ปีใหม่ 2563 หากจะอยากเห็นอะไรใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้บ้าง หนึ่งในนั้นคงเป็นเรื่อง “ภาพจำใหม่ๆ” ที่เกิดจากอคติของคนในสังคมไทย จนส่งผลกระทบต่อการอยู่ร่วมกันและการแก้ปัญหาภาคใต้ ทั้งนี้นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ปี 2547 เป็นต้นมามีภาพจำมากมายของคนในสังคมไทยที่สร้างอคติต่อคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในนั้น คือ ภาพจำ “สถาบันปอเนาะ” ภาพจำที่มองว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะมุสลิมหัวรุนแรง แหล่งบ่มเพาะกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และหลายๆ ครั้ง การจับกุม การก่อเหตุต่างๆ บนหน้าสื่อ ก็มักมีข่าวสร้างความเชื่อมโยงกับบุคคล และสถาบันปอเนาะ จนทำให้สายตาในการมอง สถาบันปอเนาะ ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ทหาร และคนที่ไม่ใช่มุสลิม เป็นเหมือนดั่งพื้นที่สีเทา
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ก็มีกลุ่มมุสลิมมากมายจากคนในพื้นที่ จชต. ออกมาสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างภาพจำใหม่ๆต่อสังคมไทย แต่ดูเหมือนจะเป็นการสื่อสารที่ไม่มีน้ำหนักมากนัก เพราะดูเหมือนเป็นการแก้ต่างให้ตัวเอง แต่หากฟังมุมมองของคนนอกที่เคยไปอยู่ข้างในปอเนาะแถบ 3 จังหวัด ก่อนที่จะมา คลุกวงในเป็นผู้บริหารปอเนาะเสียเอง อาจจะพอมีน้ำหนัก และให้นัยยะอีกแบบหนึ่ง ซึ่ง ณ ที่นี้จะขอพูดถึงปอเนาะแถบเมืองนครศรีฯ อย่างสถาบันปอเนาะดั้งเดิม มาเซาะฮะตุดดีน 3 นครศรีธรรมราช
มาเซาะฮะตุดดีน 3 นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่ ชุมชนบ้านในถุ้ง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช บริหารงานโดย นายอับดุรร๊อบบี หลีหมัน หรือ “บาบอเบ็ญ” ซึ่งแต่เดิมนั้น สถาบันปอเนาะแห่งนี้ มีชื่อว่า “ปอเนาะชาฎิอุ้ลมามาน” บ้านในถุ้ง แต่ด้วยที่ผ่านมาชื่อดังกล่าวไปทับกับชื่อมัสยิดประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นข้อถกเถียงของชุมชน จนต่อมาได้รับการอนุญาตตั้งชื่อใหม่โดยผู้บริหารมาเซาะฮาตุดดีน สาขา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถาบันปอเนาะ ที่ยืนหยัด การเป็นสถาบันปอเนาะดั้งเดิมใจกลางเมืองกรุงฯมานานเกือบ 100 ปี และเป็นสถาบันปอเนาะที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆของประเทศไทย
ทั้งนี้สำหรับสถาบันปอเนาะมาเซาะฮะตุดดีน 3 นั้น ได้รับการสนับสนุนจากการร่วมบริจาคจากคนมุสลิมในประเทศไทย เป็นสถาบันกาลกุศลไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรใดๆ โดยก่อตั้งมาแล้ว 5 ปีนับตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา สำหรับผู้บริหารปอเนาะ คือ นายอับดุรร๊อบบี หลีหมัน หรือ บาบอเบ็ญ ในวัย 47 ปี ซึ่งเส้นทางการศึกษาของท่านนั้น คลุกคลีอยู่กับแวดวงการศึกษาแบบปอเนาะดั้งเดิมมาต่อเนื่องนับจากนครศรีฯ มาเลเซีย และ 3 จชต. มาโดยตลอด
บอบอเบ็ญ กล่าวว่า สถาบันปอเนาะแห่งนี้มุ่งสอนให้เยาวชนมีความสามารถในด้านคุณธรรม จริยธรรม เช่นเดียวกับปอเนาะดั้งเดิมทั่วไปในพื้นที่ 3 จชต. มีการฝึกวินัยในการใช้ชีวิต ฝึกฝนให้เยาวชนที่มาศึกษารู้จักพึ่งพาตนเองในทุกๆด้าน ไม่ว่าใครจะมีฐานะร่ำรวย ยากจน แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่ จะถูกปฎิบัติมาตรฐานเดียวกัน สำหรับวิชาความรู้ที่ศึกษาในสถาบันแห่งนี้จะเป็น วิชาการเกี่ยวกับศาสนาอิสลามใน 3 ด้าน คือ ความรู้เกี่ยวกับรากฐานการศรัทธาต่อพระเจ้า ความรู้เกี่ยวกับหลักปฎิบัติและบทบัญญัติศาสนาอิสลาม ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมและการมีจิตอาสาในอิสลาม นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นความรู้ด้านทักษะอาชีพต่างๆที่นักเรียนแบ่งปันสอนกัน
“ความรู้ที่สอนจะเป็นความรู้ที่มีที่มาจากคำสอนของอัลเลาะฮ์ผู้ทรงเป็นเจ้าและท่านศาสดามูฮัมหมัด เป็นความรู้ที่ไม่ถูกบิดเบือน ซึ่งเป็นคำสอนที่สอนให้มุสลิมรู้จักรักในเพื่อนมนุษย์ ไม่ละเมิดเกียรติยศและเลือดเนื้อตราบใดที่ไม่ถูกละเมิด ดังนั้นปอเนาะดั้งเดิมนั้นแต่ไหนแต่ไรจะสอนในเรื่องการรักความสงบสันติ แต่ที่มีภาพของมุสลิมฆ่ากันมากมาย เพราะเป็นการตีความเฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคล ไม่ใช่มาจากมุสลิมทั้งหมด”
เล่าย้อนถึงช่วงสมัยที่บาบอไปศึกษาใน 3 จังหวัดภาคใต้ การสอนให้มีความคิดแบ่งแยกดินแดนมีมากน้อยแค่ไหน บาบอเล่าว่า ในช่วงที่ศึกษา สถาบันปอเนาะเองไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้ เพราะบรรดาผู้รู้ศาสนา (อูลามา) กลุ่มหนึ่งวินิจฉัยแล้วว่า หมดยุคของการต่อสู้ด้วยอาวุธในการเอาดินแดนคืน เพราะถือว่ามันมีอายุปีของการต่อสู้ และทุกวันนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนไทย
“ดังนั้นในสถาบันปอเนาะจะไม่มีการสอนเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนเด็ดขาด แต่อาจจะมีผู้รู้บางคน บางคนวินิจฉัยเป็นอีกแบบ ตรงนี้อาจเป็นได้ เพราะหลานคนหนึ่งที่มาจาก 3 จังหวัดภาคใต้เคยเล่าให้ฟังว่าเคยเจอบางคนที่มาพูดเรื่องเอกราช เรื่องการเอาดินแดนคืนกลับมา แต่จะบอกว่าปอเนาะได้สอนแนวคิดเช่นนี้ เท่าที่ประสบการณ์ที่ศึกษานั้น ไม่เคยพบ ไม่เคยได้ยินมาก่อน และยุคนั้นเหตุการณ์การต่อสู้รุนแรงก็ไม่ค่อยมี จะมีก็เป็นเรื่องอาชญกรรมทั่วไป และเรื่องของการคับแค้นใจต่อเจ้าหน้าที่ราชการบางคนที่ชอบข่มเหงชาวบ้าน เอาเปรียบชาวบ้านซึ่งตอนที่ใช้ชีวิตอยู่ ก็เห็นตลอด ได้ยินตลอด”
“ชาวบ้าน คนแก่ ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ มักจะโดนเอาเปรียบ โดนข่มขู่บ่อยๆ สมัยบาบอจะเจอบ่อยแถวด่านเข้ามาเลเซีย จะเห็นเจ้าหน้าที่ราชการเรียกเงินทั้งๆที่ชาวบ้านก็ทำทุกอย่างถุกต้องตามกฎหมายเหมือนตัวเรา แต่มักจะโดนไถเงินเป็นประจำ ซึ่งตัวเราเห็นแล้วแค้นใจแทน แต่ทำไรไม่ได้ เลยคิดว่า ถ้าเป็นใหญ่เป็นโตจะเอาไอ้พวกนี้ออก เป็นอันดับแรกๆ มันคือความเจ็บปวดที่เราเห็น ที่เราเจอ จึงเป็นเงื่อนไขให้ พวกที่จับอาวุธต่อสู้ลุกฮือ ขึ้นมาก่อเหตุ ต่างๆนานา ตรงนี้เป็นเรื่องจริงจากสมัยที่บาบอเป็นเด็กปอเนาะ จนทุกวันนี้ก็คงจะเป็นแบบนั้นอยู่”
สำหรับแนวคิดในการก่อตั้งปอเนาะนั้น บาบอเบ็ญ บอกว่า เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มที่คิดว่า หลังจากเรียนมา ได้ความรู้มาแล้วจะนำความรู้มาช่วยพัฒนาบ้านเกิด โดยเฉพาะพัฒนาในด้านคุณธรรม จริยธรรม ห่างไกลยาเสพติด โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลสังคม
“ทุกวันนี้มีคนศึกษาทางโลกมากมายแต่ขาดคุณธรรม มีความฉ้อฉล ทำให้สังคมเสียหาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น โดยในช่วงแรกๆ ก็มุ่งเน้นสอนกีตาบให้ความรู้ต่อคนเฒ่า คนแก่ และคนในหมู่บ้าน บนศาลาละหมาด ต่อมาก็เริ่มมีเยาวชนมาเรียนมากขึ้น จนพื้นที่ไม่พอ จึงมีการระดมการช่วยเหลือจากญาติๆ และคนในหมู่บ้าน บริจาคที่ดิน ทรัพย์สิน สิ่งของต่าง ๆ ซึ่งไม่นานนักจึงเริ่มเป็นพื้นที่บริเวณตั้งปอเนาะขยายพื้นที่การเรียนการสอน และพัฒนาระบบการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่อง”
ปัจจุบันมีผู้มาเรียนประจำเป็นทั้งเยาวชนในจังหวัดภาคใต้และภาคกลาง และชาวบ้านในละแวกใกล้เครียง เกือบ 100 คน ขณะเดียวกันก็มีผู้มาศึกษาขาจร อาทิ เด็กปอเนาะที่ศึกษาใน 3 จังหวัด ซึ่งจะมาศึกษาช่วงที่ปอเนาะตัวเองปิดการเรียนการสอน หรือ บางทีก็จะมีค่ายนักเรียน นักศึกษา ก็จะมาช่วงสั้นๆ ในช่วงปิดเทอม อย่างไรก็ตามหากย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อนชุมชนบ้านในถุ้งเคยมีสถาบันปอเนาะมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งก็ต้องปิดไปทุกครั้ง เมื่อโต๊ะครูคนนอกชุมชนเป็นผู้บริหารปอเนาะเสียชีวิตไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้สถาบันปอเนาะแห่งนี้ปิดตัวไปอีก จึงต้องบริหารโดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของร่วม
“ จากบทเรียนที่ผ่านมา ประกอบกับตัวเองก็เป็นคนในหมู่บ้าน จึงคิดว่า สถาบันปอเนาะแห่งนี้จะต้องทำให้เป็นของส่วนรวม เป็นของชุมชน ขึ้นตรงกับมัสยิดชาฎิอุ้ลอามานบ้านในถุ้ง โดยเมื่อหนึ่งเมื่อใดที่บาบาเองไม่สามารถบริหารได้ กรรมการมัสยิดก็จะต้องเข้ามาจัดการทันที และตรงนี้ลูกๆก็ทราบดี”
บาบอเบ็ญ ได้กล่าวคำฝากถึงคนที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมในสังคมไทยเกี่ยวกับมุมมอง ความคิดที่มีต่อปอเนาะดั้งเดิมในเรื่องความตระหนัก การฟื้นฟู ความสำคัญของปอเนาะดั้งเดิม และเช่นเดียวกันสำหรับคนที่ไม่ใช่มุสลิม บาบอเบ็ญก็อยากให้มีความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับคุณค่าของปอเนาะดั้งเดิ่มแบลละยืนยันว่า ปอเนาะดั้งเดิมเป็นแหล่งปลูกฝังในเรื่องคุณงามความดี ไม่ใช่เรื่องความรุนแรง
“อยากฝากถึงมุสลิมในสังคมไทย อยากให้เราย้อนนึกถึงปู่ย่าตายายของเรา พวกเขาล้วนเคยผ่านการศึกษาปอเนาะดั้งเดิมมา เพราะมันเป็นบารอกัต มันเป็นประโยชน์ ไม่ค่อยมีเรื่องชิงดีชิงเด่นกัน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งเราควรจะรณรงค์ให้เยาวที่มีศักยภาพ มีความสามารถ เปิดปอเนาะดั้งเดิมให้มาก แต่ปอเนาะดั้งเดิมจะอยู่ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ปกครองช่วยกัน เพราะปอเนาะดั้งเดิมไม่ได้พึ่งงบประมาณรัฐ ปอเนาะดั้งเดิมก็ผ่านการช่วยเหลือช่วยเหลือจากชุมชน จากพ่อแม่พีน้อง อย่าลืมว่าผลผลิตจากปอเนาะนั้น ก็คือ ลูกหลานของเราที่เติบโตมาเป็นผู้นำ เป็นผู้ทำงานจิตอาสาทำงานช่วยเหลือศาสนาในชุมชนบางคนก็เป็นหมอ ก็มีเหมือนกัน ที่เรียนจบมาแล้วก็มาอยู่ปอเนาะระยะหนี่ง เป็นคนที่มีคุณธรรม ทุกวันนี้มีผู้คนที่ทำงานสูงส่ง ใหญ่ต่อมากมายแต่ขาดคุณธรรม ปอเนาะดั้งเดิมนี่เองที่จะช่วยสร้างคนที่มีคุณธรรม ดังนั้นก็ต้องฝากให้สังคมมุสลิมช่วยดูแล ช่วยเหลือกัน”
“สำหรับคนที่ไม่ใช่มุสลิมในสังคมไทย ไม่อยากให้เข้าใจความเป็นปอเนาะแบบผิดๆ ว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะมุสลิมหัวรุนแรง หรือ ก่อการร้าย บาบอเบ็ญ กล่าวว่าคือถ้าจะให้เข้าใจปอเนาะง่ายๆ ให้นึกถึงวัดดั้งเดิมที่สอนคุณธรรมจริง ๆ รักสงบ ไม่บ้าอำนาจ ให้ย้อนกลับไปดูความเป็นวัดดั้งเดิม เพราะหากมาดูวัดบางวัดในปัจจุบันมีธุรกิจเต็มไปหมด ตรงนี้เรารู้กันดี ดังนั้นปอเนาะดั้งเดิม ที่ถูกมองว่าแหล่งบ่อมเพาะก่อการร้ายต่าง ๆ นั้น อันนั้นมันคือการบิดเบือน ย้ำอีกครั้ง ว่าปอเนาะนั้น คือแหล่งบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม ปอเนาะมองว่าจะสร้างตรงนี้ก่อน เพราะเมื่อมีคนมีคุณธรรม จริยธรรม ผู้ที่ศึกษาจะไปอยู่ที่ไหน ก็จะพาธรรมอิสลามเหล่านี้ไปด้วย แต่ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีคุณธรรม พอยิ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงก็ยิ่งทำลายสังคม และคนทั่วไป คือ คนอยู่ในสังคมอย่างเราๆ ก็จะได้รับผลกระทบหนักไปด้วย”
ช่วงท้ายของการสนทนา บาบอเบ็ญเล่าถึงความฝันข้างหน้าที่อยากให้ปอเนาะพัฒนาต่อไป
“อยากให้ปอเนาะแห่งนี้มีที่พักสำหรับคนที่มาศึกษาประจำเพิ่มมากขึ้น เพราะหลายคนอยู่หลายปี ขณะที่มีเด็กต่างจังหวัดสนจมาศึกษามากขึ้นทุกปี อีกด้านหนึ่งก็อยากเพิ่มก็อยากเพิ่มการเรียนการสอนเด็กปอเนาะผู้หญิง และเพิ่มที่พักให้คนเฒ่า คนแก่ที่อยากใช้ช่วงบั้นปลายชีวิตไปกับการศึกษาศาสนา อยากขยายปอเนาะแห่งนี้เป็นเหมือนสวนสาธารณะของชุมชน และมีศูนย์เรียนรู้อาชีพหลากหลายอาชีพในพื้นที่ปอเนาะ หากจะมีหน่วยงานราชการมาสนับสนุน ก็พร้อมรับการสนับสนุนแต่ขออย่าให้กระทบต่อเป้าหมายของปอเนาะ” บาบอเบ็ญกล่าวด้วยความคาดหวัง
สำหรับปอเนาะดั้งเดิมที่เปิดในภาคใต้ตอนบนนั้นต้องยอมรับว่าในอดีตจุดเริ่มต้นนั้นได้รับอิทธิพลจากการเป็นเด็กปอเนาะนอกพื้นที่ซึ่งไปศึกษาปอเนาะในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งมีเด็กปอเนาะจำนวนไม่น้อยที่ศึกษามีวิชาความรู้ถึงขั้นระดับโต๊ะครูจึงกลับบ้านเกิดเพื่อมาสอน หรือ มาเปิดปอเนาะดั้งเดิมในหมู่บ้าน จนต่อมามีหลายๆปอเนาะก็ถูกเปลี่ยนเป็นปอเนาะเรียน 2 สองสาย คือสายสามัญ-ศาสนา แต่ก็ยังมีสถาบันปอเนาะบางแห่งยังยืนหยัดใช้การเรียนการสอนแบบดั้งเดิม โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งสถานการณ์ปอเนาะดั้งเดิมในภาคใต้ตอนบนเริ่มซบเซาลงมาก แต่ปัจจุบันมีโต๊ะครูคนรุ่นใหม่มากมายที่ตื่นตัวต่อสถานการณ์ จึงมีการฟื้นฟู ขยายการเปิดปอเนาะดั้งเดิมกลับคืนมาไปพร้อมกับการเชื่อมโยงเครือข่ายในการสนับสนุนกัน ทำให้สถานการณ์ปอเนาะดั้งเดิมแถบภาคใต้ตอนบนจึงดูดีขึ้น
ปีใหม่ มองมุมใหม่ .. ทั้งหมด เป็นแง่มุมสั้นๆของคนที่คลุกวงในปอเนาะดั้งเดิมอย่างบาบอเบ็ญ ที่หวังว่าจะช่วยสร้างภาพจำใหม่ๆมากยิ่งขึ้น