“อยากทำสีสันให้มากกว่าสีของระเบิด จุดเด่นของเราคือมีใบเดียวในโลกและราคาถูก” นูรีดา มะเร๊ะ บอกถึงความตั้งใจแรกเริ่มในการผลิตกระเป๋าแบรนด์ Baba Ice ของเธอและสามี ดาเรนน์ ฮิลล์ ภายใต้แรงบันดาลใจจากศิลปะและธรรมชาติ
นูรีดาเป็นศิษย์เก่าสาขาออกแบบประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา(มรย.) เริ่มผลิตงานกระเป๋าเมื่อปี 2553 ออกวางขายตามงานต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้และพื้นที่อื่นๆ โดยเป็นกำลังการผลิตในครอบครัว จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้เข้าร่วมเป็นผู้ประกอบการของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มรย.ทำให้ช่องทางการขยายตลาด Baba Ice เป็นที่น่าพอใจ
“ได้เข้าไปเป็นผู้ประกอบการของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา(มรย.) ซึ่งศูนย์ฯมองว่าเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแรงในระยะหนึ่งแล้ว ศูนย์ฯได้ช่วยแนะนำเรื่องช่องทางการตลาด งบประมาณ เครื่องทุ่นแรง มีนักออกแบบ นักการตลาด ช่วยประคับประคอง ช่วยมองตลาดต่างประเทศด้วย เรากำลังจะเปิดการค้ากับอาเซียน มองตลาดทางมาเลเซีย สิงคโปร์ ส่วนทางยุโรปเป็นอังกฤษและนิวยอร์ค ในประเทศก็ส่งไปหลายจังหวัด มีออเดอร์เข้ามาเรื่อยๆ ปลายปีจะเยอะเพราะเป็นช่วงซื้อหาของฝากของที่ระลึก”
ภาวะเศรษฐกิจไม่ได้เป็นอุปสรรคในการผลิต เพราะราคาของเราถูกใจคนไทย สามารถเป็นเจ้าของได้พร้อมแบบที่ไม่ซ้ำใคร เป็นใบเดียวในโลก ใครจะก็อปปี้ไปก็ไม่กลัวเพราะไอเดียเรามาตลอด”
ที่ผ่านมาการทำการตลาดของ Baba Ice เป็นการขายตามเทศกาล งานต่างๆ ที่จัดตามวาระ ยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง จนเมื่อมีโครงการ YRU PLAZA นูรีดาจึงตัดสินใจมีร้านเป็นของตัวเอง ภายใต้ UBI SHOP ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มรย.
“ตัดสินใจเลือก YRU PLAZA เป็นหน้าร้านแห่งแรก ด้วยเหตุผลคือ เป็นช่องทางหนึ่งในการขยายตลาด เพราะย่านนี้มีคนทำงานและนักศึกษาอยู่อาศัยกันมาก เชื่อมั่นว่าต้องไปได้ ต้องอดทนและรอคอย”
โนรีณี เบ็ญจวงศ์ เจ้าของร้าน Tiggkitt ‘s Closet สไตล์ไม่ซ้ำใคร เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในภาคใต้ของแบรนด์ CHEVA เลือกทำเลของ YRU PLAZA ในการเปิดร้านเช่นกัน ด้วยการมองการณ์ไกลในอนาคต
“ถือว่าเป็นการลงทุนในระยะยาว ตรงนี้มีนักศึกษา คนทำงานเยอะ มีกำลังซื้อที่สูง ทำเลใกล้บ้าน ที่สำคัญสินค้าของร้านไม่ซ้ำแบบใคร ทั้งเนื้อผ้าและสไตล์ มั่นใจว่าที่นี่เป็นสายป่านยาวที่น่าสนใจ”
สำหรับ YRU PLAZA ย่านการค้าแห่งใหม่ ตั้งอยู่ ณ ถนนเทศบาล 6 หลังมรย. เปิดเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมรย.หนุนให้สถานที่นี้เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษา และดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมรย. กล่าวว่า สำหรับโครงการ YRU PLAZA จัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษา เป็นสถานที่ประกอบอาชีพให้กับนักศึกษา ตลอดจนเพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับมรย. นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งจัดหารายได้ให้มหาวิทยาลัย โดยมีร้านค้าจำนวน 26 ร้านอาทิ เสื้อผ้าแฟชั่น ชุดมุสลิม ฮิญาบ ชุดนักศึกษา เสื้อผ้า รองเท้า สินค้ามือสอง เครื่องสำอาง ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สินค้าไอที เครื่องดื่มรสเยี่ยมและเบเกอรี่
“เมื่อก่อนช่วงเย็นทางด้านหลังราชภัฏจะมีรถเข็นมาขายของ ไม่มีความเป็นระเบียบ ฝนตกก็ไม่ได้ขาย เมื่อไปถามว่าจึงได้ทราบว่าเขาอยากมีร้านที่มั่นคงขายได้ทั้งฝนตกและแดดออก ขายได้ตั้งแต่เช้าจนค่ำและสามารถเก็บของได้ จึงเกิดแนวคิดทำพลาซ่า เมื่อแนวทางการปฏิบัติออกมาจะมีการทำตลาดนัดนักศึกษาด้วยเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้นักศึกษาขายของ คือปิดถนนแล้วให้นักศึกษาขายของกัน นอกจากจะมีรายได้ตรงนี้ที่จะเข้ามาพัฒนามหาวิทยาลัย สิ่งที่จะได้อีกอย่างหนึ่งคือนักศึกษาและบุคลากรจะได้เรียนรู้การฝึกการขาย
ขณะนี้กำลังให้ช่างต่อเติมอีก 14-15 หลัง เป็นโซนอาหาร ซึ่งจะทำที่นี่ให้มีน้ำตก มีที่นั่งพบปะ เป็นแหล่งนัดพบของคนรุ่นใหม่ รวมแล้วประมาณ 150 ล็อค จะเป็นแลนด์มาร์คใหญ่ครบวงจรในจังหวัดยะลา เป็นแหล่งที่คนหนุ่สาวมาจับจ่ายใช้สอยกัน จะเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหอพักที่จะสร้างจะมีเด็กอยู่ร่วม 2 พันคน รวมนักศึกษาในราชภัฏรวมกันอีก 1 หมื่นคน เป็นกำลังจับจ่ายที่น่าสนใจ”
“อยากจะกระตุ้นแล้วให้คนในพื้นที่เป็นคนดูแล วันนี้เราเปิดมหาวิทยาลัยในเชิงของกายภาพ เปิดรับพี่น้องประชาชนเข้ามาในบ้านตัวเอง มาร่วมกันพัฒนา มาร่วมกันเป็นเจ้าของ ตอนนี้กำลังของบประมาณในการเขียนแบบที่จะทำโรงแรมคล้ายๆ พลาซ่า จะอยู่อีกฝั่งของราชภัฏ ซึ่งจะเป็นโรงแรมสไตล์โมเดิร์น ให้นักศึกษาสาขาการโรงแรมของคณะวิทยาการจัดการมาดูแล ตอนนี้กำลังเขียนแบบอยู่และกำลังรีโนเวทกับโรงแรมเก่าอยู่เพื่อที่จะให้ต่อกับโรงแรมใหม่ที่กำลังจะสร้างขึ้น มั่นใจว่าโรงแรมที่นี่ไม่เหมือนกับโรงแรมที่อื่น เป็นโรงแรมฮาลาล มีที่ละหมาดซึ่งข้างล่างจุ 200 คน ข้างบนจุ 200 คน แยกชายหญิงอย่างชัดเจน ใช้ความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่คือใช้ชื่อของอำเภอต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัด และไม่ทิ้งความเป็นรากเหง้าของราชภัฏ การผลิตครู โดยได้อนุรักษ์ตึกไว้ 1 ตึก คือตึกหลังแรกของมหาวิทยาลัย อาจจะสร้างให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในอนาคต” อธิการบดีมรย.กล่าวทิ้งท้าย
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสากิจ(Univesity Business Incubation Center) มุ่งให้ความรู้และแนวความคิดในการเป็นผู้ประกอบการแก่นักศึกษา อาจารย์และบุคลากร และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย และมุ่งบ่มเพาะผู้ต้องการประกอบธุรกิจเน้น “กลุ่มธุรกิจอาหาร” เป็น อันดับแรก โดยร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร ภายใต้การสนับวสนุนโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนนักศึกษา บัณฑิต บุคลากรและประชาชนทั่วไปที่มีศักยภาพ เพื่อเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพด้วยตนเอง พัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ “เสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ในพื้นที่3 จังหวัดภาคใต้สู่ประชาคมอาเซียน” โดยเน้นบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ ผลักดันองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใน มหาวิทยาลัยไปสู่ผู้ประกอบการ เป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยสู่ผู้ประกอบการ ประสานและจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพครือข่ายภาครัฐและองค์กรเอกชน รวมทั้งเป็น Student Entrepreneur Club แหล่งฝึกประสบการณ์สำหรับนักศึกษาที่สนใจประกอบธุรกิจในอนาคต