หน้าแรก รายงาน

หลากเสียงข้ามปีชายแดนใต้ “ขอพื้นที่เสรีภาพและเป็นธรรมตอบโจทย์สันติภาพ”

ช่วงรอยต่อปี 58-59 ห้วงนี้มีหลายคนจากฝากรัฐบาลออกมาเปรยว่า สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้กำลังจะดีขึ้น ยืนยันจากคำพูดของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เคยบอกว่า การพูดว่าภาคใต้จะสงบ เป็นเป้าหมายที่วางไว้ โดยขณะนี้มีปัจจัยในทางบวกทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่ลดลง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ และเริ่มจัดระบบงบประมาณแบบรวมศูนย์ได้ถ้าทิศทางของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตามเรื่องแบบนี้ เป็นติ่งหนึ่งของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไป เพราะบ่อยครั้งที่สังคมมักจะได้ยินสถานการณ์ชายแดนใต้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการถ้อยแถลงทางฝากฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะการแถลงผลงานก่อนสิ้นปี ซึ่งทางฝากฝั่งภาคประชาชน คนทำมาหากินในพื้นที่ชายแดนใต้มักจะมีมุมมองความเห็นเป็นเส้นคู่ขนานแบบมีคำถาม ทั้งนี้ช่วงรอยต่อส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เราลองมาฟังหลากเสียง หลากมุมมองสะท้อนสถานการณ์และความคาดหวังต่อสันติภาพอย่างไร

ซุบกี อูเซ็ง

ซุบกี อุเซ็ง แกนนำเยาวชนกลุ่มตูปะ บอกว่า สันติภาพในพื้นที่ปาตานีในช่วงเวลาการทำงานของรัฐบาลในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยเลย มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง ทางด้านความคิดเห็น ความคิด ปัจจัยในพื้นที่ที่มีผลต่อสันติภาพน่าจะเป็นความร่วมมือของทุกคน

“ตอนนี้บางส่วนเท่านั้นที่มีส่วนเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพ แต่ถ้าหากไปเล่นประเด็นเหล่านี้ ประชาชนจะเห็นเราต่างไปทันที ในมหาลัยก็เช่นกัน นักศึกษาส่วนน้อยมากที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ อาจจะมีผลที่มาจากความคิดที่ว่า ใครเล่นประเด็นนี้จะเป็นพวกฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จึงทำให้ความคิดของสังคมจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย”

เช่นเดียวกับ อารีฟีน โซ๊ะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) คนปัจจุบัน สะท้อนว่า สันติภาพปาตานีจะยังยืนได้จำเป็นที่จะต้องเกิดพื้นที่ทางการเมืองที่ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิทางการเมืองเพื่อที่ประชาชนสามารถที่จะแสดงจุดยืนและทัศนะทางการเมืองอย่างปลอดภัยได้ ซึ่งสอดรับกับบริบทการเมืองไทยอย่างแน่นอน เพราะหากภาพร่วมของบรรยากาศทางการเมืองของศูนย์กลางอำนาจ ไม่สามารถเอื้อต่อการแสดงออกเจตจำนงของประชาชนได้ มันก็จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ล่อเลี้ยงให้ความรุนแรงดำรงอยู่ต่อไป

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้เหตุผล แต่เป็นความรุนแรงที่มีเหตุผล โดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง และมีชุดอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นตัวล่อเลี้ยงการปฏิบัติการทางการทหาร ผ่านการก่อเหตุความรุนแรงต่าง ๆ ขึ้น ดังนั้นแล้วปัจจัยที่จำเป็นที่สุดคือ ต้องให้เจตจำนงของประชาชนทุกกลุ่มมีพื้นที่ในการแสดงออกถึงจุดยืนของประชาชนได้อย่างปลอดภัย และเป็นสิ่งที่เราต่างใฝ่ฝันเพื่อให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนได้”

ขณะที่คนทำงานอย่าง ซากียะห์ ครูโรเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในชุมชนปัตตานี กล่าวว่า ก็ได้คุยกับเพื่อนๆครู ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สันติภาพในพื้นที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในอัตลักษณ์ วิถีชีวิตของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยไม่เอื้อกฎหมายให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกวันนี้ การเมืองของเราเป็นการเมืองที่รัฐมีอำนาจอยู่ในมือ อำนาจสิทธิขาดเป็นของรัฐ แต่คนในพื้นที่หวาดระแวง ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากหลายๆเหตุการณ์ คนในพื้นที่เองไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี ซึ่งครอบครัวชั้นเองก้อต้องเสียน้องชายวัย17 ไปเพราะเหตุการณ์ไม่สงบนี้เหมือนกัน

“ปัจจัยของปัญหา คิดว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความเป็นธรรมในการดำเนินการและไม่เข้าใจอัตลักษณ์ รวมไปถึงตัวบทกฎหมายเองก็เช่นกัน คนในพื้นที่มองว่าเรื่องสันติภาพสามารถเกิดขึ้นได้ หากปล่อยให้เราจัดการกันเอง รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสาธารณูปโภคในด้านต่างๆให้เอื้อต่อการพัฒนา การจัดการกันเองของคนในพื้นที่โดยปราศจากผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง คิดว่าสันติภาพอาจจะเกิดขึ้น”

“อิสลามเองก็คือศาสนาแห่งสันติ สามารถอยู่ร่วมกับศาสนิกอื่นได้โดยปราศจากความขัดแย้ง

ถ้าเป็นไปได้ ปีหน้า อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐที่เป็นกลางมีการนำกฎหมายชารีอะห์มาปรับใช้ร่วมในเขตพื้นที่ให้มีความเป็นธรรมในสิทธิต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน และเปิดเวทีสาธารณะจริงๆเพื่อพุดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา” ครูชายแดนใต้สะท้อน

 

คล้ายคลึงมุมมองของชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสอย่าง???? ???? น นวพล ลีนิน ที่ชี้ว่า สันติภาพในภาพรวมคือ ความสงบสุขที่ยั่งยืนมากกว่าการควบคุมโดยกองกำลัง โดยผู้คนในพื้นที่ได้รับความเคารพในความแตกต่าง เช่นประเพณีต่างๆของชาวพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยสามารถจัดได้อย่างปลอดภัย การเดินทางเพื่อทำมาหากินทำได้ปลอดภัย ความเปลี่ยนแปลงในปีหน้าที่อยากเห็นคือคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพ มีสวัสดิภาพในชีวิตและทรัพย์สิน

“ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ คือ นโยบายรัฐบาล การดำเนินนโยบายของรัฐมีส่วนสำคัญที่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งในพื้นที่มาตั้งแต่อดีต หากมองในภาพรวมประชาชนในพื้นที่มีความอดทนสูงมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประชาชนโดยส่วนใหญ่นั้นพร้อมที่จะสร้างพื้นที่สันติภาพ ตัวแปรสำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีผลทั้งในทางตรงและทางอ้อม งบประมาณจากภาครัฐ งบประมาณจากแหล่งทุนขององค์กรต่างๆในพื้นที่ กลุ่มทุนที่สนับสนุนการก่อเหตุ”

ขณะที่เสียงคนทำงานอีกคนอย่างนักพัฒนาเอกชนเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส สอและ มะสอลา สอและ มะสอลา เชื่อว่า คณะรัฐบาลนี้ (คสช.)มีอำนาจในการตัดสินใจ โดยเฉพาะการใช้กฎหมาย ตาม ม.44 ที่เอื้อให้ผู้ที่มีอำนาจ (ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าทีของรัฐ หรือพนักงานของรัฐ) สามารถใช้อำนาอย่างชอบธรรม สะดวกในการบังคับใช้กฎหมาย

“สิ่งที่สำคัญผู้ที่มีอำนาจเหล่านั้นจะใช้กฎหมายนี้ ในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพอย่างไร แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพอันเป็นสากลตามระบอบประชาธิปไตย กับผู้ที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาหรือประชาชนที่อยู่ภายใต้อำนาจอย่างเต็มที่ สุดท้ายกฎหมายปกติต้องมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกกลุ่มคน ชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน สันติสุข หรือ สันติภาพ จะเห็นภาพชัดก็ต่อเมื่อนักการเมือง บุคคลกรของรัฐ นักวิชาการ ประชาชนหรือประชาสังคม และกลุ่มประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐ สนทนาคำว่า สันติภาพ ในความหมายที่ตรงกัน แล้วให้ประชาชนส่วนใหญ่วาดสันติภาพไปพร้อมๆกัน ในความหมายที่เห็นพ้องกัน”

อย่างไรก็ตาม สอและ เน้นย้ำตรงกันว่า ตัวแปรสำคัญในกระบวนการสันติภาพคือ ความยุติธรรมทางกฎหมาย ในการดำเนินชีวิตของประชาชนที่แสวงหาความยุติธรรมตามหลักกระบวนการทางกฎหมาย ที่ไม่ค่อยได้สัมผัสมาอย่างง่าย หรือการยิบยื่นความยุติธรรมที่ผู้รับไม่ค่อยเต็มใจ และสร้างความไม่สบายใจในภายหลัง คำว่า “ยุติธรรม” ต้องปรากฏให้ประชาชนในพื้นที่สัมผัสได้ แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือประชาสังคมแสดงออกทางการเมืองในการสร้างสันติภาพอย่างเต็มที่ เพื่อจุดประกายสันติภาพในพื้นที่

ดันย้าล อับดุลเลาะขณะที่ ดันย้าล อับดุลเลาะ นักกิจกรรมที่ผันตัวเองมาประกอบธุรกิจส่วนตัว บอกว่า ปีหน้าอยากเห็น แผนสันติภาพว่ามีอะไรบ้าง จะเดินหน้าอย่างไร คู่ขัดแย้งหลักจะมีแผนอะไรบ้างเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ พื้นที่ทางการเมืองเปิดมากขึ้นการต่อสู้ด้วยความรุนแรงลดลง พื้นที่ตรงกลางเพื่อเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับคู่ขัดแย้งหลักจะกว้างงมากขึ้น อยากให้การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพไปข้างหน้าโดยมองชีวิตมนุษย์เป็นสำคัญ

“อยากเห็นการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพจากคนไทยที่ไมได้อาศัยอยู่ในปาตานีด้วย ปัจจัยสำคัญคือ พื้นที่ทางการเมือง กระบวนการสันติภาพจะไม่คงทน และไม่เข้มแข็งหากพื้นที่ทางการเมืองไม่เปิด โดยเฉพาะพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนในการแสดงความเห็น การแสดงออก การมีส่วนร่วมต่อกระบวนการสันติภาพ และตัวแปรหนึ่งที่สำคัญ คือพลังการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพจากคนนอกพื้นที่ที่จะเดินไปด้วยกัน แม้จะไม่พร้อมหรือจับมือไปพร้อมก็แต่พลังจากคนนอกพื้นที่ยังคงสำคัญในเชิงอำนาจรัฐและภาพรวมของนโยบาย”

“เนื่องจากโครงสร้างอำนาจในการออกนโยบาย มักจะได้รับความเห็นต่างๆจากคนทั้งประเทศ ถ้าคนในประเทศเห็นชอบและสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ก็จะเป็นแรงผลักที่สำคัญอีกแรงหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าได้ เราทุกคนและชาวปาตานีไม่ได้เดินคนเดียวในประเทศนี้ คนในประเทศนี้ไม่ได้เดินคนเดียวในโลก เราทุกคนล้วนสัมพันธ์กันในทางการเมือง และความเป็นเพื่อนมนุษย์” ดันย้าล สะท้อนความคาดหวัง

สิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม ปากท้อง และความปลอดภัย คือสันติภาพที่จับต้องได้ แต่กว่าทศวรรษผ่านไปก็ยังคงเป็นโจทย์เรื้อรังต่อเนื่องที่ประชาชนยังคงตั้งคำถาม ซ้ำแล้วซ้ำอีก

แล้วสถานการณ์ชายแดนใต้ “ดีขึ้นแล้ว” จริงหรือ ?