“ปัตตานีโมเดล” นำร่อง พัฒนารูปแบบระบบบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal Metical Service) ในสถานพยาบาลแต่ละระดับในจังหวัดปัตตานี
เมื่อบ่ายวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ณ โรงพยาบาลปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ ดร.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการพัฒนารูปแบบระบบบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal Metical Service) ในสถานพยาบาลแต่ละระดับในจังหวัดปัตตานี
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการการแพทย์วิถีใหม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์อย่างยั่งยืน มุ่งเน้นให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ CoVID- 19 ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยเลือกปัตตานีเป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรกของไทย
นายสาธิต กล่าวถึงการเลือกปัตตานีเป็นจังหวัดนำร่องว่า เพราะมีผู้นำคือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้าใจระบบและต่อสู้เพื่อโควิดมาสักระยะหนึ่ง มีความรู้และตั้งใจ ร่วมกันขับเคลื่อน โดยจะมีการสนับสนุนองค์ความรู้และการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ
“จากการตอบรับจากนานาชาติเรื่องการต่อสู้กับโควิด 19 ไทยอยู่อันดับ 2 ของโลก ผ่านเกณฑ์ชี้วัดคือความสำเร็จของทั้งประเทศและทุกฝ่าย ความร่วมมือร่วมใจของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขได้ต่อสู่และเรียนรู้นำไปสู่การแพทย์วิถีใหม่ การปรับตัวในวงการสาธารณสุขของประเทศเรา เป็นโอกาสที่ดีที่สุด กรมการแพทย์และกรมการสนับสนุนการบริการเลือกปัตตานีเป็นจังหวัดนำร่อง ด้วยมีผวจ.เป็นพ่อเมืองที่ยอมรับและต่อสู้กับโควิดสิ 19 ทั้งที่ปัตตานีมีตัวเลขติดเชื้อสูงมาก ท่านเข้าใจระบบสาธารณสุขอย่างดี ตกลงใจว่าการขับเคลื่อนระดับจังหวัดและไปสู่ทุกจังหวัด”
รูปแบบการให้บริการการแพทย์วิถีใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีเป้าหมายคือ 1.ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่(2 P Safety) เช่นการผ่าตัดวิถีใหม่ การแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่ การทำทันตกรรมปลอดภัย 2.การลดความแออัด จัดระบบใหม่ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนปลอดเชื้อหลังโควิด
มีการแยกผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มควบคุมได้ดี (สีเขียว) พบแพทย์ครั้งเว้นครั้ง โดยเลือกว่ามาที่โรงพยาบาลหรือผ่านระบบการรักษาทางไกล (telemedicine) กลุ่มควบคุมได้ปานกลาง (สีเหลือง) มีปัญหาแต่ไม่รุนแรง มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลครั้งเว้นครั้ง มีอสม.ไปเยี่ยมบ้าน และกลุ่มที่ควบคุมได้ไม่ดี (สีแดง) ต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกครั้ง มีอสม.เยี่ยมบ้านและใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการคัดกรองและลดผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล และ 3.เพิ่มการเข้าถึงบริการทุกช่องทาง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยจะทั้งหมดจะถูกบูรณาการหลอมรวมกันและขยายการดำเนินงานไปยังระดับภูมิภาคทั้งประเทศ โดยมีองค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุนช่วยเหลือร่วมด้วย”
ด้านนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปรียบเทียบการบริการทางการแพทย์วิถีใหม่เหมือนการฟังเพลงเพื่อชีวิตวิถีใหม่และการเล่นฟุตบอลว่า สิ่งที่ทำมาได้สร้างวัฒนธรรมการบริการทางการแพทย์วิถีใหม่เหมือนการฟังเพลงเพื่อชีวิตวิถีใหม่ให้เป็นสิ่งปกติ ส่วนฟุตบอล แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์คือโค้ชฟุตบอลที่จัดวางตำแหน่ง วางระบบห้องต่างๆ อาคาร สถานที่และเทคนิคใหม่ๆ ประชาชนคือทีมเดียวกันที่มีโค้ชสอนทุกอย่างก่อนเข้าโรงพยาบาล ดูแลสุขภาพ เป็นชีวิตวิถีใหม่ถูกกับภูมิศาสตร์ ภูมิสังคมและประชาชนที่มีสุขภาพที่ดี