หน้าแรก บทความ

ถ้าหาก EU ชะลอกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทย เราจะเสียอะไรบ้าง?

ข่าวสารล่าสุดระบุว่า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู ในวันที่23 มิถุนาที่จะมาถึงนี้ อาจพิจารณาชะลอการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือที่มีกับประเทศไทยทั้งหมด รวมไปถึงกรอบความตกลงสำคัญที่ชื่อ “กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย-สหภาพยุโรปและ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป” (the EU-Thailand Partnership and Cooperation Agreement; PCA)

การลงนามความตกลงดังกล่าวจะชะลอออกไปจนกว่าประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ประเทศไทยกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิกหลายประเทศ เราก็มีความสัมพันธ์กันมาช้านาน ถ้านับกับสหภาพยุโรปเราก็สถาปนาความสัมพันธ์กับเขามาตั้งแต่ ค.ศ.1980 ซึ่งยุทธศาสตร์ของไทยในการดำเนินความสัมพันธ์กับ EUที่เรายืนยันกับพวกเขามาตลอด ก็คือ

“การเน้นว่าไทยยึดมั่นในคุณค่าประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรี เช่นเดียวกับ EU เพื่อให้ EU มีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพและความต่อเนื่องของระบอบการปกครองแบบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยและเพื่อให้เห็น ไทยเป็นหุ้นส่วนหลักในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยในการขยายการค้า การลงทุนการท่องเที่ยว และการรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก EU และเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว”

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า เมื่อประเทศไทยมีรัฐประหารและเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบเผด็จการคณะ ทหาร(military junta) กรอบของความสัมพันธ์กับ EU จึงสั่นคลอน และกระทบมายังบรรดาข้อตกลงที่กำลังจะจรดปากกากัน

กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย-ประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือPCA มีความสำคัญอย่างไร?

ผู้แทนฝ่ายไทยกับEUได้เจรจากันในเรื่องนี้ มาสักพักใหญ่แล้ว และได้เห็นชอบร่างเอกสารความตกลงดังกล่าวร่วมกันเมื่อเดือนพฤศจิกา 2556 ในการประชุมที่บรัสเซลส์

เอกสารที่อียูแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน(Press release)ในการดำเนินงานเรื่องนี้ ระบุชัดเจนถึงความสำคัญของไทยว่า อียูมองไทยเป็นเสมือน “natural partner”ที่มีการทำงานใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนานทั้งในระดับทวิภาคี เวทีระดับภูมิภาค และเวทีระดับโลก ดังนั้น สำหรับอียู การตกลงในการเป็นหุ้นส่วน PCAกับไทย ในเชิงสัญลักษณ์จึงเป็นการยืนยันการเชื่อมโยงกันมากขึ้นและกระชับความ สัมพันธ์กันแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในทุกๆ มิติของความร่วมมือ

ไล่ตั้งแต่การ ร่วมดำเนินงานอย่างใกล้ชิดในประเด็นระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน การแพร่กระจายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง อาวุธขนาดกลางและเล็ก

ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน เช่น การพิจารณากำแพงอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชซึ่งเกี่ยวข้องกับ ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและอุตสาหกรรมอาหาร เรื่องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และเรื่องภาษีศุลกากร เป็นต้น

ความร่วมมือเกี่ยวกับงานยุติธรรม เช่น ความร่วมมือทางกฎหมาย การป้องกันข้อมูล ผู้อพยพย้ายถิ่น การต่อสู้กับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ การฟอกเงิน เส้นทางการเงินของกลุ่มก่อการร้าย และขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ เป็นต้น

ไปจนถึงความร่วม มือเฉพาะเรื่องต่างๆ เช่น การบริการทางการเงิน การศึกษา การสร้างสังคมข้อมูลข่าวสาร สื่อสาธารณะ พลังงาน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การจ้างงานและกิจการสังคม ความร่วมมือทางสุขภาพ การขนส่ง ตลอดจนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย-ประชาคมยุโรปและ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือPCAนั้นมีเนื้อหาครอบคลุมความเป็นหุ้นส่วนกันในทุกมิติอย่างครอบจักรวาล (Comprehensive Partnership and Cooperation)

หากEUพิจารณาชะลอการตกลงในเรื่องนี้ออกไป จริงๆ ก็คงเป็นเรื่องเสียโอกาสสำหรับไทยอย่างมาก แต่โดยส่วนตัว ผมก็เห็นว่าไม่น่าจะเป็นอะไร พวกประเทศในกะลาอย่างนี้ เลิกคบไปเสียก็ดี จะได้ไม่ต้องปวดหัวกับพวกฝรั่งตาน้ำข้าว ยังไงเสียเราก็มีมิตรแท้อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลอย่างภูฏาน เจ้าของทฤษฎีดัชนีความสุขลวงโลก

หรือไม่ก็หันไปคบกับท่านผู้นำคิม แห่งเกาหลีเหนือ ก็น่าจะถูกจริตประเทศเราดี เรียกได้ว่า … “ฝนตกขี้หมูไหล”กันเลยทีเดียว