ผ่านมาแล้ว 7 ปี สำหรับโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพ หรือ ในยุคของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกว่า โต๊ะพูดคุยสันติสุข ซึ่งได้เปิดตัวสู่สาธารณะครั้งแรก เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ในยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ก็ยังคงเป็นกระแสความสงสัย บางจังหวะก็ให้ความหวัง แต่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า โต๊ะพูดคุยมักถูกมองว่าเป็นเรื่องของคู่ขัดแย้งระหว่างรัฐไทย กับ กลุ่มขบวนการ BRN
อย่างไรก็ดีในฝากฝั่งของภาคประชาสังคม ก็พยายาม จะป่าวเสียงเรียกร้อง เข้าไปมีบทบาท ด้วยการเฝ้าติดตาม วิพากษ์วิจารย์ หรือจัดทำข้อเสนอ โดยเชื่อว่า โต๊ะพูดคุยจำเป็นจะต้องมีฝ่ายที่ 3 เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อไม่ให้ เนื่อหาการพูดคุยถูกชี้นำเพียงแค่คู่ขัดแย้งเท่านั้น หนึ่งในความพยายามตรงนั้น คือ กลุ่มสื่อมวลชนในพื้นที่ โดยล่าสุดมีการจัด เวที พิธีมอบโล่เกียรติคุณและเกียรติบัตร ผู้มีบทบาทดีเด่นส่งเสริมสันติภาพ และเปิดข้อเสนอวาระประชาสังคม สู่โต๊ะพูดคุยสันติสุข 2020 เมื่อ วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมปาร์ควิว อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมี พลเอกจำลอง คุณสงค์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และพลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานในงาน ที่สำคัญมีภาคประชาสังคมทำงานประเด็นต่างๆ ได้เสนอวาระประชาสังคมชายแดนใต้สู่โต๊ะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข อาทิ สภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนชาวไทยพุทธ ตัวแทนสตรีและเด็ก ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนนักสิทธิมนุษยชน ตัวแทนนักวิชาการ
ภายในงานมีช่วงหนึ่ง คือ การมอบโล่เกียรติคุณผู้มีบทบาทดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพ (สันติสุข) 9 ด้าน คือ ด้านสื่อมวลชน ด้านเยาวชน ด้านสตรี
ด้านผู้นำศาสนาพุทธ ด้านผู้นำศาสนาอิสลาม ด้านผู้นำภาคเอกชน ด้านผู้นำท้องถิ่น ด้านภาคประชาชน ด้านเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้หนึ่งในผู้ได้รับโล่เกียรติคุณ คือ
ยาซีน YES I GO หรือ นิยาซีน สุไลมาน ยูทูเบอร์ชื่อดัง ซึ่งรับโล่เกียรติคุณด้านเยาวชนผู้มีบทบาทในการเสริมสร้างสันติภาพ ได้ให้สัมภาษณ์หลังงานว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับเกียรตินี้ และรางวัลนี้ควรเหมาะกับเยาวชนในพื้นที่ทุกคน
“เอาจริงๆนะ ผมก็รู้สึกดี แต่ผมมองว่า รางวัลนี้น่าจะเหมาะกับเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดทุกคน อย่างเช่น พวกเด็กแว๊น คือ พวกเขาไม่ใช่เป็นกลุ่มคนก่อความวุ่นวาย แต่เพียงว่าเขาไม่มีเวทีในการโชว์ความสามารถ ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ถ้าเขาได้รับการสนับสนุนโอกาส คนเหล่านี้แหละจะสร้างชื่อเสียงให้กับพื้นที่”
ยาซีน ยังกล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับเชิญ แต่ที่มาร่วมเพราะมองว่าเป็นงานที่สำคัญของพื้นที่ที่ควรจัดทุกปี ก่อนที่จะฝากถึงเยาวชนในพื้นที่ในการสันติภาพให้เริ่มจากสร้างความสุขให้กับตัวเอง ความสุขที่จะทำตามความฝันของตัวเอง
“งานในวันนี้ ผมไม่คาดคิดว่าจะถูกเชิญมาร่วม เพราะอันที่จริงตอนนี้ผมน่าจะปั่นจักรยานอยู่แถวระยอง แต่ก็ปรึกษากับปู่ว่าควรจะลงมาดีมั้ย ปู่ผมว่า ถึงแม้นว่า งานนี้ไม่ใช่งานระดับประเทศ แต่ก็เป็นงานใหญ่อีกงานที่ยาซีนควรมา และพอมาได้ร่วมงาน ผมก็คิดว่าควรเป็นงานที่ควรจัดตลอดทุกปี เพื่อมอบรางวัลให้กับใครที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับ 3 จังหวัด เพื่อเป็นกำลังใจให้คนเหล่านี้มีพลังมากขึ้น”
“อยากฝากถึงเยาวชนว่า สิ่งแรกที่เยาวชนควรทำเพื่อสร้างสันติภาพ สันติสุขให้กับพื้นที่ คือ การทำให้ตัวเองมีความสุขกับการที่ได้ทำตามความฝันของตัวเอง แม้นความฝันอาจจะไม่สำเร็จ แต่ระหว่างทางก็สามารถแบ่งปันความสุขให้กับคนรอบข้างได้ คุณจะชอบเรื่องมอร์เตอร์ไซต์ หรือ อะไรตาม แต่อยากให้มองว่า พวกเขาเป็นบุคคลที่มีความสามารถ หากผู้ใหญ่มาช่วย ก็จะสามารถทำให้เขามีทิศทางและไปไกลขึ้น แต่หากไม่มีใครสนับสนุน เราก็ต้องสู้เพื่อความฝันด้วยตัวเองให้ได้” ยาซีนฝากทิ้งท้าย
สำหรับเวทีครั้งนี้ นายรพี มามะ อุปนายกบริหารสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประธานชมรมสื่อมวลชนเพื่อสันติจังหวัดชายแดนใต้,ในนามคณะกรรมการดำเนินงาน ประกอบด้วย สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมสื่อมวลชนเพื่อสันติจังหวัดชายแดนใต้ และสำนักข่าวอามาน เป็นตัวแทนกล่าวเปิดพิธี โดยระบุว่า
“28 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึก เป็นครั้งแรกที่ท่าทีของรัฐไทยและรัฐมาเลเซียยอมรับสถานะทางการเมืองอย่างเป็นทางการของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีต่อหน้าคนทั่วโลกที่ร่วมกันเป็นสักขีพยาน นั่นเป็นสัญญาณบวกต่อกระบวนการสร้างสันติภาพได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ทว่า ถ้ามองลึกลงไปในเนื้อใน ก็จะเห็นและรู้สึกได้อย่างตรงกันเช่นเดียวกันว่า สัญญาณลบต่อกระบวนการสันติภาพ (peace process) ได้เกิดขึ้น เมื่อปรากฏการณ์การพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับผู้เห็นต่างเริ่มขึ้น เป็นผลให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญเพื่อหนุนเสริมให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี ภายใต้บริบทของแต่ละองค์กร”
“ดังนั้นสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมสื่อมวลชนเพื่อสันติจังหวัดชายแดนใต้ และสำนักข่าวอามานเอเจซี่ ร่วมกันจัดพิธีมอบโล่เกียรติคุณผู้มีบทบาทดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพ (สันติสุข) พร้อมเปิดข้อเสนอวาระประชาสังคมสู่โต๊ะพูดคุยสันติภาพ 2020 เพื่อเชิดชูเกียรติ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการหนุนเสริมสันติภาพในหลากหลายมิติ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ให้เป็นตัวอย่างและแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะแก่อนุชนรุ่นหลัง”
สำหรับเป้าหมายสำคัญในการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการสร้างสันติสุขในพื้นที่ เพื่อเชิดชูเกียรติ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการหนุนเสริมสันติภาพในหลากหลายมิติ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ให้เป็นตัวอย่างและแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะแก่อนุชนรุ่นหลัง และเปิดข้อเสนอวาระประชาสังคม ซึ่งเป็นตัวแทนเสียงจากประชาชน ไปถึงโต๊ะพูดคุยสันติสุข
การเรียกร้องความสันติสุขและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสมานฉันท์บนพื้นฐานความรัก ความเอื้ออาทร ความถูกต้องและความเป็นธรรมนั้น ยังมีทุกอณู จะเห็นจากการดำเนินของประชาสังคม นั่นหมายถึงการจะนำพาทุกชีวิต และครอบครัว อยู่ร่วมกันในสังคม อย่างสันติสุขอย่างยั่งยืน กิจกรรมครั้งนี้ นับว่าเป็นการแสดงพลังของหลายภาคที่มารวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้ ทำให้ได้สัมผัสถึงปรารถนาที่ดีถึงสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์และถาวรได้นั้น เมื่อมนุษย์ทุกคนมีความพอเพียงในความเป็นอยู่ของตนปราศจากการเบียดเบียนผู้อื่น รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์มีคุณธรรม จริยธรรมด้วยใจจริง และไม่เห็นผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม สิ่งเหล่านี้ จะทำให้พื้นที่บ้านเราเกิดสันติภาพได้จริงและตลอดไป