หน้าแรก รายงาน

“TADIKA” กลไกสันติภาพที่ถูก (ว่าง) เว้น จากภาครัฐมาอย่างยาวนาน

เป็นที่ทราบกันดีว่าคนมลายูส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้นล้วนนับถือศาสนาอิสลาม และหลักการสำคัญของศาสนาอิสลามนั้นกำหนดหน้าที่ให้บิดา มารดาอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้ความรู้ด้านศาสนา หรือส่งลูกหลานให้ศึกษาหาความรู้ศาสนาจากสถาบันการศึกษา จึงมีสถาบันการศึกษาอิสลามหลากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่สำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้ คือ ตาดีกา (TADIKA)

ตาดีกา เป็นที่รู้จักกันดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ตาดีกาโดยทั่วไปจะใช้พื้นที่มัสยิดเป็นศูนย์จัดตั้ง บางพื้นที่จัดซื้อที่ดินเป็นการเฉพาะเป็นอาคารเอนกประสงค์เพื่อจัดเป็นศูนย์ตาดีกาประมาณ 80-90 ปีที่ผ่านมาการจัดสอนตาดีกานิยมกระทำตามมัสยิด บางหมู่บ้านมีอาคารสวยงาม บางหมู่บ้านไม่มีงบประมาณก็ดำเนินการสอนตามอัตภาพมีบุคคลในหมู่บ้านที่เรียนวิชาศาสนาสูง(ระดับมูตาวาซิต) มาร่วมกันสอนหมุนเวียนกันโดยไม่มีค่าตอบแทน หลักสูตรที่ใช้สอนนั้นจะได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้จำนวนตาดีกามีทั้งหมดนั้นมีมากกว่า 2,000 กว่าแห่ง ครอบคลุมทั้ง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าในชุมชนมุสลิมชายแดนใต้ จึงค่อนข้างจะให้ความสำคัญ และห่วงแหนตาดีกา เพราะตาดีกาเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งในชุมชนมุสลิมมลายูที่สร้างความเข้มแข็ง รักษาไว้ซึ่งอัตรลักษณ์วัฒนธรรมมลายูที่ดีงาม อีกทั้งสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย และปลุปั้นผู้นำปัญญาชนมลายูมานักต่อนัก

ฮากีม
ฮากีม

ฮากีม พงตีกอ นักกิจกรรมเพื่อสังคมและเคยเป็นอดีตรองประธานสหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี กล่าวว่า ตาดีกาเป็นองค์กรประชาสังคมซึ่งมีพันธ์กิจไม่ใช่แค่พัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็กเล็กในพื้นที่ แต่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนซึ่งมีชาวบ้านและเยาวชนในชุมชนนั้นๆเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นเมื่อเราเห็นชุมชนไหนที่มีตาดีกาที่เข็มแข็งก็จะเห็นชุมชนเข้มแข็งตามไปด้วย

“ตาดีกาเป็นพื้นที่ของคนจิตอาสา เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา และปั้นผู้นำธรรมชาติเสมอมา แต่ปัจจุบันคนที่มีจิตอาสามาช่วยตาดีกาเป็นที่เพ่งเล็ง ไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐ เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดจากภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยความมั่นคงตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับชุมชน ซึ่งปัญหานี้ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำชับเจ้าหน้าที่เองให้มีวินัย ไม่มีอคติในการปฎิบัติงาน ส่วนเรื่องระบบการศึกษาที่ต้องไม่ไปกระทบกับความต้องการและการจัดการของตาดีกา ภาครัฐต้องตระหนักเสมอว่า ตาดีกา เป็นสถาบันสำคัญสถาบันหนึ่งที่เป็นรากฐานความเข้มแข็งของชุมชนมุสลิมมลายูที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ วิถีที่ดีงามของคนมุสลิมมลายู

อิลฮาม บุยะลา
อิลฮาม บุยะลา

เห็นคล้ายกันกับ อิลฮาม บุยะลา คณะทำงานสมาคมผู้หญิงปาตานีเพื่อสันติภาพ (Perwani) กล่าวว่า สถาบันตาดีกา มีความสำคัญต่อชาวบ้านมลายูทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะๆเด็กในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องผ่านการศึกษาตาดีกาเพราะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่เด็กๆจะได้เรียนรู้เรื่องศาสนาอิสลาม

ที่ผ่านามาตาดีกามาเติมเต็มความรู้เรื่องศาสนาอิสลามต่อผู้หญิงในชุมชน เป็นความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน ซึ่งเป็นโอกาสแรกๆที่ผู้หญิงหลายคนได้ศึกษาศาสนาเป็นระบบ เพราะเมื่อผู้หญิงหลายคนเมื่อเข้าสู่วัยศึกษาที่สูงขึ้น หรือวัยทำงาน มีครอบครัว ก็ไม่ค่อยเริ่มไม่สนใจในเรื่องการศึกษาศาสนาเท่าทีควร

“ปัจจุบันผู้หญิงจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนตาดีกา เป็นทั้งครูผู้สอน เชื่อมสัมพันธ์ชุมชนกับตาดีกา ซึ่งสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะด้วยความเป็นผู้หญิง ค่อนข้างจะมีลักษณะความโอนโยน และให้ความสำคัญต่อความรู้สึก จึงทำให้บทบาทในตาดีกาค่อนจะโดดเด่น ขณะเดียวกันอาจเป็นเพราะว่าหลังจากที่ครูตาดีกาผู้ชายลดลงซึ่งวิเคราะห์ว่าน่าจะเกิดจากความหวาดระแวงต่อความคิดของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง จึงทำให้ผู้หญิงจะต้องเข้ามารับผิดชอบ และเรียกร้องบทบาทตัวเองมากยิ่งขึ้น”

ประวัติความเป็นมาของ ตาดีกา (TADIKA) นั้นจุดเริ่มต้น คือ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด เป็นแหล่งเรียนรู้อิสลามขั้นพื้นฐานที่ต้องการให้เด็กอ่านออก เขียนได้ มีความรู้ความเข้าใจหลักการศรัทธาและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันตาดีกาเป็นสถาบันที่สำคัญยิ่งในชุมชนมุสลิมมลายู มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังหลักการศาสนาเบื้องต้นให้เด็กๆเป็นมุสลิมที่ดี เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม

ตาดีกา (TADIKA) หมายถึง ศูนย์อบรมคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่กำลังเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา ที่มีอายุระหว่าง 6-12 ปี โดยกำหนดในวันเสาร์และอาทิตย์ มุ่งเน้นให้เด็กๆ อ่านออก เขียนได้ภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม เพื่อให้แนวทางการจัดการเรียนการสอนไปในแนวทางเดียวกันจึงได้มีการจัดตั้งชมรมตาดีกา ซึ่งเรียกเป็นภาษามลายูว่า “PUSTAKA” ทั้งระดับอำเภอ และระดับจังหวัดขึ้นมาร่วมกันรับผิดชอบ ในการจัดทำหลักสูตรให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และจัดกิจกรรมมหกรรมตาดีกาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ นอกจากนั้นชมรมตาดีกาชายแดนใต้ได้จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน คู่มือการเรียน ตำราเรียนและสื่อการเรียนเพื่อใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการชมรมตาดีกาจังหวัดชายแดภาคใต้ได้มีการประชุมหารือกันและได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ ชื่อว่ามูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชื่อ ภาษามลายูว่า “PERKASA”

อย่างไรก็ตาม อิลฮาม ก็สะท้อนว่า สิ่งที่เป็นปัญหา อุปสรรคที่สำคัญสำหรับตาดีกาตอนนี้ คือ สัดส่วนครูตาดีกามีน้อยกว่าความต้องการของตาดีกาทั้งนี้ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้ง ก็พบว่า ครูตาดีการู้สึกหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ครูตาดีกาล้วนเป็นคนจิตอาสามาช่วยตาดีกาเพียงระยะสั้นๆ ไม่มีเงินเดือนเพียงพอดูแลตัวเองจึงต้องไปทำงานหารายได้ที่อื่น

“โดยเฉพาะผู้หญิงเมื่อมีครอบครัวแล้วก็ต้องแบ่งเวลาไปดูแลครอบครัว และทำงานไปด้วย ทำให้ครูตาดีกาที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนนี้จึงลดลง น้อยลงไปด้วย ดังนั้นอยากให้หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณ เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนเรื่องหลักสูตรปล่อยให้ตาดีกาขับเคลื่อนแล้วหน่วยงานทางการศึกษาก็เพียงสนับสนุน อยากให้เจ้าหน้าความมั่นคงลดอคติที่มีต่อครูตาดีกา ชาวบ้านยังเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่ไว้วางใจตาดีกา ไม่ไว้วางใจครูตาดีกา อยู่อีก และสุดท้ายอยากให้หน่วยงานทางการศึกษาช่วยมากระตุ้น ผลักดันให้เด็กๆ มีความหวัง เห็นความสำคัญของตาดีกา มองเห็นว่าตาดีกาสร้างอนาคต สร้างชุมชนที่ดีได้ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เป็นอยู่” แกนนำสตรีกล่าว

 

ฮาซัน ยามาดีบุ
ฮาซัน ยามาดีบุ

อย่างไรก็ตามแม้นตาดีกาจะไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากนักแต่ก็ยังมีภาคประชาสังคมบางองค์กร พยายามขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา เช่น “กลุ่มบูหงารายา” โดยมีการจัดเวทีเพื่อพัฒนาศักยภาพตาดีกาท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง โดย ฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบูหงารายาเพื่อการศึกษา กล่าวว่า เวทีวันนี้ เป็นเรื่องของการวิพากษ์หลักสูตรสันติภาพในระดับโรงเรียนตาดีกา ซึ่งจุดเริ่มต้นหลังจากศึกษาปัญหาโรงเรียนตาดีกา ที่พบปัญหาเกี่ยวกับนักเรียน ครูผู้สอน งบประมาณ หลักสูตร และสถานการณ์ความมั่นคง ซึ่งสิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่นี้ เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคง

“สถานการณ์ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่า ครูตาดีกาที่เป็นผู้ชายถูกจับตา ถูกระแวงจากหน่วยความมั่นคงที่อาจจะเชื่อว่าครูตาดีกาผู้ชายมีส่วนเกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้ครูตาดีกาผู้ชายกลัว ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ ไม่กล้าที่จะมาเป็นครูตาดีกา ครูตาดีกาจจึงลดลงทำให้ 75% เป็นผู้หญิงที่ดูแลตาดีกา ทั้งๆที่จริงก่อนเหตุการณ์จะมีครูผู้ชายมากกว่านี้”

ฮาซัน ยังกล่าวอีกว่า หลักสูตรสันติภาพในระดับโรงเรียนตาดีกา เป็นหลักสูตรที่มาช่วยสร้างความเข้าใจและลดความหวาดระแวงจากหน่วยงานความมั่นคง เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพทั้งครูและนักเรียนให้สามารถจัดการตนเองในสถานการณ์ความขัดแย้ง

“หลังจากนี้จะมีการทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐ แต่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการคุยทำความเข้าใจ สร้างความตระหนักต่อกลุ่มเป้าหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนตาดีกา ปรับการทำงานขั้นพื้นฐาน ก่อนจะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน ให้ชุมชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรสันติภาพระดับโรงเรียนตาดีกา ซึ่งด้วยแนวทางเช่นนี้จะช่วยให้หน่วยงานความมั่นคงเข้าใจ ไม่หวาดระแวง หรือ ลดอคติ ต่อโรงเรียนตาดีกา ไปด้วย” แกนนำกลุ่มบูหงารายากล่าว

มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ
มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ

ขณะที่ มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนากล่าวสนับสนุนโดยเห็นสิ่งที่สะท้อนในเรื่องหลักสูตรสันติภาพระดับตาดีกาได้อย่างน่าสนใจว่า ในการคุยครั้งนี้เราได้เห็นบทบาทของโรงเรียนเด็กเล็กในเขตปกครองพิเศษอาเจ๊ะ คล้ายๆกับตาดีกาบ้านเรา ซึ่งมีเด็ก ชุมชนชาวบ้าน มีส่วนร่วม หลักสูตรของเขานั้น จะปลูกฝังความเข้าใจต่อเด็กๆเกี่ยวกับอัตรลักษณ์วัฒนธรรม การดำเนินชีวิตในสถานการณ์ความขัดแย้งในชุมชน และที่น่าสนใจคือ ระบบการจัดการนั้นจะขับเคลื่อนโดยชุมชน ชุมชนช่วยกันดูแล ซึ่งทั้งหมดเพื่อเป้าหมายให้เด็กๆ มีความคุ้นเคย มีทักษะในการใช้ชีวิตเพื่อส่งเสริมสันติภาพในระดับชุมชน

นี่คือ ข้อมูล ความสำคัญของตาดีกาต่อชุมชน และความสำคัญของตาดีกาต่อการสร้างสันติภาพ “สันติภาพที่เกิดจากตาดีกา ต้องเริ่มจากสถานการณ์ที่ ตาดีกาไม่ถูกว่างเว้นความสนใจจากทุกฝ่าย”