หน้าแรก รายงาน

รมต.ท่องเที่ยว ลงพื้นที่ต.ทรายขาว ย้ำความเป็นอยู่กลางความต่างที่เป็นแบบอย่างที่ดี

3 ปีแห่งการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อพท.จับมือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและภาคี ดันการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความอยู่ดีมีสุข ความสามัคคีและความสงบสุขของชุมชน ยกชุมชนทรายขาวกับความเป็นอยู่กลางความต่างที่เป็นแบบอย่างที่ดี พร้อมส่งต่อหน่วยงานภาคีในพื้นที่สานต่ออย่างยั่งยืน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความท้าทายต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยิ่ง ด้วยความพยายามของหน่วยงานภาคีร่วมพัฒนา ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกันแสวงหามาตรการและแนวทางแก้ไข เพื่อพลิกฟื้นและสร้างโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่น ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ให้สามารถดำรงชีวิต สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยใช้เครื่องมือในการพัฒนา ตั้งแต่การถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม การส่งเสริมและสร้างการรับรู้แก่นักท่องเที่ยว

กิจกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดซึ่งกระบวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ความเข้าใจถึงแก่นของความยั่งยืนอย่างแท้จริง และเกิดความรู้สึกว่าได้มาท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย มีความสะอาดสวยงาม ชุมชนให้บริการด้วยใจ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืน สามารถสร้างชุมชนท่องเที่ยวที่มีความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีบทบาทในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่านกระบวนการ Co-Creation “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์” ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) มาตลอดระยะเวลา 3 ปี (2561 – 2563) ด้วยความร่วมมือกับมรภ.สงขลา ซึ่งมีภารกิจในการสร้างองค์ความรู้ รูปแบบและแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในบริบทการท่องเที่ยว

พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีร่วมพัฒนา ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สก.สว, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส., จังหวัดยะลา, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดนราธิวาส และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่นำความเชี่ยวชาญตามบทบาทของตนเองมาร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตันแบบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการอพท. กล่าวถึงเป้าหมายความร่วมมือในการดำเนินภารกิจในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่คือ การร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นสู่ตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีคุณภาพ รวมถึงการร่วมกันถอดบทเรียน ติดตามประเมินผลการพัฒนาชุมชนต้นแบบ และขยายผลเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการพัฒนาสู่ชุมชนอื่น แสดงให้เห็นถึงรูปธรรมของการใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อผลสัมฤทธิ์ คือ ความสามัคคีปรองดองและความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ผลลัพธ์ของความสำเร็จเห็นได้จากชุมชนศักยภาพที่เป็นชุมชนต้นแบบและชุมชนขยายผล ตามเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย CBT Thailand จำนวน 14 ชุมชน ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ชุมชนตาพะเยา ชุมชนอัยเยอร์เวง และชุมชนรามัญ จังหวัดปัตตานี จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนทรายขาว ชุมชนบางปู ชุมชนตะโละกาโปร์ ชุมชนบานา และชุมชนยะรัง จังหวัดนราธิวาส จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดชลธาราสิงเห ชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 ชุมชนบ้านภูเขาทอง และชุมชนตลาดน้ำยะกัง”

การบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ครบกำหนดแผนการพัฒนาระยะ 3 ปีแล้ว แต่แผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง และระยะยาวยังคงดำเนินต่อไป

“โดยให้ทุกหน่วยงานได้บูรณาการสานต่อ มอบแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเดินทางและท่องเที่ยวในประเทศ จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน พร้อมทั้งส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ SHA รวมไปถึงมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT Thailand โดยนำสื่อมวชนลงมาดูพื้นที่ทั้ง 3 ปี เห็นว่าชุมชนมีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และบริหารจัดการตนเองได้ เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การยกระดับความอยู่ดีมีสุข ความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขของชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป”

รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา มอบนโยบายในการบูรณาการการพัฒนาการท่องเที่ยวในชายแดนใต้โดยกระทรวงจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรมให้ยั่งยืนในชายแดนใต้ การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า การท่องเที่ยวในปัจจุบันให้พยายามกระจายรายได้การท่องเที่ยวลงสู่ชุมชนให้มากที่สุด

“การส่งมอบพื้นที่ 14 ชุมชน ด้วยความเข้มแข็ง ความสวยงาม การรวมตัวกันของชุมชน มี 4 หลักที่ต้องตระหนักคือ ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 2.ความสะอาดของแหล่งท่องเที่ยว 3.ความเท่าเทียมกัน ซื้อขายในราคาเดียวกัน 4.ความยั่งยืน ดูแลรักษาและให้ความรู้กับคนที่มาเยือน ส่งต่อแก่ลูกหลาน มั่นใจในศักยภาพของทุกชุมชน ส่งมอบแล้วต้องติดตามผล สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง สำคัญที่สุดคือ ให้ชุมชนทำกิจกรรมเอง เช่น เบตงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นหมื่นคน เป็นการจุดประกายการท่องเที่ยวว่านับหนึ่งได้หรือไม่ ให้คงไว้ซึ่งสภาพการท่องเที่ยวนี้ถึงต้นปีหน้า ถึงวันนั้นจะได้ขยายไปยังทุกพื้นที่ ช่วยกันปลุกปั้นชุมชนที่สามารถพัฒนานำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เรามีทั้งปัตตานีและนราธิวาสที่มีชายทะเลที่สวยงาม มีแหล่งดำน้ำ การตกปลาที่สายบุรี งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แห่สิงโต และอีกหลายกิจกรรม ต้องมาหนุนและประชาสัมพันธ์ให้เป็นกิจกรรมสำคัญระดับจังหวัด
ในด้านรักษาความปลอดภัยต้องฝากไว้กับตำรวจท่องเที่ยวเป็นหลัก สนับสนุนและดูแลนักท่องเที่ยว เราต้องรวมตัวกันปลูกจิตสำนึก รณรงค์ในเรื่องท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติ จาก 14 ชุมชนไปยังชุมชนอื่น กระทรวงพร้อมเสมอรองรับ ทุกหน่วยงานพร้อมด้วยปัจจัย กำลังตัวและใจ”

“จากการลงพื้นที่ชุมชนทรายขาว ที่มีวัดทรายขาวและมัสยิดบาโงยลางาอยู่ใกล้กัน ไม่แบ่งแยกกัน พูดจากใจว่าประทับใจในเรื่องของชุมชนพุทธและมุสลิมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสามัคคี ผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน ของทรายขาวมีการสลับตำแหน่งผู้นำชุมชนกัน เช่นสมัยนี้ผู้ใหญ่เป็นไทยพุทธ สมัยหน้ามุสลิมก็จะมาเป็นผู้ใหญ่ ไม่แก่งแย่งกัน สลับกันมาเป็นผู้นำในทุกระดับ เป็นสิ่งสวยงามมากๆ เป็นวัฒนธรรมที่ควรหยิบยกมาเป็นตำบลตัวอย่างของชายแดนใต้ที่มีวิธีบริหารจัดการให้คนสองศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง สามัคคีกันถึงทุกวันนี้ นำไปเป็นแบบอย่างเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศ ควรนำการกีฬาเข้ามาเป็นตัวสนับสนุนดึงให้มีการท่องเที่ยว การจัดแข่งฟุตบอลและกีฬาอื่นๆ เมื่อส่งมอบแล้วทำให้เป็นการท่องเที่ยวถาวร มองให้ทางอพท.ไปทำการพัฒนาว่าแหล่งท่องเที่ยวไหนที่เป็นเขตพิศษ สามารถลงไปพัฒนาได้ ชุมชนไหนอยากพัฒนาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว ให้แจ้งไปที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาต่อไป” รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปิดท้าย

“โครงการนี้ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม ได้เครือข่าย รู้จักเพื่อนๆ มากขึ้น แลกเปลี่ยนกันและกัน เกิดความเข้าใจกันระหว่างคนในชุมชน คนต่างศาสนิก เราทำการท่องเที่ยวในเขื่อนบางลางที่มีพี่น้องมุสลิมทำเช่นกัน เมื่อมีลูกค้ามา เราก็แบ่งกัน ช่วยเหลือกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน นักท่องเที่ยวมีทั้งคนในและนอกพื้นที่ นักท่องเที่ยวมาจากภาคใต้ตอนบนและภาคกลางมากันมาก เมื่อเขามาเที่ยวเบตง แล้วมายังเขื่อนบางลาง มาธารโต ไปยะลา ปัตตานีกันต่อ จากนี้ก็ต้องจัดการกันเองในชุมชน” ปรารมถ์ สลำเส้ง ประธานชุมชนเครือข่ายท่องเที่ยวในเขื่อนบางลาง ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา บอกถึงประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการ

โครงการดีๆ ที่ดึงศักยภาพชุมชนออกมาให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนเอง ชุมชนไหนต้องการการหนุนเสริม ช่องทางช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยว สามารถติดต่อการท่องเที่ยวและกีฬาของแต่ละจังหวัดทั้งสามจังหวัดได้…