ความเดิมตอนที่แล้ว ผมกำลังวัดจังหวะสานต่อการพูดคุยของรัฐไทยโดยโมดิฟายน์กระบวนการขึ้นใหม่ว่า ท่าทีเชิงลบของผู้เกี่ยวข้องต่อวาระเรื่องเขตปกครองพิเศษนั้นมีผลอย่างมีนัย สำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของกระบวนการ เพราะการยินยอมให้หลากหลายความปรารถนาได้เข้าสู่พื้นที่พูดคุยเพื่อสานความ เข้าใจต่อกันนั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเสริมสร้างความสามารถในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และใช้เครื่องมือวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ ต่อรอง แข่งขัน ฯลฯ เพื่อบรรลุความปรารถนาของตน
แต่ทีนี้ สมมติว่าท่าทีของรัฐไทยที่ไม่อนุญาตให้คุยเรื่องเขตปกครองพิเศษตามที่เรา เห็นในหน้าสื่อแขนงต่างๆ เป็นเพียงแค่การแสดงเท่านั้น แต่ลึกๆ ในทางปฏิบัติก็ยินยอมให้มีการถกเถียงในเรื่องนี้ได้ในเวทีพูดคุยเพื่อ สันติภาพ คำถามถัดมาก็คือ เวลาพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ ผู้แทนฝ่ายรัฐไทยกำลังพูดเรื่องนี้ภายใต้ คอนเสปต์แบบใด?
ผมยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐไทยผู้มีบทบาทสำคัญได้แสดงความเห็นในเรื่องเขต ปกครองพิเศษไว้ทำนองว่า “ไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องมาขับเคลื่อนจัดตั้งเขตปกครองพิเศษแต่ อย่างใด เพราะโครงสร้างบริหารที่เป็นอยู่มันพิเศษอยู่แล้ว เรามีกลไกบริหารราชการพิเศษ เรามี ศอ.บต. ซึ่งเหล่านี้ก็คือฟังก์ชั่นพิเศษอยู่แล้ว”
จากตัวอย่างข้างต้น ท่านผู้อ่านก็จะเห็นนะฮะว่า แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่พูดกันคนละภาษา คำว่า “พิเศษ” ของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงท่านนั้น หมายถึง กลไกบริหารราชการแบบพิเศษ หรือกลไกพิเศษที่พัฒนาขึ้นเพื่อปกครองควบคุมพื้นที่ หรือก็คือ ความพิเศษในเชิงการบริหาร
ซึ่งเวลาเราพูดเรื่องการกระจายอำนาจ สมัยก่อนหน้า 2475 หรือกระทั่งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีคอนเสปต์เกี่ยวกับการกระจายอำนาจในทำนองนี้เหมือนกัน คือ มองหน่วยปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะกลไกที่เป็นมือไม้ของรัฐบาลส่วนกลางในการ ปกครองควบคุมพื้นที่ กระจายงาน ภารกิจ ไปให้เพื่อทำงานสนองเป้าหมายนโยบายของส่วนกลาง ภายใต้การกำกับควบคุมอย่างใกล้ชิด ท้องถิ่นหาได้มีอิสระตัดสินใจดำเนินการเองในเรื่องต่างๆ แต่อย่างใดไม่
คอนเสปต์ของเจ้าหน้าที่รัฐท่านดังกล่าว เกี่ยวกับเขตปกครองพิเศษ ก็คือ ชุดความคิดแบบย้อนกลับไปราวๆ 100 กว่าปีก่อนเห็นจะได้ เรียกว่า น่าจะเกิดผิดยุคผิดสมัย หรืออาจกลับชาติมาเกิดใหม่แต่ชุดความรู้ความเข้าใจในชาติก่อนยังติดแน่นฝัก ตรึงไม่ไปไหน
ส่วนคำว่า “พิเศษ” ในความหมายของกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง รวมทั้งในความหมายที่ผู้แทน BRN พูดถึงในวงพูดคุยช่วงที่ผ่านมานั้น คือ “พิเศษ” ในเชิงการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเสียใหม่ โดยเป็นการที่รัฐบาลส่วนกลางคืนอำนาจที่อมเอาไปตั้งแต่ 120 กว่าปีก่อน กลับมาให้ชุมชนท้องถิ่นมีอิสระในการตัดสินใจชะตาชีวิต ทิศทางของพื้นที่ตนเอง และให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการดำเนินกิจการของท้องถิ่นให้เป็นไปตาม ความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้แต่ละท้องถิ่นสามารถเป็นตัวของตัวเองได้
เขตปกครองพิเศษ ที่ พิเศษ ในความหมายนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดที่ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นที่บัญญัติว่า
“การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบ พิเศษที่มีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างจากที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้กระทำได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง”
ทั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งส่งเสริมการกระจายอำนาจบนหลักการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการ จัดการดูแลชุมชนท้องถิ่นตนเองโดยตรงมากขึ้น และบนหลักของการเสริมสร้างความเป็นอิสระของท้องถิ่น และหลักการพึ่งตนเองของท้องถิ่น
โอ๊ะ!!!
เพลินไปหน่อย รัฐธรรมนูญ 50 มันไม่มีแล้วนี่หว่า
ขอโทษครับ เอาใหม่ๆ ไอ้ที่เขียนๆ มาแล้วก็ถือซะว่าผมเลอะเทอะไปเองนะครับ
อ่ะ กลับเข้าเรื่องของเราดีกว่า
การพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในประเด็นเกี่ยวกับเขตปกครองพิเศษ ภายใต้คอนเสปต์ที่นิยามคำว่า “พิเศษ” กันคนละความหมายนั้น จะเห็นแล้วว่า มันทำให้แต่ละกลุ่มเห็นภาพที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วเลยทีเดียว ดังนั้น ก็ย่อมยากที่จะหาจุดร่วมกันลงตัว หากต่างฝ่ายต่างไม่ยอมทำความเข้าใจความคิดของคนอื่น
ซึ่งก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปอยู่ว่า ไอ้คำว่า “พิเศษ” นั่นจะหาจุดร่วมกันได้หรือไม่ว่าพิเศษในความหมายชนิดใด? แต่เงื่อนไขของมันก็คือ หากพื้นที่ของการพูดคุยเพื่อสันติภาพไม่เปิดกว้างมากพอให้กับความปรารถนาที่ หลากหลาย กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังโมดิฟายขึ้นใหม่นี้ก็จะขาดศักยภาพใน การโอบอุ้มผู้คนที่ต่างความคิดจิตใจเข้าไว้ในอ้อมกอดเดียวกันอย่างที่รัฐไทย ปรารถนาให้มีความ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยแบ่งแยกมิได้ อย่างแน่นอนทีเดียวเชียว
นอกจากนี้ ก็น่าติดตามต่อด้วยว่า ภายใต้แนวโน้มของการพยายามลดบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหวนรวมศูนย์อำนาจภายใต้รัฐราชการ ตลอดจนข่าวลือข่าวรั่วของดำริริเริ่มที่จะยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด และปรับโครงสร้างการบริหารภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่เปิด ที่ทางให้กับข้าราชการประจำเข้ามามีบทบาทในฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมากขึ้น นั้น
ภายใต้แนวโน้มที่จะเป็นกระแสการกระจายอำนาจ แบบย้อนยุคดังกล่าว เราสามารถคาดหวังให้เกิดการพูดคุยถกแถลงกันเรื่องการกระจายอำนาจแบบที่ก้าว ไปข้างหน้าได้จริงมากน้อยแค่ไหน?
โปรดติดตามตอนต่อไป ซีรี่ส์ปาตานี ยังมีอีกหลายภาค มากกว่า Game of Throne เสียอีก
———————————————
* ในบทความชิ้นนี้ ผมยังคงยืนยันใช้คำว่า “การพูดคุยเพื่อสันติภาพ” เพราะ “การพูดคุยเพื่อสันติสุข” เป็นคำที่ไม่มีความหมายทางทฤษฎี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จังหวะสานต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพ – จังหวะก้าวเขตปกครองพิเศษ (ตอนแรก)