หน้าแรก การศึกษาและเทคโนโลยี การศึกษา

งานวิจัยชี้สื่อโซเชียลเสี้ยมความขัดแย้ง จชต. แนะโรงเรียนสร้างระบบนิเวศเฝ้าระวังเยาวชน

“ความใกล้ชิดกับเหตุการณ์ความไม่สงบของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบกับการขาดการดูแลที่มีประสิทธิภาพจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารความรุนแรงผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ของเยาวชน ถือเป็นโอกาสเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งในการแปรเปลี่ยนเยาวชนจากผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงที่มุ่งหวังจะใช้เยาวชนมาเป็นกำลังสำคัญได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการเผยแพร่แนวคิดที่ดีต่อการนำเสนอสื่อสู่ภายนอก เพราะสื่อเป็นอิทธิพลของสื่อที่แพร่กระจายไปสู่ทุกประตูบ้าน อันเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ”

นี่ คือบางส่วนจากงานวิจัย “รูปแบบและระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ช่วยเยียวยาส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยกลุ่มคณะวิจัยซึ่งนำ โดย สุรชัย ไวยวรรณจิตร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้ได้รางวัลนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่น สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เรื่อง “การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและวินัยแก่เด็กและ เยาวชนมุสลิม : ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส” ในการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติครั้งที่ 5 Hatyai Symposium National and International 2014

โดยงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฝ่ายวิจัยเพื่อขับเคลื่อนสังคม ปี 61 ซึ่งค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ค่อยได้มีการศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจังมากนัก เกี่ยวกับงานด้านการเยียวยาและส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา 3 จชต. ทั้งๆที่ผ่านมาสถานการณ์ของโรงเรียนและเด็กนักเรียนในชุมชนต่างเคยเผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรง การสูญเสียทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 47 เป็นต้นมา ยิ่งไปกว่านั้นในยุคที่สังคมออนไลน์ ข่าวสาร สามารถเข้าถึงกลุ่มคน ทุกเพศ ทุกวัย ที่แม้นในบางมิติได้สร้างคุณูประโยชน์แต่ในอีกมิติหนึ่ง ก็เป็นตัวเร่งความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน ดังนั้นกลุ่มเด็กเยาวชนในพื้นที่ จชต.นั้น โรงเรียน-ชุมชนจึงจำเป็นต้องมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกันของเยาวชน

สำหรับงานศึกษาชิ้นนี้ สุรชัย ไวยวรรณจิตร ได้เปิดเผยแค่บางส่วน คือ ส่วนของข้อเสนอสำคัญซึ่งเป็นเครื่องมือต่อการช่วยเยียวยาส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีระบบ มิใช่เป็นเพียงการแก้ไขแต่จะมีส่วนช่วยป้องกันระยะยาวของการสร้างเด็กและเยาวชนผ่านสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่ควรจะเป็น แต่เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง พร้อมการสร้างระบบในสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการออกแบบหรือสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ช่วยเยียวยาส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ดังต่อไปนี้

ระยะสั้น: สำหรับบุคคล องค์กร หน่วยงานเพื่อการเยียวยาและลดผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา

1.1 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความจำเป็นต้องร่วมกันออกแบบพื้นที่ปลอดภัยภายในโรงเรียน และการสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือจากสถานการณ์ซึ่งต้องคำนึงถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

1.2 ครูในฐานะบุคลากรในสถานศึกษา จำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสารมากกว่าการสอนนักเรียน กล่าวคือ ครูต้องมีทักษะในการสื่อสาร ทั้งกับกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบ และบุคคลภายนอกโรงเรียน เช่น ครอบครัว ผู้นำชุมชน เป็นต้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจแก่ชุมชน

1.3 องค์กรที่ทำหน้าที่ในการนำเสนอสื่อ เช่น เพจต่าง ๆ ในพื้นที่ ควรมีการนำเสนอสื่อของการคงอยู่สภาพแวดล้อมจริงอันสวยงามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ทางวัฒนธรรม มิติความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ ที่ยังคงดำเนินตามปกติภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบ และการนำเสนอสื่อต่าง ๆ ที่ออกมาต้องไม่มีความอคติและความเกลียดชังซ้อนอยู่

1.4 ชุมชน ประกอบด้วย ผู้นำทุกภาคส่วน ประชาชน ผู้ปกครอง ควรต้องออกมาสื่อสารกับบุคคลภายนอกให้มาก เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารในท้องถิ่นของตนมากขึ้น และที่สำคัญองค์กรที่ทำงานด้านสื่อ ควรติดอาวุธทางปัญญาแก่ชุมชนในการมีทักษะการรับรู้และเท่าทันต่อการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์

 

ระยะกลาง: องค์กร หน่วยงานเพื่อการเยียวยาและลดผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา

2.1 หน่วยงานที่ดูแลในเรื่องสถานศึกษา เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ สำนักการศึกษาเอกชนควรมีการจัดอบรมกับครูในเรื่องเยียวยากับการสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้ง เนื่องจากเมื่อมีเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่คนแรกๆ ที่อยู่กับเด็กและเยาวชนคือ ครู ฉะนั้นครูควรมีทักษะการเยียวยาและการสื่อสารให้คนข้างนอกรับรู้

2.2 หน่วยงานทางด้านความมั่นคง ที่คอยทำหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ เช่น ค่ายทหารพราน ควรจัดตั้งให้ห่างไกลจากสถานศึกษา กล่าวคือ ไม่ควรที่จะจัดตั้งใกล้กับโรงเรียนเนื่องจากเป็นหน่วยงานทีมีความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อโรงเรียน และเด็กนักเรียนในสถานศึกษา

2.3 หน่วยงานทางด้านสาธารณสุข หรือศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ซึ่งมีหน้าที่ได้ในการดูแลและการเยียวยาสุขภาพจิตในพื้นที่อยู่แล้ว ควรเข้ามามีบทบาทในการดูแลอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มทักษะของการสื่อสารในกลุ่มคนทำงานให้เป็นพื้นที่กลางของการกระจายความรู้ในเรื่องของการเยียวยา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา

 

ระยะยาว: องค์กร หน่วยงานเพื่อการเยียวยาและลดผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา

3.1 ภาคประชาสังคม การเมือง และนักวิชาการในสถานศึกษา ควรทำงานในเชิงบูรณาการและเป็นการทำงานในเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อร่วมกำหนดนแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งควรมีการดำเนินการเรื่องนโยบายคุ้มครองเด็ก ให้นำมาดำเนินการในสถานศึกษาอย่างจริงจัง

3.2 หน่วยงานทางด้านการศึกษา ควรมีการคัดเลือกหรือพิจารณาครูที่ต้องการเข้ามาสอนในโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิต เพื่อเป็นการสร้างบุคลากรทางการศึกษาได้มีความรู้ในเรื่องการเยียวยา และการสื่อสารด้านสุขภาพจิตที่ดีต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา

ข้อเสนอเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากทุกฝ่ายตระหนักว่า ที่ผ่านมาการทำงานของสื่อจำนวนไม่น้อย มักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรุนแรง อาชญากรรม ความขัดแย้ง และเรื่องราวทางเพศอยู่เสมอ จนทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความรุนแรง ความขัดแย้ง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การดิ้นรนต่อสู้ โดยเฉพาะหากเนื้อหาในสื่อแสดงให้เห็นถึงตัวละครเอกในเรื่องที่มีอำนาจ มีชัยชนะเหนือผู้อื่นได้ด้วยการใช้พละกำลัง หรือความรุนแรงเท่านั้น ผู้ชมก็จะถูกปลูกฝังให้มีความรู้สึกว่าโลกที่นำเสนอในสื่อคือโลกที่แท้จริง และผู้ชนะคือผู้ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเด็กและเยาวชนยังมีประสบการณ์ชีวิตน้อยมาก จึงถูกบ่มเพาะโดยไม่รู้ตัว สุดท้ายจะคล้อยตามและเชื่อตามที่สื่อนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ อย่างง่ายดาย

อนึ่งศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ซึ่งทำงานครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล พัทลุง และตรัง เคยเปิดเผยผ่านเว็บไซท์ข่าวภาคใต้ชายแดน ว่า ปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่มานานกว่า 10 ปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน สะท้อนจากผลการสำรวจปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่อยู่ใน จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในปี 2559 พบมีอัตราป่วยเป็นโรคทางจิตเวช ร้อยละ 3.4 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และปัญหาสุขภาพจิตที่น่าห่วงที่สุดคือ โรคพีทีเอสดี หรือ โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ซึ่งจะมีภาพหลอนผุดซ้ำขึ้นมา ผลสำรวจในปี 2557 พบว่าเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีอัตราเกิดโรคพีทีเอสดี สูงถึงร้อยละ 2.6 มากกว่าพื้นที่ทั่วไปประมาณ 5 เท่าตัว ที่สำคัญพบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มเด็กนักเรียนประถมศึกษา จากกลุ่มที่ทำการสำรวจพบมีเด็กเสี่ยงป่วยโรคพีทีเอสดี เช่น มีอาการหวาดผวาเป็นพักๆ ร้อยละ 27 พบสูงที่สุดใน จ.ปัตตานี ร้อยละ 39 จ.สงขลา ร้อยละ 31 ยะลาร้อยละ 21 และนราธิวาสร้อยละ 18 นับเป็นการค้นพบข้อมูลครั้งสำคัญของประเทศเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาการเรียนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หากไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชในที่สุด