“ในการเรียนอัลกุรอ่าน ผู้สอนจะเน้นการใช้เสียงที่ต้องใช้กระบังลม คล้าย ๆ กับการร้องเพลงโอเปร่า ต้องใช้เสียง สูง ต่ำ ยาว พบว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่สามารถกำหนดลมหายใจ การออกสียงสูง ต่ำ ยาว ได้ดีกว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่อย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้กลุ่มที่สูบบุหรี่เห็นความสำคัญของการลด เลิกบุหรี่ได้ และมีความพยายามในการลดเลิกมากขึ้น”
การเรียนอัลกุรอ่าน ณ มัสยิดบ้านตรอซัน จึงนำพาสู่การเลิกสูบบุหรี่ได้ของผู้ชายหลายคน
ปัจจุบันพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในตัวบ้านของสมาชิกที่อยู่อาศัยในครัวเรือนทำให้เกิดอันตรายแก่คนรอบข้าง โดยมีการสูบบุหรี่ภายในตัวบ้านมากถึงร้อยละ 39.5 ในขณะที่ไม่มีการสูบบุหรี่ในตัวบ้านร้อยละ 59.4 และที่เหลือร้อยละ 1.1 ไม่แน่ใจ โดย พบว่าร้อยละ 27.8 มีการสูบบุหรี่ในตัวบ้านทุกวัน และร้อยละ 7.1 มีการสูบบุหรี่ในบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ยังมีผู้สูบบุหรี่อีกจำนวนมากที่ไม่ใส่ใจในสุขภาพของตนเองและไม่คำนึงถึงสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของสมาชิกคนอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน
โครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน เป็นโครงการหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการรณรงค์และลงพื้นที่ปฏิบัติการผ่านกิจกรรมหะละเกาะฮฺ(วงกลมเปลี่ยนชีวิต) เพื่อช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ภาคใต้ เน้นใน 6 จังหวัด 15 อำเภอเป้าหมาย (อำเภอหนองจิก อำเภอมายอ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง อำเภอรามัน อำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา อำเภอเมือง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส อำเภอจะนะ อำเภอรัตภูมิ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา อำเภอท่าแพ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล และเขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอาสาสมัครพาครอบครัวเลิกบุหรี่ และเพื่อป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่
กัลยาณา วาจิ รองผู้จัดการมูลนิธิสร้างสุขไทยมุสลิม(สสม.) เผยถึงงานวิจัยศึกษาพฤติกรรมสถานการณ์การสูบบุหรี่ สถานศึกษามุสลิม รร.ปอเนาะ รร.ราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ปี 2558 ถึงคนสูบบุหรี่เป็นบุคลากรทางด้านศาสนา 33.38% อัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 20.8% มีแนวโน้มวัยรุ่นมีอัตราการสูบบุหรี่สูงขึ้นเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ อนาคตอัตราคนที่จะเป็นโรคจากการสูบบุหรี่สูงขึ้น รัฐบาลจัดงบประมาณระบบสุขภาพสูงขึ้น
“มุสลิมส่วนใหญ่โยงกับข้อบัญญัติศาสนาในชีวิตประจำวันเรื่องบุหรี่ กลุ่มผู้นำศาสนามีแนวโน้มติดบุหรี่ 48.46% เกือบครึ่งหนึ่งเห็นว่าการสูบบุหรี่ไม่สามารถตัดสินเป็นสิ่งต้องห้าม งานวิจัยเป็นข้อมูลทำให้การวางแผนเลิกบุหรี่เริ่มต้นที่บ้าน ผู้นำศาสนามีบทบาทเลิกบุหรี่ได้ ส่วนใหญ่พ่อเลิกบุหรี่ได้เพราะลูกสาวและเกรงใจภริยา การวางแผนให้ภริยา บุตรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน อาสาสมัครเลิกบุหรี่เริ่มต้นที่บ้าน สร้างแรงกระตุ้นให้คนที่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ได้ และอสม.ในชุมชนเข้าถึงคนในชุมชนมากที่สุด
โครงการเลิกบุหรี่ในช่วง 3 ปีแรก ปี 58-59 มีผู้เลิกบุหรี่ได้ 70 คน ด้วยการสร้างอาสาสมัครขับเคลื่อนเข้าไปในชุมชนให้เลิกบุหรี่ เป็นประสบการณ์ที่เราวางแผนเก็บข้อมูลครัวเรือนผู้สูบบุหรี่ คนที่จะเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดต้องเลือกวิธีการหักดิบ คนละเลิกต่อเมื่อ ตัวเองป่วย บางรายก็หาย บางรายก็สายเกินไป คนที่อยู่ในบ้านรับควันบุหรี่มือสอง มือสาม ติดไปทั่วบ้าน ต้องเริ่มจากในบ้านแล้วออกสู่ข้างนอก สิ่งสำคัญคนในบ้านต้องให้กำลังใจ เมื่อทำได้แล้วก็ขยายออกไปยังชุมชนและประเทศ”
“ไม่ได้มองว่าจะเลิกได้กี่คน แค่เขามีจิตสำนึกไม่สูบในบ้าน ถือว่าโอกาสที่จะสำเร็จมีแล้ว ถ้าเลิกได้ก็ดีมาก ชาวบ้านจริงๆ ไม่รู้ว่าบุหรี่มือสอง มือสามเป็นอย่างไร เมื่ออรู้ว่าได้ผลกระทบก็เริ่มกดดันสามี แต่ละบ้านจะมีวิธรีการ การรณรงค์มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ปละต้องทำต่อไป”
ประสบการณ์การดำเนินงานในชุมชนมุสลิมที่ผ่านมาทำให้เห็นโอกาสที่จะพัฒนากระบวนการทำงานที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในชุมชนต่างศาสนิกหรือชุมชนที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีจุดต่างกันบางประการ การปฏิบัติงานในชุมชนมุสลิมจะเน้นการสอดแทรกหลักศาสนาในกิจกรรมที่ให้ความรู้ด้านต่างๆ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีมาแล้ว เช่น การเผยแผ่ผลการฟัตวาว่าบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) จากสานักจุฬาราชมนตรี สำหรับชุมชนต่างศาสนิก จะเน้นผลกระทบทางสุขภาพ การทำงานทั้งในและนอกพื้นที่มุสลิม จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้ทุกฝ่ายสามารถพัฒนาการควบคุมยาสูบของตนให้ดียิ่งขึ้น
ชุมชนบ้านตรอซัน อ.ยะรัง จังหวัดปัตตานี คือตัวอย่างพื้นที่ดำเนินการที่ประสบผลสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยกิจกรรมการเรียนอัลกุรอ่านโดยใช้ระบบกีรออาตี อาสาพาเลิกบุหรี่ ขับเคลื่อนในการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ ผ่านการเรียน การสอนอัลกุรอ่าน สัปดาห์ละ 2 วันอย่างต่อเนื่อง ใช้วิถีชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ไม่เคยเข้ารับการอบรมเรื่องบุหรี่ ได้เปิดเผยตัวและยินดีเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนสามารถรวมตัวเป็นกลุ่มที่มั่นคงและยั่งยืน ด้วยจำนวนสมาชิกจำนวน 45 คน นอกจากสามารถขับเคลื่อนการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่แล้ว ยังสามารถต่อยอดการพัฒนาชุมชนด้านอื่น ๆ อีก ได้แก่ การขับเคลื่อนการพัฒนา การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม จากมัสยิดสู่ชุมชน การระดมทุนสวัสดิการประจำมัสยิด โดยมีกิจกรรมร่วมรับประทานอาหารในวันศุกร์เพื่อบริจาคเงิน การระดมทุนเพื่อทำกุรบ่าน (การเชือดวัวในวันเฉลิมฉลองอิดิ้ลอัฎฮาของมุสลิม) การระดมทุนปรับปรุงส้วมของมัสยิด การพัฒนามัสยิด เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ ตามโครงการศาสนสถาน มีกิจกรรมศูนย์เรียนรู้เลิกสูบบุหรี่ ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะฯลฯ
นายการียา ยือแร ผู้อำนวยการรพ.สต.ยะรัง ผู้ประสานงานโครงการกีรออาตี อาสาพาเลิกบุหรี่ บอกว่าใช้ความต้องการของชุมชนในการเรียนอัลกุรอ่านนำหน้า ไม่ได้ไปแย่งเวลาชาวบ้าน เป็นสิ่งที่สอดแทรกในวิถีชีวิต ทำให้ได้รับความร่วมมือที่ดีจากคนในชุมชน
“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่การแก้ไขปัญหาสุขภาพเน้นการให้ความรู้ ไม่ได้ปปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ชาวบ้านต้องการเรียนอัลกุรอ่านประจวบกับทางสสม.กำลังหาพื้นที่ จึงคุยว่าจะทำเรื่องการเรียนกุรอ่าน แต่จะเลิกกี่คนไม่เน้น ถ่าไว้ใจจะทำ ถ้าจะแก้ไขสุขภาพต้องใช้ความต้องการของชุมชนนำหน้า
ทำไมถึงเอาอัลกุรอ่าน คนที่ติดบุหรี่ส่วนใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไปถึงผู้สูงอายุ เราใช้กุรอ่านเป็นสะพานในการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน สอนสัปดาห์ละสองวันในตอนกลางคืน ตอนเริ่มมีไม่ถึง 10 คน ต่อมามีการตรวจสุขจภาพ ตรวจความดัน ปริมาณคาร์บอนในปอด คนสูบบุหรี่จะมีคาร์บอนเยอะ ทำลายปอดไปเยอะ มีการบอกต่อกัน ตอนนี้มี 3 ห้อง จำนวน คน มีทีมรพ.สต.มาตรวจสุขภาพ ฟัน เบาหวาน ร่างกาย คัดกรอง มีการให้ความรู้สั้นๆ เรื่องผลกระทบอย่างไร สิ่งสำคัญคือที่ผ่านมากลุ่มนี้จะไม่มาร่วมกิจกรรม แต่เมื่อจัดกิจกรรมนี้เขามาร่วมตลอด มาเป็นปีที่ 3 จนกลุ่มผุ้หญิงสนใจมาเรียนด้วยช่วงกลางวัน ได้ 3 ห้อง เขามาด้วยความเต็มใจ บุหรี่จะนำไปสู่เรื่องอื่น เชิดชูคนเลิกบุหรี่ ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เสริมพลัง เมื่อเรียนขึ้นอัลกุรอ่านเล่มใหญ่ 11 คน จะมีการเลี้ยงให้กำลังใจกัน”
การียาบอกต่อว่า กิจกรรมทำให้เกิดพลังในการพัฒนาชุมชน คุณภาพชีวิต ความสะอาด กองทุน บริจาคที่ดินสร้างรพ.สต.ยะรัง และที่ดินส่วนกลางตลาดนัดและร้านกาแฟเพื่อมีรายได้เข้ามา สร้างอาคารเรียน เกิดจากกลุ่มที่ทำกิจกรรมนี้ ทุกวันศุกร์แรกของเดือนจะมีการกินน้ำชาได้ประมาณ 8000-10000 บาท กลายเป็นพลังที่ร่วมกันขับเคลื่อนชุมชนของคนทุกวัย และกำลังขยายไปที่ ม.4 บ้านพงกูวา และต.วัด โดยใช้แนวทางเดียวกับที่นี่ แต่บริบทพื้นที่ไม่เหมือนกัน
การขยายกิจกรรมให้เกิดความร่วมมือระหว่างคนในชุมชน โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงอายุ แม้ว่าการใช้การเรียนอัลกุรอ่าน ยังไม่สามารถทำให้ผู้เรียนบางคนเลิกสูบบุหรี่ได้ แต่หลายคนพยายามลด เพื่อให้เลิกได้ในที่สุด เนื่องจากการเรียนอัลกุรอ่าน ผู้สอนจะเน้นการใช้เสียงที่ต้องใช้กระบังลม คล้าย ๆ กับการร้องเพลงโอเปร่า ต้องใช้เสียง สูง ต่ำ ยาว จากบทเรียนที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่สามารถกำหนดลมหายใจ การออกสียงสูง ต่ำ ยาว ได้ดีกว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่อย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้กลุ่มที่สูบบุหรี่เห็นความสำคัญของการลด เลิกบุหรี่ได้ และมีความพยายามในการลดเลิกมากขึ้น โดยเฉพาะการรณรงค์บุหรี่เพื่อไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ ควรทำตั้งแต่ในกลุ่มเด็ก จึงขอให้มีการขับเคลื่อนในเครือข่ายของครูโรงเรียนตาดีกา โดยใช้หลักสูตรเฉพาะที่สอดคล้องกับบริบท
นอกจากนี้ทางกลุ่มเล่าว่า มัสยิดตรอซัน ตำบลยะรัง ก่อนหน้าที่จะมีโครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน คนในชุมชนต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมฯ ที่ชัดเจน เมื่อมีโครงการฯ เข้ามามีการรวมกลุ่มผู้ที่สนใจจะเรียนอัลกุรอาน จนมีผู้เลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งหมด 41 คน ที่อยู่ในระหว่างการบำบัด อีก 28 คน และมีบ้านปลอดบุหรี่จำนวน 15 หลังคาเรือน
การทำกิจกรรมนี้เกิดประโยชน์หลายๆ อย่างกับชุมชน เช่น กลุ่มเยาวชนมารวมกลุ่มเรียนอัลกุรอานฯ จำนวน 21 คน เกิดกลุ่มสตรีมาเรียนอัลกุรอานฯ 56 คน สามารถต่อยอดการพัฒนาแก้ไขปัญหาโรคเรื้อรังในชุมชนในปีนี้ได้ต่อไป เกิดกองทุนหลายกองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ได้แก่ กองทุนพัฒนามัสยิด กองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้า กองทุนกุรบ่าน กองทุนสนับสนุนการเรียนฯ เป็นต้น มีเวปเพจ ของชุมชน เพื่อเผยแพร่กิจกรรม และการรณรงค์เลิกบุหรี่ฯ เกิดเครือข่ายรณรงค์เลิกบุหรี่ในกลุ่มผู้สอนโรงเรียนตาดีกา โรงเรียนสอนศาสนา ทั้งในพื้นที่ตำบลยะรัง และตำบลใกล้เคียง ชุมชน มีการจัดมหกรรมรวมคนในชุมชน ปีละ 1 ครั้ง เรื่องการรณรงค์เรื่องบุหรี่ ผู้เรียนบริจาคที่ดิน มีแก่มัสยิดและสาธารณประโยชน์ จำนวน 6 ครอบครัว
กลุ่มได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยชุมชนเองอย่างเข้มแข็ง มีเป้าหมายชัดเจน เพื่อให้ชุมชนรู้เท่าทันสุขภาพ กลุ่มพยายามให้เกิดความยั่งยืนและย้ำกับทุกคนเสมอว่า พวกเราคือกลุ่มที่รวมกันทำความดี กลุ่มที่มีการถ่ายทอดความรู้ที่มีประโยนช์ “แม้นว่า พวกเขาจะเสียชีวิตแล้วก็ตาม ผลบุญก็จะได้กับเขาตลอดไปหนึ่งในความดีที่ไม่มีที่สิ้นสุด คือการที่คนคนหนึ่งได้ถ่ายทอดความรู้ที่มีประโยชน์ไปยังผู้อื่น ถึงแม้เขาจะเสียชีวิต แต่ความดีที่เกิดจากความรู้ของเขาก็ยังคงอยู่และจะหลั่งไหลมาสู่เขาโดยไม่ขาดสาย”
ทางกลุ่มได้จดทะเบียนกลุ่มเพื่อต่อยอดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ภายใต้ชื่อ “กลุ่มผู้เรียนอัลกุรอานอาสาพาเลิกบุหรี่” เพื่อเป็นพลังและกำลังใจให้กับผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ และยังได้แสดงถึงพลังความร่วมมือร่วมแรงของภาคีเครือข่ายทุกฝ่าย ในชุมชน ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงผู้สูงอายุ โดยที่ทุกคนทุกฝ่ายทำโดยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชน มีความสามัคคี เป็นสังคมสุขภาวะและเป็นชุมชนน่าอยู่ โดยอาศัยหลักการร่วมกันคือ “อัลอิคลาส อัลยามาอะฮฺ และอัลอิตีกอหม๊ะ” หมายถึงการกระทำโดยความบริสุทธิ์ใจ อาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน และประพฤติปฏิบัติอย่างยั่งยืน
ชายหนุ่มจากพื้นที่อื่นและเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านตรอซันบอกว่า อิจฉาความดีที่นี่ที่มีผู้นำที่ดี อยากให้บ้านเขามีผู้นำแบบนี้บ้าง เห็นพลังของผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ไม่ยึดอำนาจไว้คนเดียว เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมเช่นนี้
“เลิกมาแล้วสองปี รู้สึกเจ็บข้างใน สูบหนักวันละสองซอง เลิกแล้วหายใจสะดวก หลับสนิท ร่างกายแข็งแรง ข้อดีเยอะ อัลกุรอ่านสามารถช่วยได้จริงๆ ใจเราบอกว่าเลิกจะเลิกได้ ตัดขาดบุหรี่ไปเลย”ผู้เข้าร่วมโครงการคนหนึ่งเปิดใจถึงการเลิกบุหรี่ได้
อิสมาแอ แวบือราเฮง ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ อายุ 61 ปี มีลูก 10 คน อายุ สูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 13 ช่วงหลังๆ สูบวันละสองซอง ซ่อมรถแล้วเอามาสูบพลางดูอาการรถ สูบนิดก็ดูรถ เขาเข้าร่วมโครงการแต่แรก แต่ตัดสินใจเลิก
“มาเรียนกุรอ่านแล้วพยายามเลิกให้ได้ เพิ่งเลิกได้ปีนึง ดีที่ลูกๆ ไม่สูบเลย บอกว่าให้พ่อสูบคนเดียว พ่อจะเลิก ให้เรียนกุรอ่านให้ได้ หน้าตาผ่องใส สุขภาพดีขึ้นมาก”
เส้นทางของโครงการ “เลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน” ยังอีกไกล ต้องเพิ่มพื้นที่ในการทำงานเพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่อื่นของประเทศไทย
หะละเกาะฮฺ (วงกลมเปลี่ยนชีวิต)
คือเวทีเรียนรู้ที่ใช้หลักการศาสนาที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิต คัดเลือกเฉพาะผู้ที่สนใจพร้อมที่จะรับรู้เรื่องราวต่างๆและเปลี่ยนแปลงตัวเองเข้าร่วมกิจกรรม และร่วมพัฒนาการแก้ปัญหาโดยวิธีการใหม่ จากการรับฟังประสบการณ์ และความเห็นของเพื่อนร่วมวงสนทนา
กระบวนการของหะละเกาะฮฺมี 3 คุณลักษณะ คือ
1) เป็นการพูดคุยแบบต่อเนื่อง นุ่มนวล ไม่ทำให้น่าเบื่อ และไม่สร้างความขัดแย้ง
2) การจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง จะสลับสับเปลี่ยนกันไปตามบ้านของสมาชิกกลุ่ม โดยใช้แรงกระตุ้น สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจผ่านความสนิทสนมภายในกลุ่ม
3) เป็นวงสนทนาที่ทุกคนสามารถบอกเล่าปัญหาของตัวเอง หรือสมาชิกในครอบครัว ให้คนอื่นได้รับรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางแก้ปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้คนที่สูบบุหรี่สามารถมีส่วนร่วม และเลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้น