คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี เทียบโอนและรับโอนรายวิชาของนักศึกษานักศึกษามุสลิมที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างประเทศกว่า 100 คนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19
“เราวางแผนดีแล้ว แต่การวางแผนของอัลลอฮฺย่อมดีกว่าเสมอ ได้ประสบการณ์ใหม่ ต้องปรับตัวหลายอย่าง ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและสังคมพหุวัฒนธรรมในความหลากหลาย มีรุ่นพี่ อาจารย์ช่วยเหลือ แนะนำดีมาก เราเป็นรุ่นแรกที่มาเรียน เราต้องมีจุดยืนทางสายกลาง ต้องเปิดใจและยอมรับ เข้าใจการอยู่ร่วมกัน เคารพสิทธิเสรีภาพกันและกัน ”
หนึ่งในนักศึกษามุสลิมที่ศึกษาด้านศาสนาและวิทยาการอิสลามในต่างประเทศและได้รับผลกระทบจากสสถานการณ์โควิด 19 ต้องเดินทางกลับไทยและยังไม่ได้กลับไปเรียนต่อ ได้รับการเทียบโอนเข้าศึกษาในคณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงการได้รับโอกาสศึกษาต่อ ณ ม.อ.ปัตตานี
จากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลกระทบต่อนักศึกษามุสลิมที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างประทศต้องเดินทางกลับประเทศไทยอย่างเร่งด่วน และไม่มีหลักประกันว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และจะได้เดินทางกลับไปศึกษาต่อได้อีกเมื่อไหร่ คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี สถาบันการศึกษาของรัฐที่เปิดสอนหลักสูตรและสาขาด้านวิทยาการอิสลาม มีความพร้อมทุกด้านรองรับ เพื่อเทียบโอนและรับโอนรายวิชาของนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ตามมาตรฐานและระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนด เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษาและสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือ
โดยคณะวิทยาการอิสลามได้เปิดรับสมัครเพื่อเทียบโอนและรับโอนรายวิชาเข้าศึกษาในคณะวิทยาการอิสลามไปจำนวน 2 รอบ มีนักศึกษาแจ้งความจำนง จำนวน 120 ราย ดังนี้ 1.รอบที่ 1 เข้าศึกษาในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา ปี 2563 จำนวน 33 ราย สาขาอิสลามศึกษาหลักสูตรนานาชาติ 19 ราย สาขากฎหมายอิสลาม 9 ราย อิสลามศึกษา 3 ราย และ เศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลาม 2 ราย 2.รอบที่สอง เข้าศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 87 ราย สาขาอิสลามศึกษาหลักสูตรนานาชาติ 54 ราย สาขากฏหมายอิสลาม 20 ราย สาขาอิสลามศึกษา 11 ราย และเศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลาม 2 ราย
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุม อิมาม อันนาวาวีย์ ชั้น 4 อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานักศึกษ ม.อ.ปัตตานี ผศ.ดร.มูฮัมมัดรอฟลี แวหะมะ คณบดีคณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี นายวาทิต มีสนุ่น ผอ.ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นาวาเอกจักรพงศ์ อภิมหาธรรม ผอ.กองบริหารยุทธศาสตร์ การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนเลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมแสดงความยินดีและแนะแนวทางการศึกษาต่อใน ม.อ.ปัตตานี
ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานักศึกษา กล่าวว่า ได้ปรึกษากับคณะวิทยาการอิสลาม และบางส่วนจากศอ.บต.และกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้าว่า จะแก้ไขเรื่องราวนี้กันอย่างไร การติดกับดักว่าทำไม่ได้ ไม่ได้ทำมาก่อน หารือกันว่าคือความรับผิดชอบของม.อ.ปัตตานี โลกอนาคตจะแข็งตัวกับวิธีคิดไม่ได้ มีความเหลวของความคิดมากขึ้น ต่างกับความคิดที่ว่าทำไม่ได้ ไม่เคยทำ เป็นโลกที่เปิดวิธีคิด พร้อมเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากรับนักศึกษาได้ปีละ 100 คน แต่รับมา 200 คนก็ต้องปรับ ไม่คิดเป็นภาระ แต่คือความรับผิดชอบต่อสังคม
ผศ.ดร.มูฮัมมัดรอฟลี แวหะมะ คณบดีคณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า เป็นโครงการที่ไม่เคยทำมาก่อน เห็นวิกฤตของโควิดที่ทำให้นักศึกษาไม่สามารถกลับไปเรียนต่อได้ เป็นความรับผิดชอบที่จะต้องทำ
“เรามีความพร้อม มีสาขาที่เกี่ยวกับวิทยาการอิสลามเช่นมหาวิทยาลัยต่างประเทศ มีความพร้อมในภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ เรามีหลักสูตรนานาชาติที่ใช้สองภาษานี้เช่นกัน มีอาจารย์ชาวต่างชาติโดยตรง บรรยากาศเช่นกัน เป็นปัจจัยที่ให้เรียนไปได้ดี เชื่อว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน เชื่อว่าม.อ.มีคุณภาพที่ไม่ต่างกัน ช่วงแรกไม่คิดว่ามีนักศึกษาจำนวนมาก สาขาอื่น คณะอื่น ม.อื่นควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้กลับมาเรียนในไทยได้เช่นกัน”
ด้านผอ.ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศึกษาธิการส่วนหน้า) ซึ่งเป็นหน่วยงานเชื่อมการศึกษาทุกระบบในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงในพื้นที่ กล่าวว่าสิ่งทีเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อหน่วยงานรัฐ การศึกษาและนักเรียน นักศึกษา ต้องปรับตัวกับความท้าทายนี้ คณะวิทยาการอิสลามที่เล่นกับความท้าทายนี้ ให้ประโยชน์แก่เยาวชนมากที่สุด ในโอกาสได้ศึกษาต่อ นโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการในการศึกษาของชายแดนใต้ อยากให้นักศึกษาใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ระบบการศึกษาในประเทศไทย การใช้ชีวิตบนความแตกต่างที่ต้องอยู่รอด ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
ส่วน ศอ.บต.พี่ใหญ่ที่ดูแลทุกด้านในชายแดนใต้ นาวาเอกจักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผอ.กองบริหารยุทธศาสตร์ การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกถึงความเป็นมาของโครงการนี้ถึงการตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษาว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ศอ.บต.เปิดศูนย์ประสานงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ดูแลคนไทยทั้งไปเรียนและทำงานในตปท. ล่าสุดมีข้อมูลที่ 25,000 คน นักเรียนนักศึกษาจำนวน 1,000 คน ประสานงาน 17 กระทรวง 5 จังหวัดมาช่วยกันบูรณาการกับสมาคมศิษย์เก่านักศึกษาไทยในต่างประเทศ ส่งปัจจัยยังชีพเบื้องต้นผ่านเคอรี่ในระยะเร่งด่วน ก่อนล็อคดาวน์ได้ไปที่ซูดาน ได้รับทราบว่าต้องทำอย่างไรในการจะกลับมาไทย เมื่อน้องๆ ชายแดนใต้กลับมาได้ แล้วจะกลับไปเรียนต่อเมื่อไหร่ ศูนย์ประสานงานฯ รวบรวมปัญหาและเป็นความท้าทาย ในการประเมินสถานการณ์ โอกาสของการกลับไปเรียนต่อยังต้องใช้เวลา อย่างมาเลเซีย ปี 65 ยังเร็วไป เสนอต่อรัฐบาลว่านักศึกษาที่กลับมาจะเทียบโอนอย่างไร ใครจะดำเนินการ ขอชื่นชมว่าเป็นความท้าทายของม.อ.ปัตตานีที่เปิดโอกาสนำร่องโครงการนี้ และศอ.บต.จะประสานกับมหาวิทยาลัยอื่นในรายวิชาอื่นที่จะดำเนินการต่อไป
“หลายคนที่ยังต้องเรียนออนไลน์ ติดขัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในหมู่บ้าน ได้ประสานกับกสทช.ในการติดตั้งจุดสัญญาณเรียบร้อย ระหว่างมาเรียนต่อที่นี่ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คิดสองมาตรการจะทำอย่างไรให้นักศึกษามีรายได้ในระหว่างเรียน ประสานงานกับกระทรวงแรงงานใน 5 กรม เป็นแผนปฏิบัติการ มีเป้าหมายคือนักศึกษาที่เรียนและต้องการมีงานทำว่าจะได้กี่ราย อีกส่วนคือเมื่อจะจบการศึกษาได้มีงานทำ
ด้านทุนการศึกษา ศอ.บต.มีภาคีเครือข่ายกับภาคเอกชนที่ให้ทุน มีคุณสมบัติของนักศึกษาที่จะได้รับทุนที่จะตอบโจทย์กันได้ และเตรียมแผนรองรับนี้ถึงปี 2565”
ดร.บดินทร์ กล่าวปิดท้ายในการรับมือโลกยุคใหม่ของนักศึกษาว่า ต้องพร้อมเรียนรู้ ทำได้หลายอย่าง ปลายทางคือการประกอบสัมมาอาชีพ สิ่งสำคัญคือตั้งใจเรียน
“จากสถานการณ์โควิด 19 ม.อ.ปัตตานี ลดค่าเทอมลง 20 เปอร์เซ็นต์ในทุกคณะ ลดค่าหอพัก 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนสามารถกู้กยศ.ได้ มีนักศึกษาม.อ.ปัตตานีกู้กยศ.ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยกยศ.จะโอนค่าเทอมเข้ามหาวิทยาลัยและเป็นค่าครองชีพเดือนละ 3,000 บาท มีทุนการศึกษาทั้ง 5 วิทยาเขต 150 ล้านบาท ม.อ.ปัตตานีได้มา 33 ล้านบาท แบ่งเบาภาระนักศึกษาเป็น 3 ก้อนคือ 1.ทุนการศึกษาให้เปล่าสูงสุดทุนละ 30,000 บาท ต่ำสุดทุนละ 5,000 บาท 2.ทุนทำงาน ทำในเวลาว่างเดือนละ 15,000 บาท 3.ค่าอาหาร เดือนละ 1,500 บาท นักศึกษาหนึ่งคนสามารถขอได้ทั้งสามทุนหากมีความลำบากจริง”
นางสาวฮุสนา มะดีลาเต๊ะ จากจ.ยะลา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยนานาชาติแอฟริกา ประเทศซูดาน ซึ่งได้เทียบโอนมาเรียนเมื่อเทอม 1 บอกว่า วางแผนดีแล้ว แต่การวางแผนของอัลลอฮฺย่อมดีกว่าเสมอ
“เรียนกฏหมายอิสลาม มีเพื่อนคนไทยที่เรียนเยอะประมาณ 300 คน ส่วนมากได้ทุนกันไป ที่โน่นการศึกษาไม่ได้ทันสมัยเหมือนที่นี่ ซูดานเป็นประเทศที่ต้องใช้ความอดทนและลำบากมาก เป็นรัฐอิสลาม ไม่มีความหลากหลายของต่างศาสนิก สองปีที่ไปเรียนไม่ได้กลับเลย ครั้งนี้กลับมาครั้งแรกด้วยโควิด”
“ขอบคุณม.อ.ปัตตานีที่เปิดโอกาสให้พวกเราได้มาเรียนต่อ พ่อแม่สบายใจขึ้นเมื่อได้มาเรียนที่นี่ ปลอดภัยขึ้น บ้านเกิดของเราที่ไม่ใช่รัฐมุสลิม มาเรียนมาอยู่หอพักที่นี่ ได้ประสบการณ์ใหม่ ต้องปรับตัวหลายอย่าง ได้มาเรียนรู้เทคโนโลยีและสังคมพหุวัฒนธรรมในความหลากหลาย มีรุ่นพี่ อาจารย์ช่วยเหลือ แนะนำดีมาก เราเป็นรุ่นแรกที่มาเรียน เราต้องมีจุดยืนทางสายกลาง ต้องเปิดใจและยอมรับ เข้าใจการอยู่ร่วมกัน เคารพสิทธิเสรีภาพกันและกัน
พวกเราเลือกไปเรียนต่างประเทศเพราะได้ทุน ลดค่าใช้จ่ายทางบ้าน เมื่อกลับมาเรียนต่อที่นี่ อยากขอความอนุเคราะห์เรื่องทุนการศึกษา เราว่าเราวางแผนชีวิตไว้ดีที่สุดแล้ว แต่แต่การวางแผนของอัลลอฮฺย่อมดีกว่าเสมอ”
นายเฟาซัน มะ นักศึกษาจากม.นานาชาติแอฟริกา ที่ย้ายเทียบโอนมาเช่นกันบอกว่า สามปีที่ผ่านมาได้รับทุนไปเรียนที่ซูดาน เรียนภาษา 1 ปีและในม.อีก 1 ปี จนเกิดโควิด 19 จึงต้องกลับเมืองไทยพร้อมเพื่อนๆ มากักตัวที่พัทยา เมื่อเห็นโพสต์ในเฟสบุ๊ครับนักศึกษาเทียบโอนเข้าเรียน ดีใจมากที่มีโอกาสมาเรียนที่นี่
“ช่วงแรกกังวลกับระบบการเรียนของที่นี่ ต้องคีย์ข้อมูลเองทุกอย่าง เพราะที่ซูดานเราใช้ระบบปกติ ที่นี่ทำให้เราได้เรียนรู้ระบบ พัฒนาตัวเองขึ้นในการใช้เทคโนโลยี แต่เราผ่านไปได้ ประทับใจในการเรียนคณะนี้ มีรุ่นพี่สโมสร อาจารย์ นักศึกษาทุกคนคอยช่วยเหลือและแนะนำ ขออนุเคราะห์ทุนเฉพาะนักศึกษาเทียบโอน เพราะเรียนที่ซูดานได้ทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกอย่าง ขอขอบคุณคณะและม.อ.ปัตตานีที่ให้โอกาสพวกเราได้เรียน ณ ที่นี่”