เลขาฯ ศอ.บต.เผย จชต.เปลี่ยนไปหลัง ครม.ประกาศให้พื้นที่เป็น “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พร้อมพัฒนาเพิ่มลงทุน-ท่องเที่ยว เร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ 2 แห่งไปมาเลย์ ย้ำสร้างที่ยืนให้คนกลับตัว เชื่อข่าวเปลี่ยน หน.คุยสันติสุขไม่กระทบ
เมื่อวันที่ (5 ส.ค.) ที่ จ.ปัตตานี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นมา 16 ปี โดยเริ่มมาจากปี 2546 และเปิดฉากรุนแรง เมื่อ 4 ม.ค. 2547 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว 5,070 คน บาดเจ็บ 10,500 คน 16 ปี ที่เราได้รับความบอบช้ำ การลงทุนด้านเศรษฐกิจมีค่อนข้างน้อย ระหว่างปี 2554-2558 มีการลงทุนเพียง 11 รายการ มีการลงทุนขนาดใหญ่เพียงโครงการเดียวคือ โรงไฟฟ้าเบตง 1,700 ล้าน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559 ประกาศพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (ปี 2560-2563) เพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งระยะเวลาปีครึ่งที่ผ่านมา มีผู้ลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ 1,500 ล้านบาท“ขณะนี้เรากำลังพัฒนาให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และจะพยายามพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเคยเป็นพื้นที่บอบช้ำให้กลายมาเป็นพื้นที่สีม่วงเพิ่มการลงทุน และมุ่งการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน อีกทั้งจะพัฒนาเมืองโก-ลก จ.นาราธิวาส ให้กลับมาเป็นเมืองการค้าชายแดน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มีการหารือทวิภาคีกับนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลยเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศเห็นพ้องจะผลักดันสะพานข้ามแม่น้ำทั้งสองแห่งให้เร็วที่สุด” เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้นั้น กระบวนการพูดคุยรัฐบาลมอบหมายชัดเจนให้คณะการพูดคุยสันติสุข ที่มี พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะ เป็นผู้ดำเนินการ ขณะเดียวกันสิ่งที่ในพื้นที่ทำควบคู่ไปด้วย คือ การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพูดคุย อีกทั้งยังมีการเปิดให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาและความต้องการเพื่อส่งข้อมูลให้กับคณะพูดคุย ซึ่งการพัฒนาพื้นที่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์ในพื้นที่ยังมีอยู่บ้าง เพราะอย่าลืมว่าคนรุ่นเก่าที่ยังมีแนวคิดเดิมประมาณ 2,000 คน ยังไม่ได้หายไปไหน
แต่ก็ยังดีใจที่ขณะนี้มีสัญญาณบวก เนื่องจากพบว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่น้อยลง และมีการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ร่วมพูดคุยมากขึ้น ขณะที่ ศอ.บต. และภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดการจ้างงาน รองรับคนเห็นต่างที่อยากกลับบ้าน กลุ่มแนวร่วมบางส่วนอยากกลับมาใช้ชีวิตปกติ เพียงแต่ขอว่าเมื่อกลับมาแล้วจะมีที่ยืนเหมือนเดิมหรือไม่ โดยฝ่ายความมั่นคงต้องสร้างที่ยืนให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ ส่วนข่าวการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะการพูดคุยสันติสุขนั้นเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด
ที่มา: mgronline