ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า flash mob ของนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศนับว่าเป็น hot issue ของประชาชนคนไทยที่อยู่ในอันดับต้นๆรองลงมาจากประเด็น การประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ปรากฎการณ์ flash mob นับว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นสีสันทางการเมืองจากคนุรุ่นใหม่ในห้วงเวลานี้ และเริ่มได้รับความสนใจมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาต่อเนื่องจนมาถึงวันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 63) ทั้งนี้จากการประมวลล่าสุดพบว่ามีนิสิต นักศึกษาเกือบ 30 สถาบันทั่วประเทศที่ประกาศชุมนุมทางการเมืองแบบ flash mob ไปแล้วและแลดูจะเป็นกระแสตื่นตัวขยายไปอีกหลายสถาบัน
จนช่วงสองสามวันนี้มานี้เลยมีสัญญาณเตือนจากฝากรัฐบาล โดย พันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงนักศึกษาที่เข้ากิจกรรมแฟลชม๊อบที่จัดทั่วประเทศนั้น ถือเป็นสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่มีลักษณะปลุกปั่น กระทบความมั่นคง ละเมิดสิทธิคนอื่น โดยจะมีการจัดกำลังตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ดูแลความสงบเรียบร้อย รวมถึงเก็บข้อมูลว่าเป็นการกระทำดังกล่าว ที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหรือไปกระทบกับผู้อื่น เช่น การชุมนุม ในลักษณะแบบนี้จะต้องขออนุญาต ก่อนหรือไม่ หรือ เป็นการเข้าข่ายต่อการปลุกระดมหรือไม่ หรือแม้แต่การสืบสวนหาข่าวของกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดี ที่อาจสร้างสถานการณ์ในขณะที่มีการชุมนุม
แม้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะยืนยันว่าให้เสรีภาพในการจัดกิจกรรม แต่อีกด้านหนึ่งก็พบข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียว่าการจัดกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาในบางสถาบันก็ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างสะดวก หรือ เกิดความรู้สึกถูกคุกคามของผู้จัดกิจกรรม โดยมีบางพื้นที่ก็มีเจ้าหน้าที่การเข้าไปถ่ายรูป และขอดูบัตรประชาชนจากผู้มาร่วมกิจกรรม หรือ มีการปลดป้ายผ้าที่ใช้ในกิจกรรม ขณะที่บางสถาบันมีการสั่งห้ามจัดกิจกรรมจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย
แล้วพอย้อนมาที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 26 กุมภา 63 ซึ่งเป็นวันที่ นักศึกษา มอ.ปัตตานีได้จัดกิจกรรม flash mob ภายใต้ แฮชแท๊ก #มอออตานีขยี้รอบสอง แต่ก่อนจัดกิจกรรมก็มีรายงานจากเฟสบุคส่วนตัวของอาจารย์ ม.อ.ปัตตานี ท่านหนึ่ง โพสต์เช้าวันเดียวกันว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย มาที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี มาถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของคณะ เรื่องการจัดกิจกรรมเมื่อคืนของนักศึกษา พี่ยามก็บอกให้มาคุยกับผมที่กำลังขึ้นตึก
“เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 มาบอกว่า ขอข้อมูลนักศึกษาที่จัดกิจกรรม เพราะนายให้มาเอา เพื่อไปรายงานนาย ผมเองก็อธิบายว่าให้ไม่ได้นะ วันหลังให้มาตอนจัดงานเลย ระหว่างคุยก็มีคนหนึ่งมาถ่ายรูป ผมบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีมารยาท ควรขอกันก่อน จนคนที่ถ่ายเดินขึ้นไปรอในรถ ผมก็เข้าใจว่านายสั่งมา และต้องมีอะไรไปรายงาน เช่น รูปถ่าย เบอร์โทร เอกสารจัดกิจกรรม”
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการทำหน้าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการจัดกิจกรรม flash mob ของนักศึกษา มอ.ปัตตานีมากนัก เพราะกิจกรรมดังกล่าวก็ยังดำเนินต่อไปได้ โดยภาพรวมของกิจกรรม
ทั้งนี้ในปรากฎการณ์ดังกล่าว อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ให้ความเห็นว่า การตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษาที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และมีโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง นี้คือปรากฎการณ์หลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่
“ผมคิดว่าชนชั้นนำก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วมากและขยายตัวไปทั่วประเทศ ประการแรกคือ พวกเขาไม่ทนต่อไปอีกแล้ว ต่อโครงสร้างอำนาจทางด้านเมืองที่มีอยู่ พูดให้กระชับคือ รัฐธรรมนูญฉบับคสช. การสืบทอดอำนาจผ่านโครงสร้าง ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาใช้เป็นพื้นที่ของการแสดงออกถือว่าเป็นพื้นที่สุดท้ายของพวกเขาแล้ว ในความหมายของพื้นที่ออฟไลน์ และแน่นอนการชุมนุมของพวกเขา ก็เป็นปรากฏในพื้นที่ออนไลน์ที่พวกเขามีเพื่อน ๆ และแนวร่วมเป็นจำนวนมาก ที่พร้อมสนับสนุนพวกเขา”อาจารย์ มอ.ปัตตานี สะท้อน
อ.เอกรินทร์ ยังเสริมอีกว่า หากมีเจ้าหน้าที่รัฐมาเฝ้าระวังก็ย่อมไม่มีความหมาย และการเผยให้เห็นถึงปฏิบัติ IO ของรัฐ ที่ผ่านมา ก็ย่อมทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหมดความหมาย ไม่มีใครรู้ว่าปฎิกิริยาทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้สุดสิ้นเมื่อไร แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้พวกเขาได้สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยขึ้นแล้ว
สำหรับคำอธิบาย คำว่า แฟลชม็อบ (flash mob ) จากวิกิพีเดีย นั้น ระบุว่า คือ การรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ในสถานที่หนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่งอย่างฉับพลัน รวดเร็ว เพื่อแสดงสิ่งแปลกตาและดูเหมือนไม่มีจุดมุ่งหมายในช่วงระยะเวลาอันสั้น จากนั้นจึงสลายตัวภายในเวลาอันรวดเร็ว Flash mob มาจากคำสองคำคือ กลุ่มคน(mob) ที่มารวมตัวกันแป๊ปนึง (Flash) แฟลชม็อบ มักจะทำเพื่อจุดประสงค์การบันเทิง การล้อเลียน หรือการแสดงออกทางศิลปะ แฟลชม็อบเกิดขึ้นโดยการนัดกันผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม เครือข่ายสังคม หรือการส่งอีเมลต่อ ๆ กัน แต่ถ้ามีจุดประสงค์ที่ได้วางแผนไว้เพื่อกิจกรรมทางสังคมดังกล่าวจะเรียกว่า สมาร์ตม็อบ (smart mob) แทน
สำหรับ แฟลชม็อบ ในประเทศไทย มักจะถูกใช้ในด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการบางอย่าง และก็นิยมใช้ในการขอแต่งงาน หรือเซอไพรส์บุคคลบางคนแบบเฉพาะเจาะจง ที่มาของ แฟลชม็อบ (flash mob) ศัพท์คำนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2546 โดยทั่วไปไม่ได้ใช้กับเหตุการณ์หรือการแสดงที่จัดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง (เช่น การประท้วง) การโฆษณาเชิงพาณิชย์ การจัดฉากโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานประชาสัมพันธ์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการว่าจ้าง
ขณะที่ภาพรวมการชุมนุมของนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ค่อนข้างเป็นไปอย่างคึกคักเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งนิสิตนักศึกษา ม.อ.ปัตตาน
นักเรียนมัธยม และภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 500 คน โดย ฟาร์เรนน์ นิยมเดชา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี หนึ่งในแกนหลักจัดแฟลชม๊อบครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย พร้อมยันว่าจะยกระดับการชุมนุมร่วมกับเพื่อนนักศึกษาภาคอื่นๆ
“ทีแรกเราคาดว่าจะมีผู้มาร่วมไม่เยอะหากประเมินจากการจัดครั้งแรก พอมาครั้งนี้ก็จะลองใจนักศึกษาอีกรอบ ซึ่งครั้งนี้เราวางเป้าไว้ประมาณ 200 คน แต่ผลปรากฎว่ามาเยอะมากน่าจะมากกว่า 500 คน นี่คือคลื่นลูกใหม่ ผมคิดว่าและแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ นักศึกษาทุกวันนี้ไม่ได้กลัวกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมอีกต่อไป”
ฟาห์เรนน์ ยังบอกอีกว่า หากผู้มีอำนาจได้ติดตามพวกเรา อยากให้ทราบว่าตอนนี้อำนาจอยู่ข้างท่าน แต่เวลาอยู่ข้างเรา เขาควบคุมพวกเราไม่ได้ง่ายอีกต่อไปแล้ว เขาจะมาทำให้เรารู้สึกว่าเขาคือคนดี มีความชอบธรรมในการปกครองไม่ได้อีกต่อไปแล้ว นักศึกษายุคนี้ไม่ได้เชื่อแบบนั้น” แกนนำนักศึกษาสะท้อน
ฟาห์เรนน์ ยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย พร้อมเชื่อว่านักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมไม่กังวลต่อการถูกคุกคาม เพราะเชื่อว่ามีเพื่อนและเครือข่ายที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย
“หลังจากนี้อาจจะมีการขยับขบวนนักศึกษา ขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ขยายเครือข่ายทั่วประเทศ และให้การชุมนุมมีกระบวนท่าและยุทธศาสตร์ร่วมกันมากขึ้น”
“สำหรับความกังวลจากการถูกคุกคามนั้น คิดว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับการแสดงออกทางการเมืองที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจมักจะใช้วิธีการต่างจัดการ ซึ่งเราอาจหลีกเลี่ยงยาก แต่นักศึกษาก็เชื่อในความยุติธรรม เพราะเราก็ปฎิบัตตามกรอบเกณฑ์ เอาให้เราชัดก่อน แต่หากเขาหาช่องโหว่จัดการนักศึกษา เราก็มีเพื่อน มีเครือข่าย มีองค์กรอื่นๆอีกมากมายที่สามารถปกป้องเรา ซึ่งองค์กรที่ใหญ่ อาทิ สภาผู้แทนราษฎร ผมคิดว่าผู้แทนเหล่านี้ไม่ยอมที่จะอยู่นิ่งแน่นอน” แกนนำแฟล๊ตม๊อบ ม.อ.ปัตตานี กล่าวอย่างเชื่อมั่น
นี่คือปรากฎการณ์(ใหม่)ของการเมืองไทย flash mob ที่เริ่มต้นมาจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นสีสันของขบวนการคนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็อาจเป็น “เสี้ยนตำเท้า” ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นได้ คงต้องติดตามกันต่อไป….