เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีการจัดกิจกรรม Peace 4 + สื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมความรู้วารสารศาสตร์สันติภาพ เสริมบทบาทสื่อมวลชนสร้างสันติสุขชายแดนใต้/ปาตานี โดยสำนักข่าวอามาน (Aman News agency) ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ หรือ Peace Resource Collaborative (PRC) สหภาพยุโรป (EU) สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในงานดังกล่าวนับว่าเป็นหมายหมุดสำคัญที่เกิดจากการตื่นตัวของคนทำงานด้านสื่อ โดยเฉพาะการทำงานสื่อสารที่อยู่ในบริบทความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้
ที่ผานมาปฎิเสธไม่ได้ว่า การสร้างสันติภาพในพื้นที่จำเป็นจะต้องอาศัยเรื่องการหนุนเสริมทักษะและความรู้การสื่อสารสันติภาพ การจัดงานครั้งนี้จึงมีเครือข่ายร่วมจัดงานมาจากคนทำงานด้านสื่อในพื้นที่ จชต. มากมาย ได้แก่ ชมรมสื่อมวลชนเพื่อสันติ SPMC News สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภูมิภาคใต้ ไทยพีบีเอส คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม(Civic Women) กลุ่มหัวใจเดียวกัน สานสายใยวัฒนธรรม เพจร้อยพลัง รังสรรค์วิถี สำนักสื่อ Wartani สำนักสื่อ The PEN เครือข่ายวิทยุชายแดนใต้ เพจMOJO ชายแดนใต้ เพจบูเดาะ-เด็กจะเล่า เพจจะนะเมืองน่าอยู่ เพจที่นี่ชายแดนใต้ เพจใต้สันติภาพ เพจแวรุงไปไหน และมีตัวแทนองค์กรเครือข่ายสื่อ และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมเกือบ 200 คน
มูฮำหมัด ดือราแม ผู้บริหารโครงการฯ ได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์หลักในการเสริมความรู้และทักษะการสื่อสารสันติภาพตามแนวคิดวารสารศาสตร์สันติภาพ (Peace Journalism) ให้สื่อมวลชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาว่า เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการรายงานข่าวตามแนวคิดวารสารศาสตร์สันติภาพ ที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆมากขึ้น ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
มูฮัมหมัดได้รายงานเพิ่มเติมว่า กิจกรรมของโครงการ ที่ผ่านมา ประกอบด้วยการจัดสัมมนา การจัดอบรมให้ความรู้ และปิดท้ายด้วยการจัดประกวดผลงานข่าวที่จะมอบรางวัลในช่วงบ่ายวันนี้ กลุ่มเป้าหมายของโครงการก็คือกลุ่มคนทำสื่อที่หลากหลาย ทั้งสื่อกระแสหลัก นักข่าวสตริงเกอร์ สื่อทางเลือกหรือทุกคนที่เป็นนักสื่อสาร รวมกว่า 40 คน แต่การขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็พบปัญหาอุปสรรคมากมายพอสมควร เช่นเดียวกับเรื่องการสร้างสันติภาพที่มันไม่ง่ายและไม่เป็นเส้นตรง เพราะทำให้เราพบพลังของสื่อโดยเฉพาะสื่อรุนใหม่ที่สามารถรวมตัวและสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ได้มากกว่า
“พวกเขาพร้อมที่จะเรียนรู้การสื่อสารในรูปแบบใหม่ที่หลากหลายและน่าสนใจ ขณะที่สื่อเดิมในพื้นที่ก็มีความสำคัญ เช่นเดียวกับสื่อจากนอกพื้นที่ที่เข้ามาสื่อเรื่องราวจากข้างใน จะทำอย่างไรที่จะให้นำเสียงของคนในพื้นที่ เสียงของคนเล็กคนน้อย เสียงของคนที่ตกเป็นเหยื่อ หรือข้อเสนอทางออกจากความขัดแย้งที่หลากหลายและข้อถกเถียงเพื่อการแก้ปัญหาร่วมกันได้ได้ถูกถ่ายทอดออกมา การเยียวยาฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคน แม้กระทั่งเรื่องราวดีๆความสวยงามของพื้นที่อย่างที่หลายคนทำอยู่อย่างมีพลังตอนนี้ เราก็เห็นเป็นรูปธรรมแล้วว่า ถ้าได้สื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่องก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้”
“ถามว่าทำไมต้องจัดงานวันนี้ เพราะมี 2 หมุดหมายสำคัญก็คือ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 วันนี้ก็คือวันที่มีการลงนามในฉันทามติร่วมว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพระหว่างสมช.กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันซึ่งฝ่ายรัฐได้เปลี่ยนชื่อเป็นการพูดคุยสันติสุข แต่กว่าจะมาถึงวันนี้เส้นทางสันติภาพก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีคุยต่อบ้าง หยุดบ้าง ตอนนี้ก็กลับมาเป็นการพูดคุยระหว่าง สมช.กับบีอาร์เอ็นตามเดิมและเชื่อว่าจะเป็นของจริงมากกว่าที่ผ่านมา ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไป”
มูฮัมหมัด ตั้งข้อสังเกตว่า มีบางคนถึงกับบอกว่าเขาจะเลิกคุยกันแล้วจะมาทำเรื่องการสื่อสารสันติภาพทำไม แต่เราก็พบว่า ตลอดระยะเวลา 15-16 ปีที่ผ่านมา มีสื่อกลุ่มใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยขยายตัวมากขึ้น หลายหลายมากขึ้น ยิ่งมีพลังมากขึ้นเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารและสามารถเป็นสื่อได้ คนทำสื่อเดิมก็ปรับตัวไปตามแพล็ตฟอร์มใหม่ๆมากขึ้น
“หมุดหมายที่สอง ก็คือ การสื่อสารกับการสร้างสันติภาพที่ต้องไปด้วยกันจึงมีการจัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ในช่วงเดือนมีนาคมขึ้นเพื่อรณรงค์เรื่องนี้ ชี้ให้เห็นบทบาทของสื่อว่ามีความสำคัญกับการสร้างสันติภาพอย่างไร นำโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ร่วมกับเครือข่ายสื่อและนักวิชาการในพื้นที่ กระทั่งเมื่อมีการลงนามดังกล่าวขึ้นมาก็ย้ายมาจัดงานวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่ตั้งเป็นวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีขึ้นมา มีการจัดงานมาแล้ว 3 ครั้ง ทุกครั้งมีการถูดคุยถึงบทบาทสื่อกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในทางวิชาการที่มีการนำเสนอองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย” ผู้บริหารโครงการฯกล่าวรายงาน
ทั้งนี้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกคนเข้าถึงและเป็นสื่อได้ จึงเกิดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น การอบรมเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ การเรียนรู้เทคนิคการสื่อสารใบแบบใหม่ เช่น MOJO เป็นต้น รวมถึงการเปิดพื้นที่ใหม่เพื่อให้มีการสื่อสารเรื่องราจากพื้นที่ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เกิดนักสื่อสารใหม่ๆที่น่าสนใจ
สำนักข่าวอามาน ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่พัฒนาศักยภาพสื่อในพื้นที่ และกระต้นหนุนเสริมให้มีการผลิตผลงานคุณภาพตามแนวทาง Peace Journalism และ Positive Peace หรือสันติภาพเชิงบวก โดยไม่จำกัดสำนักหรือประเภทสื่อเพราะทุกคนสามารถทำได้ ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ โดยมุ่งเน้นไปที่ตัวคนสื่อสาร (Sender) กับตัวสาร (Massage) เพราะถือจุดเริ่มต้นสำคัญจึงเป็นที่มาของชื่องาน “Peace 4+ สื่อสันติภาพชายแดนใต้” ซึ่งมาจากข้อเสนอของหลายคนๆ เพราะปัจจุบันบทบาทสื่อมีหลากหลายมาก ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ และกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาทำสื่อ
อย่างไรก็ดีในพื้นที่ขัดแย้งอย่างชายแดนใต้ คนทำสื่ออย่างน้อยก็จำเป็นที่ต้องเข้าทักษะการสื่อสารสันติภาพ ซึ่งจริงๆหลายคนก็ทำอยู่แล้วเพราะตามแนวคิด Peace Journalism ส่วนหนึ่งก็คือการนำเสียงของคนเล็กคนน้อย เสียงของภาคประชาชนนำเสนออกมา การนำเสนอความจริงจากทุกฝ่าย การนำเสนอทางออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่เน้นแต่เหตุการณ์หรือฝ่ายที่มีความเหนือกว่า
มากไปกว่านั้นมีการนำเสนอเรื่องราวความสวยงาม ความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ มีกิจกรรมมากมายที่แสดงถึงความตื่นตัวของคนในพื้นที่ที่จะสร้างบรรยากาศชวนสันติภาพอย่างแท้จริง ความพยายามสร้างโอกาสและการพัฒนาตนเองของคนใน เหล่านี้สามารถที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนของพื้นที่ได้เช่นกัน หรือที่เราเรียกว่า สันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) สันติภาพที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ความเท่าเทียมและความยุติธรรม