดพันธุ์ พันธุกรรมของสัตว์บางชนิด เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ เพิ่มต้นทุน ผลผลิตต่ำ เป็นโทษกับผู้บริโภคและธรรมชาติ
ในการสื่อสารกับผู้คนในชายแดนใต้ต่อประเด็นนี้” นางสาวลม้ายกล่าวและว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงที่มีอยู่ในพื้นที่ทำให้ผู้คนหลงลืมประเด็นสำคัญคือ ความมั่นคงทางอาหาร

“เมื่อมีการให้ความสนใจกับประเด็นความขัดแย้งและความรุนแรง ทำให้ลืมเรื่องความมั่นคงทางอาหารซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากไป เพราะเป็นความรุนงแรงระยาวหากประเด็นจีเอ็มโอมาเกี่ยวข้อง ทั้งที่ทรัพยากรในพื้นที่นี้สมบูรณ์มาก แต่หากปล่อยให้โลกกาภิวัฒน์มีอิทธิพลก็ต้องเรียนรู้ถุงประโยชน์และโทษด้วย ต้องสนใจและส่งเสียงในเรื่องนี้ เป็นเรื่องใกล้ตัวแต่เราไม่ตระหนัก และขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบและทำงานอย่างจริงจัง”

photo 4ด้าน นางสาวอรนา ลาเตะ นักศึกษาสาขาเอกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี หนึ่งในผู้ร่วมคัดค้านในครั้งนี้บอกกล่าวว่า ได้ทราบข่าวแล้วตกใจเพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเป็นลูกเกษตรกร

“ในประเด็นนี้บริษัทเกษตรรายใหญ่ใหญ่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด ส่วนเกษตรกรและผู้บริโภคคือได้รับผลกระทบ ไม่ยอมรับในเรื่องนี้ ในการเป็นคนตัวเล็กๆ ขอคัดค้านพ.ร.บ.นี้ และช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้านและเกษตรกรทุกคน”

จากการที่ประชาชนทั่วประเทศมีความกังวลเมื่อมีการผลักดันของกลุ่มบรรษัทเมล็ดพันธุ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพต่อคณะรัฐมนตรี เนื่องจากตลาดในต่างประเทศต่างมีความเคลื่อนไหวต่อปัญหาการปนเปื้อนพันธุกรรม ซึ่งกระทบต่อการผลิตระบบอินทรีย์ กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงเรียกร้องให้

1.ชะลอกระบวนการร่างกฎหมาย ภายใต้ พรบ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยไม่ต้องนำเข้าไปพิจารณาในกระบวนการของ สนช.

2.แต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายที่มีองค์ประกอบของกลุ่ม องค์กรต่างๆ อย่างมีส่วนร่วมและเป็นกลุ่มผู้มีส่วนที่จะได้รับผลกระทบเข้าร่วมเป็นกรรมการเพื่อปรับปรุงกฎหมาย เช่น a.กลุ่ม/องค์กรเกษตรกร b. กลุ่มเกษตรอินทรีย์ c. กลุ่ม/องค์กรผู้บริโภค d.ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

จากการวิเคราะห์ของเครือข่ายพรบ.ฉบับนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง เนื่องจากเปิดช่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจ GMOs ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม และยังปราศจากกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

photo 5

ข้อกังวล

1. สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากการพิจาณาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 เนื่องจากมีการรวบรัดส่งไปให้พิจาณาอย่างเร่งรีบ และมีเนื้อหาที่เขียนเปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบในกรณีที่เกิดความเสียหายจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) และคณะกรรมการยกร่างและกระบวนการร่างกฎหมายนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมอย่างไม่อาจยอมรับได้

2. ร่างกฎหมายนี้ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรียังคงมีความบกพร่องอย่างร้ายแรงซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร วิถีชีวิตเกษตรกร ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และจะทำลายเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารอย่างมิอาจประเมินมูลค่าได้ มีรายละเอียดดังนี้

2.1. มีเจตนาเพื่อเปิดเสรีพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) โดยมิได้นำหลักการที่สำคัญ ‘หลักการที่ว่าด้วยความปลอดภัยไว้ก่อน’ ในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีมาปรับใช้ในการปกป้องความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการบริโภคพืชจีเอ็มโอ เช่น ปกป้องทรัพยากรชีวภาพ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

2.2. เปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์สามารถปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างเสรี และไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs)

2.3. มีเจตนาให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) อย่างแพร่หลาย ทำให้พืชจากเกษตรอินทรีย์อาจถูกปนเปื้อนจากพืชจีเอ็มโอ และทำให้สินค้าทางการเกษตรส่งออกของไทยต้องประสบปัญหาในการส่งออกในที่สุด

2.4. ทำให้ความหลากหลายของชีวภาพของแผ่นดินไทยตกอยู่ในการผูกขาดของอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลุกในฤดูกาลถัดไปได้ ต้องซื้อใหม่ทุกรอบการผลิต ที่สำคัญเกษตรกรไม่สามารถขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ แบ่งปันเชื้อพันธุ์ตามวิถีการผลิตที่เคยเป็นมาได้เลย ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิเกษตรกรและซ้ำเติมชะตากรรมให้เลวร้ายขึ้นไปอีก

ข้อเสนอ

1) หยุดการนำร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนี้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

2) จากนั้นมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำร่างพ.ร.บ.นี้ไปจัดรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรรายย่อย ภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระ และภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น โดยนำหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precaution Principle) การป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การชดเชย และเยียวยาความเสียหายตามหลักผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) การป้องกันปัญหาการปนเปื้อนซึ่งจะกระทบต่อการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ และทรัพยากรชีวภาพของชาติโดยภาพรวม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย มาบรรจุในร่างกฎหมายฉบับนี้

ทั้งนี้ การอนุญาตให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดและการปลูกจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ มีโอกาสจะสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย เกษตรอินทรีย์ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และผลต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศดังที่ประเทศในสหภาพยุโรปมากกว่า 16 ประเทศประกาศแบน และผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งในยุโรป(และมากกว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา) ปฏิเสธอาหารที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม เป็นต้น

ข้อกังวล 9 ประเด็น

พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี มี 9 ประเด็นสำคัญที่ชี้ว่า ผู้เสนอร่างกฎหมายนี้มีเจตนาที่ต้องการเปิดเสรีจีเอ็มโอ โดยไม่กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน (Pre-Cautionary Principle)

ประเด็นที่ 2 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม

ประเด็นที่ 3 ร่างกฎหมายฉบับนี้โดยหลักการคือการเปิดเสรีจีเอ็มโอ

ประเด็นที่ 4 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ประเด็นที่ 5 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

ประเด็นที่ 6 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากจีเอ็มโอในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

ประเด็นที่ 7 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทคุ้มครองเกษตรกรที่พืชผลถูกจีเอ็มโอปนเปื้อน

ประเด็นที่ 8 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุหลักประกันทางการเงินกรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอ

ประเด็นที่ 9 ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง