“การให้ความสำคัญกับระบบการเขียนยาวี เนื่องจากเป็นระบบเขียนที่มีความผูกพันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้จากหลักสูตรที่มีอยู่ในโรงเรียนตาดีกามีการใช้ระบบเขียนยาวีเป็นหลัก ดังนั้นการจัดโครงการนี้เป็นความหวังว่า จะพัฒนาระบบเขียนยาวีให้มีความทันสมัยก้าวตามเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสามารถรองรับอุปกรณ์ต่างๆได้ทุกประเภท เพื่อให้ระบบเขียนยาวียังคงอยู่กับสังคมมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดไป”
ข่างต้นเป็นคำกล่าวของ อุสต๊าสอับดุลมูไฮมีน สาและ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Perkasa) และคณะกรรมการสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ในเวที “ระดมความคิดเห็นเพื่อค้นหาปัญหาการใช้งานภาษามลายูตัวเขียนยาวี ครั้งที่ 1” เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา (พ.ย.58) ณ ห้องประชุม มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERKASA) ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมาจาก ศูนย์อำนวยการรบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ครูตาดีกา นักวิชาการด้านภาษามลายู สื่อ และองค์กรภาคประชาสังคม ร่วมระดมความคิดเห็น
เวทีครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่ม “ Awan Book” โดยมี ซอลาหุดดีน กริยา ประธานกลุ่มเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ภายใต้โครงการพัฒนาระบบชุดแบบอักษรยาวีเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ คือ
“ การพัฒนาระบบชุดแบบอักษรยาวีเพื่อพัฒนาชุดแบบอักษรยาวี (Font) ที่ถูกต้องมีมาตรฐานในการใช้งานพิมพ์ต่างๆ ให้เกิดการใช้ภาษามลายูในการสื่อสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อย่างแพร่หลายเพื่อให้คนในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น อีกทั้งเพื่อสร้างพื้นที่กลางในการเรียนรู้และพัฒนาระบบการพิมพ์ตัวอักษรยาวีเพื่อพัฒนาความร่วมมือและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
สำหรับความเป็นมาของภาษามลายู-ยาวี (AsalUsulBahasaMelayuJawi)” ภาษามลายูตัวเขียนยาวีเป็นภาษาที่ใช้แพร่หลายในภูมิภาคคาบสมุทรมลายูในอดีต หลังจากการแพร่ขยายของศาสนาอิสลามในภูมิภาคนี้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการเปลี่ยนระบบการเขียน เริ่มมีการใช้ตัวอักษรอาหรับมาใช้ในภาษาที่มีอยู่ในพื้นที่ การวิวัฒนาการของระบบตัวเขียนยาวีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ฝังแน่นกับวิถีชีวิตทางสังคม เนื่องจากการที่เป็นสังคมที่ยึดติดกับศาสนา ทำให้มีการผลิตตำราวิชาการศาสนาด้วยระบบตัวเขียนยาวี โดยนักปราชญ์สำคัญๆ จนเป็นความผูกพันกับคนมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากภาษามลายูตัวเขียนยาวีไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาในการใช้งานตัวเขียนยาวีหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้งาน หรือผู้ที่มีความสามารถในการเขียน ทำให้ภาษามลายูตัวเขียนยาวีแทบจะไม่เป็นที่นิยมใช้อีก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้สถานการณ์ของภาษามลายตัวเขียนยาวียิ่งตกต่ำลง ดังนั้นจึงมีหลายองค์กรที่พยายามจะฟื้นฟูภาษามลายูตัวเขียนยาวีอีกครั้ง เพราะว่าระบบตัวเขียนยาวีมีความผูกพันกับคนมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ดี ชินทาโร่ ฮาร่า นักวิชาการด้านภาษามลายูได้กล่าวอภิปรายในหัวข้อ “ฉายภาพปรากฎการณ์ – โอกาส – ความท้าทายของภาษามลายู – ยาวีในปาตานี” ได้อย่างน่าสนใจว่า โครงการพัฒนาระบบชุดแบบอักษรยาวีเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพถือว่ามีความสำคัญต่อสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง เพราะต่อไปในอนาคตคนในสังคมจะต้องเลือกกำหนดว่าจะนำพาสังคมทางภาษาไปในทิศทางใด โดยโครงการนี้จัดทำขึ้นมาเพื่อพัฒนาฟอนต์ยาวีที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่เราคาดหวังจากโครงการนี้มี 2 ประการด้วยกัน ได้แก่
ความคาดหวังว่าต่อไปจะมีสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูที่หลากหลายยิ่งขึ้น อันเนื่องจากความสะดวกในการเข้าถึงฟอนต์ยาวี และมีการพัฒนาระบบการพิมพ์ยาวีที่อำนวยความสะดวกต่อการใช้งานยิ่งขึ้น เมื่อมีการใช้งานง่าย ก็จะทำให้เกิดกระบวนการผลิตหนังสือยาวีได้หลากหลาย จะมีผลต่อการสร้างนักอ่านยาวีรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา จนทำให้หนังสือยาวีมีพื้นที่ในสังคมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและวารสานในภาษามลายูตัวเขียนยาวี
ความคาดหวังว่าต่อไปผู้อาวุโส ที่จัดว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้ภาษามลายูตัวเขียนยาวี จะมีโอกาสได้อ่านสื่อภาษามลายูตัวเขียนยาวีผ่านสื่ออื่นๆ นอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้อุปกรณ์ที่เป็นช่องทางการสื่อสารมีหลากหลาย เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต หรือ โทรศัพท์มือถือ ดังนั้นหากเราสามารถพัฒนาให้ฟอนต์ยาวีรองรับอุปกรณ์เหล่านี้ จะทำให้บรรดาผู้ให้ภาษามลายูตัวเขียนยาวี เพิ่มโอกาสการใช้งานมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการใช้งานอย่างมากมาย ก็จะทำให้ภาษามลายูตัวเขียนยาวีก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการสื่อสารในสังคม
ทั้งนี้บทสรุปในเวทีจากการระดมความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค ที่สำคัญด้านการใช้งานและการนำไปใช้ พบว่า ขาดใช้งานตัวเขียนยาวี ขาดการสานต่อ ขาดการเผยแพร่ ขาดการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่มีการรณรงค์การใช้ตัวเขียนยาวีอย่างแพร่หลาย ไม่มีการสนับสนุนให้มีโปรแกรมตัวเขียนยาวี
ด้านเทคนิค พบว่า ไม่มีโปรแกรมฟอนต์ยาวีในระบบสารสนเทศ ขาดเทคนิคและทักษะในการใช้ตัวเขียนยาวี เกิดความผิดพลาดในการใช้ตัวเขียนยาวี ไม่มีโปรแกรมตัวเขียนยาวีรองรับในการใช้งาน
ด้านการร่วมมือและการพัฒนา พบว่า ขาดจุดร่วมระหว่างคนรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ในการพัฒนาและรักษาตัวเขียนยาวี คนในพื้นที่เริ่มขาดความตระหนักและให้ความสำคัญต่อตัวเขียนยาวี เยาวชนขาดแรงจูงใจในการใช้ตัวเขียนยาวี
ด้านนโยบาย พบว่า หน่วยงานรัฐไม่ให้ความสำคัญต่ออัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ หน่วยงานรัฐไม่มีนโยบายในการหนุนเสริมและสนับสนุนในการใช้ตัวเขียนยาวี ไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนตัวเขียนยาวี ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปนำเสนอและเผยแพร่ให้กับหน่วยงานรัฐ เยาวชนขาดแรงจูงใจในการใช้ตัวเขียนยาวี
ขณะที่ความคาดหวังจากการระดมความเห็นของผู้เข้าร่วมในด้านเทคนิคแล้ว คือการให้มีโปรแกรมฟอนต์ยาวีเป็นการเฉพาะ เมื่อพิมพ์แล้วไม่ต้องใช้โหมด “แทรก” และอักษรต่างๆไม่เปลี่ยนรูป ให้ความสะดวกในการใช้งานกับทุกเครื่องมือสื่อสาร มีเว็บไซต์สำหรับดาวน์โหลดฟอนต์ยาวีเป็นการเฉพาะอยากให้ฟอนต์ยาวีสามารถใช้งานได้เหมือนฟอนต์อาหรับ อยากให้มีโปรแกรมที่สามารถตรวจทานความถูกต้องภายในตัวโดยที่ไม่ต้องเสียเวลามาตรวจอีกรอบ และในการจัดพิมพ์ฟอนต์ต่างๆ ต้องมีการพัฒนาตัวอักษรยาวีและอาหรับควบคู่กันไป เช่น แป้นพิมพ์และเทคนิคการพิมพ์จะต้องมีการประยุกต์ใช้มาตรฐานเดียวกัน
ส่วนด้านนโยบาย ผู้เข้าร่วมอยากให้ภาษามลายูตัวเขียนยาวี เป็นภาษาหลักในการใช้งาน โดยเพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ข่าวสาร สื่อสิ่งพิมพ์ และควรมีการพัฒนาไปสู่ระบบราชการในอนาคต ควรให้มีการใช้ภาษามลายู ตัวเขียนยาวี เป็นภาษาราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ทุกกลุ่มได้มาทำงานร่วมกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาฟอนต์ยาวี จนภาษามลายู มีความเท่าเทียวกับภาษาไทย ในด้านการใช้งาน โดยภาษามลายูจะต้องใช้ตัวเขียนยาวีเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อรูปธรรมที่ชัดเจนต้องมีการอบรมอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้การเขียนด้วยตัวเขียนยาวีมีการใช้งานทุกสาขาการงาน หากมีการผลิตฟอนต์ยาวีเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องให้มีการเผยแพร่ในพื้นที่และต่างพื้นที่ ต่างประเทศ
ซอลาฮุดดีน กริยา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังกิจกรรมว่า ณ ปัจจุบันมีข้อกังวลที่สำคัญตอนนี้ คือ เรื่องการผลักดัน เผยแพร่ต่อสังคมจะต้องเริ่มอย่างไร
“การผลักดันจำเป็นต้องเกี่ยวโยงกับกลไก องค์กรหลายฝ่าย หลายหน่วยงานที่จะผลักดันให้เป็นมาตรฐานของสังคมในพื้นที่ แต่เท่าที่นึกได้คือจำเป็นจะต้องกระตุ้นให้คนในพื้นที่ตระหนักมากขึ้น ถ้าไม่อย่างนั้น ภาษามลายูอักษรยาวีก็จะหายสาบสูญได้ ตอนนี้คิดอยู่ว่าจะจัดเวทีสาธารณะ สร้างกระแส รณรงค์ให้สังคมทั่วไปได้รับรู้ ผลิตเว็บไซท์เกี่ยวกับเรื่องการใช้ฟรอนท์อักษรยาวี นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธีการที่สำคัญคือ การผักดันให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ในระดับนโยบาย ซึ่งสนใจที่จะชวน ศอบต. มาร่วมพูดคุยหาแนวทางขับเคลื่อนร่วมกัน แต่แนวทางหลักสำคัญ ณ ตอนนี้ คือประสานองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะสถาบันภาษามลายู-ไทยแลนด์”
ขณะที่ข้าราชการท่านหนึ่งจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ความสำคัญของภาษามลายู คือ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในการสื่อสารกันภายในพื้นที่ หากมีการใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมโยง ในยุคที่ผู้คนเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีมาก ก็จะมีความสนใจในการใช้ภาษามลายูถิ่นมากขึ้น ก็สื่อสารระหว่างคนต่างภาษาก็จะมากขึ้นเช่นกัน
“ปัญหาก็คือตอนนี้ภาครัฐไม่ค่อยเข้าใจความสำคัญของภาษามลายู ฟรอนท์ยาวี ทั้งๆที่จริงภาษามลายู ฟรอนท์ยาวี คือจุดเด่นที่เราควรอนุรักษ์เอาไว้เพราะเป็นภาษาโบราณที่ยังมีการใช้กันอยู่อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นหนึ่งแนวทางในการพัฒนาที่ตอบโจทย์พื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าภาษามลายูอักษรยาวีเป็นส่วนที่ใช้ พบเห็นในคัมภีร์กีตาบสอนศาสนาอิสลามที่มาจากผู้รู้ในพื้นที่ หากมีการฟื้นฟูก็จะช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าความรู้ที่โดนแปลเป็นภาษไทยแล้ว และที่น่าสนใจคือ ความเป็นมาของภาษามลายูอักษรยาวี คือ ภาษา อักษรโบราณที่ยังมีการใช้กันอยู่ มีการใช้อย่างเป็นระบบด้วย”
“ผมคิดว่าตอนนี้ภาครัฐก็เริ่มเห็นความสำคัญ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสนับสนุน แต่ยังขาดบุคลากร หรือผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงาน ศอบต. ส่วนหน่วยงานที่น่าจะเกี่ยวข้องคือ สำนักพัฒนาบุคลากร สามารถที่จะมาร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้สาธารณะชนรู้จัก เข้าใจ แนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักได้ในที่สุด”
นับเป็นเรื่องดีๆตอบโจทย์ชายแดนใต้ แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วปลายทางจะเป็นไปตามความคาดหวังของสังคมมลายูชายแดนใต้หรือไม่…