ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดจนพี่น้องชาวมุสลิมทั่วประเทศโดยรวม ที่ได้มีโอกาสเที่ยวชมการจัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ ศิลปวัตถุทางประวัติศาสตร์อิสลามและศาสดามูฮัมหมัด ( ศ็อลฯ ) ณ. อาคารปาตานีเซนเตอร์ หรืออาคารคณะกรรมการประจำจังหวัดปัตตานีหลังเก่า
อย่างไรก็ตามในการเข้าชมในครั้งนี้ทางผู้จัดได้มีการจำหน่ายบัตรเข้าชมให้กับผู้ที่สนใจ พร้อมกันนี้ได้มีการให้รางวัลสำหรับผู้ที่โชคดีเป็นตั๋วไปกลับอุมเราะห์ 30 ที่นั่งและอัลกุรอานดิจิตัล 200 เครื่องด้วยกัน
ทั้งนี้ผู้เขียนใคร่กล่าวขอบพระคุณแทนชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างสูง สำหรับกลุ่มปูกิสและองค์กรเครื่อข่ายตลอดจนผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เหนือการคาดการณ์สำหรับชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะได้มีโอกาสเห็นสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยของท่านศาสดามูฮัมหมัด ( ศ็อลฯ ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัวมากหากเปรียบเทียบความน่าจะเป็นและความเป็นไปได้
อย่างไรก็ตามการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติสาสตร์สำหรับชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะได้รับโอกาสอันดีเช่นนี้ ที่เป็นที่สนใจของชาวมุสลิมทุกชนชั้นและทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชนชั้นไหน ล้วนได้รับอานิสงส์อย่างมากมาย จากการจัดแสดงในครั้งนี้
ทั้งนี้การเคลื่อนย้ายสิ่งของดังกล่าวมาจัดแสดงอย่างที่ปรากฏ มิได้เป็นเรื่องง่ายอย่างที่คิด นับตั้งแต่ความคิดและความริเริ่มตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหลาย ล้วนต้องมีการไตร่ตรองและวางแผนอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องการดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สินดังกล่าว ที่มิอาจประเมินเป็นมูลค่าได้ อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายที่จะได้สิ่งของเหล่านี้มาจัดแสดง ต้องวางเงินหรือค่าเช่าเป็นตัวเลขเจ็ดหลักด้วยกัน แต่ด้วยความประสงค์ของพระเจ้า ทำให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินผ่านไปด้วยดี
ต่อไปนี้คือบางส่วนที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้
ผ้าโพกศีรษะของท่านรอซูล ( ศ็อลฯ )
ท่านรอซูล( ศ็อลฯ ) มักจะสวมผ้าบนศรีษะโดยปรกติท่านรอซูล( ศ็อลฯ ) มักจะสวมสิ่งที่เรียกว่า Qalansuah (กะปียะฮ์) ไม่ว่าจะสวมด้วยอิมามะฮ์ (ผ้าสะระบั่น) หรือไม่มีสะระบั่นก็ตาม มีบางเวลาที่ท่านรอซูล(ซล.)อาจใช้ผ้าคลุมบนศรีษะ โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนและที่มีฝุ่น และท่านรอซูล( ศ็อลฯ ) จะสวมหมวกเหล็กในยามสงคราม มีหลายฮาดิษที่ได้รายงานเกี่ยวกับผ้าสะระบั่นท่านรอซูล( ศ็อลฯ ) ที่บอกถึงคุณลักษณะ อย่างเช่น ลักษณะผ้าสะระบั่นและกะปีเยาะฮ์หรือผ้าโพกศรีษะที่ท่านรอซูล(ซล.)ชอบสวมใส่มีลักษณะยาวแหลม ตามด้วยลักษณะการโพกผ้าที่จะโพกประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวหมวก (กะปีเยาะฮ์) และปล่อยหางเล็กน้อยประมาณไหล่ เช่นเดียวกับหมวกเหล็กของท่านรอซูล( ศ็อลฯ ) จะมีลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน
รอยเท้าท่านรอซูล ( ศ็อลฯ )
รอยเท้าของท่านรอซูล (ซล.)นี้ ถูกประทับในช่วงที่ท่านรอซูล(ซล.)ได้ย่างเท้าสู่เมืองเยเมนในครั้งแรก กล่าวกันว่ารอยประทับรอยเท้าของท่านรอซูล(ซล.)มีจำนวนถึง 44 รอยด้วยกันที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลและวงศ์ตระกูลของท่านรอซูล(ซล.)
รองเท้าท่านรอซูล ( ศ็อลฯ )
ไม้เท้าของท่านรอซูล ( ศ็อลฯ )
มีรายงานเกี่ยวกับท่านรอซูล (ซล.)ได้ใช้ไม้เท้าในช่วงการอ่านคุตบะฮ์ เช่น อิหม่ามมาลิกกล่าวไว้ใน อัล – มูเดาวานะฮ์ อัล – กุบรอว่า “ท่านอิบนู ชีฮาบกล่าวว่า ท่านรอซูล (ซล.) จะถือไม้เท้าในขณะอ่านคุตบะฮ์บนมิมบัร โดยจะถือไม้เท้าอย่างหนักแน่น ต่อมาท่านอาบู บักรฺ ท่านอูมัร และท่านอุสมานได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา”
เครารอซูล( ศ็อลฯ )
บรรดาศอฮาบะฮ์ได้เก็บรวบรวมเคราและเส้นผมของท่านรอซูล ( ศ็อลฯ ) โดยท่านรอซูล ( ศ็อลฯ ) ได้มอบเคราของท่านให้กับท่านอาบู ฏอลฮาฮ์ อัล อันซอรี ที่ตัดโดยท่านมามาร์ อิบนู อับดุลลอฮ์ ต่อมาเคราเหล่านั้นถูกแจกจ่ายให้กับบรรดาศอฮาบะฮ์ที่กำลังรอรับ (ในช่วงการประกอบพิธีฮัจย์อำลา)
แหวนตราประทับท่านรอซูล ( ศ็อลฯ )
แหวนตราประทับชิ้นนี้มีขนาด 9 x 3 เซนติเมตร ทำจากเงินและทองเหลือ ซึ่งมีคำว่า “มูฮัมหมัด รอซูล อัลลอฮ์” ปรากฏอยู่ แปลว่า (มูฮัมหมัดศาสนฑูตของอัลลอฮฺ) แหวนตราประทับดังกล่าวทำจากเงิน ซึ่งใช้สวมเหมือนแหวน ต่อมาแหวนตราประทับดังกล่าวถูกสืบทอดไปยังท่านอาบูบักร(เคาะลีฟะฮ์คนแรก) ท่านอุมัร อิบนู คอฏ๊อบ(เคาะลีฟะฮ์คนที่สอง) และท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน(เคาะลีฟะฮ์คนที่สาม) ตามลำดับ ต่อมาเมื่อท่านอุษมานมีตราประทับอันใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกัน เขาได้ส่งมอบแหวนตราประทับอันเดิมให้กับบะนีย์อูมัยยะฮ์และอับบาซียะฮ์ในเวลาต่อมา จนในที่สุดแหวนตราประทับท่านรอซูล(ซล.)ได้ตกอยู่ในมือของท่านซัยดีนาฮูเซ็น บิน อาลี และวงศ์ตระกูลของเขา
สิ่งของเครื่องใช้ของท่านซัยดีนาฮัซซันและซัยดีนาฮูเซ็น (ร่อฎิญัลลอฮุอันฮุ)
สมบัติและเครื่องใช้ของท่านซัยดีนาฮัซซันและซัยดีนาฮูเซ็น (ร่อฎิญัลลอฮุอันฮุ) เช่น อูฐ ม้า แหวน จี้ อัญมณี และ โลหะภัณฑ์ ที่ทำจากเงิน
กุญแจสุสานท่านรอซูล ( ศ็อลฯ )
กุญแจสุสานท่านรอซูล (ซล.) ถูกเปลี่ยนครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1411 และครั้งที่สองในช่วงการปกครองของอาณาจักรอิสลามออตโตมันเมื่อปีค.ศ.1847 กุญแจสุสานแห่งนี้ถูกเปลี่ยนอีกครั้งในปีค.ศ.1937 โดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย กุญแจดอกนี้ (ชิ้นที่จัดแสดงในนิทรรศการ) ถูกเก็บรักษาโดยท่านอาลี ไซนัล อาบีดีน ตอแอฮ ต่อมาเกิดข้อพิพาทในเรื่องเกี่ยวกับผู้ดูแลสุสานของท่านรอซูล(ซล.) ต่อมากุญแจดังกล่าวได้อยู่ในความรับผิดชอบของลูกหลานท่านซัยดีนาอาลีจนถึงปัจจุบัน
ผ้าคลุมสุสานท่านรอซูล ( ศ็อลฯ )
บริเวณโดยรอบสุสานของท่านรอซูล(ซล.)ส่วนใหญ่ถูกปิดกั้นด้วยผ้าทอที่ทำจากผ้าไหมบริสุทธิ์ เป็นสีเขียวอ่อน และถูกตกแต่งด้วยเข็มขัดที่คล้ายกับที่ปิดกะบะฮ์แต่เป็นสีแดง หนึ่งในสี่ของเนื้อผ้ามีการสลักด้วยโองการอัลกุรอ่านแห่งซูเราะฮฮ อัล-ฟัตห์ ที่ทำจากเส้นฝ้ายและด้ายทองและเงิน
ดาบที่ยึดได้จากสงครามโดยท่านซัยดีนา ฮัมซะฮ์
ดาบที่ยึดได้ในสงครามโดยท่านซัยดีนา ฮัมซะฮ์ ความยาว 92 เซนติเมตรมีน้ำหนักประมาณ 1.2 กิโลกรัม ลวดลายการแกะสลักดาบเล่มนี้มาจากเปอร์เซียซึ่งเป็นดาบยึดในช่วงสงครามบะดัร
คันธนูของท่านรอซูล ( ศ็อลฯ )
คันธนูของท่านรอซูล (ซล.) มีความยาว 152 เซนติเมตร ทำจากไม้อัลอาชูซียะฮ์ ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของสุลต่านอัฮหมัดที่ 1 (1603- 1617) ที่ได้ทรงเก็บคันธนูดังกล่าวไว้ในกล่องอย่างดี กล่องดังกล่าวประดับด้วยทองคำและเงิน มีการเขียนบันทึกเกี่ยวกับคันธนูและคุณูปการของมัน คันธนูมีน้ำหนัก 286 กรัม คันธนูดังกล่าวไว้ใช้ในพิธีปล่อยแถวในการฝึกยุทธวิธีสงคราม ซึ่งมีลูกธนู 5 ดอกด้วยกัน ซึ่งใช้ไปเพื่อศึกสงครามไปแล้วจำนวน 3 ดอก บางส่วนของคันธนู ท่านรอซูล( ศ็อลฯ ) มีชื่อว่า “อัซซัสรอ” “คันธนูชิ้นนี้ทำขึ้นจากไม้ไผ่จึงตั้งชื่อว่าอัซซัสรอ” (Bogor Islamic Book Fair, Ahmad Syaifillah) คันธนูนี้มีลักษณะทรงโค้งสีน้ำตาลและมีขนาดสูงกว่าดาบอัล-มะฮ์ษูรของท่านรอซูลเล็กน้อย คันธนูชิ้นนี้ถูกเก็บไว้ในกล่องกระจกเดียวกันกับดาบ อัล-มะฮ์ษูร เพราะว่าเป็นมรดกของท่านนบีมูฮัมหมัด ( ศ็อลฯ ) เช่นกัน
กุญแจสุสานท่านหญิงคอดีญะฮ์
กุญแจสุสานอันนี้มีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม มีขนาด 28 X 9 เซนติเมตร ท่านหญิงคอดีญะฮ์ อัลกุบรอ สุสานของนางตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาอัซซัยยีดะฮ์ (ภูเขาคอดีญะฮ์) ซึ่งหันไปทางกิบลัตยังมัสยิดฮารอม ซึ่งเมื่อก่อนบริเวณที่ตั้งของสุสานท่านหญิงคอดีญะฮ์แห่งนี้ มีการก่อสร้างโดมอันเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของเจ้าของสุสาน แต่น่าเสียดายเมื่อประมาณปี 1990-1991 มีกลุ่มชนที่ฝักใฝ่แนวคิดวาฮาบีได้รื้อทำลายสิ่งก่อสร้างดังกล่าวทิ้ง ปัจจุบันจะเห็นว่าสุสานของท่านหญิงคอดีญะฮ์ไม่ได้มีความแตกต่างกับสุสานของคนทั่วไปแต่อย่างใด
ชุดนักรบมุสลิมยุคเปอร์เซีย
หวังว่าการจัดแสดงในครั้งนี้จะนำมาซึ่งความรู้สึกที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อพี่น้องมุสลิมที่ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมในครั้งหน้าอย่างทั่วกัน