หน้าแรก ข่าวต่างประเทศ

ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวน หลังหญิงโรฮิงญาตายคาห้องกักตัว

นักเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลต่อกระบวนการดูแลผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในศูนย์กักตัวในไทย โดยตั้งคำถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ภายหลังหญิงสาวโรฮิงญาอายุ 16 ปีรายหนึ่งเสียชีวิตในศูนย์กักตัวคนต่างด้าว ในอ.สะเดา จ.สงขลา ด้านกลุ่มเอ็นจีโอ เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ประเด็นคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยกลายเป็นข้อถกเถียงในกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านมนุษยชนในไทยอีกครั้ง หลังจากที่ “ฟอร์ตี้ฟายไรต์” ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ ไซนับ บีบี (Zainab Bi Bi) อายุ 16 ปี ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเวลากำหนดปล่อยมาแล้วถึงสามปีในศูนย์กักตัวคนต่างด้าวดังกล่าว

บีบีซีไทยได้ สอบถามไปยัง พ.ต.ท.สังคม ตัดโส ผู้กำกับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา ซึ่งเป็นผู้ดูแลศูนย์กักตัวคนต่างด้าวดังกล่าว ได้รับคำตอบเพียงว่า “กำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่” ก่อนที่จะเขาวางสายไป

ในแถลงการณ์ของฟอร์ตี้ฟายไรต์อ้างว่า ไซนับ บีบี เป็นลมและมีเลือดออกทางจมูกและหูเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ระหว่างถูกกักตัวที่ศูนย์กักตัวคนต่างด้าว อ.สะเดา และเธอเสียชีวิตในอีกหกวันต่อมา ทั้งนี้รายงานของฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุว่า ได้รับข้อมูลที่ยืนยันว่าเธอเสียชีวิตจากอาการเลือดออกในสมองและการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ส่งผลให้เกิดรอยฟกช้ำขนาดใหญ่และมีเลือดไหลได้ง่าย

“การเสียชีวิตของไซนับ บีบี ถือเป็นโศกนาฏกรรม ซึ่งควรกระตุ้นให้ทางการไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงโดยไม่มีเวลากำหนด” เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวในแถลงการณ์

“แทนที่จะได้รับการดูแลและคุ้มครองอย่างดีสุดเนื่องจากเป็นผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็ก ไซนับ บีบีกลับต้องเสียชีวิตในกรงขัง” เธอกล่าว

“ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา กลุ่มไร้ทางออก”

นายอิสมาแอน หมัดอะด้ำ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนใน จ.สงขลาบอกกับบีบีซีไทยว่า มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาในศูนย์กักตัวดังกล่าว เพราะถือว่าเป็น “กลุ่มที่ไม่มีทางออก” เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถผลักดันไปยังประเทศที่สาม หรือ ผลักดันเข้าประเทศได้ โดยผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในศูนย์กักตัวหลายแห่งในภาคใต้ ซึ่งรวมทั้งใน อ.สะเดา ส่วนใหญ่เป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ตั้งแต่ปี 2556

สำหรับกรณีล่าสุด นายอิสมาแอน บอกว่า ไซนับ มีสภาพร่างกายไม่แข็งแรงมากนัก ก่อนที่จะเสียชีวิตเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้พาเธอไปพบแพทย์มาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่ในศูนย์ฯ อาจส่งผลทำให้เธอตกอยู่ในภาวะเครียดสะสม รวมทั้งความแออัดภายในศูนย์ฯ

นักเคลื่อนไหวรายนี้เสนอแนะว่า ภาครัฐของไทยควรมีนโยบายที่ชัดเจนออกมา ในการดูแลผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ในระหว่างรอการส่งตัวในอนาคต อาจจะกระทำได้เหมือนกับบ้านพักเด็กที่ จ. พังงา ที่อนุญาตให้พวกเขามีกิจกรรมในการพัฒนาตนเอง ส่งเสริมทักษะอาชีพ รวมถึงการได้รับการศึกษา แทนการถูกกักตัวตลอด 24 ชั่่วโมง

นายอิสมาแอน เสนอให้ทางการไทยปรับปรุงสภาพการถูกกักตัวของชาวโรฮิงญาในไทย เช่นเปิดโอกาสในการเพิ่มทักษะอาชีพ และได้รับการศึกษา

“ในการจัดการเรื่องนี้ ควรมองในมิติด้านมนุษยธรรม มากกว่ามิติความมั่นคงเพียงอย่างเดียว” นายอิสมาแอนกล่าว

ในขณะที่ข้อมูลจากฟอร์ตี้ฟายไรต์อ้างว่า สภาพในห้องขังที่ศูนย์กักตัวคนต่างด้าว อ. สะเดา ขาดสุขลักษณะและไม่มีห้องส้วมที่ถูกสุขอนามัย ไม่มีอาหารอย่างเพียงพอ ไม่มีโอกาสออกกำลังกาย หรือไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในศูนย์กักตัวคนต่างด้าว อ.สะเดา ทั้งหมด 16 คน แบ่งเป็น หญิง 7 คน ผู้ชาย 9 คน

“เป็นที่รู้กันดีว่า สถานที่ควบคุมตัวคนต่างด้าวของประเทศไทย มีสภาพที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ และไม่เหมาะสมกับผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็ก” ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

นายซาอิด หัวหน้ากลุ่มชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ บอกกับบีบีซีไทยว่า ชาวโรฮิงญาได้หารือกันในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ยังไม่สรุปว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด

ครั้งที่ 2 ในรอบ 5 เดือน

การเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติล่าสุด ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 5 เดือน หลังจากการเสียชีวิตของ นายอิยาซ มาซิห์ ชาวปากีสถานซึ่งนับถือศาสนาคริสต์วัย 36 ปี ได้เกิดอาการหัวใจวายระหว่างอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา

สมาคมชาวคริสเตียนปากีสถานในอังกฤษระบุว่านายอิยาซ มาซิห์ ผู้ต้องกักชาวปากีสถาน เคยถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้ว

 

ก่อนหน้านั้นเขาถูกควบคุมตัวที่นี่มากว่าหนึ่งปีในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ ปฏิเสธคำขอสถานะผู้ลี้ภัยของเขาหนึ่งวันก่อนหน้านี้ เขาเสียชีวิตไม่นานหลังถูกนำตัวไปถึงโรงพยาบาลตำรวจ

ซึ่งในครั้งนัั้น ฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติการกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนดต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

ยูเอ็นเอชซีอาร์ ขอแสดงความเสียใจ

สำหรับกรณีหญิงโรฮิงญา น.ส. ฮันนาห์ แมคโดนัลด์ ฝ่ายกิจการสัมพันธ์ของยูเอ็นเอชซีอาร์ในประเทศไทย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของหญิงชาวโรฮิงญาจากภาวะเลือดออกในสมองที่โรงพยาบาลใน อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา

อย่างไรก็ตาม ยังมีความสับสนเกี่ยวกับสถานที่เสียชีวิตของหญิงสาวชาวโรฮิงญาอยู่ในขณะนี้ เพราะ ในแถลงการณ์ของฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุว่าเกิดขึ้นในห้องกัก

ทางยูเอ็นเอชซีอาร์เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ของไทยได้ช่วยให้เธอได้รับการรักษาทางการแพทย์แล้ว แต่โชคร้ายที่ไม่สามารถช่วยชีวิตของเธอไว้ได้

อย่างไรก็ตาม น.ส.แมคโดนัลด์กล่าวเพิ่มเติมว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ทั่วโลก ยังคงรักษาจุดยืนตามอนุสัญญา ค.ศ. 1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (1951 Refugee Convention) และไม่มีกฎหมายรับรองสถานะของผู้ลี้ภัย และไม่ได้กำหนดขั้นตอนปฏิบัติในการประเมินการขอรับสิทธิที่จะมีที่พักพิง เนื่องจากไม่มีขั้นตอนเกี่ยวกับการขอรับสิทธิที่จะมีที่พักพิง รัฐบาลไทยจึงควรเคารพต่อเอกสารที่ทาง UNHCR ออกให้กับบุคคลในความห่วงใย และหลีกเลี่ยงไม่ควบคุมตัวบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างการขอรับความคุ้มครองระหว่างประเทศ

 

ที่มา: http://www.bbc.com/