อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 63 ซึ่งยังคงเป็นศักราชที่คนชายแดนใต้ต้องเฝ้าฝันรอวันสงบ หมดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ต่อไป แม้นที่ผ่านมาดูเหมือนสถิติการเกิดเหตุรุนแรงจะลดลง แต่ในห้วงเดือนท้ายปี 62 ก็ยังคงเกิดเหตุการณ์สูญเสียและความรุนแรงเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์การสูญเสีย ณ เทือกเขาตะเว จ.นราธิวาส กรณีเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าสำคัญผิดยิงประชาชนเสียชีวิต 3 ศพ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 62 จนสร้างความเสื่อมเสียต่อหน่วยงานทหารและตอกย้ำตั้งคำถามถึงแนวทางดับไฟใต้ ว่ามาถูกทางแล้วจริงหรือ? ซึ่งทำให้ต้องย้อนมาดูนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ประเด็นดังกล่าวเริ่มมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าไม่นานมานี้ทาง สมช. เองได้จัดเวทีประชุมหารือร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆนอกภาครัฐ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อการทบทวนและพัฒนาร่างนโยบายฯ ปี 63 โดยคาดการณ์ว่า กระบวนการพัฒนาร่างนโยบายฯ จะแล้วเสร็จประมาณมีนาคม ปี 63 ก่อนจะถูกนำมาบังคับใช้ต่อไป
สำหรับเนื้อหาที่ปรากฎในร่างนโยบายฯฉบับนี้ นับเป็นกรอบสำคัญในการดับไฟใต้ภายใต้บทบัญญัติตาม ม.4 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการ จชต. โดย สมช. ที่กำหนดให้มีการทบทวนทุกรอบ 3 ปี หรือในกรณีที่มีความจำเป็น คณะรัฐมนตรีจะกำหนดระยะเวลาให้เร็วกว่านี้ได้ ซึ่งล่าสุดได้มีการจัดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่รัฐ โดยการรับฟังข้อเสนอแนะนี้อยู่ภายใต้กรอบคิดนโยบายที่สำคัญ คือ
- แนวพระพระราชดำริและหลักการทรงงานของในหลวงราชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาตามภูมิสังคม รวมทั้ง พระราชปณิธานของในหลวงราชกาล ที่ 10 คือ “การสืบสาน รักษา และต่อยอด และคลองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขอาณาราษฎรตลอดไป” และแนวพระราชดำริ “จิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ”
- การยึดมั่นในหลักการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ยึดหลักสิทธิมนุษชน หลักนิติธรรม นิติรัฐ และพันธกรณีระหว่างประเทศ
- การใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางและการบริหารจัดการบนพื้นฐานของหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองแบบร่วมมือกัน
- การบริหารจัดการบนพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรมและการไม่เลือกปฎิบัติในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่
ขณะที่เป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน คือ พื้นที่เป้าหมายมีความมั่นคงปลอดภัย การพูดคุยเพื่อสันติภาพ จชต.มีความต่อเนื่องก้าวหน้า ประชาชนเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาของภาครัฐมากขึ้น ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเกื้อหนุนต่อการแก้ปัญหา จชต. และสุดท้ายพื้นที่ทั้งในและนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งต่างประเทศมีความเข้าใจสถานการณ์พื้นที่และให้ความร่วมมือสนับสนุนแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น
อีกประเด็นที่นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของ(ร่าง)นโยบายฯ ฉบับนี้ คือ กลไกนำขับเคลื่อนนโยบายฯไปสู่การปฎิบัติอย่างบูรณาการให้เป็นรูปธรรมนั้น พบว่า ยังคงไว้ซึ่งหน่วยงานหลัก คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แต่ก็มีหน่วยงานราชการอื่นๆ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้ามาทำงานประสานสอดคล้องตามแต่ละประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ดังกล่าวนี้ คือเสี้ยวหนึ่งของร่างนโยบายฯ ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ระบุในร่างนโยบายฯฉบับนี้ นอกเหนือรายละเอียดเกี่ยวกับเป้าหมาย กรอบวัตถุประสงค์ และกลไกที่เกี่ยวข้องที่ระบุไปแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามภายใต้การทำเวทีรับฟังข้อเสนอแนะที่ผ่านมานั้นพบว่ามีข้อวิพากษ์วิจารย์และเสนอแนะมากมายจากผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละเวที โดย อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ สุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนนโยบายและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อทน.ชต.) ได้ระบุเกี่ยวกับประเด็นที่ผู้ร่วมให้ความเห็นและเสนอแนะต่อการพัฒนาร่างนโยบาย พบว่า ปัญหาการแปลงนโยบายไปปฏิบัติเป็นเรื่องห่วงกังวลมาก ซึ่งมีข้อเสนอ คือ
(1) ลดบทบาท กอ.รมน. คืนอำนาจและภารกิจงานให้ส่วนราชการที่เชี่ยวชาญเฉพาะตามหลักความเป็นมืออาชีพ
(2) การมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นในการจัดทำตารางประสานสอดคล้อง
(3) การสื่อสารสร้างความเข้าใจแบบสองทาง
โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพที่นำนโยบายมาสู่การปฎิบัติซึ่งมีหน่วยงานนำ อย่าง กอ.รมน. และ ศอ.บต. เป็นหลักนั้น ดูเหมือนจะถูกวิพากษ์ไม่น้อย โดย มะยุ เจ๊ะนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ(คปส.) หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในเวทีพัฒนาร่างนโยบายฯฉบับใหม่นี้ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แม้นเนื้อหาในร่างนโยบายฉบับนี้ดูสวยหรูแต่เนื้อหาในภาคปฎิบัตินั้นมีความไม่ชัดเจนในโยบายหลายๆส่วน
“ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องระบุชัดเจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคปฏิบัติ ไม่ใช่มีเพียงไม่กี่หน่วยงานที่แปลงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ คือ กอ.รมน. และ ศอ.บต. ซึ่งอันที่จริงยังมีหน่วยงงานอื่น ๆในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านที่สามารถทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ดังนั้นถ้าหน่วยงานเหล่านี้ไม่ถูกใช้ ไม่ได้รับอำนาจ ดังนั้นในเรื่องของการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติก็จะถูกกระจุกอยู่ที่ 2 หน่วยงานที่กล่าวถึงที่ดูเหมือนจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งอันที่จริงจะต้องลดอำนาจ 2 หน่วยงานนี้ และโอนให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะเรื่องที่กล่าวถึงเกี่ยวกับ สิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในห้วง 16 ปีที่ผ่านมา ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน มักจะถูกพูดบ่อยๆ ดังนั้นเพื่อจะให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ในเรื่องของงานด้านยุติธรรม ต้องไม่ 2 มาตรฐาน และควรให้กรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เข้ามาเป็นเจ้าภาพหลักไปเลยในการนำนโยบายมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่ต้องมาอยู่ภายใต้ กอ.รมน.อีกทีหนึ่ง”
อนึ่ง นับจากการประกาศใช้นโยบายฯ ฉบับแรกตั้งแต่ ปี 55-62 ทาง สมช.ได้ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงนโยบายฯมาเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 57 และประกาศใช้นโยบายฯ ฉบับที่ 2 ตั้งแต่ปี 60-62 โดยบทนำของร่างนโยบายฯฉบับที่กำลังพัฒนาอยู่นี้ได้ ระบุว่า ในช่วงเวลาทบทาวนและประกาศใช้นโยบายฉบับที่ 2 นั้น รัฐบาลได้มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติติ ด้วยการปรับปรุงโครงการสร้างการบริหารการจัดการ กำหนดให้ คปต. เป็นกลไกหลักบูรณาการภารกิจงานของกลไกที่มีอยู่เดิมทั้งหมด และหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบมิติงานสำคัญ คือ กอ.รมน. รับผิดชอบมิติงานด้านความมั่นคง ส่วน ศอ.บต. รับผิดชอบมิติด้านการพัฒนา ให้ดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งกำหนดให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบการประสานการปฏิบัติตามแผนงาน โครงการ กิจกรรมทุกมิติงาน ของหน่วยงานในพื้นที่