หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

บทสนทนานักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ : 111 ปี กับชะตากรรมปาตานีที่ไม่ได้กำหนด

ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งกันมาเนิ่นนาน ซึ่งสาธารณะอาจเข้าใจว่าปัญหาเริ่มเมื่อ 4 มกราคม 2547 ขณะที่ความเป็นจริงทางประวัติศาสตนั้นปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้คงต้องย้อนไปเมื่อ ปี 2452 ตามสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่เปิดทางให้รัฐบาลสยามในอดีตอ้างความชอบธรรมผนวกปาตานีมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม

หากนับปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้จากปี 2452 จนถึงวันนี้ ปี 2563 ก็นับได้ 111 ปี และเพื่อให้ความเข้าใจในปัญหาชายแดนใต้อย่างรอบด้าน กลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่อย่าง สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS จัดเวทีเสวนา หัวข้อ 111 ปี กับชะตากรรมปาตานีที่ไม่ได้กำหนด ณ Patani Artspace ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ผู้ร่วมเสวนา โดยมีวิทยากรร่วม ได้แก่ ซูกริฟฟี ลาเตะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS อาเต็ฟ โซ๊ะโก จากกลุ่ม The PATANI ซาฮารี เจ๊ะหลง นักสื่อสารสาธารณะ โดยมี มูฮัมหมัดอานัส หลงเดหวา ดำเนินรายการ ซึ่งมีหลายแง่มุมจากวิทยากรที่กองบรรณาธิการอยากหยิบยกมานำเสนอเพื่อสร้างข้อข้อฉุกคิดต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย

ซาฮารี เจ๊ะหลง : เปิดพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์รอบด้าน เพื่อกำหนดอนาคตร่วมกัน

“นักสื่อสารสาธารณะ วันนี้ครบรอบ 111 ปี ถามว่าประวัติศาสตร์คืออะไร ความหมายคือ งานศึกษาเรื่องราวของอดีต อุดมการณ์ที่ผูกพันกับเรื่องราวในอดีต และการเปลี่ยนแปลงในอดีตที่เราอยากศึกษาว่ามีความเป็นมาอย่างไร ประวัติศาสตร์มีหลายแง่มุมขึ้นอยู่กับผู้เล่าประวัติศาสตร์จะบอกเล่าด้านใด ซึ่งถ้าเราปล่อยให้ประวัติศาสตร์ใดประวัติศาสตร์หนึ่งมีอิทธิพลหรือมีอำนาจเหนือกว่า ก็จะสร้างปัญหาในภายหลังได้ วิธีการแก้ปัญหานั้นต้องปล่อยให้ประวัติศาสตร์แต่ละด้านได้เปิดเผยขึ้นมา เพื่อให้แต่ละด้านได้เกิดความสมดุลในข้อเท็จจริง ที่เป็นปัญหาคือประวัติศาสตร์ของปาตานีไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้ในพื้นที่ปาตานี หากใครมาพูดคุยเรื่องนี้ก็จะถูกเชิญตัวจากฝ่ายทหารทันที”

“แนวทางการต่อสู้เพื่อชาติและชาติพันธุ์ ก็ต้องอาศัยการแสวงหาความรู้ เพื่อใช้ในการพูดคุยกับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย เช่น การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยในฟิลิปปินส์ ก็เอาเรื่องประวัติศาสตร์ขึ้นมาให้ความสำคัญที่สุด การปฏิรูปประเทศในสมัยก่อนของไทย คือการปฏิรูปและการเสียดินแดน ในสมัย ร.5 ถือว่าเป็นสองด้านของเรื่องเดียวกัน รัฐชาติใหม่มาแทนรัฐแบบโบราณ ซึ่งหมายความว่า กรณีรัฐไทยแพ้สงครามกับอังกฤษหรือฝรั่งเศส จะเรียกว่าการเสียดินแดน เพราะไม่สามารถอ้างอำนาจเหนือดินแดนนั้นได้ แต่หากชนะสงคราม ได้มาซึ่งดินแดนมาผนวกแบบคลุมเครือก็จะเรียกว่าการปฏิรูปการปกครอง ในการแสดงออกด้านภูมิศาสตร์แบบใหม่ จะใช้แผนที่เป็นอาวุธในการปกครอง ซึ่งทาง PerMas ก็ใช้ยุทธศาสตร์นี้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน”

“นับเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกัน ปัจจัยที่มีผลต่อการตกลงพรมแดนมี 5 อย่าง 1) ชาติและชาติพันธ์ 2) รัฐสืบทอด 3) เศรษฐกิจและการปกครอง 4) ภาพลักษณ์ประเทศ 5) นโยบายจักรวรรดิอังกฤษต่อดินแดนมลายู ซึ่งเรื่องแผนที่ปาตานีเราต้องการอย่างไร เราต้องมาพูดคุยถึงปัจจุบันและอนาคต โดยใช้ข้อมูลจากอดีตที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคตของปาตานี”

อาเต็ฟ โซ๊ะโก : บทสนทนาปาตานี กับการกำหนดชะตากรรมตนเอง

“นักประวัติศาสตร์หรือผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ทราบดีว่าการทำสนธิสัญญานั้นเพื่อให้เกิดความสันติภาพ ในอดีตสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียหรือสนธิสัญญาสันติภาพ เพื่อสงบศึกสงครามในระหว่างนั้นมีปัญญาชนในยุโรป ให้ความเห็นว่าอำนาจต่าง ๆ นั้นต้องเกิดจากประชาชนภายในรัฐ ซึ่งเป็นคนถืออำนาจสูงสุดเป็นคนมอบให้ ไม่ใช่มาจากคนนอก ซึ่งเป็นอำนาจโดยชอบธรรมและดีที่สุด เป็นที่มาของการเกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้นในระหว่างที่ทำสนธิสัญญานั้น”

“หลังจากนั้นก็มีการเผยแพร่ความคิดนี้ไปทั่วโลกว่ารัฐสมัยใหม่ ต้องมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง ถ้าพูดถึงกรณีของไทย ปาตานีเองก็อยากจะเป็นรัฐสมัยใหม่ คือปาตานีอยากจะมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง แต่หลังจากการแพ้สงครามก็ต้องจำยอมและยอมอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐไทย ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิม การต่อสู้ของปาตานีนั้นจะต่อสู้เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางของปาตานีเองซึ่งเป็นพลวัตของการต่อสู้ของคนปาตานีต้องมีการพูดคุยต่อไป แต่ปัจจุบันไม่มีพื้นที่ที่จะพูดคุยในเรื่องนี้เลย”

“สำหรับเวทีการพูดคุยเรื่องแผนที่ปาตานี เราก็มีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องซึ่งคนปาตานีเองก็ไม่ได้รังเกียจที่จะร่วมอยู่ร่วมสังคมที่มีความหลากหลายภายใต้รัฐไทย ซึ่งไม่ใช่รัฐไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแน่นอน และต้องการให้รัฐไทยให้อำนาจปาตานีกำหนดทิศทางของคนปาตานี ภายใต้อำนาจรัฐไทยที่จะมอบให้ได้”

“ปัจจุบันปาตานีไม่มีอำนาจอะไรเลยที่จะไปต่อรองกับรัฐไทย ซึ่งชาติพันธ์ปาตานีไม่ได้ต้องการเอกราชเพื่อปกครองตนเอง แต่ต้องการรวมตัวของชาติพันธุ์ของตนให้เป็นหนึ่งเดียวต่อสู้เพื่อมีอำนาจกำหนดทิศทางของชาติติพันธ์ด้วยตนเองสามารถกำหนดทิศทางเหมือนกับแคว้นคาตาลันของประเทศสเปนโดยไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อต้องการเรียกร้องอำนาจเพื่อใช้สำหรับชาติพันธุ์ของตนเอง หากปาตานีไม่มีอำนาจกำหนดทิศทางเป็นของตนเองก็อย่าหวังเลยว่าชาติพันธุ์ของปาตานีจะเดินหน้าต่อไปได้ จึงขอให้พวกเรามาช่วยกันเรียกร้องให้ได้มาภายในเร็ววัน”

ซุกริฟฟี ลาเตะ: PerMas คนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการเมืองเพื่อปาตานี

“แนวทางของ PerMas วันนี้ไม่ใช่จะมาโทษการทำงานของภาครัฐแต่อย่างใดกระบวนการเคลื่อนไหวกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมา เพื่อต้องการจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ต้นเหตุของปัญหาด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการตั้งคำถามมากมายหลังจากที่ปาตานีตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐไทย ทำให้เกิดปัญหาด้านกลืนวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ความเป็นชาติ เชื้อชาติ ที่ผ่านมีการเรียกร้องในสิ่งเหล่านี้จากหลายๆกลุ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ PerMas ยังไม่เห็นคือ คำนิยามของปาตานีเป็นอย่างไรกันแน่”

“ PerMas มียุทธศาสตร์ 2 ประการ คือ 1) เสรีภาพทางการเมือง ต้องการให้มีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสะท้อนความคิดของคนปาตานี 2) เอกภาพภายในปาตานี โดยทำให้คนมีความรู้สึกว่าตนเป็นคนปาตานี ถึงแม้ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ถือว่าเป็นคนปาตานี ตามเป้าหมายทางการเมืองของเขา ในความหมายว่าคนปาตานีมี 3 อย่างคือ 1) คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนปาตานี ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม 2) คนที่อาศัยนอกพื้นที่ปัตตานีหรือโพ้นทะเล แต่สืบเชื้อสายปาตานี 3) คนที่ไม่มีเชื้อสายปาตานีเลย แต่มีอำนาจเพื่อปาตานี”

“อีกเรื่องที่ PerMas จะพูดถึงเรื่องแผนที่ปาตานี ว่าเราพร้อมจะเรียกได้หรือไม่ มีแผนที่คล้ายรูปหัวแพะซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยัน เราพร้อมหรือยังที่จะคุยเรื่องนี้ ซึ่งคนปาตานีอย่าไปกลัวกับการพูดคุยถกเถียงในเรื่องนี้เลย รัฐบาลไทยเก่งในเรื่องกลืนนชาติพันธ์อัตลักษณ์ของปาตานี การกำหนดชะตากรรมตัวเองของ PerMas ซึ่งถ้าเปลี่ยนปาตานี เขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยน แต่ต้องเป็นไปตามที่เขาต้องการโดยต้องคำนึงถึงการพูดคุยถึงรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา”

“ถ้ารัฐบาลพยายามยืนยันจะเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์คนในพื้นที่ก็เท่ากับเพิ่มปัญหาให้มากขึ้นนโยบายของรัฐไม่เคยฟังเสียงประชาชน ปัจจุบันประชาชนเชียร์ฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาลปัญหาที่เกิดในปาตานีผมไม่เชื่อเลยว่ารัฐบาลทหารหรือรัฐบาลแบบเผด็จการจะแก้ปัญหาได้เลย คนในพื้นที่เชื่อในกลไกที่ตรวจสอบได้โดยประชาชนถ้ารัฐบาลแบบนี้ ยังคงบริหารประเทศต่อไปไม่เพียงแค่ปาตานีเท่านั้น คนทั้งประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบต่อไป พวกเราพร้อมหรือยังที่จะร่วมมือการกำหนดทิศทางของคนปาตานีต่อไป”

111 ปีนี้ การกำหนดเขตแดนใหม่ของรัฐไทย การสร้างรัฐสมัยใหม่ของไทย ในสมัยนั้นประชาชนก็ไม่ได้กำหนดด้วยตัวเอง กระทั่งมีคำพูดที่ผมพูดไปเมื่อกี้คือ เขายอมให้อภัยต่อคนที่ซื้อเขาไปได้แต่เขาไม่สามารถให้อภัยกับคนที่ขายกับเขาได้ หมายถึงว่า แม้แต่การกำหนดว่าเขาโอเคไหมที่จะไปอยู่กับอังกฤษสมัยนั้นเขาก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ ประชาชนเขาก็ไม่ได้ตอบ ในสิ่งที่เรากำลังตั้งหัวข้อ ก็คือว่านี่มัน 111 ปีแล้วนะที่เราไม่สามารถที่จะกำหนดอนาคตทางการเมืองของเราได้ แล้วเมื่อไหร่เราจะกำหนดได้ แล้วเรายืนยันว่าการแก้ปัญหาที่นี่ถ้าคนที่นี่ไม่ได้กำหนดอนาคตทางการเมืองที่นี่สันติภาพก็ไม่มีวันเกิดขึ้น

“ เวลาเราพูดถึงปาตานี เราก็มักจะพูดถึง BRN ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่อเอกราช พวกเรายืนยันมาตลอดว่า คุณค่าหรือเป้าหมายของคนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเอกราชหรือไม่ใช่เอกราช BRN ไม่ใช่เจ้าของสิ่งนั้น ประชาชนที่นี่ต่างหากที่เป็นเจ้าของ ยอมอยู่ที่นี่หรือไม่อยู่ที่นี่ คนที่นี่แหละต้องเป็นคนส่งเสียง ดังนั้นถ้า BRN คือทุกสิ่งทุกอย่างของปาตานี ผมว่าไม่ใช่”