หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

“ม.อ.ปัตตานี” ส่ง “บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด” ลง 3 จว.

“ม.อ.ปัตตานี” ส่ง “บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด” ลง 3 จว. หนุนชุมชนเข้มแข็ง–ฐานข้อมูลพื้นที่แข็งแกร่ง

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดทำโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ตามนโยบายและการสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการสนับสนุนการดำเนินงานพร้อมงบประมาณบางส่วนในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยโครงการดังกล่าวมีการจ้างงานประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 364 คน ครอบคลุมทั้งพื้นที่ 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

โดยบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่สำเร็จตามหลักสูตรจำนวน 364 คน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เริ่มปฎิบัติงานตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน พ.ศ.2563 (4 เดือน)มีจำนวนบัณฑิตอาสาฯ 195 คน 39 ตำบล และระยะที่ 2 เริ่มปฎิบัติงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พ.ศ.2563 ( 3เดือน ) จำนวนบัณฑิตอาสาฯ 177 คน ปฏิบัติงานคลอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 30 อำเภอ 66 ตำบล แบ่งเป็นจังหวัดปัตตานี 38 ตำบล จำนวน 178 คน จังหวัดยะลา 18 ตำบล จำนวน 83 คน จังหวัดนราธิวาส 23 ตำบล จำนวน 103 คน

“การทำงานที่มีบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด ม.อ. เข้ามาช่วย และกระจายออกไปในชุมชนต่างๆของ 3 จังหวัด ทำให้เราได้ฐานข้อมูลพื้นที่ที่แข็งแกร่งและครอบคลุม” รศ.อิ่มจิต

ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มอบเกียรติบัตรให้แก่บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด ในงาน“โครงการปัจฉิมนิเทศบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” เมื่อวันที่21 กันยายน 2563 โดยมี รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิด และมอบเกียรติบัตรให้แก่บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด ที่สำเร็จตามหลักสูตร จำนวน 364 คน

โดยกระบวนสำคัญที่สุดในการสร้างบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สิ่งแรกคือ เรามีจำนวนผู้สมัครเข้ามาร่วมโครงการนี้มากถึง 1,500 กว่าคน แต่ด้วยตำแหน่งที่เราได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลนั้นมีจำนวนจำกัด เราจึงมีการสอบคัดเลือกอย่างเป็นระบบและเป็นธรรมมากที่สุด ทำให้ได้บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิดมาทั้งสิ้น จำนวน 364 คน โดยปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ระยะด้วยกัน ซึ่งบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิดระยะที่ 1 จำนวน 39 ตำบล และบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิดระยะที่ 2 จำนวน 40 ตำบล ครอบคลุม 30 อำเภอ 66 ตำบล แบ่งเป็นจังหวัดปัตตานี 38 ตำบล จำนวน 178 คน จังหวัดยะลา 18 ตำบลจำนวน 83 คน จังหวัดนราธิวาส 23 ตำบล จำนวน 103 คน

“ม.อ.ก่อตั้งมา 50 กว่าปี เราอยู่ได้เพราะชุมชน ถ้าชุมชนไม่ช่วย ม.อ.ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างแน่นอน”

ดร.บดินทร์ กล่าวและว่า ด้วยภารกิจของ ม.อ. นอกจากมีภารกิจในการผลิตบัณฑิตในหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกแล้ว ยังได้ส่งเสริมการทำวิจัย โดยการลงชุมชน เพื่อใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนโซเชียลแลป หรือห้องทดลอง ซึ่ง ม.อ.ปัตตานี ส่วนใหญ่สอนวิชาสายสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ จึงเน้นการวิจัยโดยลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน

โดยบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีบทบาทในการศึกษาข้อมูลบริบทพื้นที่ ข้อมูลผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 ทำฐานข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (GIS) และเก็บข้อมูลเชิงประเด็นคือ 1.ประเด็นผู้สูงอายุ 2.ประเด็นเด็กและเยาวชน 3. ประเด็นเศรษฐกิจชุมชน 4.ประเด็นการท่องเที่ยวชุมชน 5.ประเด็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อได้มีข้อมูลดังกล่าวบัณฑิตร่วมกับชุมชนได้สะท้อนข้อมูลโดยใช้ต้นทุนของพื้นที่กับศักยภาพบัณฑิตอาสาฯ ในการดำเนินงานโครงการ และถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการตลอดทั้งหลักสูตร นอกจากนั้นข้อมูลดังกล่าวจะส่งต่อไปยังส่วนราชการในพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการแก้ปัญหาของพื้นที่

“การทำงานเชิงวิจัยของ ม.อ.ปัตตานี เราทำงานร่วมกับชุมชน การทำงานบริการวิชาการ การลงไปช่วยชุมชน นี่คือ ภารกิจของ ม.อ. และการมีบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด 364 ชีวิตที่ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยให้บัณฑิตเหล่านี้เข้าใจชุมชนมากขึ้น”

ดร.บดินทร์ กล่าวต่อว่า บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บัณฑิตอาสาฯ ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบัณฑิตอาสาฯ อาจารย์ที่ปรึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย พี่เลี้ยงใน พื้นที่ ชุมชน นักศึกษาและบุคคลที่สนใจ และเพื่อมอบเกียรติบัตรสำหรับบัณฑิตอาสาฯ ระยะที่1 และระยะที่ 2 ตามหลักสูตร

ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดโครงการตามหลักสูตรได้มีกิจกรรมปัจฉิมนิเทศบัณฑิตอาสาฯ ขึ้นเพื่อให้บัณฑิตอาสาได้นำเสนอผลการดำเนินงานในพื้นที่พร้อมมอบเกียรติบัตรสำหรับบัณฑิตที่ได้ดำเนินงานครบหลักสูตร พร้อมทั้งเป็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนการทำงาน

อย่างไรก็ดี ต้องขอขอบคุณบัณฑิตอาสา 364 คน 79 ทีม ทีมละ 5 คน ที่ร่วมสร้างประวัติการทำงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ลงพื้นที่เยียวยาชุมชน รับฟังเรื่องราวของพื้นที่ ทำข้อมูลสถานการณ์ผลกระทบของพื้นที่ รับรู้ปัญหาและความต้องการของพื้นที่ ร่วมวิเคราะห์ ทำแผนการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ ทำโครงการร่วมกับชุมชน ทำระบบ Big Data ให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในรูปแบบเล่มรายงานและระบบ GIS หากไม่มีพวกคุณงานเหล่านี้ก็ไม่สามารถดำเนินงานได้ดั่งเช่นทุกวันนี้

“บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด ม.อ. ช่วยสื่อสารให้ชุมชนรับรู้มากขึ้นว่า ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ไม่ใช่วาทะกรรมสวยหรู แต่เป็นสิ่งที่ ม.อ.ทำแล้ว ชุมชนจับต้องได้จริง” ดร.บดินทร์

นายรูสลาม สาร๊ะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา/อาจารย์ที่ปรึกษาบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด กล่าวว่า บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด ม.อ.ส่วนใหญ่เป็นน้องๆจบใหม่ เราในฐานะที่ปรึกษาได้มีโอกาสแนะนำวิธีการทำงาน เทคนิคการทำงานต่างๆกับชุมชน รวมถึงแนะนำวิธีการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับชุมชน โดยกระบวนเหล่านี้ที่บัณฑิตลงไปทำงาน เป็นการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน การส่งเสริมรายได้ และการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆในตำบล เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งการลงพื้นที่ไปทำข้อมูล เป็นกระบวนการสำคัญที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน

“น้องๆบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด ม.อ. ได้เข้าไปช่วยหนุนเสริมชุมชนให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น”นายรูสลาม กล่าว

นายอับดุลอาซิ กาซอ บัณฑิตสู้ภัยโควิดประจำตำบลตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า ขอบคุณผู้บริหารวิทยาเขตที่ให้นโยบายบัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด คือ บุคลากรของมหาวิทยาลัย พร้อมปักธงการจ้างงาน 200 คนต่อรุ่น และมอบภารกิจการสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพบนพื้นฐานของชุมชนโดยใช้ความรู้ของบัณฑิตในการพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่า ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและคนทำงานด้วย

นางสาวซีตีมารีแย สาแม บัณฑิตอาสาสู้ภัยโควิด ประจำตำบล ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ขอบคุณทีมอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ที่ดูแลระบบกำกับการทำงาน การทำระบบฐานข้อมูล GIS ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อทำฐานระบบทั้งการเก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล เราเรียกสิ่งนี้ว่านวัตกรรม